ยกเลิกสิทธิ์ “บัตรทอง” ของ รพ. เอกชน กระทบผู้ป่วยกว่า 9 แสนราย ต้องทำอย่างไร ?

ยกเลิกสิทธิ์ “บัตรทอง” ของ รพ. เอกชน กระทบผู้ป่วยกว่า 9 แสนราย ต้องทำอย่างไร ?

หลังจากวันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไปผู้ป่วยกว่า 9 แสนรายที่มีสิทธิ์บัตรทองอยู่กับ 9 โรงพยาบาลเอกชนและถูกยกเลิกสิทธิ์แล้วกลายเป็น “สิทธิ์ว่าง” หากต้องการรักษาสิทธิ์ไว้มีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร

หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าจะยกเลิกสิทธิ์การรักษาพยาบาลด้วยการใช้ “บัตรทอง” ในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท มีผลทันทีในวันที่ 1 ต.ค.

ด้วยเหตุผลจากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข พบเอกสารหลักฐานว่า หน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งมีการเบิกค่าคัดกรองเมตาบอลิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นที่มาการยกเลิกสัญญาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำหรับผู้ใช้บริการที่มีสิทธิ์บัตรทองอยู่กับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง นั้นจะกลายเป็น "สิทธิ์ว่าง" ทันที ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สูงราว 910,000 ราย

แบ่งออกเป็นประมาณ 220,000 คน ที่ สปสช. ต้องจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ (คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุข) ให้ และอีกประมาณ 690,000 คน ที่เดิมมี รพ.ทั้ง 9 แห่งเป็น รพ.รับส่งต่อ จะไม่มี รพ.รับส่งต่อ แต่ยังคงมีคลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ

โดยทั้งหมดนี้จะต้องติดต่อ สายด่วน 1330 หรือแอปพลิเคชัน หรือไลน์ของสปสช. เพื่อขอย้ายสิทธิ์ไปยังโรงพยาบาลรัฐบาล แต่สำหรับ “ผู้ป่วยใน” ที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่ง ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์นั้นยังสามารถใช้สิทธิ์ได้จนสิ้นสุดการรักษา แล้วถึงจะได้เลือกโรงพยาบาลใหม่

  • ผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นต้องทำอย่างไร

หลังจากวันที่ 1 ต.ค. ผู้ที่มีสิทธิ์บัตรทองของโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่ง สามารถติดต่อ สปสช. เพื่อเลือกโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งทาง สปสช. กำลังจัดหาโรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ใช้สิทธิ์ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่ https://www.nhso.go.th/page/hospital และ https://map.nostramap.com/NostraMap/ หรือ แอปพลิเคชัน NostraMap

  • มาตรการรับรองผู้ถูกยกเลิกสิทธิ์บัตรทอง

- จัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับประชากร เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านขายยา เป็นต้น

- จัดหาระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกกับให้กับประชาชน

- จัดหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ

- ประสานงานและจัดหน่วยบริการแห่งใหม่ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีนัดรักษา นัดพบแพทย์ หรือติดตามอาการ

  • กลุ่มผู้ป่วยที่ยังรักษาโรงพยาบาลเอกชนเดิมต่อได้

1. กลุ่มผู้ป่วยในที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ทั้ง 9 แห่ง รักษาต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา

2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหลังวันที่ 1 ต.ค. ได้แก่ นัดผ่าตัดต่าง นัดทำคลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรังสีรักษาและเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่มีนัดตรวจอัลตร้าซาวด์ นัดตรวจซีทีสแกน (CT Scan) นัดตรวจ MRI

  • การเยียวยากลุ่มผู้ป่วยต่อเนื่องเบื้องต้น

1. กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ที่มีนัดตรวจติดตามอาการและรับยาต่อเนื่องหลังวันที่ 1 ต.ค. ไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดย สปสช. จะจัดเตรียมรายชื่อหน่วยบริการไว้ให้ และผู้ป่วยสามารถไปติดต่อที่หน่วยบริการดังกล่าวได้เอง หรือ ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อสอบถามรายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านที่สามารถไปรักษาได้และให้สายด่วน 1330 ประสานการรักษาต่อได้

2. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยวัณโรคที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ท่านสามารถไปรับยาและตรวจติดตามอาการได้ที่หน่วยบริการที่ให้บริการได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การแพทย์บางรัก (คลินิกบางรัก) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และพริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก เป็นต้น

ล่าสุดพญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของการหาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง โดยสรุปว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ ผู้มีสิทธิ์บัตรทองในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งสามารถเปลี่ยนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ดังนี้

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสินและ รพ.ตากสินแทน,

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.กล้วยน้ำไท เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน

- ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกโรงพยาบาลด้วยตนเองยังคงสามารถติอต่อช่องทางของ สปสช. ตามที่สะดวกเพื่อเลือกรับบริการจากโรงพยาบาลในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง

อ้างอิงข้อมูล : iTAX และ Hfocus