ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต

ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต

CBSE หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมบนฐานชุมชน (Community Based Social Enterprise) นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ใช้โมเดลองค์กรรูปแบบนี้เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาคน เมืองและแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชน

ในการแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชน แทนที่ภาครัฐจะใส่โครงการพัฒนาเมืองและสังคมลงไปในแต่ละชุมชน ภาครัฐได้ก็หันไปสนับสนุนให้เกิด CBSE ขึ้น เพื่อให้ CBSE เข้าไปเป็นกลไกในการพัฒนาคน เมืองและชุมชนแทน

CBSE มีข้อดีคือเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมและชุมชน  รวมถึงมีโมเดลทางธุรกิจซึ่งสามารถเลี้ยงตนเองได้ ตลอดจนสามารถเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องไปกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของเมืองและชุมชนได้ตามอัตโนมัติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากโครงการภาครัฐทั่วไป ที่ต้องมีการตั้งโครงการ มีการขอใช้งบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี

จึงอาจมีจุดอ่อนในด้านความล่าช้าของเวลา (time lag) ระหว่างปีงบประมาณ รวมถึงโครงการอาจไม่ต่อเนื่องเมื่อไม่มีงบประมาณหรือโครงการถูกยุติเมื่อเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนนโยบาย ตลอดจนอาจขาดความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงโครงการภาครัฐให้ตอบสนองพลวัตในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีซึ่งแตกต่างจาก CBSE ที่มักมีความคล่องตัวกว่า

Bailey, Kleinhans and Lindbergh (2018) ได้ศึกษา CBSE ในอังกฤษ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ พบว่า CBSE ปรากฏอยู่ในองค์กรและกฎหมายในหลายรูปแบบ มีคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1) มีรากฐานในชุมชน (locally rooted) คือตั้งอยู่ในสถานทางกายภาพในชุมชนนั้นๆ และทำธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นต่างๆ ของชุมชน

2) ทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่เอกชน รายได้มาจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ เช่น การค้าและบริการ

3) มีการตรวจสอบและความรับผิด (accountable) ต่อคนในชุมชน เช่น ความเป็นหุ้นส่วนของสมาชิกชุมชนที่สามารถออกเสียงเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางขององค์กร

 4) สร้างประโยชน์และผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชนท้องถิ่นโดยรวม เช่น เกิดเครือข่ายของสมาชิกชุมชน เกิดการการรวมกันของสมาชิกชุมชนในรูปแบบต่างๆ

ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต

    มีตัวอย่างของ CBSE มากมายในต่างประเทศที่มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ เช่นประเด็นวาระการแก้ไขปัญหาและเสริมศักยภาพให้กับเยาวชน มีองค์กรอย่าง “Tweeddale Youth Action” ซึ่งเป็น CBSE ที่มุ่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มเยาวชนในสกอตแลนด์

เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนสกอตแลนด์ ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานวิสาหกิจแห่งสกอตแลนด์ใต้ ในการปรับปรุงอาคารเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชน

Tweeddale Youth Action ทำโครงการและกิจกรรมหลากหลายกับเด็กและเยาวชน มุ่งช่วยสนับสนุนงานด้านต่างๆ แก่เยาวชนในเส้นทางจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ให้เด็กและเยาวชนเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมอีก 2 แห่งคือ Food Punks และ Bike Punks

โดย Food Punks เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมสร้างรายได้ให้แก่ Tweeddale Youth Action ผ่านธุรกิจ การสอนทำอาหาร การจัดเลี้ยง จัดทำอาหารกลางวันส่งถึงผู้บริโภค  ส่วน Bike Punks มีรายได้จากการให้เช่าจักรยาน ทำสินค้างานฝีมือและแผ่นป้ายเล็กๆ สำหรับจักรยาน    

ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต

ประเด็นวาระการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน องค์กรอย่าง “Millfields Trust” เป็น CBSE ในอังกฤษที่ต้องการช่วยฟื้นชุมชนขึ้นมาใหม่ ดำเนินงานอยู่ในชุมชน Stonehouse เมืองพลิมัท เริ่มต้นจากการได้พื้นที่โรงพยาบาลเก่ามาจากหน่วยงานท้องถิ่น แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เช่าสำนักงานสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และได้ขยายการดำเนินการออกไปในหลายพื้นที่

เป้าหมายคือการสร้างและฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาใหม่ ผ่านการจัดให้มีพื้นที่ทำงานและการจ้างงาน ทำให้เด็กๆ มีความฝัน และสร้างโอกาสในงานใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีธุรกิจจำนวนมากกว่า 90 แห่งเช่าพื้นที่และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก 

หรือองค์กร “Crabbehoeve” เป็น CBSE ในเนเธอร์แลนด์ที่มุ่งสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชุมชน เริ่มต้นจากการใช้พื้นที่โรงเรียนเก่าที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่าน Crabbehof ซึ่งเคยถูกเสนอให้รื้อถอน นำมาจัดทำเป็นพื้นที่นัดพบอเนกประสงค์สำหรับคนในชุมชน

ใช้ธีมสวนแห่งประสบการณ์  มีทั้งสวนดอกไม้ สวนผัก และใช้ห้องเรียนของโรงเรียนเก่ามาทำเป็นห้องประชุม ห้องรับประทาน และห้องสตูดิโอ เพื่อเป็นสถานที่พบปะกันของคนในชุมชนให้แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 

ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต

ในประเด็นวาระแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย องค์กร “Yalla Trappan” เป็น CBSE ในสวีเดนที่มุ่งสร้างงานให้ผู้หญิงที่อพยพเข้ามาและแรงงานข้ามชาติ ก่อตั้งในปี 2553 ในพื้นที่เมือง Malmö ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูง จำนวนผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติขยายตัว และมีอัตราเยาวชนออกจากโรงเรียนสูง

องค์กรจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยผู้ประสบความยากลำบากในการมีงานทำและเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานผู้หญิงที่เป็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมและอาชีพในเมือง ด้วยการสร้างทักษะที่ผู้หญิงมีอยู่แล้ว เช่น การทำอาหาร การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำความสะอาด

เมื่อผู้ลี้ภัยสตรีมาถึงจะมีการฝึกงาน 6 เดือน พร้อมสอนภาษาสวีเดน อบรมทักษะทำงาน เพื่อให้ได้รับการจ้างงานในสวีเดน โดยองค์กรทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดกับเทศบาล หน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เช่น IKEA, H&M และ Skanska

องค์กร Yalla Trappan ได้รับการยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ได้รับรางวัลความเท่าเทียมแห่งสวีเดนและรางวัลพลเมืองยุโรปของรัฐสภายุโรป

การเปลี่ยนกลยุทธ์จากเดิมที่ภาครัฐทำโครงการเองไปสู่การส่งเสริมให้ CBSE ทำงานแทนให้ในชุมชน น่าจะเป็นทิศทางที่ภาครัฐไทยในอนาคตควรมุ่งไป.

ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต
คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
วรดุลย์ ตุลารักษ์
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation