สปสช.ห่วงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองพื้นที่น้ำท่วม จัดระบบให้รักษาต่อเนื่อง

สปสช.ห่วงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองพื้นที่น้ำท่วม จัดระบบให้รักษาต่อเนื่อง

สปสช.ห่วงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบอุทกภัย จัดระบบให้รักษาต่อเนื่อง เข้ารักษานอก รพ.ตามสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. พร้อมจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยได้ตามปกติ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดในหลายจังหวัดขณะนี้และทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ สปสช.ให้ความช่วยเหลือประชาชนและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ และกำชับให้จัดระบบเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง 

ในส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องนั้น สปสช.มีระบบส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านและมีจำนวนเก็บสำรองได้มากเพียงพอ จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยขาดน้ำยาล้างไตและยังไม่มีหน่วยบริการใดแจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยยังมีเพียงพอ และผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องไปฟอกที่ รพ.นั้น ทาง รพ.และ สปสช.ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากที่ไหนมีปัญหาก็สามารถหา รพ.สำรองให้ได้ทันที

 

  • สปสช.ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่น้ำท่วม

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ป่วยจะต้องรับบริการยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ในกรณีภาวะฉุกเฉิน บอร์ด สปสช.ได้เคยมีมติร่วมกันให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สามารถรับบริการรักษายังหน่วยบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามเกณฑ์ฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่

โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาดูแลต่อเนื่องสามารถเข้าถึงบริการได้ ซึ่ง สปสช.ในแต่ละเขตพื้นที่ได้ประสานงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) แต่ละ อบต.และเทศบาล ประสานเรื่องการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องแล้ว 

 

  • ย้ำสามารถใช้หน่วยบริการ-สถานพยาบาลที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิได้

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สปสช.ได้ทำแจ้งหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่ให้บริการผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วม ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถเบิกงบประมาณจาก สปสช.ได้

โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมสามารถใช้บริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางหน่วยบริการจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามขั้นตอนต่อไป