อัปเดตสิทธิ "บัตรทอง" คนกรุงปี 66 รับการรักษาโรคใดบ้าง?

อัปเดตสิทธิ "บัตรทอง" คนกรุงปี 66 รับการรักษาโรคใดบ้าง?

กทม.มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น ประมาณราว 7-8 ล้านคน รวมถึงยังมีประชากรแฝงอีกจำนวนหนึ่ง ทว่าในจำนวนประชาชนกรที่มานั้น มาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ใช้บริการรักษาพยาบาลสิทธิบัตรทอง

ประชากรที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีทั้งสิ้น 8,055,122 ราย เป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 3,926,964 ราย หรือราว ๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด

แบ่งเป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. 78% และมีทะเบียนบ้านต่างจังหวัด 22% โดยผู้มีสิทธิใน กทม. ส่วนใหญ่คือกลุ่มอายุ 0-24 ปี ขณะที่คนต่างจังหวัดซึ่งลงทะเบียนบัตรทองใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน อายุ 20-59 ปี

คนกรุงใช้สิทธิบัตรทองน้อย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ใน กทม.มีโรงพยาบาลทั้งหมด 97 แห่ง ในจำนวนนี้ให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 46 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ 28 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 18 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 171 แห่ง ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นรับผิดชอบประชากรรวม 1.9 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิบัตรทองใน กทม.ทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กสิทธิ! "ใส่รากฟันเทียม" ในระบบบัตรทองมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

อัปเดต สิทธิ "บัตรทอง" - "ประกันสังคม" ติดเชื้อโควิด-19 ส่งยาฟรีถึงบ้าน

อัปเดต! บริการสายด่วน สปสช.1330 มีอะไรบ้าง?

“ชัชชาติ” เผย กทม.-สปสช.ร่วมจัดหา รพ.รองรับคนถูกยกเลิกสิทธิบัตรทอง 1 ต.ค

 

ทำไมคนกทม. ไม่ใช้บัตรทองรักษาสุขภาพ

ทั้งนี้ จากภาพรวมการให้บริการผู้ป่วยนอกในสิทธิบัตรทองของ กทม. ประจำปีงบประมาณ 2559 มีผู้มาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 1.07 ล้านคน คิดเป็น 27% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด ขณะที่จำนวนการให้บริการมีทั้งสิ้น 6.64 ล้านครั้ง

ซึ่งเมื่อเทียบกับทั่วประเทศนับว่าอัตราการใช้บริการของคน กทม. ถือว่าต่ำมาก เช่นเดียวกับการใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพของคนกรุง ซึ่งเมื่อรวมทุกสิทธิแล้วมีการใช้บริการในภาพรวมเพียง 6.12 ล้านครั้ง โดยสาเหตุอาจเป็นเพราะประชาชนไม่รู้หน่วยบริการประจำของตน เข้าไม่ถึง หรือไม่ไว้วางใจในการใช้บริการ

นพ.การุณย์ สรุปภาพรวมว่า กทม.มีจำนวนประชากรมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ มีทั้งประชากรแฝง และประชากรที่เข้ามาทำงานในระหว่างวัน แต่จำนวนประชากรบัตรทองกลับน้อยเมื่อเทียบกับเขตอื่น ๆ ขณะที่การให้บริการสุขภาพนั้นมีหลายหน่วยงาน และยังมีความซ้ำซ้อนระหว่างผู้ให้บริการ อีกทั้งหน่วยบริการยังมุ่งเน้นเชิงการรักษาพยาบาล มากกว่าการส่งเสริมและป้องกันโรค

ขณะเดียวกัน แม้จะมีโรงพยาบาลจำนวนมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพราะยังเป็นที่รับจากเขตใกล้เคียง และการกระจายตัวของหน่วยบริการสุขภาพก็ไม่ครอบคลุมประชากรบางส่วน ตามมาด้วยต้นทุนบริการที่สูง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง โดยประชาชนใน กทม. มีความคาดหวังต่อการบริการที่มีคุณภาพสูง ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของบริการระดับปฐมภูมิ ทำให้ไปรับบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

เช็กสิทธิบัตรทอง รักษาสุขภาพทั่วหน้า

หากพักในกรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือจุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม. ได้แก่ สำนักงานเขต 19 เขตของ กทม.  โดยเมื่อลงทะเบียนแจ้งสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะเกิดสิทธิใหม่ทันที 

ทั้งนี้ สำหรับสิทธิบัตรทองที่เข้าถึงได้ 

  • สิทธิการคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • สิทธิในการตรวจและเข้ารักษาพยาบาล ตลอดจนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
  • สิทธิได้รับค่าอาหารและห้องสามัญ
  • สิทธิในการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทำฟันปลอม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ใส่เพดานเทียมสำหรับผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ
  • เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน
  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ                                           
  • อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองต้องเดินทาง เช่น กลับไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ถูกสุนัขกัด ถือเป็นอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในการทำแผลและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ แต่ให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อน และสามารถรับบริการได้ครบตามกำหนดของการรับวัคซีน เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปรับวัคซีนเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ ได้ที่ (คลิก)

ขยายบริการสู่ดิจิทัล เพื่อสุขภาพประชาชน

นพ.การุณย์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ กทม. จะต้องมีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง โดยการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ต่อยอดเชื่อมโยงกับระบบที่มีอยู่เดิม โดยแบ่งพื้นที่ร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายรัฐ เอกชน สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม สร้างความมั่นใจในคุณภาพบริการ รวมทั้งทำให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการพัฒนาระบบการเงินการคลัง โดยสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน อาจบูรณาการระหว่างงบประมาณของกองทุนฯ และ กทม. ขณะเดียวกันยังต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ กทม. ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ในยุคดิจิตอล ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในเขต กทม.สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ตั้งแต่การลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการผ่านโมบายแอปพลิเคชัน การปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมคนเมือง ตลอดจนปรับกลไกการจ่ายเงินให้เหมาะสม” นพ.การุณย์ กล่าว

นพ.การุณย์ ยังระบุถึงการจัดบริการในรูปแบบอื่นๆ ที่ควรทำ เช่น การจัดให้มีหน่วยร่วมบริการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล อาทิ ร้านยา ที่กำลังจะนำร่องซึ่งจะช่วยลดความแออัดไปได้ส่วนหนึ่ง

วางทิศทางสุขภาพคนกรุงปี 66 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบบริการสาธารณสุขพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 โดยเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทิศทางการดำเนินงานให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ กทม. ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. จะดำเนินการตามเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สิทธิบัตรทอง ช่วง 5 ปี (2566-2570) ที่จะมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น

จะสอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เช่น การเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) หรือแม้กระทั่ง บริการผู้ป่วยนอก (OPD) และบริการผู้ป่วยใน (IPD) ที่ถ้าเทียบสถิติการเข้าใช้บริการในพื้นที่อื่นๆ นอก กทม. แล้วมีความแตกต่างถึง 2 เท่า ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

ทั้งนี้ การจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยบริการและประชาชน สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ สปสช.คำนึงถึง โดยในส่วนของ สปสช.เองจะมุ่งบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ระบบบัตรทองเกิดความยั่งยืน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิบาลระบบร่วมกัน ซึ่งถ้าเป็นในระดับประเทศจะเป็นกลไกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สำหรับ กทม. ก็จะมีกลไกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่หรือ อปสข. ในเขตพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นปีที่เราปรับโครงสร้างใหม่ แต่ก็มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งหน่วยบริการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน โรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพของ กทม. ร่วมกัน” พญ.ลลิตยา กล่าว

เพิ่มหน่วยกำกับมาร่วมจัดบริการมาก

นพ.การุณย์  กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนเพื่อรองรับสิทธิต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ กทม. แม้จะมีผู้จัดบริการจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ระบบบริการอาจยังไม่เพียงพอต่อคน กทม. โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ กทม. มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น คือราว 7-8 ล้านคน รวมถึงยังมีประชากรแฝงอีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนประชาชนในเขตปริมณฑลที่จะมาเข้ารับบริการอีกด้วย 

ฉะนั้น การบริหารกองทุนในปี 2566 จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรเพื่อความเหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน โดยอาจต้องมีหน่วยกำกับมาร่วมจัดบริการมากขึ้น เช่น เวชกรรม พยาบาล ฯลฯ รวมถึงยังมีอีกสองส่วนที่สำคัญ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในวันนี้ คือ ทิศทางนโยบายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับ กทม. และทิศทางระบบบริการของ กทม.หลังจากนี้

“หลายๆ เรื่องเราจะได้ทราบทิศทางของกรุงเทพมหานครว่าจะไปต่อกันยังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยอาจจะร่วมซักถามเพื่อความชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีผู้ให้บริการที่เพียงพอ และเข้ามาร่วมสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง” นพ.การุณย์ กล่าว

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทาง กทม. ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระบบของ กทม. ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อให้เกิดระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ 

“วันนี้ขอเชิญชวนพวกเราร่วมกัน เป็นพลังของกรุงเทพมหานครเพื่อที่จะเป็น System Manager และ Area Manager ของพื้นที่ต่างๆ ในการเชื่อมโยงระบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงขยายไปยังโรงพยาบาลสาขา และสร้างความเข้มแข็งตามนโยบายของ สปสช. ด้วย”  นพ.สุขสันต์ กล่าว