จากการได้เลือกที่จะลาออก สู่การถูกให้ออก | พสุ เดชะรินทร์

จากการได้เลือกที่จะลาออก สู่การถูกให้ออก | พสุ เดชะรินทร์

บริบททางธุรกิจในสองปีที่ผ่านมาผันผวนมาก และก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานตามบริษัทต่างๆ ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ทำงานในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนตลอดเวลา

เริ่มจากบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโต โดยเฉพาะในช่วงโควิด ที่ทุกองค์กรและทุกคนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้ทั้งผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีมีการปรับตัวขึ้นสูง

อย่างไรก็ดี ล่าสุดผลจากปัญหาต่างๆ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยี ที่เพิ่งทะยอยประกาศออกมาเป็นไปอย่างน่าผิดหวัง ความผันผวนในสภาพแวดล้อมและการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยี ก็ส่งผลต่อความผันผวนต่อการทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน

ถ้ายังจำได้ ในช่วงกลางปีที่แล้วหลังจากที่โควิดเริ่มคลี่คลาย ก็เกิดปรากฏการณ์ Great Resignation ที่พนักงานตามบริษัทต่างๆ (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) แห่กันลาออกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากความไม่พอใจต่อนโยบายของบริษัท (ทั้งระหว่างและหลังโควิด) รวมถึงการมีโอกาสและทางเลือกใหม่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

    แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวใหญ่ตามสื่อทางด้านธุรกิจ จะเป็นข่าวเรื่องการปลดพนักงานออกมาเป็นจำนวนมาก (Mass Layoffs) ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งจากสาเหตุของการเปลี่ยนเจ้าของ (Twitter) หรือจากผลประกอบการที่น่าผิดหวัง (Meta, Microsoft, Snap)

รวมถึงความผันผวนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ส่งผลให้ Exchange เจ้าดังอย่าง Coinbase ต้องปลดพนักงานไป 18%  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าจากสถานการณ์ของ FTX ที่เพิ่งเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้เล่นรายอื่นๆ ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จนถึงขั้นต้องลดพนักงานกันอีกรอบหรือไม่

 นอกจากบริษัททางด้านเทคโนโลยีแล้ว Disney ก็เพิ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจากผลประกอบการที่ไม่ดี จะต้องมีการคุมเข้มค่าใช้จ่ายต่างๆ และจะมีการปลดพนักงานในไม่ช้า

สาเหตุสำคัญของผลประกอบการที่ไม่ดี มาจาก Disney+ ที่ถึงแม้ในไตรมาสที่ผ่านมาจะสามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านคน แต่ก็ประสบกับผลขาดทุนถึง $1.5 billion

    อีกในยักษ์ใหญ่ในวงการสื่ออย่าง Warner Bros Discovery (เจ้าของ CNN, HBO และช่อง Discovery) ก็ประกาศปลดพนักงานไปอีก 1,000 กว่าอัตรา สาเหตุจากทั้งธุรกิจที่เริ่มชะลอตัวและหนี้สินที่เกิดจากการควบรวมของสองกิจการ (เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการรวมตัวของ Warner Bros และ Discovery) 

    หนึ่งสัญญาณแนวโน้มการปลดพนักงานคือ สื่อยักษ์ ทั้ง Wall Street Journal หรือ Harvard Business Review ก็เริ่มนำบทความหรืองานวิชาการเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและสิ่งที่ควรทำเมื่อถูกปลดออกจากงานมานำเสนอเพื่อเป็นอาหารสมองของผู้อ่านมากขึ้น

    เหมือนจะเป็นวัฏจักรที่คนที่เป็นลูกจ้างต้องทำใจยอมรับแล้วว่า เมื่อสภาวะทางธุรกิจสดใส ธุรกิจมีการเติบโต การจ้างงานก็เพิ่มขึ้น ตลาดก็เป็นของพนักงานที่จะเลือกทำงานกับบริษัทที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่เมื่อธุรกิจเริ่มซบเซา บริษัทที่เคยเติบโต ขยายกิจการ หรือ ลงทุนอย่างมาก ก็เริ่มประสบปัญหา ต้องเน้นการควบคุมต้นทุน และปลดพนักงาน    

 ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ธุรกิจกำลังเห่อทั้ง Streaming และ Metaverse หลายบริษัทก็หันมาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น มีการจ้างและแย่งชิงพนักงานด้วยเงินเดือนที่สูง แต่เมื่อไม่เติบโตตามคาดหวัง การปลดพนักงานก็กลายเป็นช่องทางในการลดต้นทุนที่เร็วที่สุด

    ในไทยเองก็เช่นเดียวกัน การเติบโตของการซื้อของออนไลน์ ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้งเติบโตอย่างมาก บริษัทในธุรกิจต้องเร่งเติบโต จ้างพนักงานใหม่ด้วยอัตราเงินเดือนที่สูง แต่พอเวลาผ่านไปธุรกิจไม่เติบโตเหมือนเก่า ต้นทุนที่แบกรับไว้ก็สูง เลยทำให้มีข่าวเรื่องของการปลดพนักงานในธุรกิจมาเป็นระยะๆ

    สรุปแล้วสำหรับพนักงานเมื่อเลือกบริษัทที่จะทำงานนั้น ถ้าเลือกทำงานในอุตสาหกรรมที่หวือหวา เปลี่ยนแปลงเร็ว ถึงแม้ค่าตอบแทนจะสูง ก็ต้องพร้อมยอมรับความเสี่ยงด้วย.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]