เด็ก-พ่อแม่ต้องรู้! ทักษะป้องกันตนเองไม่ให้ถูก "ล่วงละเมิดทางเพศ"

เด็ก-พ่อแม่ต้องรู้! ทักษะป้องกันตนเองไม่ให้ถูก "ล่วงละเมิดทางเพศ"

การล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ตัว การมีเพศสัมพันธ์ ระหว่าง  “ครู อาจารย์ กับนักเรียน นักศึกษา" อย่างกรณี "ครูศิลปะ" โนนสูง โคราช ที่ได้มีเซ็กส์กับนักเรียนหญิงม.3-ม.6 กว่า10 คน ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็ก

จากกรณีคลิปฉาวระหว่าง "ครูศิลปะ" โนนสูง โคราช ที่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.3-ม.6 กว่า10 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และไม่เหมาะไม่ควร โดยขณะนี้ได้มีการอายัดตัวครูศิลปะคลิปฉาวมีดังกล่าวแล้ว รวมถึงฝากขังศาลจังหวัดนครราชสีมา พร้อมแจ้ง 2 ข้อหาหนักคือพรากผู้เยาว์กับนำข้อมูลสื่อลามกและอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับใครหรือเพศไหนก็ตาม โดยเฉพาะกับ “เด็ก” ที่ยังไม่สามารถปกป้องตนเองได้ การล่วงละเมิดเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากบุคคลแปลกหน้าภายนอก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากคนรู้จักใกล้ชิด เพื่อนบ้าน ครู ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง ก็อาจเป็นผู้กระทำได้เช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

“การล่วงละเมิดทางเพศ” คืออะไร?

จากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ทำการรวบรวมข่าวการกระทำรุนแรงทางเพศ พบว่า

  • อันดับ 1 เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9
  • อันดับ 2 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6 เช่น ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน, เพื่อนร่วมงาน/เพื่อน, คนข้างบ้าน, พระกระทำเด็กที่คุ้นเคยกัน, พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง, ลุง-หลาน, น้า-หลาน  หรือแม้กระทั่ง พ่อกระทำกับลูก
  • อันดับ 3 ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5

การคุกคามทางเพศ หรือ การล่วงละเมิดทางเพศ คือ การกระทำ/พฤติกรรมที่มีเจตนาไม่ดี แสดงออกถึงนัยยะทางเพศต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ดี ไม่ปลอดภัย หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวหมายรวมถึงรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. การสัมผัสทางกาย (Physical Conduct) คือ การใช้อวัยวะสัมผัสถูกร่างกายของอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือบังคับให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายตนเอง เช่น การโอบกอด แตะเนื้อต้องตัว ลูบไล้ เป็นต้น

เด็ก-พ่อแม่ต้องรู้! ทักษะป้องกันตนเองไม่ให้ถูก "ล่วงละเมิดทางเพศ"

2. การแสดงออกทางวาจา (Verbal  Conduct) คือ การใช้คำพูดล่วงเกิน ล้อเลียน พูดถึงสัดส่วนร่างกาย รวมถึงมุกตลกเรื่องเพศที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงรู้สึกแย่ ไม่ปลอดภัย

3. การแสดงออกทางกริยาท่าทาง สายตา (Visual Conduct) คือ การใช้กริยา ท่าทาง หรือสายตา แสดงออกถึงความรู้สึกทางเพศที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง เช่น การใช้สายตาจ้องมองแทะโลม การทำมือสื่อถึงท่าทางเพศ เป็นต้น

4. การส่งข้อความอนาจาร (Written Conduct) คือ ข้อความที่ผ่านการเขียน หรือพิมพ์ ในเชิงส่อไปทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งส่วนตัว ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงการส่งรูปภาพอนาจารให้แก่ผู้อื่น

 

วิธีสังเกตเมื่อเด็ก-ลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อคนที่ไว้ใจ อาจไม่ปลอดภัยกับเด็กอีกต่อไป คุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการด้านร่างกายหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูก ว่ามีอาการเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าลูกอาจถูก ล่วงละเมิดทางเพศ หรือไม่

1. สังเกตรอยฟกช้ำตามร่างกาย บาดแผลในตำแหน่งที่ไม่น่าเกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วย

2. มีพฤติกรรมและการแสดงออกที่เปลี่ยนไป อาการหวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เก็บตัว ไม่พูดไม่จา

3. มีความระแวดระวังบุคคลหรือกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ

4. กลัวสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่เขาถูกทำร้าย เช่น กลัวบ้าน กลัวโรงเรียน กลัวบ้านเพื่อน กลัวบ้านญาติ กลัวสถานที่เปลี่ยว

บาดแผลที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ถูก ล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เพียงร่างกายภายนอก แต่จะกลายเป็นปมฝังลึกในจิตใจ ทำให้เด็กอับอาย ขาดความเชื่อมั่นใจตัวเอง เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

 

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิด มีผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการละเมิดนั้นเกิดขึ้นในวัยเด็ก แม้ในตอนที่ถูกกระทำ เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการถูกละเมิดเป็นอย่างไร แต่พวกเขาจะจดจำความรู้สึกนั้นกระทั่งเติบโตขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นคือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลในใจตามมา

1. ผลทางร่างกาย (Physical Effects) อาการบอบช้ำทั้งการถูกกระทำที่รุนแรง รวมถึงสภาพร่างกายที่ย่ำแย่จากภาวะความเครียด

2. ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects) ผลกระทบทางจิตใจจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว ทั้งภาวะความเครียด ความหวาดกลัว หวาดระแวง ความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล (PTSD) เป็นต้น

 

เด็กๆ ควรรู้ป้องกันตนเองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

1. ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่รัดกุม เรียบร้อย มีบางคนอาจคิดว่ามันเชยสิ้นดี แต่เชื่อเถอะว่า คุณสามารถแต่งตัวตามสมัยนิยมได้แต่ไม่ควรเลือกเครื่องแต่งกายที่ล่อแหลม โดยแต่งให้ถูกกาลและเทศะด้วย อย่าให้โป๊หรือเปิดเผยจนเกินไป ยิ่งแต่งกายรัดกุมมากเท่าไหร่ อันตรายจาการถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ยิ่งลดลงเท่านั้น

2. ไม่ควรเดินในสถานที่เปลี่ยวในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซอยลึก แต่ถ้าจำเป็นควรจะมีเพื่อนไปด้วย เพราะการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นโดยมากจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เปลี่ยว และในยามวิกาล เสียเป็นส่วนใหญ่

3. เมื่อรู้สึกว่ามีคนเดินตามมาข้างหลัง ควรเปลี่ยนเส้นทางการเดินหรือพยายามเดินเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านมีแสงไฟ แต่ถ้าหากจวนตัวแล้วให้กดกริ่งหรือส่งเสียงไปบ้านใครก็ได้ หรือตะโกนเสียงดังๆ เช่นไฟไหม้ หรือส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจให้คนละแวกนั้นได้ยิน เพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เด็ก-พ่อแม่ต้องรู้! ทักษะป้องกันตนเองไม่ให้ถูก "ล่วงละเมิดทางเพศ"

 

สอนลูกป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ไม่มีทางรู้เลยว่า การละเมิดเด็ก จะมาในรูปแบบไหน จากใครได้บ้าง ดังนั้นเราควรสอนลูกให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และวิธีการป้องกันตนเอง เพื่อช่วยปกป้องลูกน้อยจากการถูกคุกคาม

1. สอนให้ลูกรู้จักร่างกายของตนเอง

เมื่อลูกเข้าสู่วัย 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียกชื่อได้ และเริ่มรู้จักสงสัยในความแตกต่างของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักชื่ออวัยวะด้วยคำง่ายๆ เช่น อวัยวะเพศของผู้ชายเรียก จู๋ ของผู้หญิงเรียก จิ๋ม หรือในส่วนอื่นๆ อย่าง ก้น, นม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำหยาบคายหรือเรื่องน่าอาย แต่เพื่อให้ลูกสามารถสื่อสารได้เข้าใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ เด็กถูกละเมิด เกี่ยวกับร่างกาย

โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จัก “พื้นที่ส่วนตัว” ไม่ปล่อยให้ใครมาสัมผัสร่างกายเราโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น การหอมแก้ม จุ๊บปาก จับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวัยวะในร่มผ้า ที่ไม่ควรปล่อยให้ใครมาแตะต้อง ซึ่งเมื่อเด็กเริ่มเจริญวัยก็มีบางจุดเองอย่างบริเวณก้น หน้าอก อวัยวะเพศ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรสัมผัสลูกเช่นกัน (ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบริบทของครอบครัวและความเหมาะสม)

2. สอนให้ลูกรู้จักสิทธิ แยกแยะสัมผัสที่ควรและไม่ควร

สอนให้ลูกรู้จัก สิทธิเด็ก ที่ตนเองพึงมี เพื่อปกป้องพื้นที่ส่วนตัวและเคารพในสิทธิของผู้อื่น รู้จักแยกแยะระหว่างสัมผัสทั่วไป เช่น ในการเรียนอย่างวิชาพละ การเล่น การทำกิจกรรมร่วมกัน การไปหาหมอ ฯลฯ  กับสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย เช่น การแตะต้องที่ทำให้รู้สึกอึดอัด การลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวหรืออวัยวะในร่มผ้าโดยไม่จำเป็น ฯลฯ และอย่าลืมสอนลูกป้องกันตนเองจากคนแปลกหน้า

3. ไม่บังคับให้ลูกสัมผัส กอด หรือหอมคนอื่น

แม้จะเป็นการกระทำด้วยความรู้สึกเอ็นดู แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกกอดหรือหอมคนอื่น รวมถึงการยินยอมให้คนอื่นมากอดหรือหอมโดยที่ลูกไม่เต็มใจ แม้จะเป็นญาติก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกสับสนว่าควรปกป้องร่างกายตนเองหรือยินยอมให้คนอื่นสัมผัสกันแน่ หากลูกรู้สึกสบายใจที่จะสัมผัสให้ลูกได้ตัดสินด้วยสิทธิในร่างกายของตนเอง ไม่ใช่การบังคับให้ทำตาม

4. สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ

สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธเมื่อมีคนมาสัมผัสในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักใกล้ชิดก็ตาม ให้ลูกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ไม่ได้” แล้ววิ่งหนีออกมา รวมถึงการปฏิเสธที่จะอยู่ในที่ลับตาสองต่อสองกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ครู หรือญาติพี่น้องก็ตาม

5. สอนให้ลูกบอกพ่อแม่ทันที เมื่อมีคนมาจับหรือโชว์อวัยวะส่วนตัวให้ดู

เมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดขึ้น สอนให้ลูกบอกกับคุณพ่อคุณแม่ทันที แม้ผู้กระทำจะเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดก็ตาม โดยข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากเด็กมักถูกขู่ว่าไม่ให้บอกพ่อแม่หรือคนอื่น ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องขึ้น เด็กจึงมักไม่กล้าจะบอกกับครอบครัวว่าถูกกระทำ

พ่อแม่จึงควรใช้เวลาพูดคุยและสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา การดูแลและการป้องกันตนเอง เพื่อให้ลูกกล้าที่จะพูดคุยเปิดเผยกับพ่อแม่ โดยอาจใช้เป็นหนังสือนิทานเพื่อสื่อสารให้ลูกน้อยเห็นภาพ และย้ำเตือนให้กำลังใจว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะบอกกับพ่อแม่เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย

ในเด็กโต ช่วงวัยรุ่นขึ้นไป พ่อแม่ควรเพิ่มการพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก วิธีการปฏิบัติตัวและการป้องกันตนเองจากความเสี่ยง ทักษะการปฏิเสธ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด

 

ทำอย่างไร? เมื่อสงสัย-ทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก หากเริ่มมีความผิดปกติ เช่น มีร่องรอยฟกช้ำไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการเก็บตัว หวาดกลัว ตกใจง่าย, หวาดกลัวบางคน/บางสถานที่เป็นพิเศษ เป็นต้น ให้พ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดแต่อยู่ในระยะที่ไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด เพื่อหาทางพูดคุยแก้ไขต่อไป

1. พร้อมรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่ออย่างมีสติ

เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อน แต่ให้พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจจริง เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นใจที่จะขอความช่วยเหลือ แม้เรื่องราวจะดูร้ายแรง หรือยากเกินกว่าจะเชื่อได้ แต่ให้รับฟังด้วยอารมณ์สงบ ไม่ตกใจ โกรธ หรือโวยวาย เพราะจะทำให้เด็กยิ่งรู้สึกกลัว และให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เป็นความจริง” ไว้ก่อนเสมอ ไม่โต้แย้งหรือแสดงท่าทีว่าไม่เชื่อ เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากเล่าเรื่องราวและขอความช่วยเหลือจากเรา

 

2. ถามหาผู้กระทำ แต่ไม่คาดคั้น

ค่อยๆ ถามไถ่ถึงผู้กระทำ แต่หากเด็กไม่พร้อมที่จะบอกก็อย่าไปคาดคั้นหรือบังคับ ให้สอบถามอย่างใจเย็นเพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด ความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็ก เพื่อกำหนดขอบเขตในการสืบหาผู้ต้องสงสัยต่อไป และคอยปลอบโยนเขาอยู่เสมอเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยและกล้าที่จะเล่า

 

3. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ

หลังจากคอยฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเพียงการวิเคราะห์ในเบื้องต้นก่อน ระหว่างนี้พาเด็กไปไว้ในที่ปลอดภัย จากนั้นจึงแจ้งตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ

 

4. พาเด็กไปตรวจรักษา รวบรวมหลักฐาน

รวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้กระทำในที่เกิดเหตุ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ให้ถ่ายไว้เป็นหลักฐาน และบอกเด็กให้เข้าใจว่าเราถ่ายไปใช้ทำอะไร ห้าม! นำไปเผยแพร่เด็ดขาด (ยกเว้นใช้ในการสืบสวนคดี)

พาเด็กไปตรวจร่างกาย อาจพาไปเองเพื่อความรวดเร็ว หรือเข้าร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อรวบรวมหลักฐาน ที่สำคัญ ห้าม! ชำระร่างกายเด็กก่อนการตรวจเด็ดขาด เพราะจะหลักให้ร่องรอยหลักฐานสูญหาย ทั้งนี้หากเป็นการถูกกระทำที่ผ่านมานานแล้ว ควรตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคและตรวจสอบการตั้งครรภ์ร่วมด้วย(กรณีเป็นเด็กหญิง)

อ้างอิง :มูลนิธิเด็กโสสะ , passeducation