"กัญชง" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต "CBD" มาแรง หลังปลดล็อก

"กัญชง" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต "CBD" มาแรง หลังปลดล็อก

หลังจากมีการปลดล็อก "กัญชง" เมื่อต้นปี 2564 พบว่ามีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สาร CBD จากกัญชงมาผลิตสินค้า และหนึ่งในนั้น คือ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาบุกตลาด โดยจับมือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัย พัฒนา ภายใต้ชื่อ Egronix

หลังจากวันที่ 29 ม.ค. 64 มีการปลดล็อก “กัญชง” ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปขออนุญาตปลูกกัญชงได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง และนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่ต้องการขออนุญาตปลูก หากสถานที่ปลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่ อย. หากอยู่ที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอที่ สสจ. ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.

 

ที่ผ่านมา จึงพบว่า “ตลาดกัญชง” ถูกมองเป็น อุตสาหกรรมใหม่ ที่มีโอกาสเติบโต หากมองธุรกิจกัญชง ในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายพื้นที่ในอเมริกาใต้ พบว่า มีผลิตภัณฑ์กัญชงหลายรูปแบบ อาทิ ยา อาหารเสริม เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์ หรือโครงรถยนต์ ก็มีการใช้เส้นใยจากกัญชงมาเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต

 

เมื่อดูในแถบเอเชียเอง ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกที่เปิดเสรีตลาดกัญชง จากเดิมที่ไทยจะใช้กัญชงเส้นใยเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีการใช้สารสกัด CBD จากกัญชงมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยจะเห็นผู้เล่นใหม่หลายรายที่หันมาจับตลาดกัญชงมากขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะเป็น Holding Company โดยมีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เน้นโครงการแนวราบ , กลุ่มธุรกิจโรงแรม , ธุรกิจพลังงานทางเลือก ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ , ธุรกิจการเงินได้แก่สินเชื่อ แบบ NonBank และการก้าวสู่ธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจ กัญชง-กัญชา แบบครบวงจรภายใต้ชื่อ “Egronix”

 

\"กัญชง\" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต \"CBD\" มาแรง หลังปลดล็อก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

โดยทำงานร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ให้คำปรึกษา และใช้นวัตกรรมในการปลูกกัญชง รวมถึงโรงอบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการอบกัญชง ด้วยกรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ

1. การส่งเสริมการทำงานร่วมกันทางด้านทดสอบ วิจัย และพัฒนา ด้านการผลิตและสายพันธุ์กัญชงที่มีลักษณะเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ให้ปริมาณสาร CBD ในช่อดอกที่สูงและมีคุณภาพ

2. ส่งเสริมในการทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการเพาะปลูก การบำรุงรักษาพืชกัญชงในระบบเกษตรปลอดภัย และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

3. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาการเพาะปลูกและการบำรุงรักษาพืชกัญชงร่วมกัน

 

ทั้งนี้ ไร่กัญชงผืนแรกของบริษัทฯ AQ ตั้งอยู่ ณ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าชาง จังหวัดลำพูน มีโรงเรือนสำหรับการเพาะปลูก (Green House) จำนวน 50 โรงเรือน เป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 8,000 ตารางเมตรและพื้นที่ปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ประมาณ 3,300 ตารางเมตร รวมพื้นที่แปลงเพาะปลูกกว่า 12,000 ตารางเมตร และสามารถปลูกได้ 3-4 รอบ ต่อปี

 

“วรวุฒิ ไหลท่วมทวีกุล” กรรมการบริหาร บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) เผยว่า การที่ AQ เข้ามาลงทุนในธุรกิจกัญชง กัญชา เพราะมองว่าธุรกิจนี้มีโอกาสในอนาคตค่อนข้างสูง สำหรับโรงเรือนทั้งหมด 50 โรงเรือน แบ่งเป็น กัญชง 40 โรงเรือน 4 รอบปลูกต่อปี ให้ผลผลิต 5,600 กิโลกกรัม พื้นที่ Outdoor ผลิตได้ 3 รอบปลูกต่อปี ให้ผลผลิต 1,500 กิโลกรัม ขณะที่กัญชา มีจำนวน 10 โรงเรือน 4 รอบปลูก ให้ผลผลิต 450 กิโลกรัม

 

\"กัญชง\" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต \"CBD\" มาแรง หลังปลดล็อก

 

ทั้งหมด สามารถสร้างผลผลิตในรอบการปลูกได้กว่า 7,500 กิโลกรัมต่อรอบปลูก โดยคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ปัจจุบัน การตอบรับในเรื่องของกัญชง กัญชา ถือว่าเป็นกระแสที่ดี บริษัทฯ มีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาสินค้าที่มีส่วนประกอบของกัญชงและกัญชา มาวางขายในตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้มีพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ และกำลังมองหาคู่ค้าที่สนใจรับซื้อในส่วนของ ช่อดอก ราก ลำต้นและใบ รวมถึงพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ในส่วนของธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำต่อไป

 

ด้าน “ชนน วังตาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมกัญชง เรียกว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ปัจจุบันกฎหมายและนโยบายมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำกัญชงสำหรับอุตสาหกรรม ธุรกิจกัญชง ที่ถือเป็นธุรกิจยังสามารถเติบโตและสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อีกมาก แม้ว่าจะมีการแข่งขันในตลาดสูง โดยเตรียมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

 

\"กัญชง\" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต \"CBD\" มาแรง หลังปลดล็อก

 

กัญชง อุตสาหกรรมใหม่

 

“ผศ.ดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน” หัวหน้าศูนย์ทดสอบวิจัยและพัฒนากัญชงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่า อุตสาหกรรมกัญชงถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมกัญชงแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มผู้ปลูกกัญชง
  • กลุ่มโรงงานสกัด CBD และน้ำมัน
  • กลุ่มที่มีเทคโนโลยีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์
  • กลุ่มหน่วยงาน R&D เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

ปัจจุบัน “กัญชง” มีการใช้ประโยชน์ 3 รูปแบบ คือ

  • เส้นใยจากกัญชง
  • สกัดเป็นน้ำมันกัญชง
  • กัญชง CBD เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้อยู่ระหว่างการวิจัย

 

“ในประเทศไทยมีการทำกัญชงมานาน แต่เป็นกัญชงสำหรับเส้นใย สิ่งทอเป็นหลัก แต่อุตสาหกรรมกัญชง CBD ยังไม่มีสายพันธุ์ เนื่องจากเราไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ตั้งแต่เบื้องต้น ดังนั้น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปได้ อาจจะต้องนำเอาสายพันธุ์มาทดลองปลูก มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงเป็นต้นน้ำ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ให้เดินหน้าต่อไปตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

 

\"กัญชง\" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต \"CBD\" มาแรง หลังปลดล็อก

 

9 ปัจจัย ดันการปลูก “กัญชง” สู่เส้นชัย

 

ผศ.ดร.ตะวัน กล่าวต่อไปว่า สำหรับกัญชง CBD เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบทั้งด้านสุขภาพ การแพทย์ และ Healthcare Produce โดยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับตั้งแต่ “ผู้ปลูกกัญชง” ไปจนถึง “โรงงานรับซื้อผลผลิต/แปรรูป” มี 9 ปัจจัยที่จะทำให้การปลูก "กัญชงอุตสาหกรรมสำเร็จ" ได้แก่

1. เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า กัญชง วัสดุปลูก ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ สารชีวภัณฑ์

2. สัญญาระหว่างผู้ปลูก กับโรงงานรับซื้อผลผลิต/แปรรูป

3. การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และกาจัดการกลุ่มผู้ปลูก

4. การถ่ายทอด อบรม พัฒนา วิธีการปลูก โปรแกรมการให้ปุ๋ย โปรแกรมการให้แสง การจัดการฟาร์ม

5. โรงเรือนและเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการผลิตกัญชง เกษตรแม่นยำสูง อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์

6. การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลผลิตกัญชง

7. การจัดทำมาตรฐานพื้นที่และการเพาะปลูก (เกษตรอินทรีย์/เกษตรปลอดภัย หรือ GAP)

8. การทดสอบและควบคุมคุณภาพของผลผลิตก่อนเข้าโรงงานรับซื้อ ผลผลิต/แปรรูป

9. การตรวจติดตามและการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุกช่วงอายุกัญชง

 

“วันนี้เรามองเรื่องคุณภาพของฟาร์ม การผลิตแบบปลอดภัย และในอนาคตคาดว่าจะมองในเรื่องของ “เมดิคัล เกรด” (Medical Grade) ผลผลิตที่คุณภาพสูงขึ้น พัฒนาการปลูกเพื่อให้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยร่วมกับทาง Egronix” ผศ.ดร.ตะวัน กล่าว

 

\"กัญชง\" อุตสาหกรรมแห่งอนาคต \"CBD\" มาแรง หลังปลดล็อก

 

พัฒนาสู่ฟาร์มยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ของเหลือจากการเกษตร เช่น ใบ กิ่ง ก้าน อยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องของ Zero waste เพื่อมองในเรื่องของ Sustainable farming ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทางฟาร์มของ Egronix กำลังขยับ และพัฒนาสู่ฟาร์มที่ยั่งยืนต่อไป เนื่องจากฟาร์มของ Egronix นับเป็น Top5 ของภาคเหนือ จากการปลูกกัญชง 40 โรงเรือน คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 60,000 ต้น และสามารถใช้ประโยชน์จากชีวมวล ใบ ลำต้น ราก ไม่ต่ำกว่า 20,000 กิโลกรัม ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์ที่ต้องทำงานร่วมกันต่อไป