ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว ! "ธุรกิจสุขภาพ" พร้อมรับ "นักท่องเที่ยวจีน"

ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว ! "ธุรกิจสุขภาพ" พร้อมรับ "นักท่องเที่ยวจีน"

เมื่อ "นักท่องเที่ยวจีน" เดินมาทางที่ประเทศไทย เป้าหมายแรกของพวกเขา คือ ท่องเที่ยว และผลพลอยได้ตามมา คือ พบแพทย์ ตรวจสุขภาพ รักษาโรค ที่ยอดนิยม คือ รักษาผู้บุตรยาก และความงาม มาดูกันว่า ภาคเอกชนไทยมีการเตรียมรับมือกับปรากกฏการณ์นี้อย่างไร

หลังจากที่ประเทศไทยต้อนรับผู้เดินทางเที่ยวบินแรกจากเซี๊ยะเหมิน จำนวน 269 คน เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 และจะมีเที่ยวบินจากจีนเข้ามา 15 เที่ยวบิน จำนวน 3,465 คน กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีผู้เดินทางจากจีนเข้าไทยราว 7-10 ล้านคน จากเดิมที่ก่อนมีโควิด-19 มีราว 20 ล้านคน และผู้เดินทางจากทั่วโลกเข้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณดีต่อภาคการท่องเที่ยว คนมีงานทำ และมีโอกาส

 

โดยได้ยกเลิกการแสดงเอกสารฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้มาตรการเข้าไทยตอนนี้คงเหลือเพียง ต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดว่าเมื่อจะกลับเข้าประเทศนั้นๆ จะต้องแสดงผลการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี PCR เพื่อที่หากตรวจพบเชื้อแล้วต้องรักษาในประเทศไทย จะได้มีการรองรับค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้กำหนดอัตราประกันสุขภาพ

 

รพ.เอกชนฟื้นเตรียมรับนทท.จีน

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา หลังจากที่ภาครัฐผ่อนคลายเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มของ Health & Wellness ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดชาวต่างชาติฟื้นตัวขึ้น และคาดการณ์ว่าจากปัจจัยต่าง ๆ จะทำให้ในปี 2566 รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยภาพรวม จะเติบโตได้ 8-10 %

 

ขณะที่โอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์ปี 2566 ได้แก่ ธุรกิจด้านสุขภาพและความงามนั้นยังเป็นดาวเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกลุ่มตลาดศัลยกรรมความงาม มีทั้งกลุ่มคลินิกความงาม, กลุ่มโรงพยาบาลที่หันมาให้ความสำคัญกับบริการด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้านี้ “ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มองว่า หากคนจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ จะเป็นส่วนดีของภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งในอดีตก่อนที่จะมีโควิด-19 ลูกค้าจีนมารับบริการตรวจสุขภาพและรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจำนวนมาก หากจีนมีการเปิดประเทศ ก็จะทำให้ภาค รพ.เอกชน ไทยดีขึ้น

 

WMA ชูท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ป้องกัน

 

“ศิริญา เทพเจริญ” กรรมการบริหาร บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WMA  ซึ่งถือหุ้นใหญ่ รพ.พานาซี ในไทย เผยว่า ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน โดยอยู่ระหว่างการทำแพกเกจเรื่องท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เหมือนบัตรสุขภาพ และร่วมกับ Thailand Elite Card สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการอาศัยในประเทศไทยระยะยาว มีคนดูแล ทำการฟื้นฟูร่างกาย เป็นในแผนปี 2566 นี้ โดยหลังตรุษจีน มองว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเข้ามาเพิ่มขึ้น คาดว่ามากกว่า 5-6 ล้านคน

 

ปัจจุบัน ลูกค้าต่างชาติของพานาซีอยู่ที่ 45 % ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหรับ มารับบริการฟื้นฟูเบาหวาน ความดัน ฮอร์โมน คาดว่าในปี 2566 จะมีกลุ่มประเทศจีนเพิ่มเนื่องจากจีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าจะมาใช้บริการ เรื่องของฮอร์โมน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ฟื้นฟูหลอดเลือดหัวใจ ฟื้นฟูผู้ป่วยเบาหวาน ตลอดจนด้านความสวยความงาม 

 

“ไทยอยู่อันดับ 3 ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และมองว่า 3-5 ปี เราอาจจะเป็นอันดับ 1 ของโลกได้ หากเราโฟกัสเรื่องการชะลอวัย และ Wellness เต็มรูปแบบ เพราะจากที่วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของไทย เรามีโอกาสมาก หากเราเดินไปทางนี้เราจะเป็น Medical Hub ได้ และรัฐบาลก็สนับสนุนและเห็นด้วยในโครงการเหล่านี้” ศิริญา กล่าว

 

 

WMA ถือหุ้น รพ.พานาซี ในไทย 90% และในประเทศจีน 70% ราวกลางปี 2566 นี้ จะเปิดที่ประเทศเยอรมัน โดยถือหุ้น 100% สำหรับรายได้ในปี 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 800 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าเติบโต 30-40% รายได้ 1,600 – 2,000 ล้านบาท

 

รพ.ธนบุรี ขยายเตียงรับ นทท.

 

ขณะที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ในปี 2566 มีการลงทุนขยายเตียงคนไข้เพิ่มอีก 100 เตียง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 66 โดยเป้าหมายการขยายเตียงเพิ่มเพื่อรองรับคนไข้ต่างชาติที่คาดว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตระดับสูงมาก หลังที่ผ่านมาเมืองไทยมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว และรับนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเข้ามารักษาในไทย

 

"นพ.บุญ วนาสิน" ประธานที่ปรึกษา บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า หลังจากจีนเปิดประเทศแล้ว คนจีนที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะเดินทางไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในฮ่องกง และยังพบว่ามีคนจีนจำนวนมากเดินทางไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสปป.ลาว ดังนั้น เชื่อว่าจะมีคนจีนจำนวนมากเข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และซื้อยารักษาในประเทศไทย

 

คนจีนส่วนใหญ่เข้ามารักษาในเมืองไทย คือ กลุ่มมีบุตรยาก และ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติอยู่ที่ 50% โดยตอนนี้หลักๆ จะเป็นคนไข้ในประเทศ ตะวันออกกลาง , กัมพูชา , เมียนมาร์ สปป.ลาว เป็นต้น และคาดว่าเมื่อจีนเปิดประเทศสัดส่วนรายได้ต่างประเทศของ รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง จะเพิ่มขึ้นเป็น 100% เทียบจากก่อนที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สัดส่วนรายได้คนไข้ต่างประเทศอยู่ที่ 90%

 

ปัจจุบัน THG ได้ขยายเตียงที่ รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง เพิ่มอีก 100 เตียง เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้คนจีน คาดว่าจะเสร็จในปีนี้ เบื้องต้นนั้นคาดว่ากลุ่มคนจีนกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้ามาเมืองไทยจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับสูง และเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามารับการรักษาเมืองไทยก่อน ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะอยู่ที่จำนวน 1 ล้านคนก่อน เมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีคนจีนมารักษาในเมืองไทย 5 ล้านคน

 

รพ.พระราม 9 สู้ศึกธุรกิจ รพ.

 

ขณะที่ “นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ” กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า โรงพยาบาลพระรามเก้ามีผู้ใช้บริการเป็นชาวจีนจำนวนมาก เนื่องจากสถานที่ตั้งใกล้สถานทูตจีน จึงมีโอกาสขยายฐานกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และผู้ใช้บริการชาวจีนที่มีจำนวนมากในย่านนี้

 

ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการต่างชาติทั้งที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการอยู่ที่ 10-15% ชาวต่างชาติที่มาใช้บริการอันดับต้นๆ คือ จีนและกลุ่ม CLMV โดยมาใช้บริการรักษาโรคซับซ้อน เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับไต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคไทรอยด์ และการผ่าตัดไทรอยด์ เป็นต้น 

 

ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว ! "ธุรกิจสุขภาพ" พร้อมรับ "นักท่องเที่ยวจีน"

 

เทรนด์รักษามีบุตรยากแนวโน้มโต

 

สำหรับตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ Krungthai COMPASS มองว่า วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยคาดว่า ภาพรวมตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะระดับ 2.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 16.4 % เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

 

อีกทั้ง มองว่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านบาทในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 1.5 เท่า

 

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF คือ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายของจีนที่อนุญาตให้มีบุตร 3 คน โดยทางการจีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564

 

ข้อมูลจาก Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะระดับ 3.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.2% ต่อปี (ปี 2562-2570) ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด โดยจะมีมูลค่ากว่า 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 14.7% ต่อปี (ปี 2562-2570)

 

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของ Fertility Tourist ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทั้งนี้ คาดว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของไทย ในปี 2570 จะมีมูลค่ากว่า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 14.6% ต่อปี (ปี 2562-2570)

 

“อภัยภูเบศร” ชูเวลเนส

 

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร “พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ได้ยกระดับงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร บูรณาการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเวลเนส ของ อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้ฯ การยกระดับด้านการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่สากล

 

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนไทย ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบันอีก 4 ศูนย์ คือ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หลอดเลือดสมอง ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน และศูนย์ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ

 

ศูนย์บริการฉีดวัคซีนนักท่องเที่ยว

 

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สมัครใจ แบบคิดค่าใช้จ่ายที่ศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค ตั้งอยู่ที่ถ.สาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS ลงได้ที่สถานีเซนต์หลุยส์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในอีก 2-3 วัน

 

โดยจะบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(แล็ป)ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อตรวจหาเชื้อ และฉีดวัคซีน วันละ 200-300 คน นักท่องเที่ยวสามารถ Walk in  ค่าบริการไม่เกิน 1,000 บาทรวมค่าวัคซีนและค่าบริการ มีทั้งวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์ ของแอสตราเซนเนก้า และชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้รับวัคซีน

 

ในอนาคตหากนักท่องเที่ยวมีความต้องการมากขึ้น จะเปิดชั้น 11 เพิ่มเติม และที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ที่บางเขน หรือ สถาบันโรคผิวหนัง ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ รพ.เอกชน และในจังหวัดท่องเที่ยวทั่วไป 1 จุด ส่วนจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี อาจจะมีมากกว่า 1 จุด ขณะนี้ ม.ค.2566 มีวัคซีนให้บริการ รวมราว 13.3 ล้านโดส แบ่งเป็น ไฟเซอร์ 7.4 ล้านโดส และแอสตราเซนเนก้า 5.9 ล้านโดส