Long COVID กระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน

Long COVID กระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน

"หมอธีระ" เผยอาการ Long COVID กระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 293,143 คน ตายเพิ่ม 496 คน รวมแล้วติดไป 657,728,096 คน เสียชีวิตรวม 6,671,746 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ฝรั่งเศส
  4. ฮ่องกง
  5. ไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.24 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.54

การบั่นทอนสมรรถนะการใช้ชีวิตจากภาวะ Long COVID

ล่าสุด Lau B และคณะ จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับ Long COVID ลงใน medRxiv วันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา

ศึกษาในกลุ่มประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน จำนวน 8,874 คน และคนที่ไม่เคยติดเชื้อจำนวน 633 คน

โดยในการศึกษานี้มีคนที่ประสบปัญหา Long COVID จำนวน 7,926 คน อายุเฉลี่ย 45 ปี (ค่ามัธยฐาน) และเป็นเพศหญิง 84%

65% ของคนที่ประสบปัญหา Long COVID รายงานว่ากระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่กลุ่มที่เคยติดเชื้อแต่ไม่เป็น Long COVID จะรายงานว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเพียง 6%

วิเคราะห์แล้วพบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะ Long COVID ที่สำคัญ เช่น เพศหญิง ภาวะอ้วน อายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการมีโรคประจำตัวต่างๆ

ทั้งนี้ กลุ่มที่ประสบปัญหากระทบต่อการใช้ชีวิตมากนั้นพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น/หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia), ภาวะหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (POTS), ภาวะอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ฯลฯ ในสัดส่วนที่สูง

การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด เพื่อลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ตาย และ Long COVID

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้าน และการกินดื่ม แชร์ของกินของใช้

พกสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...โควิดติดไม่ใช่แค่คุณ และไม่ได้จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่เสี่ยงต่อภาวะเรื้อรังระยะยาวได้

อ้างอิง

Lau B et al. Physical and mental health disability associated with long-COVID: Baseline results from a US nationwide cohort. medRxiv. 7 December 2022.