โควิด-19 Omicron ติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมากกว่าสายพันธุ์อื่น

โควิด-19 Omicron ติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมากกว่าสายพันธุ์อื่น

"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" Omicron ติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ย้ำคนไทยการ์ดอย่าตก

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานโควิดทั่วโลกติดเพิ่ม 373,639 คน ตายเพิ่ม 802 คน รวมแล้วติดไป 668,193,917 คน เสียชีวิตรวม 6,710,616 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ไต้หวัน
  4. ฮ่องกง
  5. จีน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.05 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.01

 

อัปเดตโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของ Omicron

ข้อมูลล่าสุดจาก Github จนถึง 5 มกราคม 2566 สะท้อนให้เห็นว่าสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่หลากหลายตัวที่มีอัตราการขยายตัวของการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดมาก่อน

ตัวที่เป็นที่จับตามอง หนีไม่พ้น XBB.1.5, BQ.1.x, BA.2.75.x, CH.1.1 และอื่นๆ ทั่วทุกทวีปมีการระบาดโดยสายพันธุ์ย่อยที่หลากหลาย สัดส่วนแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ Gerstung M จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน ได้ประเมินว่า XBB.1.5 นั้นแม้จะมีอัตราการขยายตัวของการระบาดเร็วกว่าตัวอื่นๆ แต่โดยรวมแล้ว Fitness ของไวรัสพอๆ กับ BQ.1.1

หากเป็นดังที่ประเมิน ส่วนตัวแล้วคาดว่า การระบาดในปีนี้ของทั่วโลก น่าจะเป็นไปในลักษณะถ้วยซุปสายพันธุ์ (variant soup) ไปเรื่อยๆ โดยมีหลายสายพันธุ์ย่อยมามีอิทธิพลในแต่ละภูมิภาคที่มากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่มีในพื้นที่นั้น การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนและเงื่อนเวลาที่ได้รับ

 

เหตุใด Omicron จึงติดเชื้อแพร่เชื้อกันมาก?

Wu CT และคณะ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Cell เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นสามารถติดเชื้อ โดยจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ โดยเข้าผ่านทางส่วนของ Motile cilia บนเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน

หลังจากติดเชื้อเข้าเซลล์ใน 24 ชั่วโมง ก็จะมีกระบวนการกระตุ้นส่วนของ microvilli ให้ขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้เกิดการกระจายเชื้อผ่านทางผิวเยื่อบุทางเดินหายใจไปกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เพื่อให้เกิดการแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้

ทั้งนี้ทีมวิจัยพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า สายพันธุ์ Omicron นั้นติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่เคยระบาดมาก่อนทั้งเดลต้าและ D614G

เราจึงไม่แปลกใจที่ Omicron ทำให้เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อกันอย่างระเบิดเถิดเทิงตลอดปีกว่าที่ผ่านมา

สถานการณ์โควิด-19 ของไทยเรา

ย้ำอีกครั้งว่าจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ การ์ดอย่าตก อย่าหลงไปกับคำลวงด้วยความเชื่องมงาย ที่ยุให้ทิ้งหน้ากาก ไม่ว่าจะวัยผู้ใหญ่หรือเด็ก เพราะเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา คนที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตินั้นคือตัวท่านและครอบครัวของท่านเอง ไม่ใช่แหล่งข่าวลวง ขอให้จดจำบทเรียนความสูญเสียตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง และเพราะเหตุใด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน ทั้งทำงาน เรียน และเดินทางท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ จะดีที่สุด

ติดแล้วไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรง ตาย และเสี่ยงต่อ Long COVID ระยะยาวได้

 

อ้างอิง

Wu CT et al. SARS-CoV-2 replication in airway epithelia requires motile cilia and microvillar reprogramming. Cell. 5 January 2023.