18 ปี “นโยบาย Medical Hub” ควรต้อง “รีดีไซน์”ใหม่

18 ปี “นโยบาย Medical Hub” ควรต้อง “รีดีไซน์”ใหม่

18 ปี "Medical Hub”ไทย แม้จะมีส่วนที่พัฒนาและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมาก แต่ยังมีส่วนที่ภาคเอกชนมองว่ารัฐต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมมากขึ้น และควรที่จะ “รีดีไซน์” เพื่อให้สามารถเติบโตและบรรลุเป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก”ภายในปี 2580

   ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยปี 2559 จำนวน 2.6 ล้านครั้ง ปี 2560 จำนวน 3.3 ล้านครั้ง ปี 2561 จำนวน 3.42 ล้านครั้ง และปี 2562 จำนวน 3.46 ล้านครั้ง และศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ให้ข้อมูลว่า ปี 2564-2565 ธุรกิจรพ.เอกชนเติบโต้เฉลี่ย 4-5 % ต่อปี
ภายในงาน กรุงเทพธุรกิจ Roundtable “รัฐและเอกชนไทยพร้อมแค่ไหน กับการก้าวสู่ Medical Tourism หลังเปิดประเทศ” กรุงเทพธุรกิจ X Roche เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2565 ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ข้อมูลที่ต่างประเทศจัดทำก่อนปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จาก Medical Tourism ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 แสนกว่าล้านบาท ดูแลคนไข้เกือบ 3 ล้านคน เฉลี่ย 40,000 บาทต่อคน ขณะที่สิงคโปร์ มีรายได้ราว 3.5พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบเท่าไทยแต่ ดูแลคนไข้ 850,000 คน เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน แสดงว่าเขาต้องรักษาโรคที่ยากและซับซ้อนกว่าไทย จึงอยากเชิญชวนให้รพ.เอกชน มุ่งเน้นการรักษาโรคยากและซับซ้อน ส่วนโรคทั่วไปก็ให้รพ.รัฐดูแล และรัฐไม่ควรมาแข่งเรื่อง Medical Tourism กับภาคเอกชน ไปดูแลประชากรไทยคือ สิทธิ์30 บาทให้เต็มที่ 

  “Medical Tourism ที่จะดำเนินการจากนี้จะต้องไม่เหมือนเมื่อปี 2562 จะต้อง “รีดีไซน์”ใหม่ เนื่องจากข้อมูลปี 2563-2564 อันดับ Medical Tourism ของประเทศไทยอยู่ที่ 17 ขณะที่ประเทศแคนาดาอันดับ 1 และสิงคโปร์ อยู่อันดับ 2 จึงต้องมีการดีไซน์พื้นฐานจริงๆจึงจะยั่งยืน” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
นพ.พงษ์พัฒน์ ให้มุมมองต่อว่า สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการ คือ 1.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ออกประกาศให้รพ.เอกชน สามารถทำการเรียนการสอนได้ จะสามารถทำรายได้จากเรื่องการศึกษาด้วย 2.BOI ต้องประกาศส่งเสริมการลงทุนเรื่องเมดิคับฮับ ออกนโยบายสนับสนุนรพ.เอกชนในด้าน Medical Service 3.แพทยสภา อนุญาตให้รพ.เอกชนสามารถนำอาจารย์แพทย์จากต่างประเทศเข้ามาได้ ซึ่งปัจจุบันอนุญาตเฉพาะโรงเรียนแพทย์ของรัฐเท่านั้น 4.สธ.ออกประกาศโครงสร้างราคาสำหรับต่างชาติให้ชัดเจน จากที่ปัจจุบันมี 2 ราคา คือคนไทยและต่างชาติ ทำให้ต่างชาติไม่เชื่อมั่นเรื่องราคา ส่งผลให้รพ.มีหนี้ค้างชำระจากต่างชาติ

    5. ผลักดันเรื่องสมาคมเอกชนอาเซียน ซึ่งสมาคมรพ.เอกชนกกำลังดำเนินการ ถ้าสามารถผนึกประเทศในภูมิภาคได้ และไทยเป็นแกนกลาง ก็จะได้เปรียบเทียบ 6.การขึ้นทะเบียนยา ในส่วนยาที่จะนำเข้ามารักษาคน อาจจะเป็นยาที่ยังไม่ได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แบบ 100 % เป็นยาระยะ 2 ซึ่งต่างประเทศมีการใช้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีใช้ ถ้าสามารถเปิดช่องให้สามารถใช้ได้ ภายใต้การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ป่วย แพทย์มากกว่า 1 คน หรือแพทยสภาช่วยเหลือ และ7.ควรมีมาตรการที่จะดึงดูดให้บริษัทยาและเครื่องมือแพทย์ย้ายมาตั้งศูนย์ภูมิภาคในไทย เนื่องจากประเทศไทยมีเตียงผู้ป่วยของรัฐและเอกชนรวมกัน 1 แสนกว่าเตียง แต่สิงคโปร์มี 1 หมื่นเตียง ทำไมบริษัทต่างๆจึงไปตั้งศูนย์ภูมิภาคที่สิงคโปร์ ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยมีต้นทุน การนำเข้ายาและเครื่องมือแพทย์แพงขึ้น
ขณะที่ นพ.นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า จุดแข็งภาพรวมของประเทศไทยในการดำเนินการเรื่อง Medical Tourism ประกอบด้วย 1.ไทยเนส หรือเสน่ห์ไทย ที่ทำให้ผู้มารับบริการรู้สึกอบอุ่น 2.ความสามารถทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน เทียบเคียงประเทศต่างๆในภูมิภาค 3.ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการท่องเที่ยว อาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี 4.ราคา ที่สามารถแข็งขันได้โดยการให้บริการมีคุณภาพทางการแพทย์สูง
ส่วนจุดแข็งของรพ.สมิติเวช สุขุมวิท คือ เป็นรพ.ตติยภูมิชั้นสูง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา 2.มีเสน่ห์ไทย ที่พนักงานมีอย่างลึกซึ้ง 3.มีการสนับสนุนอำนวยความสะดวกเรื่องการเงิน เนื่องจากคนไข้ต่างชาติที่มารับบริการจะมี 2 ส่วน คือ คนไข้จ่ายเงินเอง และผู้ที่มีประกันสุขภาพ เมื่อรพ.สร้างความชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่ายและมีระบบรองรับ ทำให้ผู้มารับบริการรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยทางการเงิน

18 ปี “นโยบาย Medical Hub” ควรต้อง “รีดีไซน์”ใหม่
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐมีการสนับสนุนเพิ่มเติมเมื่อต้องดูแลโรคที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จึงต้องทำให้คนไข้ที่ดูแลรักษาในกลุ่มนี้ รู้สึกปลอดภัยกับระบบการเงินด้วย โดยกลุ่มคนไข้ต่างชาติ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเฉพาะกิจเป็นครั้งๆ หากมีการพัฒนาระบบโครงสร้างที่ดีในเรื่องของระบบประกัน และ2.คนไข้กลุ่มElective ที่มีกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นข้อจำกัดในการนำเงินเข้าประเทศ ควรต้องเปิดช่องทางพิเศษ หากคนไข้มีความชัดเจนว่าต้องเดินทางเข้ามารักษาโรคซับซ้อน มีการรับรองชัดเจนจากรพ.เรื่องค่าใช้จ่าย การนำเงินเข้าประเทศในส่วนนี้ควรมีระบบมารองรับ เพื่อทำให้ความปลอดภัยทางการเงินของคนไข้ดียิ่งขึ้น
นพ.วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า บอกว่า รัฐควรมีการส่งเสริมเรื่องการประชาสัมพันธ์ ในการเผยแพร่ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์โลก เหมือนกับการบอกว่าไทยเป็นครัวโลก เพราะรพ.ต่างๆในประเทศไทยล้วนมีศักยภาพที่จะรองรับให้บริการผู้ป่วย รวมถึง ควรมีการจัดทำ “แพลตฟอร์มกลาง” ที่คนไข้ทุกประเทศสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ว่าถ้ามีปัญหาโรคนี้ควรไปรพ.นั้น รพ.นี้
ในส่วนของภาครัฐ แนวทางส่งเสริมสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการดันไทยสู่ Medical Tourism เสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า กิจกรรมดำเนินการในปี 2566 ในส่วนที่เป็นบริการที่มีศักยภาพสูง(Magnet) ประกอบด้วย 1.Medical Service Hub อุดรธานีเมืองทางการแพทย์ ,การขับเคลื่อนเมืองสงขลาเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนุภูมิภาค ,แนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 2.Wellness hub การพัฒนานครสุขภาพนานาชาติที่ปราดเปรื่องและยั่งยืน ,การเป็นเป้าหมายของการดูแลสุขภาพโลก ,การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3. Academic Hub หลักสูตรการเรียนการสอนทางการแพทย์นานาชาติ,หลักสูตรการเรียนการสอนทางการพยาบาลนานาชาติ,การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ และ4.Product Hub ศูนย์กลางกัญชาโลกในรูปแบบ Metaverse , Product Outlet ,การสร้างวิถีวัฒนธรรมผ่านประสบการณ์(Soft Power) และการดำเนินการ Na Loei Model
ทั้งนี้ จุดแข็งที่เป็นกุญแจสำคัญทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.มีอาจารย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา 2.มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ รวมถึง เครื่องมือ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 3.ราคาที่เหมาะสม 4.อัตราการรักษาสำเร็จมาก และ5.มีไทยเนส หรือเสน่ห์ของความเป็นไทย มีจิตใจรักษาในบริการ