อนาคตสุขภาพไทย จะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าสู่ "ยุคดิจิทัล" เต็มรูปแบบ

อนาคตสุขภาพไทย จะเป็นอย่างไร เมื่อเข้าสู่ "ยุคดิจิทัล" เต็มรูปแบบ

หลังจากการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ "เทคโนโลยีดิจิทัล" เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะแวดวงสุขภาพ ที่ทำให้การพบแพทย์ การวินิจฉัยโรค การป้องกัน สร้างเสริมสุขภาพ ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่อีกด้านก็ยังมีความท้าทายและข้อควรระวังที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อโลกเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ธุรกิจสายสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยให้ผู้คนได้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (Digital Health Technology) หนึ่งในเมกะเทรนด์ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบต่างๆ 

 

ข้อมูลจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 เผยว่า ในช่วงโควิด-19 มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้อย่างก้าวกระโดด เช่น บริษัทประกันด้านสุขภาพระดับโลก ที่ต่างแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพที่สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ วัคซีน โภชนาการอาหาร การประเมินอาการป่วยเบื้องต้น ไปจนถึงคุณสมบัติอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพ 


“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยดุสิต ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,159 คน ทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 21 – 28 ก.ค. 2565 พบว่า โควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 72.74% และ 26.57% ดูแลสุขภาพตนเองเหมือนเดิม และมีเพียง 0.69% ที่ดูแลสุขภาพลดน้อยลง  
 

ดิจิทัล กับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

 

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลล์ แล็บ โดย MQDC กล่าวในหัวข้อ “อนาคตสุขภาพไทยในยุคการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ดิจิทัล” ภายในงาน ThaiHealth Watch 2023 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. โดยระบุว่า ดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน จนเข้านอน แต่หากมองลึกลงไปถึงการพัฒนาสุขภาวะที่ดี สิ่งที่เราเริ่มเห็นได้ชัดเจน ได้แก่

 

 

“การดูแลสุขภาวะทางไกล” ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องมาถึงโรงพยาบาล แต่แพทย์สามารถรักษาได้ ให้คำแนะนำด้านสุขภาพเบื้องต้นผ่านเทเลเฮลท์ และหากดูแลได้อย่างทั่วถึง ประมาณการณ์ว่าสามารถลดต้นทุนของผู้ป่วยได้ ดิจิทัลช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เร็วและลดเวลา

 

“ใช้ AI ช่วยดูแลสุขภาวะ” วันนี้มีการใช้ AI อย่างกว้างขวางดูอายุ ส่วนสูง เก็บข้อมูลขนาดใหญ่และคาดการณ์เฝ้าระวังสุขภาพในระดับส่วนบุคคล

 

“ดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล” สามารถดูความเป็นไปได้ การใช้ยาแต่ละบุคคล เพราะเวลาป่วยแต่ละคนมีองค์ประกอบในร่างกายแตกต่างกัน ทำให้การรักษาต่างกัน เน้นในด้านการป้องกัน เสริมสุขภาพเรื่องวิตามินต่างๆ

 

เทคโนโลยี สู่ธุรกิจใหม่วงการสุขภาพ

 

ดร.การดี กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เราตื่นนอน โดยไม่ได้ใช้การปลุกธรรมดาแต่ใช้สมาร์ทวอช ทานอาหารอาจจะมีโค้ชสุขภาพ หรือแอปพลิเคชั่นที่พอดูได้ว่าอาหารที่เราทานดีต่อสุขภาพหรือไม่ อีกทั้ง การทำงานที่มีทั้งไฮบริด ไม่ว่าจะอยู่ที่ออฟฟิศ หรือ ทำงานที่บ้าน และตกเย็นเราก็ยังอยู่ในกระบวนการใช้ดิจิทัล

 

บทบาทของดิจิทัลเหล่านี้ ส่งผลให้เกิด “ธุรกิจใหม่” ในวงการสุขภาพ โดยใช้ประโยชน์จากดาต้า ไม่ว่าจะเป็นการนำชีวิตประจำวันให้เหมือนเกม นั่งนานจะมีการเตือน หรือการตั้งเป้าแต่ละวัน เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ อีกทั้ง มีเพลงที่บำบัดจิตใจ ความเครียด ความสุข ทุกอยางเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวัดได้จากการเต้นหัวใจ การเดิน อุณภูมิ หรือมีการพัฒนาสู่การส่งยาผ่านโดรน และการพัฒนา “Divice” เพื่อให้เข้าใจร่างกายมากขึ้น นำไปสู่การป้องกันโรคร้ายหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ในอนาคต

 

 

ความท้าทาย เมื่อต้องใช้ประโยชน์จากดาต้า

 

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ แต่ ดร.การดี ก็มองว่ายังมีข้อท้าทายในยุคการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ดิจิทัล เพราะ “ดาต้า” เป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว เช่น ข้อมูลผลเลือด อาการป่วย ต่างๆ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ คือ จะมีการดูแลความปลอดภัยอย่างไร อีกทั้ง การเสพติดโซเชียลมีเดีย เรารู้โลกต้องรู้ โลกรู้เราก็ต้องรู้ อาการแบบนี้จะพบเด็กลงเรื่อยๆ กลายเป็นการเสพติดและอาจเกิดส่งผลต่อสุขภาพจิตและไม่มั่นคง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพวะทางกายและทางจิตใจ

 

4 ข้อควรรระวัง

 

“เข้าใจวัตถุประสงค์หลัก” ในการให้หรือรับดาต้าว่าคืออะไร เช่น เพื่อพัฒนาการอยู่อาศัย คาดการณ์ร่างกายที่ดีขึ้น ไม่ใช่การค้า

 

“ความโปร่งใส” โดยเฉพาะดาต้าในเชิงสุขภาพ

 

“ใครที่เป็นเจ้าของดาต้า” เช่น เมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไม่สามารถนำข้อมูลจากโรงพยาบาลหนึ่งยังโรงพยาบาลหนึ่งได้ ดังนั้น ต้องมาดูว่าการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ถูกต้องจะอยู่ที่ใคร

 

“ความเป็นส่วนตัว” สำคัญมาก ความปลอดภัยในข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ที่พวกเราต้องให้ความสนใจ และรู้เท่าทันเรื่องนี้ด้วย

 

เทคโนโลยี กับ 4 มิติสุขภาพ ยุคดิจิทัล

 

ด้าน "ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา" รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การขับเคลื่อนสุขภาพเกิดจากอุปกรณ์สุขภาพที่มีความแม่นยำ เป็นตัวช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรค รวมถึงเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ดังนี้

 

“มิติสุขภาพกาย” ดิจิทัลมาใน 2 รูปแบบ คือ ซ่อมสุขภาพ เวลาพบแพทย์อาจจะต้องเปิดข้อมูลประวัติการสร้างสุขภาพ เช่น ประวัติการเดิน การวิ่ง สุขภาพจิต การกินอาหาร ที่มีการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ปัจจุบัน แพทย์สามารถใช้พฤติกรรมเหล่านี้ในการวินิจฉัยว่าร่างกายเราจะเป็นโรคอะไรบ้าง

 

“มิติสุขภาพจิต” มีหลายมุม คือ การใช้โซเชียลมีเดียทำให้ดีขึ้น เช่น ระบายกับเพื่อน ขณะเดียวกัน เราก็รับสิ่งที่ไม่ดีมาด้วย เช่นการกลั่นแกล้งในไซเบอร์ ทัวร์ลง ส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง และดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะในแต่ละวัน เราอยู่กับโซเชียลหลายชั่วโมง บางคนแยกออกจากโลกโซเชียลไม่ได้

 

“มิติสุขภาพปัญญา” หลายคนอาจจะลืม รู้เท่า รู้ทัน รู้ทั่ว เป็นด่านแรกที่ทำให้คนสุขภาพดีหรือไม่ดี เช่น ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ข้อมูลที่เราพบในโลกโซเชียลไม่มีใครบอกได้ว่าถูกหรือผิด ดังนั้น สุขภาพทางปัญญาดิจิทัลมีส่วนมากในการที่คนจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร

 

“มิติสุขภาพทางสังคม” หลายคนมีร่างอาวตาร เราอยู่ในโซเชียลมีเดียโดยไม่ใช่คนๆ เดียวกัน เราจะเปลี่ยนไปแต่ละแพลตฟอร์ม

 

"ทั้งหมด เป็นสุขภาพ 4 มิติ ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ เราใช้เวลาอยู่กับมัน 8-9 ชม.ต่อวัน ดังนั้น ช่องทางนี้จะเริ่มจากสุขภาพปัญญา สังคม จิต และกาย หมุนเวียน เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะออกแบบให้คน ๆ หนึ่งเลือกไปในทางที่ดีหรือไม่ดีได้"

 

รอบรู้ข้อมูลสุขภาพ ด้วย แอปฯ Persona Health 

 

เมื่ออินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดูแลสุขภาพ และด้านต่างๆ ของคนในยุคปัจจุบัน การใช้เครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความรอบรู้เฉพาะบุคคลอย่าง แอปฯ "Persona Health"

 

เพื่อเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ด้วยรูปแบบและช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ถือเป็นคลังข้อมูลสุขภาพเฉพาะบุคคลที่มีการรวบรวมชุดข้อมูลความรู้ คู่มือ และสื่อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 10,000 ชิ้น

 

ทั้งนี้ แอปฯ ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างในแต่ละบุคคล อาทิ เพศ อายุ ประเด็นที่สนใจ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนข้อมูลและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลทำให้ประชาชนเกิด ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Digital Literacy) ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ

 

ปัจจุบัน สสส. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น เพื่อนำคลังข้อมูลจากระบบสารสนเทศดังกล่าวมาใช้เชื่อมต่อกับแอปฯ หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง แม่นยำ และถูกต้อง ในการดูแลสุขภาพของตนเอง

 

รวมทั้งในปี 2566 จะมีการพัฒนาแอปฯ Persona Health ที่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงของสุขภาตนเองในเบื้องต้นได้ ถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง