29 ก.ย. "วันหัวใจโลก" ส่องภาวะ "หัวใจสลาย" Broken Heart Syndrome เกิดจากอะไร?

29 ก.ย. "วันหัวใจโลก" ส่องภาวะ "หัวใจสลาย" Broken Heart Syndrome เกิดจากอะไร?

"วันหัวใจโลก" ตรงกับ 29 กันยายนของทุกปี รู้หรือไม่? "โรคหัวใจและหลอดเลือด" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกถึง 17.9 ล้านคน อีกหนึ่งโรคทางใจที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ คือ ภาวะ "หัวใจสลาย" (Broken Heart Syndrome) ที่เกิดขึ้นได้จริงในทางการแพทย์

วันที่ 29 กันยายน ของทุกๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันหัวใจโลก (World Heart Day)" ก่อตั้งขึ้นโดย "สหพันธ์โรคหัวใจโลก" (World Heart FEDERATION) เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ที่เป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ และเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้คนทั่วโลก สูงถึง 18.6 ล้านคนในแต่ละปี นอกจากโรคหัวใจแล้ว รู้หรือไม่? ยังมีอีกหนึ่งอาการทางใจที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ นั่นคือ "ภาวะหัวใจสลาย" หรือ Broken Heart Syndrome

แล้วภาวะหัวใจสลายเกิดจากสาเหตุอะไร? มีอาการอย่างไร? แล้วสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักภาวะ Broken Heart Syndrome ให้มากขึ้น

 

 

  • "ภาวะหัวใจสลาย" (Broken heart syndrome) คืออะไร?

อาการหัวใจสลาย หรือ Stress cardiomyopathy, Takotsubo cardiomyopathy, Apical ballooning syndrome เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราว ซึ่งมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ตึงเครียด เศร้าเสียใจ และอารมณ์รุนแรง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการเจ็บป่วยทางกายหรือการผ่าตัดร้ายแรง

กลุ่มอาการหัวใจสลาย ส่งผลกระทบต่อหัวใจเพียงบางส่วน โดยเกิดจากหัวใจทำงานขัดข้องบางส่วน ระบบการสูบฉีดเลือดตามปกติของหัวใจถูกขัดขวางชั่วคราว ส่วนที่เหลือของหัวใจยังคงทำงานตามปกติแต่อาจจะบีบตัว (หดตัว) แรงขึ้นกว่าเดิม

29 ก.ย. \"วันหัวใจโลก\" ส่องภาวะ \"หัวใจสลาย\" Broken Heart Syndrome เกิดจากอะไร?

 

  • "ภาวะหัวใจสลาย" อาการเป็นอย่างไร? รักษาได้หรือไม่?

อาการของ "ภาวะหัวใจสลาย" ได้แก่ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหัน หายใจถี่ เป็นอยู่นานหลายนาทีหรืออาจเป็นชั่วโมง หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก แต่มักจะหายได้ภายในไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของภาวะหัวใจสลาย คล้ายกับอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณของอาการหัวใจวายได้ ดังนั้น จึงควรเรียกรถฉุกเฉินเพื่อเข้าถึงการรักษาโดยด่วน 

 

  • สาเหตุ Broken heart syndrome เกิดจากอะไร? 

สาเหตุที่แท้จริงของอาการหัวใจสลายยังไม่ชัดเจน แต่ในทางการแพทย์คิดว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine หรือ Adrenaline เพิ่มสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน จนส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติชั่วคราว อีกทั้ง จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 90% ของผู้ป่วยหัวใจสลายเป็นผู้หญิง ช่วงอายุที่พบบ่อยคือระหว่าง 58 - 77 ปี

อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีประมาณ 1% ที่เป็นภาวะหัวใจสลาย

กลุ่มอาการหัวใจสลายมักเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ที่รุนแรงทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ตัวอย่างเช่น การเจ็บป่วยเฉียบพลัน (เช่น โรคหอบหืดหรือการติดเชื้อโควิด-19) การผ่าตัดใหญ่หรือกระดูกหัก หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น การเสียชีวิตของคนในครอบครัว, ความกลัวอย่างรุนแรง, ความโกรธสุดขีด, การสูญเสียรูปแบบอื่นๆ หรือแม้แต่การโต้แย้งที่รุนแรงก็อาจก่อให้เกิดภาวะนี้ได้

29 ก.ย. \"วันหัวใจโลก\" ส่องภาวะ \"หัวใจสลาย\" Broken Heart Syndrome เกิดจากอะไร?

  • ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน "ภาวะหัวใจสลาย"

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการหัวใจสลายนั้น นอกจากเพศหญิงที่เกิดได้มากกว่าเพศชาย และกลุ่มผู้สูงอายุเกิดได้มากกว่าหนุ่มสาวแล้ว ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของ "ความผิดปกติทางจิตในอดีต" รวมไปถึงผู้ที่มีความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจสลายได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

แม้อาการหัวใจสลายจะไม่ทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจสลายจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและไม่มีผลถาวร แต่ทั้งนี้ก็ควรระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะน้ำท่วมปอด, ความดันโลหิตต่ำ, หัวใจเต้นผิดปกติ, หัวใจล้มเหลว, เกิดลิ่มเลือดหัวใจเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ เป็นต้น

ส่วนวิธีป้องกันภาวะหัวใจสลาย แพทย์มีคำแนะนำว่า ให้พยายามผ่อนคลายและจัดการกับความตึงเครียดทางอารมณ์ในชีวิตประจำวัน เพื่อปรับปรุงสุขภาพของหัวใจ และอาจช่วยป้องกันอาการหัวใจสลายได้

 

  • "วันหัวใจโลก 2565" ปีนี้ชูแคมเปญ USE HEART FOR EVERY HEART

เนื่องใน "วันหัวใจโลก" ประจำปี 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย. 2565 ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART FOR EVERY HEART : ใช้ใจเพื่อรักษาหัวใจทุกดวง ให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด

สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิด "โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ" คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้ง "ความเครียด" ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายมากขึ้นถึง 2 เท่า เช่นเดียวกับการนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย และไม่สามารถปรับสมดุลการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึ'แนะนำวิธีการปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพดี เพื่อหลีกเลี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอารมณ์-ความเครียด ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น 

----------------------------------------

อ้างอิง : world-heart-federation.orgmayoclinic.orgsamitivejhospitals, clevelandclinic.org