ทำไม"เด็กถูกทิ้ง-เด็กกำพร้า"ต้องได้รับการคุ้มครอง

ทำไม"เด็กถูกทิ้ง-เด็กกำพร้า"ต้องได้รับการคุ้มครอง

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กกำพร้า” นับเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทยต่างเปิดสถานสงเคราะห์ มูลนิธิคุ้มครองเด็กจำนวนมาก

ทว่าด้วยจำนวนเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐเองอาจจะรับมือไม่ไหว จึงมีภาคเอกชน ภาคประชาสังคม NGO ร่วมจัดตั้งมูลนิธิสำหรับดูแลเด็ก เพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐ

ปัจจุบันมีสถานสงเคราะห์เด็กทั้งของรัฐ และเอกชน กระจายอยู่ทั่วประเทศ  โดยในส่วนสถานสงเคราะห์เด็กของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มี 123 แห่ง 

ทำไมต้องมี “มูลนิธิคุ้มครองเด็ก”

สำหรับ มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Child Protection Foundation ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2537 เพื่อป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาเด็กไทยที่ประสบปัญหาภาวะทุกข์ยาก ถูกทอดทิ้งและ “ถูกรังแกจากผู้ใหญ่ในสังคม” ปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลและคุ้มครองเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กกำพร้า

โดย มูลนิธิ ถือเป็นนิติบุคลตามกฎหมาย เป็นองค์กรสาธารณะกุศลไม่แสวงหากำไรและผลประโยชน์ ดำเนินงานอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ครูยุ่น" เข้ารับทราบข้อหาแล้ว สีหน้าไร้กังวล บอกสั้นๆ "ทำตามหน้าที่"

พม. พาเด็กเข้าคุ้มครองเพิ่ม 21 คน หลังคัดแยกออกจาก "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก"

จ่อถอดใบอนุญาต มูลนิธิคุ้มครองเด็ก สมุทรสงคราม ปมทำร้าย-ใช้แรงงานเด็ก

หยุด “ขอโทษเกินพอดี” ในที่ทำงาน เลือกใช้ประโยคที่สร้างสรรค์แทน

 

จดทะเบียนมูลนิธิคุ้มครองเด็ก

มูลนิธิคุ้มครองเด็ก จ.สมุทรสงคราม หรือที่หลายคนเรียกว่า มูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ซึ่งถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้รับการอนุญาตและรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นมูลนิธิ แต่การดำเนินงานของมูลนิธิบ้านครูยุ่นแห่งนี้ถือเป็นองค์กรสาธารณะกุศล รูปแบบนิติบุคคล ใช้เงินบริจาคในการดำเนินงาน โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ

ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิคุ้มครองเด็ก และนายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก โดยมีเด็กอยู่ในความดูแลกว่า 55 คน

สำหรับ หลักเกณฑ์การขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ

**โดยเฉพาะการขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก**

· ต้องขออนุญาตจัดตั้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มูลนิธินั้นตั้งอยู่

· โดยต้องมีกองทุนเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 500,000 บาท

· ถ้าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นต้องมีเงินสดไม่น้อยกว่า 250,000 บาท

· เมื่อรวมกับทรัพย์สินอื่นแล้วต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000บาท

· อยู่ในความดูแลของสำนักงาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดที่ตั้ง

· ขึ้นต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทุกปี เจ้าหน้าที่พม.จังหวัดต้องเข้าไปประเมินมาตรฐานของมูลนิธิ โดยมาตรฐานที่ว่า ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ของเด็ก การจัดการเรียนรู้ สุขอนามัย รายรับ-รายจ่าย และที่สำคัญคือความปลอดภัยของเด็ก

 

ปุจฉา มูลนิธิคุ้มครองเด็ก VS รังแกเด็ก??

มูลนิธิคุ้มครองเด็ก(บ้านครูยุ่น) ได้ดำเนินงานมาเกือบ 30 ปี โดยที่ผ่านมาเป็นการใช้เงินบริจาคทั้งหมดและจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สมุทรสงคราม ซึ่ง พม.จังหวัด จะเข้าไปตรวจทุกๆ 6 เดือน ในเรื่องสภาพแวดล้อม สุขอนามัย รายรับรายจ่าย และความปลอดภัยของเด็ก เพื่อประเมินต่อใบอนุญาตทุกๆ1 ปี

การถูกร้องเรียนในวันนี้ ว่ากันว่าเกิดขึ้นหลังจากมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเข้าไปทำกิจกรรมในมูลนิธิคุ้มครองเด็กแห่งนี้ แล้วสังเกตพฤติกรรมเด็กไม่ค่อยร่าเริง จึงสืบสาวราวเรื่องพบว่าความผิดปกติ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งกับกลุ่มเส้นด้าย

ต่อมาเมื่อทางเส้นด้ายลงพื้นที่ปรากฏว่า ได้รับข้อมูลจากเด็กๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลเด็กที่ไม่ปกติ  อาทิ พาเด็กไปใช้งานในรีสอร์ทส่วนตัวโดยไม่ให้ค่าจ้าง หรือมีการทำร้ายตีเด็กรุนแรง ลงโทษเด็กด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม พร้อมมีหลักฐานคลิปวิดีโอ กระทั่งมีการนำเด็กจำนวน 8 คน ออกมาจากมูลนิธิเพื่อสอบปากคำ และให้การชัดเจนเรื่องการถูกลงโทษ และถูกพาไปใช้แรงงานโดยไม่เป็นธรรม

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยอมรับว่ามีการตรวจตรามาตลอด แต่มูลนิธิแห่งนี้เปิดมานานแล้วจึงคิดว่าน่าจะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การตรวจตราอาจจะไม่เข้มงวด และไม่ได้เบาะแสว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในมูลนิธิ

เปิดใจ "ครูยุ่น" ไม่ได้ทำร้ายเด็ก

หลังจากรับข้อกล่าวหา "ครูยุ่น" ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า ตัวเองไม่ใช่โรคจิตที่จะตีเด็ก หรือทำร้ายเด็ก  แต่มีเรื่องที่จำเป็นต้องลงโทษ ไม่ใช่การทำร้าย เพราะมีบางเรื่องที่ยอมไม่ได้ เช่น เรื่องที่มีความอันตรายถึงชีวิต ยาเสพติด หรือขโมยเงินโดยการงัดแงะ

"มีนักศึกษามาจัดกิจกรรม แล้วมีเด็กบางคนที่อาจจะไม่พอใจผม ด้วยเหตุใดๆ ก็อย่าไปลงรายละเอียด แต่ได้ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มนักศึกษา จนมีการประสานไปที่กลุ่มเส้นด้าย นำมาซึ่งการแจ้งความ และส่งคลิปให้ โดยคนถ่ายคือเด็กที่มูลนิธิ ส่วนตัวไม่ได้โกรธแต่อย่างใด" ครูยุ่น กล่าว 

สำหรับเหตุการณ์ที่ลงโทษเด็กนั้น เป็นเรื่องที่เด็กลงไปเล่นในแม่น้ำ แล้วมีเด็กคนหนึ่งที่ว่ายน้ำไม่เป็น จึงให้ครูเขาเรียกขึ้นมาจากน้ำ เด็กก็ไม่ยอมขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแล้วบอกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เด็ดขาด คนว่ายน้ำไม่เป็น นาทีเดียวก็ตายได้ถ้าจมน้ำ จึงจำเป็นต้องลงโทษ และยืนยันว่าไม่ได้ทำร้าย 

ส่วนกรณีที่เด็กอ้างว่า "ครูยุ่น" มีพฤติกรรมโหดเหี้ยม ทำร้ายเด็ก เอาอุจจาระ เอาปัสสาวะไปใส่เสื้อผ้า ครูยุ่น ได้ชี้แจงว่า ตน ไม่เคยทำ เช่นเดียวกับการใช้แรงงานเด็กในรีสอร์ท ซึ่งตนไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก เด็กสมัครใจจะมา ไม่ได้ให้มาก็อยากจะมา ไม่ได้อยากแก้ตัวอะไร พูดมากก็คือการแก้ตัว แต่ไม่เคยคิดว่า เขาเป็นลูกจ้าง มีทั้งมาเล่น กวาดใบไม้ ล้างห้องน้ำ เราก็ให้ค่าขนม แล้วก็ดูแลเรื่องอาหารการกินให้เขา

กระทำผิดจริง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตมูลนิธิ

นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จังหวัดมอบให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงครามและทีมสหวิชาชีพสอบถามเด็กที่มีกรณีร้องเรียนว่าถูกทำร้าย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยนำตัวเด็กทั้ง 8 คน ออกจากมูลนิธิไปอยู่ในความคุ้มครองของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ 

สำหรับเด็กที่เหลืออีก 47 คน ล่าสุดเมื่อเย็นวันที่ 2 พย. ได้มีการนำตัวเด็กออกมาได้อีก 23 คนไปอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม เหลืออีก 24 คนที่สมัครใจอยู่ในมูลนิธิคุ้มครองเด็กต่อ เป็นเด็กเล็ก 14 คน และเด็กโต 10 คน อายุน้อยที่สุด 2 ขวบ และอายุมากที่สุด 16 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม และทีมสหวิชาชีพ ตำรวจรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสอบถามเด็กและผู้เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเสนอจังหวัดพิจารณา หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง เช่น กระทำทารุณกรรมเด็ก ใช้แรงงานเด็กตามที่มีผู้ร้องเรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมูลนิธิดังกล่าวได้

สถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้งในสังคมไทย

แม้ว่าทุกส่วนจะพยายามช่วยกันแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน แต่ปัญหาเหล่านี้กลับทวีคูณมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อปี 2564 เผยว่ามีเด็กทารกวัยแรกเกิด - 6 ขวบ ถูกทอดทิ้งตามสถานที่ต่างๆ มีอัตราสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยจำนวนกว่า 100 คนต่อปี

 ส่วน สถานที่ทิ้งเด็กทารกยอดนิยม คือ โรงพยาบาล บ้านผู้รับจ้างเลี้ยง สถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ถังขยะ พงหญ้า ฯลฯ สถานสงเคราะห์เด็กของรัฐบาล รวมทั้ง บริเวณหน้าบ้านคนรวยมีฐานะดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมเลียนแบบละคร เพราะคิดไปเองว่าเด็กจะได้รับการดูแลจากเศรษฐีใจบุญ เป็นต้น สาเหตุหลักๆ การทอดทิ้งเด็กจากปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาความยากจน และความพิการ

 ขณะที่สถานการณ์เด็กเปราะบาง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ซึ่งได้ทำงานร่วมกับละหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. อปท. บช.ตชด. และ พศ. พบว่าปีการศึกษา 2564 ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่ครัวเรือนมีสถานะยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,244,591 คน น้องๆกลุ่มนี้ อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,094 บาทต่อครัวเรือน หรือราว วันละ 36 บาท เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายปากท้อง สุขภาพ การศึกษา ของสมาชิกทุกคนในครัวเรือนย่อมไม่เพียงพอ จากฐานข้อมูลพบว่าจำนวนสมาชิกครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดราว 5,228,536 คน โดยรวมครัวเรือนของนักเรียนครึ่งหนึ่งไม่มีปัญหาภาระพึ่งพิง ร้อยละ 48.05

ส่วนที่มีภาระพึ่งพิง นั้นในหนึ่งครัวเรือนอาจมีภาระพึ่งพิงหลายรูปแบบ โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ร้อยละ 27.95 ผู้ว่างงานอายุ 15-65 ปี ร้อยละ 21.53 พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 14.55 คนพิการ ร้อยละ 7.01 ซึ่งมักปรากฏข่าวเด็กๆ ต้องออกจากระบบการศึกษาทั้งชั่วคราว และถาวร เพื่อหาเลี้ยงสมาชิกที่มีภาระพึ่งพิง เช่น พ่อแม่ที่ป่วยติดเตียง หรือ ปูย่าตายายที่แก่เฒ่า

เพิ่มความคุ้มครอง เพิ่มหน่วยงานดูแลเด็ก

ถึงแม้ตอนนี้เด็กไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำมากมาย แถมมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทุกภาคส่วนก็ต้องพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ ปกป้องคุ้มครองให้เด็กปลอดภัย มีสวัสดิภาพความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ มีเพียงหน่วยงานที่ดูแลเด็ก อย่าง สถานสงเคราะห์เด็กภายใต้การดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พม.ซึ่งมีประมาณ 30 แห่ง

อาทิ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช สถานสงเคราะห์เด็กบ้านแคนทอง สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้ายปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีมูลนิธิ ศูนย์สงเคราะห์ และศูนย์พัฒนาเด็กที่เป็นของหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เช่น มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมเกิดคำถามถึงการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ มูลนิธิต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กว่ามีบทบาท หน้าที่อย่างไรบ้าง? และสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่สำควรกระทำหรือไม่?

น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมาจากครอบครัว กล่าวว่า บุคลากรที่รับผิดชอบดูแลเด็กของมูลนิธิจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพทั้งหมด ทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย และการดูแลเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะไม่กระทำความรุนแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ดูแลมูลนิธิ องค์กรเกี่ยวกับเด็ก ต้องกลับมาทบทวนหลักการประเมิน ผู้ที่ประเมินเป็นใคร ในฐานะผู้จดทะเบียน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในอนาคตหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก