มือถือและสังคมออนไลน์ กับ สุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์

มือถือและสังคมออนไลน์ กับ สุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์

ท่านผู้อ่านได้เคยสังเกตไหมว่าวันหนึ่งใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือนานแค่ไหน? หรือ ท่านสามารถออกนอกบ้านโดยลืมนำโทรศัพท์มือถือไปด้วยได้หรือไม่? และท่านคิดว่าโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของท่านหรือยัง?

แอปพลิเคชั่นและสังคมออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย และสถานการณ์โควิดที่ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่กับตนเองมากขึ้น โทรศัพท์มือถือและสังคมออนไลน์ก็ได้กลายเป็นทางออกที่สำคัญของชีวิตในช่วงโควิด ทั้งในด้านการทำงาน ความบันเทิงและชีวิตส่วนตัว แม้โควิดจะคลี่คลาย แต่อัตราการใช้มือถือและสังคมออนไลน์ก็ไม่ได้ลด

    ล่าสุดในอเมริกามีการสำรวจและพบว่า ผู้ใหญ่วัยทำงานนั้นจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมงกับหน้าจอมือถือ ส่วนวัยรุ่นนั้นจะใช้เวลาเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน แม้กระทั่งเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปีก็จะใช้เวลาวันละ 2.5 ชั่วโมงอยู่กับหน้าจอ (พบเห็นได้ทั่วไปว่าถ้าผู้ใหญ่ต้องการให้บุตรหลานอยู่อย่างสงบแล้วก็ จะหยิบหน้าจอไม่มือถือหรือ tablet มาเปิดให้บุตรหลานดู)

    โทรศัพท์รุ่นใหม่ในปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานได้แล้ว ดังนั้น ท่านผู้อ่านลองตรวจสอบจากโทรศัพท์ของท่านดูได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วท่านใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์วันละกี่ชั่วโมง แล้วท่านอาจจะตกใจเมื่อพบว่าในหนึ่งวันท่านได้ใช้เวลาไปกับโทรศัพท์มากเพียงใด

    จริงๆ ข้อดีของเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือ และสังคมออนไลน์ก็มีอยู่มากมาย ตั้งแต่เป็นเครื่องมือในการทำงาน การสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การซื้อของ การประกาศให้โลกรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ เป็นแหล่งความรู้ ความบันเทิง รวมถึงแหล่งพักพิงเมื่อเบื่อ เหงา และเครียด ฯลฯ 

    แม้ข้อดีจะมีมากมาย แต่การใช้ก็ควรจะเป็นไปในปริมาณที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน การอยู่กับและใช้โทรศัพท์มือถือที่มากเกินไป ก็ส่งผลเสียได้ ทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจของคนได้

มือถือและสังคมออนไลน์ กับ สุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์

พบเห็นบ่อยๆ ที่คนกำลังข้ามถนนหรือเดินอยู่ในสถานที่อันตรายก็ยังก้มหน้าเล่นและไถมือถืออยู่ คนจำนวนไม่น้อยที่ก่อนนอนก็จะอดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเพื่อเข้าไปส่องดูชีวิตผู้อื่น หรือ เข้าไปช้อปปิ้งเลือกซื้อสินค้า และความน่ากลัวคือเมื่อเข้าไปแล้วก็มักจะเพลิดเพลินจนลืมเวลานอนไปก็บ่อย

    จากผลของการใช้เวลากับมือถือและสื่อออนไลน์ที่มาก ทำให้ปัจจุบันสมาธิของคนจะสั้นลง ความสามารถในการมุ่งเน้นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะน้อยลง (อดไม่ได้ที่จะเหลือบมองมือถือทุกครั้งที่มี notification) และความอดทนก็น้อยลง

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมโทรศัพท์รุ่นใหม่ในปัจจุบันถึงมีฟังก์ชั่นที่จะพยายามช่วยให้คนมีสมาธิมากขึ้น ตัดการรบกวน หรือ การแจ้งเตือนต่างๆ ออกไปเมื่อต้องทำงานที่มีสมาธิ

    อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญที่สุดของการติดเทคโนโลยี มือถือ และสังคมออนไลน์ คือปัญหาสุขภาพจิต ในต่างประเทศได้มีงานวิจัยต่างๆ ที่มองความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เทคโนโลยี มือถือ และสังคมออนไลน์ และทั้งหมดนั้นพบตรงกันว่า ทั้งเทคโนโลยี มือถือ และสังคมออนไลน์ มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิต 

    ในอเมริกามีงานวิจัยที่พบว่า ภาวะการซึมเศร้าและความวิตกกังวลจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้สังคมออนไลน์จำนวนหลายแพลตฟอร์ม มากกว่าวัยรุ่นที่ใช้เพียงแค่สองแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ยังพบว่าพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กจะช้าลงจากการที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และยังพบหลักฐานว่าในกลุ่มวัยรุ่นนั้น ความสุขนั้นจะลดลงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

    ความน่ากลัวคือ ผลของเทคโนโลยี มือถือ และสังคมออนไลน์ที่มีต่อสุขภาพจิตของคนนั้นมักจะเป็นไปในรูปแบบที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การเข้าใจในตนเองที่ผิดไป (โพสต์ไปมีแต่คนชื่นชม) ความรู้สึกด้อยกว่าผู้อื่น ความอิจฉา ความอยากจะได้ อยากจะมี เหมือนผู้อื่น (เห็นโพสต์ของผู้อื่น)

    การใช้เทคโนโลยี มือถือ หรือสังคมออนไลน์ก็ต้องหาความพอดีหรือเหมาะสมให้เจอ ขณะเดียวกันท่านที่เริ่มรู้สึกตัวก็อาจจะเริ่มทำ Detox หรือ Fasting จากเทคโนโลยีเหล่านี้บ้างก็ได้ ไม่ว่าการไม่หยิบมือถือขึ้นมาทั้งวัน หรือ การไม่เข้าสังคมออนไลน์เลยทั้งสัปดาห์ แล้วลองดูว่ามีความสุขมากกว่าเดิมไหม.

มือถือและสังคมออนไลน์ กับ สุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์

คอลัมน์ มองมุมุใหม่

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]