ไขข้อข้องใจเชิง “จิตวิทยา” ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึง “ฆ่าตัวตาย”

ไขข้อข้องใจเชิง “จิตวิทยา” ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึง “ฆ่าตัวตาย”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการ “ฆ่าตัวตาย” บ่อยครั้ง แต่ที่น่าแปลกใจ คือพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ มักเป็นคนที่มีหน้าที่การงานดี ฐานะดี และประสบความสำเร็จในชีวิต

นักธุรกิจ ศิลปิน นักกีฬา หรือผู้ที่มีฐานะทางการงานและการเงินมั่นคง มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในชีวิต แทนที่พวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขให้คู่ควรกับสิ่งที่พวกเขาได้มา แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาคือคนส่วนใหญ่ที่ “ฆ่าตัวตาย” สำเร็จ โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะฉากหน้าพวกเขาล้วนเป็นคนที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้ม มีภาพไปเที่ยวที่สวยๆ ทำกิจกรรมสนุกๆ โพสต์บนโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่า เพราะอะไรคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึงเลือกที่จะจบชีวิตตนเอง?

  • ความย้อนแย้ง ความสุข และการฆ่าตัวตาย

ที่ผ่านมาใครหลายคนอาจเข้าใจว่าคนที่ ฆ่าตัวตาย คือ คนที่ไม่มีความสุขเป็นอย่างมาก (ซึ่งก็มีส่วนถูกแต่ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงทั้งหมด) แต่ในทางกลับกันข้อมูลจาก The World Happiness Report พบสถิติว่า ประเทศที่ได้ดัชนีความสุขเป็นอันดับสูงสุดของโลก ได้แก่ ฟินแลนด์ และ เดนมาร์ก มีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในระดับสูง และที่น่าประหลาดใจคือ แม้เป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความสุขมากที่สุดในโลก แต่กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นสองเท่าของประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความสุขต่ำที่สุดในโลก

มีความเป็นไปได้ว่าผู้คนที่เกิดมาในประเทศที่ร่ำรวยหรือเป็นคนที่มีฐานะการเงินดีมีโอกาสทางสังคมที่สูงกว่า อาจจะไม่มีประสบการณ์ต่อการจัดการความรู้สึกแย่ๆ หรือไม่เคยมีความหวังว่าสักวันชีวิตจะดีขึ้นเหมือนกับผู้คนที่ยากจน เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เหมือนกับประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะมีเงินทองร่ำรวยและประสบความสำเร็จสูงแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยจัดการปัญหาชีวิตหรือความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้ จนนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังและซึมเศร้าในที่สุด

ความรู้สึกที่ว่าไม่มีความสุขนั้น อาจไม่ได้อยู่ที่ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ การตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะจนหรือรวย แต่เป็นใครก็ตามที่มีความรู้สึก 3 อย่าง ดังนี้          

1. สิ้นหวัง (Hopelessness) ไม่รู้จะอยู่ต่อไปอย่างไรหรือจะอยู่ไปทำไม

2. ไม่มีใครหรืออะไรมาช่วยให้ดีขึ้นได้ (Helplessness) รู้สึกว่าตัวเองต้องวกวนอยู่กับปัญหาหรือความรู้สึกแย่ๆ ตลอดไปไม่มีใครช่วยได้

3. ไร้ค่า (Worthlessness) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย อยู่ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใคร 

  • ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จสูงถึงฆ่าตัวตาย? 

อ้างอิงจากบทความ “The Fallacy of Happiness: A Psychological Investigation of Suicide among Successful People” ระบุสาเหตุเชิงจิตวิทยาที่ทำให้คนที่ประสบความสำเร็จสูงฆ่าตัวตายไว้ ดังนี้

- รู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันคาดหวังให้เป็นคนที่สมบูรณ์

- รู้สึกแปลกแยก ชีวิตมีแต่ความสัมพันธ์แบบผิวเผินนำไปสู่ความรู้สึกเหงาหดหู่

- จัดการความรู้สึกล้มเหลวไม่ได้

- รู้สึกว่างเปล่า ไม่มั่นคง

- ถูกตีกรอบจากค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรม

- รู้สึกเชื่อใจใครไม่ได้

- เจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรืออื่นๆ

- จัดการความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้

- ความเครียดจาก Social Media เช่น ได้รับข้อความคุกคามหรือเกลียดชัง

  • วิธีป้องกันไม่ให้สูญเสียคนใกล้ตัว

การป้องกันไม่ให้ใครสักคน “ฆ่าตัวตาย” นั้น ต้องไม่ตั้งเงื่อนไขว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แต่ควรหันมาใส่ใจทุกคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือคนที่ประสบความสำเร็จสูง เริ่มต้นง่ายๆ โดยการพยายามไม่ใช้ข้อความในโลกออนไลน์ที่แสดงถึงความเกลียดชัง การตัดสิน หรือกดดันให้เป็นไปตามมาตรฐานของสังคม แต่ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องของความแตกต่างของปัจเจกบุคคล เช่น ทัศนคติ รูปร่างหน้าตา สีผิว เชื้อชาติ เพศ มุมมองทางศาสนาและการเมืองของคนอื่นๆ

และที่สำคัญสังคมควรทำความเข้าใจและช่วยทำให้ ผู้ที่มีความเครียดหรือวิตกกังวล สามารถไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ได้โดยเป็นเรื่องปกติที่ใครก็สามารถทำได้ และจำเป็นต้องแก้ไขทัศนคติว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา นั้นคือบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือหรือที่ปรึกษา ไม่ใช่คนบ้าอย่างที่สังคมไทยในอดีตเคยมอง
------------------------------------------------
อ้างอิง : iSTRONG