นโยบายการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ปี 66

นโยบายการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ปี 66

 สธ. มอบ 5 นโยบายสำคัญช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขระยะยาว เน้นเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้นผ่านการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่บ้านและชุมชน เสริมสร้างการดูแลสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง นำสมุนไพรผลิตภัณฑ์สุขภาพสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาข้อมูลสุขภาพดิจิทัลเพื่อประชาชน

วันนี้ (29 กันยายน 2565) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม
มอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth) และร่วมกับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธี Kick off พลิกโฉมระบบสุขภาพเพื่อคนไทยทั้งประเทศ

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล ซึ่งคนมักจะพูดกันว่าข้าราชการจะเกียร์ว่าง แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกคนทำงานร่วมกันมาจนเป็นทีมประเทศไทย ทั้งนี้ ได้ส่งต่อข้อคิดให้ได้ใช้ประโยชน์ในระยะยาวเรื่อง “Health for Wealth” ซึ่งสอดคล้องกับคำโบราณที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” โดยนำมาเป็นธงนำชีวิตและทิศทางการบริหารบ้านเมือง รวมถึงบทเรียนจากวิกฤตโควิด 19 เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่าในวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข “ความรู้” เป็นสิ่งที่มีค่า ที่จะช่วยปกป้องประชาชนจากการสร้างความปั่นป่วนในสังคม

การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วช่วยทำให้สถานการณ์ผ่อนหนักเป็นเบา, การดูแลกันและกันในชุมชนช่วยขจัดโรคภัยและรักษาสายสัมพันธ์ในสังคมยามที่ต้องเว้นระยะห่าง และแม้เราจะเป็นผู้แข็งแรงก็ไม่อาจละเลยกลุ่มเปราะบาง แม้จะเป็นประเทศที่ “มี” ก็ไม่อาจหลงลืมประเทศที่ “ขาด” เพราะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

นายอนุทินกล่าวต่อว่า บทเรียนเหล่านี้ได้ถูกสังเคราะห์เป็นแนวทางและนโยบายการดำเนินงานในกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” โดยในปี 2566 
จะผลักดันการพัฒนาสาธารณสุขไทย ด้วยการปรับระบบบริการสุขภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการขับเคลื่อน 5 ประการสําคัญ คือ

ประการแรก การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยแนวทาง “3 หมอ” คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจําตัวดูแล เมื่อเจ็บป่วยได้รับการรักษาและส่งต่อ เพิ่มสวัสดิการและพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นหมอประจําบ้าน เชื่อมโยงบริการแบบไร้รอยต่อตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ดูแลประชาชนที่บ้านและชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมาโรงพยาบาล

ประการที่ 2 ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง โดยพัฒนาการสื่อสารเรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ถูกต้อง ปลอดภัย ทันสมัย มีกิจกรรมและมาตรการสิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจ ป้องกันการบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางสาธารณสุข 

ประการที่ 3 ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง โดยจัดให้มีการคัดกรองสุขภาพ ประเมินความเสี่ยงของโรค การป้องกันปัญหาสุขภาพ การดูแลระยะยาว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เช่น แว่นสายตา ผ้าอ้อม ฟันปลอม และจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับให้เข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงดูแลด้านจิตใจและภาวะสมองเสื่อม

ประการที่ 4 นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขยายโอกาสสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพ (Health Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประชาคมโลก ต่อยอดเศรษฐกิจเพิ่มรายได้แก่ประชาชนและประเทศ

และประการที่ 5 ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน โดยจะพัฒนาข้อมูลดิจิทัลสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ช่วยให้ประชาชนใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่อย่างต่อเนื่อง และรัฐใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ไม่เพียงแต่ 5 นโยบายสำคัญนี้เท่านั้น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า เราต้องมีความตื่นตัว ยืดหยุ่น และคิดนอกกรอบเสมอ เพราะการสาธารณสุขยุคปัจจุบันจะประสบความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยวิธีคิดใหม่ๆ ในการรับมือ เหมือนที่เราได้ทำมาจนประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และจะทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขไทยดำรงสถานะผู้นำการพัฒนาสาธารณสุขในภูมิภาคและในโลกต่อไป” นายอนุทินกล่าว  

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การรับมือวิกฤตโควิด 19 เป็นภารกิจท้าทายที่ได้ร่วมคิด ร่วมทำ กับพี่น้องชาวสาธารณสุขจนรวมกันเป็นหนึ่ง พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นถึงผลการดำเนินงานว่า 1.เราติดอันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับโควิด 19 ได้ดีที่สุด จาก 184 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลดัชนีโควิดระดับโลก (Global COVID-19 Index : GCI) ในปี 2020 2.เราเป็นอันดับ 4 ประเทศที่รับมือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ดีที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับดัชนีการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ รวม 98 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในปี 2021

3.เราเป็นอันดับ 5 ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพสูงตามการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index: GHS) ในปี 2021 และ 4.เราเป็นอันดับ 8 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด โดยการจัดอันดับของ Numbeo Survey ในปี 2021 จึงขอให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจพัฒนางานสาธารณสุขไทยด้วยความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน ความเป็นพี่เป็นน้อง เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน ทุกคนมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการ “Change สาธารณสุขไทย” สู่การยกระดับบริการและการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ