1 ต.ค. “โควิด-19” สู่ "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" ปรับการ "รักษา-เบิกจ่าย"

1 ต.ค. “โควิด-19” สู่ "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" ปรับการ "รักษา-เบิกจ่าย"

ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไปประเทศไทยจะปรับ "โรคโควิด-19" จาก "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง" รวมถึง ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและ ยุบ ศบค. โดยการบริหารจัดการจะกลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ภายใต้พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้แถลงข่าว “เตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุม โรคโควิด-19 หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 65 เป็นต้นไป  ว่า ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 92 % จากการฉีดวัคซีน กว่า 143 ล้านโดส และการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 

แผนการเพื่อรองรับ โควิด–19 เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 จะใช้กลไกตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งการดำเนินงานระดับชาติและระดับพื้นที่ แต่ลดความเข้มข้นมาตรการต่างๆ ลง เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยระยะที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือนและคาดว่าจะมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

 

ซึ่งจากนี้ไปประชาชนสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯกำหนด ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยฉีดทุกคนตามเกณฑ์ด้วยความสมัครใจ และเน้นฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และโรคเรื้อรัง ตามคำแนะนำสธ. เบื้องต้นวางแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้งแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

 

ส่วนการตรวจ ATK ให้ตรวจในผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ และขอให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น กรณีประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถายเท และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย ตามความจำเป็น และไม่แนะนำให้ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการป่วย

ป่วยเข้าระบบรักษาฟรีตามสิทธิ

 

ส่วนการรักษาเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย แลป ยากิน ยาฉีด โดยทั้ง 3 กองทุนได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ UCEP PLUS สามารถรักษาได้จนหาย ส่วนสถานพยาบาลชั่วคราว เช่น การดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation)/ที่ชุมชน (Community Isolation) ฮอสปิเทล และ Hotel Isolation จะยุติทั้งหมดในสิ้นเดือนก.ย.นี้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินก็ประกาศเปิดใหม่ได้ ส่วนแรงงานต่างด้าว กรณีมีประกันสุขภาพก็ให้ใช้สิทธิประกันฯ แต่หากไม่มีก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ

 

การันตีเตียง-ยาเพียงพอ

 

ข้อมูลวันที่ 25 ก.ย.65 สถานการณ์เตียงมีประมาณ 73,000 เตียง สามารถขยายได้ถึง 1.4 แสนเตียง มีคนไข้นอนรักษาในรพ. 4,802 คน คิดเป็น 6% ของเตียงทั้งหมด โดยกว่า 90% อาการไม่รุนแรง ส่วนเตียงผู้มีอาการระดับ 2.2 และ 2.3 มีประมาณ 10% 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 58,895 เม็ด เพียงพอใช้ 3.1 เดือน ซื้อเพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน
  • ยาโมลนูพิราเวียร์ คงเหลือ 20 ล้านเม็ด อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 148,750 เม็ด เพียงพอใช้ 4.5 เดือน ซื้อเพิ่ม 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน
  • ยาเรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 23,451 ไวอัล อัตราการใช้เฉลี่ยต่อวัน 1,219 ไวอัล เพียงพอใช้ 0.6เดือน ซื้อเพิ่ม 3 แสนไวอัล เพียงพอใช้ 8.2 เดือน

 

 

รักษาผ่าน Telehealth ได้

 

แม้ว่าวันที่ 1 ต.ค. 65 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการยุติการแจก ATK แต่ยังคง "ระบบการรักษาทางไกล" หรือ Telehealth ซึ่งมี 4 บริษัทเอกชนเข้าร่วมให้บริการพบแพทย์ทางไกลและส่งยาที่บ้าน โดยสิทธิไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังสามารถใช้บริการได้ รวมถึง บริการสายด่วน สปสช. 1330 ยังคงให้บริการเหมือนเดิมตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังเปิด 2 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชั่น สปสช. ทั้งระบบแอนดรอยส์ และ IOS หรือไลน์ @nhso หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้เช่นกัน

 

ปรับแนวทางรักษา 3 กลุ่ม

 

ส่วน แนวทางรักษาโควิด-19 ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่จะเสนอเข้า EOC กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และเริ่มใช้ 1 ต.ค. เป็นต้นไป แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

1.ผู้ป่วยไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก และปฏิบัติตามมาตรการ DMHT 5 วัน ไม่ให้ยาต้านไวรัส 

2.ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT เคร่งครัด 5 วัน อาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยควรเริ่มเร็วที่สุด 

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ(อาจมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบเล็กน้อย) หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง พิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ ให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง คือ แพกซ์โลวิด เรมเดซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์

 

30 บาท ยื่นเยียวยาวัคซีนได้

 

การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลง เมื่อวันที่ ่27 ก.ย. 65 ว่า ผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากได้รับผลกระทบจากวัคซีน ยังคงสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นได้ สปสช. จะใช้เงินในหมวด กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และใช้หลักเกณฑ์ตามที่เขียนไว้ ในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

 

ซึ่งอัตราในการจ่ายยังคงเหมือนเดิม วิธีการพิจารณายังคงเหมือนเดิม หากได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน ยังขอรับเงินเยียวยาได้ ส่วนผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ให้ยื่นเรื่องกับหน่วยงานตามสิทธิรักษาพยาบาลของตนเอง เช่น กรณีผู้ประกันตน ให้ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม ฯลฯ ซึ่งจะได้รับการดูแลช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นๆ

 

“โดยสรุป คือ ในช่วงแรก สำหรับประชาชน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจากโควิด-19 ยังสามารถรับการรักษาได้ยัง รพ. ตามสิทธิ ไม่มีค่าใช้จ่าย รัฐบาลยังคงดูแลแต่เป็นไปตามสิทธิ ด้านหน่วยบริการ มีการปรับอัตราการจ่าย มีการลดบางอย่างลง ใช้เงินในหมวดปกติ ซึ่งรายละเอียด ได้มีการประกาศและทำหนังสือชี้แจงไปยัง รพ.ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ยกเลิกค่าบริการวัคซีน-จัดการศพ

 

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา  ได้มีการปรับเงื่อนไข เนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลง โดยยกเลิกค่าบริการการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับโรงพยาบาล ค่าบริหารจัดการศพ 

 

แต่ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีนยังมีอยู่ ท่านใดที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เกิดอาการไม่พึงประสงค์ มีสิทธิที่จะขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นจาก สปสช. ได้ สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ หากผู้ป่วยไป รพ. และแพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรอง โดยการใช้ ATK หรือ RT-PCR ที่โรงพยาบาล โดยดุลยพินิจของแพทย์ ก็สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ โรงพยาบาลจะมาเบิกกับ สปสช.

 

ส่วนกรณีที่มีการรักษาผู้ป่วยใน สปสช.จ่ายค่าห้องเพิ่มเติม เช่น ผู้ป่วยวิกฤติ รวมถึงจ่ายอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ให้กับ รพ. เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการจ่าย เดิมจะเป็นการจ่ายพิเศษเพิ่มเติม ตอนนี้จะรวมเข้าไปในระบบ DRG (Diagnosis Related Group) 

 

และปรับการจ่ายค่ารถส่งต่อผู้ป่วยปกติ เปลี่ยนเป็นจ่ายตามระยะทาง และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาทโดยยกเลิกการจ่ายค่า PPE และ ค่าทำความสะอาดรถ