เลี้ยงลูกผิดตรงไหน ? ทำไม "ยิ่งโต ยิ่งดื้อ"

เลี้ยงลูกผิดตรงไหน ? ทำไม "ยิ่งโต ยิ่งดื้อ"

หลายคนตั้งคำถาม ทำไมลูกยิ่งโตยิ่งดื้อ ความจริงการ ดื้อ คือ การแสดงพัฒนาการของเด็กอย่างหนึ่ง และไม่ไ่ด้เกิดจากเด็กฝ่ายเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่พ่อแม่ควรจะทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือ

ปัญหาที่พ่อแม่มักประสบบ่อยครั้ง คือ "ลูกดื้อ ไม่ยอมเชื่อฟัง" และหลายครั้งที่เลือกใช้วิธีแก้ปัญหา หรือ วิธีการพูดแบบผิดๆ จนทำให้เด็กๆ อาจจะยิ่งดื้อไปกันใหญ่ ความจริง "เด็กดื้อ" มาจากหลายสาเหตุ และไม่ใช่อยู่ที่ตัวเด็กเองฝ่ายเดียว พฤติกรรมการเลี้ยงดูก็มีส่วน อีกทั้งหลายคนมองว่า เด็กยังเล็กไปที่จะสอน แต่ความจริงแล้ว วัยที่เหมาะสมในการฝึกวินัยให้กับเด็ก ก็คือ วัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม เพราะเด็กจะสามารถเรียนรู้จดจำสิ่งต่างๆ ได้

 

"พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว" กุมารแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช และเจ้าของเพจ หมอปุ๊ก Doctor For Kids เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ลูกดื้อและไม่เชื่อฟัง จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลเด็กดื้อ ต่อต้านที่พ่อแม่พามาปรึกษา พบว่า 5 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกดื้อ และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ มีดังนี้

 

1. เด็กไม่ได้รับความสนใจเมื่อทำตัวดี

หากเด็กทำตัวดี เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่ายมาเสมอต้นเสมอปลาย แล้วพ่อแม่กลับทำเฉย ไม่สนใจ เหมือนมองไม่เห็นการทำดีนั้น พอมาวันหนึ่ง ด้วยเหตุอะไรก็ตาม เด็กบังเอิญได้ทำตัวไม่ดี ดื้อ ไม่เชื่อฟัง อาละวาดโวยวายขึ้นมาสักครั้งสองครั้ง พ่อแม่รีบเข้ามาสนใจ ให้ความสำคัญเห็นเป็นเรื่องใหญ่

และบางทีเด็กๆ ยังได้ของที่อยากได้ (ที่เวลาพูดขอดีๆ กลับไม่ได้) เพื่อเป็นการตัดรำคาญหรือติดสินบนให้หยุดดื้อ หยุดโวยวาย อาละวาด เอาแต่ใจ หากเป็นแบบนี้ เด็กจะเรียนรู้ที่จะทำตัวไม่ดีเวลาอยากได้ความสนใจหรือเวลาอยากได้อะไรจากผู้ใหญ่

 

2. ลูกไม่ได้รับการสอนว่าพฤติกรรมที่ดีคืออะไร

บางบ้านไม่สอนอะไรว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่มีการกำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่ควรและไม่ควรทำในครอบครัว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

3. ลูกเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ และเกิดการเลียนแบบ

 

4. ลูกโกรธ เศร้า หรือกังวล

เวลาเด็กมีความรู้สึกลบๆ พวกเขามักจะระบายอารมณ์ออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ

 

5. พื้นอารมณ์ของลูก

เด็กบางคนเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก มีความคิดและอารมณ์ค่อนไปทางลบ เด็กกลุ่มนี้มักจะแสดงท่าทีต่อต้าน ไม่ร่วมมือกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ มีความคับข้องใจง่าย จะแสดงพฤติกรรมถดถอย ทำตัวไม่สมวัย

 

การดื้อ คือ การแสดงพัฒนาการ

 

จากบทความ "ทำไมยิ่งโต ยิ่งดื้อ – วิธีการฝึกวินัยให้เจ้าตัวน้อย" โดย เวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา เผยแพร่ในเว็บไซต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “ทำไมยิ่งโต ยิ่งดื้อ” ประโยคนี้พ่อแม่หลายบ้านต้องเคยพูดมาแล้วจริง ๆ แล้ว คำว่า “ดื้อ” นั้น เป็นการแสดงพัฒนาการของเด็กอย่างหนึ่ง เพราะว่าเด็กในวัย 1.5 ปี ขึ้นไป จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มเดินได้ เริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กอยากทดลอง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว 

 

และที่สำคัญเด็กจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้การจัดการอารมณ์ของเด็กไม่คงที่ ยิ่งพอโตขึ้นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์รอบตัวที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เด็กต้องจัดการกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้นด้วย

 

ไม่ว่าจะเป็นการต้องไปโรงเรียน การมีเพื่อนวัยเดียวกัน และการคาดหวังจากพ่อแม่ที่มากขึ้นตามวัย ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เด็กจะมีพฤติกรรมที่พ่อแม่หลายบ้านรู้สึกว่า ดื้อ เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์

 

 

การเลี้ยงดู ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว การเลี้ยงดูก็มีส่วนที่จะทำให้ดีกรีของพฤติกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละบ้านด้วย เช่น

  • ถ้าบ้านไหนทนไม่ได้กับการร้องไห้ของเด็ก ให้เด็กทุกอย่างเมื่อเด็กร้องไห้ บ้านนั้นก็จะได้เด็กเจ้าอารมณ์ ขี้งอแง เพราะเด็กจะเรียนรู้จากวิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่ออารมณ์ที่เขาแสดงออก และเจ้าตัวน้อยก็จะพัฒนาเชื่อมโยงเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้กับเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการนั่นเอง

 

ดังนั้น การสอนและฝึกวินัยให้กับเด็กจึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำตั้งแต่เด็ก บางบ้านมักบอกว่ายังเล็กอยู่เลย เดี๋ยวโตค่อยสอนก็ได้ แต่การฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เด็กจะทำให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมตนเอง และเป็นการปลูกฝังให้เด็กมั่นใจว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ 

 

ฝึกวินัยลูกตั้งแต่อนุบาล - ประถม 

 

สำหรับ "วัยที่เหมาะสม" จะฝึกวินัยให้กับเด็ก ก็คือ วัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม เพราะเด็กจะสามารถเรียนรู้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ และพร้อมที่จะตัดสินใจเรื่องที่เข้ามาในชีวิต ท่ามกลางความปลอดภัยและการสนับสนุนที่พ่อแม่ยังคอยดูแลให้อยู่

 

รวมถึงเด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ทำให้ยินยอมที่จะเรียนรู้และทำตามสิ่งที่พ่อแม่สอน หากปล่อยให้ไปถึงวัยรุ่นแล้วจะไม่ทัน เพราะในวัยนั้นเด็กจะเริ่มต้องการการยอมรับจากเพื่อนไม่ใช่พ่อแม่ ทำให้ยากที่จะฝึกวินัยให้เด็กแล้ว

 

สอนและฝึกวินัยให้ลูกได้อย่างไร

 

1. กำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเหมาะสมตามวัย และให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดกฎเกณฑ์นั้น

 

การเรียนรู้และทดลองต่าง ๆ ของเด็กสามารถทำได้โดยที่พ่อแม่ต้องตกลงกับลูกก่อนว่า ทำได้ในขอบเขตแค่ไหนและเพราะอะไร ทางที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ให้คำอธิบายถึงข้อดี ข้อเสียของสิ่งที่จะเกิดขึ้น บอกกติกาอย่างชัดเจน เช่น ลูกสามารถเล่นในสนามเด็กเล่นได้อย่างอิสระ แต่ไม่ออกไปเกินพื้นที่ตรงไหน เพราะอะไร ที่สำคัญที่สุดอย่าใช้คำสั่ง การบังคับ และห้ามไม่ให้ทำ เพราะนั่นจะเป็นการท้าทายให้เด็กอยากจะทำมากยิ่งขึ้น

 

เช่น การกำหนดให้เด็กเข้านอนตอน 2-3 ทุ่ม ควรมีการพูดคุยกับเด็กก่อนว่า หนูต้องนอนพักผ่อนเพื่อที่ตัวจะได้สูง ๆ หนูอยากเข้านอนตอน 2 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่มคะ แม่ให้หนูเลือกเอง ซึ่งตัวเลือกที่จะให้เด็กเลือกนั้นควรระบุให้ชัดเจน 

(เวลาตกลงกับเด็กอย่าให้เลือกว่า เอาหรือไม่เอา เพราะพอเด็กๆ เลือกไม่เอา แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ เด็กจะสับสนว่าแล้วให้เลือกทำไม ในเมื่อเขาเลือกแล้ว พ่อแม่ก็ไม่สนใจความต้องการของเขา)

 

2. ใช้คำพูดที่เป็นทางบวกและเข้าใจง่าย ในการสื่อสารความต้องการและอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็ก

 

คำว่า “อย่า…นะ” สำหรับเด็กเล็ก จะไม่เป็นผลเท่าที่ควร เพราะเด็กต้องแปลความหมายก่อน และมักจะไม่ทันกับการกระทำที่เด็กกำลังทำอยู่ เช่น การที่แม่บอกลูกว่า “อย่าวิ่งนะ อันตราย” กับการบอกลูกว่า “ลูกเดินข้าง ๆ แม่นะคะ แม่อยากให้หนูเดินเป็นเพื่อนแม่”

 

ประโยคแรกเด็กต้องแปลความหมาย ในขณะที่ประโยคหลังเด็กสามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่อได้ยิน ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็กก็เช่นกัน หากเราใช้คำที่ง่าย (แต่ต้องเป็นความจริง อย่าหลอกเด็ก) เด็กจะสามารถเข้าใจได้ตามวัยของเขา

 

3. คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

 

เด็ก ๆ มักจะเลียนแบบตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัว ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่เด็กสามารถเห็นได้ตลอดเวลา ถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ทำให้ลูกดูคือสิ่งที่ง่ายที่สุดค่ะ และที่สำคัญควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กยอมรับและจดจำได้ เช่น อยากให้เด็กไหว้ทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไหว้ทักทายคนอื่น ๆ ให้เด็กเห็นเป็นประจำ

 

4. ให้ลูกรู้จักรอคอย

 

การตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างรวดเร็วเกินไปจะทำให้เด็กคอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ทันที พ่อแม่จึงควรฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย เช่น “หนูอยากกินขนมที่ซื้อมาเมื่อวานใช่ไหมคะ รอแม่ทำกับข้าวเสร็จแล้วแม่ไปหยิบให้นะคะ”

 

หรือแม้แต่การพาเด็ก ๆ ไปต่อคิวซื้ออาหาร ต่อคิวจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ก็เป็นการฝึกการรอคอยที่ดี

 

นอกจากนี้ การซื้อของเล่นให้เด็กตามวาระโอกาสที่เหมาะสม ก็สามารถฝึกการรอคอยได้เช่นกัน เช่น ตกลงกับเด็กว่าจะซื้อของเล่นให้ในโอกาสวันเกิด วันปีใหม่ วันเด็ก เท่านั้น หากอยากได้ของเล่นในโอกาสอื่น ๆ จะต้องมีข้อตกลง เช่น เก็บดาวความดีที่แม่ให้ครบ … ดวง จึงจะซื้อของเล่นพิเศษได้ 1 ชิ้น เป็นต้น

 

5. ปฏิบัติกับเด็กด้วยการยอมรับความต้องการ เข้าใจ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

เด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ ดังนั้น การรับฟังเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าเหตุใดจึงได้ เหตุใดจึงไม่ได้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รับฟังเขา ยอมรับความต้องการของเขา การเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ก็จะลดลง (ถึงจะไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ตาม)

 

แต่ที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติกับเด็กให้เหมือนกัน เช่น ถ้าคุณแม่บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ คุณพ่อก็ต้องตอบเหมือนกัน เพราะถ้าคนหนึ่งไม่ให้ คนหนึ่งใจอ่อนให้ เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งใดได้ สิ่งใดไม่ได้ การสอนก็จะไม่ได้ผล

 

อ้างอิง : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย