จุดเริ่มต้น และ จุดจบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

จุดเริ่มต้น และ จุดจบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพ เป็นทั้งจุดเริ่มต้น และจุดจบของทุกองค์กรจริงๆ ครับ ที่ว่าคุณภาพเป็นจุดเริ่มต้น  ก็เพราะทำให้สินค้าของเราขายได้และร้านเราจะมีลูกค้าประจำ และที่ว่าคุณภาพเป็นจุดจบ ก็เพราะเราต้องปิดกิจการเพราะความไม่มีคุณภาพ

(ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของสินค้า  คนงาน  เครื่องจักร  ผู้ผลิต  ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ) ดังนั้น  ทุกครั้งที่มี “ของเสีย” เกิดขึ้น  เราควรจะถามตนเองว่า  จะมีผลเสียหายอะไรตามมาบ้าง ลูกค้าคนไหนจะเป็นผู้รับเคราะห์จากของเสียนั้น และใครจะต้องรับผิดชอบที่ทำให้เกิดของเสีย

เมื่อคิดดูให้ดีแล้ว  เราจะเห็นว่า การเกิด “ของเสีย” แต่ละครั้ง นอกจากจะเกิดความสูญเปล่าอันเนื่องจากค่าใช้จ่ายหรือราคาค่างวดของ “ของเสีย” นั้นๆ เองแล้ว ยังเกิดความเสียหายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

ทั้งที่มองเห็นได้ชัดและมองไม่เห็น (ทั้งที่คิดเป็นตัวเงินได้และไม่ได้) และมีผลกระทบต่อผู้คนหลายคน  โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรและลูกค้าผู้ซื้อของจากร้านเรา

นั่นคือ ความสิ้นเปลืองทั้งแรงงาน เวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา การต้องตั้งคณะทำงานเพื่อปรึกษาหารือในการแก้ไขป้องไม่ให้เกิด “ของเสีย” ซ้ำอีก การต้องคิดหาวิธีการทำงานใหม่ๆ การต้องใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ทำการผลิตใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า น้ำประปา น้ำมันเชื้อเพลิง และการสูญเสีย “ความไว้วางใจ” จากลูกค้าและผู้คนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

เราจึงเห็นได้ว่า  ของเสียเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สูงขึ้น  ซึ่งทำให้กำไรต้องลดลงไปด้วย รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องการส่งของแก่ลูกค้าที่อาจจะล่าช้ากว่ากำหนด เพราะต้องเสียเวลาปรับปรุงแก้ไขหรือต้องทำใหม่  อาจทำลายความเชื่อถือที่เราได้สร้างไว้กับลูกค้าและอาจทำให้เราเสีย “ลูกค้าประจำ” ไปด้วย

จุดเริ่มต้น และ จุดจบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  เราทุกคนต่างไม่ได้ตั้งใจทำให้มีของเสียเกิดขึ้น  แต่ทำไมถึงยังเกิดของเสียบ่อยครั้ง

เรื่องของการเกิดของเสียนี้  มักจะเกี่ยวข้องกับ “จิตวิทยาในการทำงาน” (วิธีคิดวิธีทำงาน) อย่างมากด้วย การทำให้เกิดของเสีย  มักจะเป็นเพราะเราต่างมีความคิดฝังใจกันแบบง่ายๆ (นานมาแล้ว) ว่า 

(1) “มนุษย์ทุกคนไม่มีใครไม่ทำผิด ดังนั้น การที่จะไม่ให้มีของเสียเลยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” 

(2) “เครื่องจักร อุปกรณ์ ถูกใช้งานทุกวัน ดังนั้น จะไม่ให้เครื่องเสียเลยนั้น ก็เป็นไปไม่ได้” 

(3) “คนทุกคนต้องทำงานทุกวัน ก็ต้องผิดพลาดกันบ้าง”  และ

(4) “คนส่วนหนึ่งจะรีบทำงานให้เสร็จๆ ไป เพื่อจะได้หมดภาระ แล้วงานจะมีคุณภาพได้อย่างไร” เป็นต้น

นอกจากนี้  ยังมีคนคิดกันอีกว่า “การซื้อวัตถุดิบทีละมากๆ นั้น  ก็ต้องมีของด้อยคุณภาพปนมาบ้าง  จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางชิ้นบางอันจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการมาก่อนแล้ว”

จุดเริ่มต้น และ จุดจบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ความคิดเหล่านี้  ทำให้พวกเราไม่คิดที่จะปรับปรุงการทำงานของตัวเราเอง หรือไม่คิดที่จะพัฒนาหรือยกระดับความสามารถของตัวเราเอง รวมถึงไม่สนใจที่จะจัดสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเราให้ดีขึ้นด้วย (เพื่อที่จะทำงานดีขึ้นและมีคุณภาพ จะได้ไม่ทำให้เกิดของเสีย)

เราจึงคุ้นเคยกับการคิดว่า “การทำของเสียเป็นเรื่องปกติในทุกองค์กร”

การคิดกันง่ายๆ แบบเข้าข้างตัวเองเช่นนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับ “ความผิดพลาด” ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่ความจริงแล้ว อาจเป็นเพราะเหตุที่เราไม่เข้าใจถึงวิธีการทำงานที่ถูกต้องตั้งแต่แรกก็ได้  จึงทำให้มี “ของเสีย” เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันล่วงหน้าได้

ความคิดที่เคยตัวดังกล่าว ยังเป็นการทำลายความกระตือรือร้นของเราและเพื่อนร่วมงานในการปรับปรุงงานให้ดีขึ้นด้วย  พอนานวันเข้าองค์กรของเราก็จะกลายเป็นที่รวมของกลุ่มคนที่ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนเกิดสภาพที่เป็นเช่นทุกวันนี้ คือ องค์กรต่างๆ ยังมีสถิติของเสียสูงอยู่

ดังนั้น  สิ่งแรกที่เราควรจะต้องทำ (สำหรับความพยายามที่จะทำการผลิตให้ได้ “ผลิตภัณฑ์ที่ที่คุณภาพ” ตามที่ต้องการหรือถูกต้องตามมาตรฐาน) ก็คือ “การทำงานอย่างถูกวิธี (ถูกต้อง) ตั้งแต่เริ่มแรก”

นั่นแสดงว่า  หัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานจะต้องรู้อย่างชัดเจนว่า “วิธีทำงานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร” และ “ผู้ปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติงานด้วยวิธีที่ถูกต้อง” คือ ต้องทำตามขั้นตอนการทำงานหรือคู่มือมาตรฐานการทำงานนั้นๆ อย่างเคร่งครัด รวมตลอดถึง “การต้องมีการกำกับดูแลและควบคุม” อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบตามลำดับชั้นของผู้บริหาร

จุดเริ่มต้น และ จุดจบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ความเคร่งครัดที่ว่านี้  จึงอยู่ที่ “ความเอาใจใส่” ทั้งของผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร และของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน  ซึ่งจะไม่ทำให้เกิด “ของเสีย” และทำให้ “คุณภาพ” เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้จริง

ทั้งหมดทั้งปวงนี้  ผมอยากให้เราลองหยุดคิดกันสักนิดว่า “ความไม่มีคุณภาพ” รอบตัวเรามีอะไรบ้าง และทำให้เกิดความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายกี่มากน้อย  ร้ายแรงอย่างไรบ้าง แล้วเราก็จะรู้ว่า “คุณภาพ” มีความสำคัญอย่างไร

ทุกวันนี้ “คุณภาพคน - คุณภาพงาน”  จึงยึดติดกันอย่างแยกไม่ออก  ซึ่งเป็นทั้ง “จุดเริ่มต้น และ จุดจบ” ของทุกองค์กรและพวกเราทุกคน ครับผม !