รุกธุรกิจกัญชง-กัญชา ผ่านกลยุทธ์ From Local to Global

รุกธุรกิจกัญชง-กัญชา ผ่านกลยุทธ์ From Local to Global

แม้สภาผู้แทนราษฎรจะยังไม่พิจารณาพรบ.กัญชากัญชง  แต่สำหรับภาคเอกชนที่ดำเนินการธุรกิจกัญชง-กัญชาทางด้านการแพทย์และสุขภาพตามที่กฎหมายกำหนด มองว่าไม่กระทบธุรกิจในเชิงปฏิบัติ  “88 แคนนาเทค”รุกธุรกิจชูกลยุทธ์From Local to Global

     นายพรประสิทธิ์ สีบุญเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท 88 แคนนาเทค จำกัด กล่าวว่า  ธุรกิจกัญชา กัญชง เป็นเทรนด์ต่างประเทศที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์และกัญชงเชิงพาณิชย์มานาน เมื่อกฎหมายในประเทศไทยอนุญาตจึงเล็งเห็นโอกาสเข้าสู่ธุรกิจ และจดทะเบียนตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้แนวคิด “เราปลูกสุขภาพ” โดยดำเนินการตลอดเส้นทางครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านกลยุทธ์ From Local to Global

       ส่วนของต้นน้ำ ในการปลูกมีพันธมิตร คือ บริษัทไฟลอส ไบโอซาย ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน 5 ของอเมริกา โดยทางบริษัทนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงสำหรับปี 2565 ประมาณ 1 แสนเมล็ด เพื่อปลูกในพื้นที่โรงเรือน (Green House) ของบริษัท ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงราย จำนวน 2 หมื่นเมล็ด และที่เหลือก็ส่งให้กับทาง Contract Framing อีกหลายแห่ง เช่น MDX Green Energy สุพรรณ กรีนเทค และโชคอนันต์ ฟาร์ม

รวมถึง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ในจ.เชียงราย เชียงใหม่ เลย กระบี่ ชุมพร เป็นต้น  การปลูกของ Contract Farming ต้องปลูกในโรงเรือน และต้องได้รับมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  และในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกรวมทั่วประเทศ25,000 ตารางเมตร ปลูกกัญชงได้ประมาณ 3 แสนต้น ได้สารสกัดCBD ราว 1.5-1.8 ตัน  สามารถนำทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ 1.5-1.8 ล้านยูนิต  

      กลางน้ำ เรื่องของการสกัด หลังจากร่วมงานกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีโรงสกัดกัญชาเพื่อนำไปทำยา เมตตาโอสถ ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบจากกัญชา และขณะเดียวกันก็มีภารกิจในการทำยา การุณโอสถ โดยใช้ผลผลิตของกัญชง คือ สาร CBD บริษัทจึงได้ทำโรงสกัดร่วมกัน โดยบริษัทสนับสนุนในเรื่องของเครื่องจักรทั้งหมด และทำงานร่วมกันในลักษณะของโรงสกัดกลาง ซึ่งกรมแพทย์แผนไทยและ 88 แคนนาเทค สามารถนำกัญชงมาสกัดที่นี่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็สามารถที่จะนำกัญชงเข้ามาจ้างสกัดได้

รุกธุรกิจกัญชง-กัญชา ผ่านกลยุทธ์ From Local to Global

     และปลายน้ำ  บริษัทนำสารสกัดในกัญชง ที่มีสารสำคัญ คือ  Cannabidiol หรือ CBD  มาออกเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า เป็นกลุ่มแรก ภายใต้แบรนด์ CannBE ซึ่งในช่วงแรกจะออกวางตลาด 3 ชนิด ประกอบด้วย CBD anti acne serum , CBD anti acne cream  โดยโฟกัสที่กลุ่มวัยรุ่น คนหนุ่มสาว ที่มีปัญหาเรื่องการดูแลผิวหน้าและมีความกังวลเรื่องสิว และ CBD anti aging serum กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ที่ต้องการดูแลผิวหน้าเพื่อป้องกันและลดเลือนริ้วรอยที่มาก่อนวัย โดยจะเริ่มวางตลาดในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ คาดว่าในปี 2565 จะวางตลาดได้ราว 50,000 ยูนิต วางจำหน่ายทั้งระบบออนไลน์และตัวแทนจำหน่าย 

     “สารCBD  ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีคุณสมบัติทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ลดความวิตกกังวล เพิ่มความอยากอาหาร ช่วยให้นอนหลับสบาย และลดการอักเสบ มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดเลือนริ้วรอย เป็นต้น”นายพรประสิทธิ์ กล่าว

     นอกจากนี้ ต่อยอดสู่เรื่องของ Wellness โดยพร้อมเปิดตัวคลินิก CannaHealth คลินิกการแพทย์และการดูแลสุขภาพองค์รวมที่ใช้กัญชงและกัญชาร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนไทยประยุกต์แห่งแรกที่ครบวงจร ซึ่งคลินิก CannaHealth สามารถจ่ายยากัญชาและกัญชง จากองค์การเภสัชกรรม และกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยสมุนไพรทางเลือก

รุกธุรกิจกัญชง-กัญชา ผ่านกลยุทธ์ From Local to Global

      บริษัทประมาณการว่าในปี 2566  จะสามารถวางผลิตภัณฑ์ได้ 1.2 ล้านยูนิต สร้างรายได้ระดับ 1 พันล้านบาท และจะสามารถส่งออกได้ในไตรมาสแรกของปี   วางสัดส่วนการส่งออกไว้ที่ 60 % และวางขายในประเทศ 40 % ทั้งในรูปแบบน้ำมัน CBD Oil จากช่อดอกกัญชง และผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องสำอาง สมุนไพร อาหารเสริม ซึ่งตอนนี้ได้รับการติดต่อซื้อจากลูกค้าใน 7 -8 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ เยอรมัน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และตุรกี เป็นต้น  

     สำหรับการที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่พิจารณาร่างพรบ.กัญชากัญชงหรือไม่  นายพรประสิทธิ์ มองว่า พรบ.ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกัญชาภาคครัวเรือนและกัญชาภาคสันทนาการ  ในภาคอุตสาหกรรม  ในภาคปฏิบัติของธุรกิจไม่กระทบ หากดำเนินการตามกฎหมายเนื่องจากมีกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ทั้งเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และกัญชงเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม จะกระทบในแง่ของความเข้าใจของประชาชน จากข้อมูลต่างๆที่ส่งต่อกัน  ที่อาจจะยังไม่เข้าความต่างระหว่างกัญชา และกัญชง และการนำมาดำเนินการเชิงธุรกิจ

      ในต่างประเทศมีการนำสาร CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆมานาน ส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันกำหนดให้กัญชากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจสุขภาพ และรัฐตั้งเป้าให้เป็นพืขเศรษฐกิจตัวใหม่  โดยสามารถที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นที่อนุญาตให้ใช้ CBD ได้

         "ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ขยับเรื่องนี้เป็นประเทศแรกๆในเอเชีย เชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้สาร CBD จะเข้าไปอยู่ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น”นายพรประสิทธิ์ กล่าว