ทำอย่างไร? เมื่อลูกเป็น "เด็กเพศหลากหลาย" หยุดเลือกปฎิบัติ ก่อนฆ่าตัวตาย

ทำอย่างไร? เมื่อลูกเป็น "เด็กเพศหลากหลาย" หยุดเลือกปฎิบัติ ก่อนฆ่าตัวตาย

แม้การยอมรับ “เด็กเพศหลากหลาย”ในสังคมไทยมีจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต และสามารถพบเห็นการแสดงออกของกลุ่มบุคคล “เพศหลากหลาย -เพศทางเลือก”ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ยิ่งทำให้หลายคนตระหนักเปิดใจยอมรับคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

ทว่าในกลุ่มคนใกล้ตัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์จะเปิดกว้างหรือไม่? เพราะในความจริงคนใกล้ตัวอาจจะรู้สึกรังเกียจและคิดว่าคนกลุ่มนี้มีความผิดปกติ ทั้งที่ คําว่า  “เพศ”  ในความหมายอาจแปลได้ว่า  การรับรู้ของตัวเราเองว่าคือ เพศอะไร โดยวัดจากการแสดงออกและบทบาททางเพศที่แสดงออกมา

เพศหลากหลาย เปิดใจยอมรับจริงหรือ?

นอกจากนี้ “เพศ”  ยังมีความหมายของความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศซึ่งแสดงออกมาในลักษณะความชอบ ความชอบทางเพศในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น คนที่ชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual)  คนที่ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) คนที่ชอบทั้ง 2 เพศ (Bisexual) หรือ คนที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ (Asexual)

ว่ากันว่า ความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนขององค์ประกอบทั้งทางกาย (ฮอร์โมน / สารเคมีในสมอง) จิตใจ (การเลี้ยงดู / วิธีคิดของแต่ละคน) และสังคม (ความคาดหวัง / การยอมรับจากสังคม /วัฒนธรรมที่หลากหลาย) ในทางการแพทย์ไม่ถือว่าบุคคลที่มีความแตกต่างทางรสนิยมและการแสดงออกทางเพศเป็นความผิดปกติ

เพียงแต่อาจให้คำแนะนำในการปรับตัวและทำความเข้าใจกับคนรอบข้างในบางรายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศนั้นอาจมีความรู้สึกทุกข์ทรมานที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ ภายใต้ร่างกายที่ในความรู้สึกลึก ๆ แล้วไม่ใช่ “ร่างกายของตนเอง” จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งแพทย์จะพยายามแก้ไขร่างกายให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจของคนคนนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำความรู้จัก “สัปดาห์เพื่อการตระหนักรู้ถึงคนไบเซ็กชวล” และเพศที่หลากหลาย

10 หนังดัง "ถูกแบน" เพราะฉาก "LGBTQIA+"

รวมทุกเรื่องที่ "Transgender" ต้องรู้ ก่อนผ่าตัด "ข้ามเพศ" 

LGBTQ ขอสิทธิ “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่ “จดแจ้งคู่ชีวิต”

 

เพศหลากหลาย มีกลุ่มไหนบ้าง?

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงศัพท์ที่มีการบัญญัติใช้กันทางการแพทย์เกี่ยวกับการเรียกขานกลุ่มคนที่มีเพศหลากหลายไว้ดังนี้

  • Gender Variant ความหลากหลายทางเพศ
  • Gender Spectrum ความเชื่อมโยงทางเพศ
  • Gender Non-conforming คนที่เกิดมามีเพศไม่ถูกกับเพศที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด
  • LGBTIQ ได้แก่ Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย)
  • Bisexual (ชอบทั้งชายทั้งหญิง ที่ยังไม่มีการแปลงเพศ)
  • Transgender (ตุ๊ด ทอม กระเทย ผู้หญิงข้ามเพศ เริ่มทําการเปลี่ยนแปลงทางกายของตัวเอง)
  • Intersex (คนสองเพศ คนที่เกิดมามี 2 เพศ)
  • Questioning queer (คนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายใด ซึ่งจะพบคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ร่างกายเป็นผู้หญิงมีแฟนเป็นผู้หญิง แต่ไม่ใช่ทอม แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นทอม และจะนิยามตัวเองว่าไม่สังกัดฝ่ายใด)

“ส่วนคําจํากัดความที่คนทั่วไปมักนิยมใช้เรียกขานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นคําที่เราเคยได้ยินกันมา เช่น เพศที่สาม  เป็นคําที่ใช้กันมาก แต่ก็หาคําตอบได้ยาก และมักจะมีการถกเถียงกันว่าแล้วใครเป็นเพศที่ 1 เพศที่ 2 ก่อนจะมาเป็นเพศที่ 3”พญ.จิราภรณ์ กล่าว

หลายคนมักจะให้ความหมายของ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” ที่แปลว่า ผิดไปจากปกติ จึงฟังดูเป็นคําที่ค่อนข้างแรง หากเปรียบเทียบกับคนที่ถนัดซ้ายแล้ว หลายคนอาจมองว่าเป็นคนที่ผิดปกติ แต่คนถนัดซ้ายมีความสามารถทัดเทียมคนถนัดขวา ก็เหมือนกับเพศที่แบ่งแยกลักษณะออกไป แต่ความสามารถทัดเทียม ไม่มีความแตกต่าง

 

 

มุมมองต่อ เพศทางเลือก ในสังคมไทย

พญ.จิราภรณ์  กล่าวต่อว่า เพศทางเลือก คํานี้ จะเป็นการสื่อให้เห็นว่าสามารถเลือกเพศได้ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่อาจไม่เข้าใจว่าเกิดมาเป็นผู้ชายดีดีไม่ชอบ อยากเป็นผู้หญิงทําไม เพราะส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องของเพศบางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือกเองเราเลือกได้แค่สิ่งที่เราแสดงออก แต่ไม่ได้เลือกในสิ่งที่เราเป็น

“หากมองใน มุมทางชีวภาพ คนเราเกิดมามีความเชื่อมโยงกันทางโครโมโซม อย่างผู้ชายก็จะเป็น XY หญิงจะเป็น XX แต่หากมองในมุมอัตลักษณ์ทางเพศ ในสังคมเราก็มีคนที่เป็นผู้ชายมีกล้ามใหญ่ๆ ชอบเตะบอล ไม่ชอบอะไรจุกจิก นิสัยแมนๆ และเราก็เจอผู้หญิงที่ผู้หญิงมาก ชอบสีชมพู ไว้ผมยาว ชอบแต่งหน้า แต่เราก็มีผู้หญิงที่ซอยผมสั้น นิสัยไม่ขี้นินทา ไม่จุกจิก ไม่ขี้เม้าท์ แมนๆ เท่ห์ ชกมวยบ้าง มีความเป็นผู้หญิง แล้วก็เจอผู้ชายที่ไม่ชอบเตะบอล ชอบอยู่บ้านอ่านหนังสือ ชอบรดต้นไม้ ไม่ชอบเล่นโลดโผนแล้วเราก็จะเจอผู้ชายที่มีความห้าวและความหวานผสมอยู่ในตัวคนเดียว เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในสังคม” พญ.จิราภรณ์  กล่าว

หากมองในมุมบทบาททางเพศ ก็มีการกําหนดโดยบทบาทและวัฒนธรรม  พญ.จิราภรณ์  กล่าวต่อไปว่าส่วนตัวอยากบอกว่า ผู้ชายเกิดมาโชคร้าย ที่ถูกสังคมกําหนดในวงแคบๆ ไม่เหมือนผู้หญิงที่ซอยผมก็ได้ นุ่งกระโปรงก็ได้

แต่ผู้ชายนุ่งกระโปงได้ไหม จะถูกมองประหลาดทันที ถ้าไว้ผมยาวก็จะดูแปลกไป เป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว ผู้ชายจึงถูกกําหนดบทบาทไว้แคบ นอกจากนี้ ผู้หญิงยังสามารถเล่นกีฬาทุกอย่างได้หมด ไม่ว่าชกมวย วอลเล่ย์บอล  แต่พอผู้ชายเล่นวอลเล่ย์บอล จะถูกมองว่าสตรีเหล็กหรือเปล่า นี่เป็นตัวอย่างที่ผู้ชายถูกกําหนดบทบาททางเพศไว้ในสังคม

ขณะเดียวกัน หากมองในมุมรสนิยมทางเพศ ผู้ชายส่วนใหญ่บนโลกก็จะชอบผู้หญิง แต่ก็จะมีผู้ชายที่ชอบผู้ชาย มีผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง หรือมีกระทั่งผู้ชายที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง เมื่อพูดถึงผู้ชาย เราก็จะบอกว่ามีอวัยวะเพศชาย แล้วถ้าชอบผู้ชาย เราก็จะเรียกเขาว่า เกย์ เมื่อพูดถึงผู้ชายที่มีอวัยวะเพศชาย แต่รู้สึกว่าเป็นผู้หญิง และชอบผู้ชาย เราก็จะเรียกเขาว่า ตุ๊ด กระเทย หรือทางการแพทย์เรียกว่า Transgender เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เราพบเจอ ยังมีคําที่คนไทยใช้เรียกคนข้ามเพศอีกมากมาย เช่น อดัม และเชอร์รี่

วิจัยเผยเด็กเพศหลากหลายเสี่ยงฆ่าตัวตาย

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) หรือ Save the Children (Thailand) Foundation ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงาน ‘HEARTS MATTER: สุขภาพใจเยาวชนเพศหลากหลาย’ ขึ้น ณ สามย่าน โค-ออป เพื่อนำเสนอผลวิจัยเรื่องสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนเพศหลากหลาย ที่ได้ร่วมจัดทำโดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ประเสริฐ ทีปะนาถ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) กล่าวว่า มูลนิธิมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กทุกคน

ดังนั้น จึงให้ความสำคัญในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีตัวตนทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออก หรือเพศสรีระอย่างไร ก็ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นประธานในงาน กล่าวว่า จากผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19

“เด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศยิ่งมีความทุกข์ใจมากขึ้น ทั้งจากการขาดแรงสนับสนุนอย่างกลุ่มเพื่อน การที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนที่บ้านได้ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อตนเอง เด็กและเยาวชนบางส่วนยังถูกกดดัน หรือถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือคนในชุมชน เพียงเพราะไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง”พญ.อัมพร กล่าว

เด็กเพศหลากหลาย ถูกกระทำความรุนแรง เลือกปฎิบัติ

งานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ที่นำเสนอในงาน ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวในกลุ่มเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15-24 ปีในประเทศไทย ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 3,094 คน และสัมภาษณ์ออนไลน์ 38 คน

ผลวิจัยพบว่า 70-80% ของผู้เข้าร่วมมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเยาวชนกลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น 75.8% เคยถูกล้อเลียน 42.4% เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เกินครึ่งของผู้เข้าร่วมเคยคิดฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา

ดร. Timo Tapani Ojanen จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนคณะวิจัยได้แสดงข้อกังวลว่า ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการถูกกระทำความรุนแรง การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกบังคับให้พยายามเป็นเพศตามกรอบของสังคมล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งรู้สึกว่าในปีที่ผ่านมาเขาพบปัญหาในระดับที่เขาควรไปรับบริการสุขภาพจิต แต่จากกลุ่มนี้ มีแค่ 1 ใน 5 ที่ได้ไปรับบริการ ซึ่งก็สะท้อนปัญหาต่างๆ ในการเข้าถึงบริการเหล่านี้ คิดว่าในภาพรวมแล้ว

"เราควรพยายามทั้งลดต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตที่ได้กล่าวถึง และเพิ่มตัวเลือกในการรับบริการสุขภาพจิตที่เด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศเข้าถึงได้จริงและสะดวกใจในการใช้บริการ”ดร. Timo กล่าว

บรรจุความหลากหลายทางเพศในวิชาสุขศึกษา

ทิพย์ - พรทิพย์ รุ่งเรือง รองประธานเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา ได้ส่งเสียงสะท้อนแทนเยาวชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า การที่เราไม่ใช่หญิงหรือชายไม่ใช่โรค แต่เป็นความหลากหลายที่สมบูรณ์ ปัญหาสุขภาพจิตของพวกเราไม่ได้เกิดจากการมีความหลากหลายทางเพศ แต่เกิดจากแรงกดดันภายนอก และการไม่ได้รับการโอบกอดจากสังคมอย่างแท้จริง

“ความรักความอบอุ่นและการสนับสนุนที่เป็นมิตร สถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา อยากให้บรรจุความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนวิชาสุขศึกษา”พรทิพย์ กล่าว

พญ.อัมพรได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตยังคงประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งหมายถึงการสร้างการยอมรับและการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือทุกที่ในสังคม รวมถึงการได้รับบริการทางสุขภาพจิตที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้