กางนโยบายสธ.ปีงบฯ 66 กับเงินบำรุงรพ.ที่มีกว่า 1 แสนล้านบาท

กางนโยบายสธ.ปีงบฯ 66 กับเงินบำรุงรพ.ที่มีกว่า 1 แสนล้านบาท

โอกาสเข้ารับตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)คนใหม่” ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” มอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานสธ. มุ่งตอบโจทย์ “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง(Health for Wealth)” เคลียร์การเงินรพ. ก่อนนำเงินบำรุงลงทุนพัฒนา ยึดแนวคิด “1 จังหวัด 1 รพ.”

     “การผ่านวิกฤติโควิด-19 เป็นการพิสูจน์ระบบสาธารณสุขผ่านการทดสอบได้เป็นอย่างดี มีระบบที่เข้มแข็ง ช่วงต่อไปเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดูแลประชาชนให้รับการบริการสุขภาพที่ดีและสอดคล้องนโยบาย สธ.ต่อไป สำหรับปี 2566  ขอให้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนยึดตามพระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” นพ.โอภาส กล่าวระหว่างการมอบนโยบายต่อผู้บริหารสธ.และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้บริหารส่วนภูมิภาคเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2565

           ทิศทางการดำเงินงานในปี 2566 จะตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ใน  5 ประการ ได้แก่ 1.การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น 2. การยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง 3.ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง 4.นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ5.ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน ซึ่งจะมุ่งเน้น “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง(Health for Wealth)” ไม่ใช่แค่ตัวเงินแต่ต้องสุขภาพด้วย สุขภาพดีเศรษฐกิจก็มั่งคั่ง ก็จะส่งผลกระทบให้ประชาชนดี เป็นภารกิจที่รับมอบมาทำงาน ระยะ 3 ปีต่อจากนี้

     โดยนำมาแปลงสู่การปฏิบัติ 6  ประเด็น ประกอบด้วย  1.การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพทุกมิติ ขอฝากผู้บริหารปรับระบบการสื่อสารให้ประชาชนไว้วางใจ ข้อสงสัยซักถามมีปฏิสัมพันธ์กัน 2.เพิ่มความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มศักยภาพ 3 หมอ อสม. รพ.สต. และ รพ.เชื่อมโยงการทำงานกัน ต้องเอาดิจิทัลมาร่วมดำเนินการด้วย ขอให้ รพ.จัดตั้งกลุ่มดิจิทัลทางการแพทย์ขึ้น เพื่อให้บริการประชานเป็นตัวรวบรวมข้อมูล พัฒนานวัตกรรมไปสู่ภาคปฏิบัติ ถ้าพร้อมแล้วดำเนินการได้เลย

        3.ยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมเรื่องกฎหมายรับมือกับภาวะคุกคามทางสุขภาพ ทั้งโรคระบาด ภัยพิบัติ น้ำท่วม ให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง 4.ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และนานาชาติ(เมดิคัล ฮับ) จุดแข็งเรื่องการแพทย์ การแพทย์แผนไทย สมุนไพรก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง และเรื่องกัญชา ซึ่งสธ.เน้นกัญชาทางกาแรพทย์ ที่บอกเสรีแล้วไปใช้แบบสันทนาการเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หากพบเห็นอย่านิ่งดูดาย ต้องช่วยชี้แจง แจ้งผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

      5.การพัฒนา รพ.เป็น รพ.ของประชาชน ซึ่งช่วงโควิด-19 ทำให้บุคลากรได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ 4.5 หมื่นอัตรา ทำให้ปัญหาเชิงปริมาณน้อยลง แต่การกระจายตัวการก้าวหน้าต้องขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้  ทำให้รพ.มีเงินบำรุงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีวิกฤตการเงินระดับ 7 จึงสามารถนำเงินบำรุงมาพัฒนารพ.ให้เป็น รพ.ของประชาชน คือ เข้ามาแล้วรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ ได้ประโยชน์กลับไป ไม่ใช่มาแค่ตอนเจ็บป่วย แต่สามารถมาร่วมกิจกรรมสนับสนุนป้องกันควบคุมโรค มาแล้วเกิดความสะดวกสบาย

          “สถานะเงินบำรุงจากเดิมภาพรวมมาอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท ตอนนี้น่าจะมีราวแสนล้านบาท ก็ให้แต่ละรพ.จัดทำแผนการใช้เงินบำรุงให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยเริ่มจากการเคลียร์หนี้ที่มีอยู่ให้หมดทั้งค่าตอบแทนบุคลากร ค่าโอทีต่างๆ หนี้ค่ายา วัสดุอุปกรณ์  จากนั้นให้วางแผนค่าใช้จ่ายที่เป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาทางการเงินอีก 1-2 ปี เมื่อมีเงินที่เหลือจาก 2 ส่วนนี้แล้ว ให้นำมาเป็นเงินลงทุนพัฒนารพ.”นพ.โอภาสกล่าว

       นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า การลงทุนที่จะนำเงินบำรุงมาดำเนินการ อาทิ บ้านพักบุคลากรที่บางแห่งทรุดโทรมมากแล้ว หากสร้างเป็นแฟลตก็ขอให้มีพื้นที่ที่มีกิจกรรมร่วมกัน มีไวไฟ ที่มีชีวิตเหมือนคนยุคใหม่ เป็น Work Life Balance ,สร้างอาคารจอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกในการมาใช้บริการ ,สร้างโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าในอนาคต ให้มีแผนจัดการเรื่องนี้ใน 2-3 เดือน และใน 1 ปี รพ.สังกัดสธ.ทุกแห่งต้องมีใน รพ. เพราะการประเมินจะช่วยลดคาร์บอนได้หลายล้านตัน ,ระบบกำจัดน้ำเสียที่เดิมไม่มีงบประมาณ ก็เป็นโอกาสดำเนินการ และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับService Plan

      “การนำเงินบำรุงรพ.มาใช้ในการลงทุน ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) บริหารจัดการให้เกิดการเกลี่ยเงินภายในจังหวัด ภายใต้แนวคิด 1 จังหวัด  1 รพ. เพราะ รพ.ขนาดเล็กเงินบำรุงอาจจะไม่มาก นพ.สสจ.บริหารจัดการหมุนเงินบำรุงช่วยเหลือกัน ทุก รพ.พัฒนาไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของรพ.ในจังหวัดนั้น เพราะประชากรที่ต้องดูแลก็คือคนในจังหวัดนั้นเหมือนกัน”นพ.โอภาสกล่าว  

      อย่างตัวอย่าง  จ.ชลบุรี  คือ นพ.สสจ.ชลบุรีก็บริหารจัดการเงินบำรุง รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี มาช่วย รพ.วัดญาณสังวราราม ที่เป็นรพ.ขนาดเล็ก เงินบำรุงไม่มาก ในการปรับปรุงบ้านพักบุคลากร ซึ่งทรุดโทรมมากแล้ว ปลวกกิน ต้องไม่คิดว่าเงินรพ.ฉัน รพ.เธอ ในจังหวัดต้องคิดว่าเป็นรพ.เดียวกัน ร่วมกันพัฒนา

           และ 6.ขอให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ  โดยดำเนินงานตามแนวทาง “ 4T”ได้แก่ Trust นพ.สสจ. ผอ.รพ.ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา รพ. บุคลากรสาธารณสุข , Teamwork&Talent ทำงานเป็นทีม ปีนี้งบประมาณกระทรวงถูกตัดไปมาก ส่วนกลางไม่สามารถส่งทรัพยากรไปให้ได้มาก เป็นโอกาสดีมีเงินบำรุง รพ.ขอให้ทำงานด้วยกัน คิดว่า 1 จังหวัด รพ.เดียว, Technology นำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น รวมถึงไบโอเทคโนโลยี และ Targets ทำงานแบบมุ่งเป้าหมาย เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

          ทั้งนี้ ในการทำงานขอให้ยึดหลักปฏิบัติ “ททท.”คือ “ทำทันที” “ทำอย่างต่อเนื่อง” และ “ทำแล้วพัฒนา” ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำ แต่หากข้อมูลมีพร้อม แผนงานกิจกรรมมีพร้อมให้ทำทันที หากยังไม่แน่ใจขอให้ทำโดยศึกษาข้อมูลแล้วลงมือปฏิบัติ แต่อย่าดูนาน ผิดพลาดปรับปรุงแก้ไขพัฒนา อย่ามัวแต่คิด หากทำแล้วติดขัดมีข้อเสนอแนะให้ถามมา เพื่อจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง