เช็กอาการ ต้องสงสัยว่าเป็น "โรคภูมิแพ้"หรือไม่?

เช็กอาการ ต้องสงสัยว่าเป็น "โรคภูมิแพ้"หรือไม่?

ปัจจุบันโรคภูมิแพ้พบมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้มากขึ้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเมื่อ10 ปีก่อน โดยพบโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30 โรคหืดร้อยละ 10-15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 6 

ขณะที่ ข้อมูลสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 38 และผู้ใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 20 โดยสาเหตุส่วนใหญ่เนื่องมาจากกรรมพันธุ์  มลภาวะ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัย เช่น เลี้ยงสัตว์ ปูพรม เครื่องปรับอากาศ เป็นแหล่งสะสมฝุ่นละอองและไรฝุ่นชั้นดี เป็นต้น

นอกจากนั้น การพบโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทยก็เพราะวิถีของคนไทยเปลี่ยนไป ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อยู่กันอย่างแออัด บ้านเรือนจากเดิมที่มีลักษณะโปรง โล่ง มีการถ่ายเท อากาศดีเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น มีเพดานเตี้ยประดับประดาไปด้วยเครื่องเรือน ปิดหน้าต่างตลอดเวลา เปิดเครื่องปรับอากาศ ภายในห้องมีพรมซึ่งมีไรฝุ่นมาก

มีต้นไม้ประดับซึ่งมีเชื้อรา นิยมเลี้ยงสุนัข แมวในบ้าน บางคนถึงกับเอาไปนอนด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เราสูดหรือสัมผัสเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลายิ่งกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ขึ้น

 

  • รู้จัก "ภูมิแพ้" โรคหลากหลายตัวกระตุ้น แต่ดูแลได้ 

โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันและความรุนแรงไม่เท่ากัน เพราะชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่างกัน

ตัวกระตุ้นการแพ้ ประกอบด้วย 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1) สารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมและอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร แมลงสาบ เชื้อรา ฯลฯ

2) สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นม ไข่ ถั่ว แป้งสาลี อาหารทะเล ฯลฯ

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อย โรคกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ โรคหืดลมพิษเรื้อรังและโรคอื่นๆ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีอาการสำคัญ ได้แก่ จาม คันจมูก ตา และลำคอ มีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาบ่อยๆ รู้สึกจมูกตัน ตาแดง และมีน้ำตาไหล โรคหืดทำให้มีอาการ ไอและหอบ ลมพิษเรื้อรัง จะมีผื่นคันตามผิวหนังเป็นๆ หายๆ อาการภูมิแพ้ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นจากสารบางอย่างที่เรียกว่า สารแพ้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น มลพิษในอากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองตามถนน ควันจากท่อรถยนต์และจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

  • สาเหตุของโรคภูมิแพ้ ที่ควรรู้

ทั้งนี้ สาเหตุของโรคภูมิแพ้นั้นเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ 

  • พันธุกรรม โรคภูมิแพ้หลายโรค จะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็กยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาศมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว กล่าวคือถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียง 10%
  • โรคภูมิแพ้บางอย่าง สาเหตุจากพันธุกรรมไม่ค่อยเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก เช่น ลมพิษ แพ้จาการสัมผัส เช่น แพ้เครื่องประดับ แพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น  ไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ  การรับประทาน หรือการสัมผัส  สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น มีอาการหลังจากรับประทานทะเลอาจเกิดผื่นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือกินยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมวหรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ
  • สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ยากเพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสร เชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน ซึ่งพบมากตามที่นอน หมอน โซฟา ห้องรับแขก พรม ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดของโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศเย็น มลพิษในอากาศจากความควันรถ ควันโรงงาน อุตสาหกรรม ฝุ่นละอองตามท้องถนน ควันบุหรี่อีกด้วย

 

  • เช็กอาการ ต้องสงสัยว่าเป็น "โรคภูมิแพ้"หรือไม่?

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้อาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงผื่นลมพิษเรื้อรัง ซึ่งมีอาการแสดงแตกต่างกันไป คือ

  • ระบบการหายใจ ตั้งแต่จาม คันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา คันคอ หรือไอเรื้อรังมีเสมหะ มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเสียงดังวี้ดๆ อาการดังกล่าวอาจเป็นๆ หายๆ อาจมีอาการเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นตลอดเกือบทั้งปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุ
  •  ระบบผิวหนัง อาจแสดงเป็นลมพิษ ผื่นคันตามข้อพับ ในเด็กอาจมีผื่นแดงบริเวณแก้ม
  •  ระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด
  •  แสดงอาการทุกระบบ ในคนไข้ที่แพ้รุนแรง อาจมีทั้งอาการหอบ หายใจลำบาก ลมพิษขึ้น ช็อคหรืออาจเสียชีวิต

อาการต้องสังเกต บ่งบอกว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ได้แก่

  • ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดงหรือซีด
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องหรือท้องเสีย
  • ความดันโลหิตลดต่ำลง
  • ลิ้น ปาก หรือคอบวม
  • หายใจติดขัด
  • อาจมีเสียงดังหวีด ๆ
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก
  • แน่นหน้าอก ใจสั่น
  • ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว
  • ไอ จาม น้ำมูกไหล

*** โดยการแพ้แบบ Anaphylaxis ในเด็กมักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยารวมถึงสาเหตุอื่น ๆ

 

  • การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

หากมีอาการของโรคภูมิแพ้ คนไข้ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ตัวใด เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ ก็จะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ โดยการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สามารถตรวจได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

  • การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป)
  • การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด

โดยเมื่อทราบสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ควรรับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเทคนิคการรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี เช่น

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แม้จะใช้ยารักษาภูมิแพ้แล้ว แต่หากไม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็ยังทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบต่อไปได้
  • ใช้ยารักษาสม่ำเสมอต่อเนื่อง และใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากโรคภูมิแพ้ทางอากาศ มียาที่ใช้รักษาหลายตัว ทั้งยาชนิดรับประทานและยาพ่น การใช้ยาสม่ำเสมอและถูกวิธีจะทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาโรคร่วม เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคอ้วน

แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมโรคไม่ให้มีอาการหรือมีอาการน้อยที่สุดได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยโดยละเอียด การตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการในบางราย หรือในรายที่ต้องการทราบสาเหตุว่าแพ้อะไรอาจใช้การทดสอบผิวหนัง

 

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

การทดสอบผิวหนัง หรือ skin prick test เพื่อตรวจหาว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง  โดยมีวิธีทดสอบ ดังนี้

  •  แพทย์หยดน้ำยาซึ่งเป็นสารสกัดลงบนท้องแขนหรือบริเวณหลัง
  • ใช้เข็มสะกิดเบาๆ (วิธีนี้มักทำได้ในเด็กอายุ 2  ปีขึ้นไปที่ให้ความร่วมมือ)
  •  หลังจากสะกิด แพทย์จะอ่านผลใน 15-20 นาที และจะรู้ว่าแพ้สารอะไร

** คนไข้ต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ก่อนการทดสอบ 1 สัปดาห์

**หากมีการใช้ยาสเตียรอยด์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการทดสอบ

 

  • ทำความเข้าใจ "การรักษาโรคภูมิแพ้"

กรณีแรกให้ หลีกเลี่ยงจากสารที่แพ้ (ถ้าเราทราบว่าแพ้สารอะไร)

หากทราบว่าแพ้สารอะไร ก็พยายามหลีกเลี่ยงสารนั้นให้มากที่สุด เมื่อสารก่อภูมิแพ้ไม่เข้าร่างกายก็จะไม่มีอาการ 

สารก่อภูมิแพ้บางอย่างหลีกเลี่ยงง่าย เช่น หลีกเลี่ยงจากสัตว์เลี้ยง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคลดลงได้ 

สารบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น เกสรหญ้า เกสรต้นไม้ เชื้อราในอากาศ ที่มีอยู่ในบรรยากาศที่เราหายใจ มีมากน้อยแล้วแต่สถานที่และฤดูกาล 

สารบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากแต่ทำให้น้อยลงได้ เช่น ไรฝุ่นตามที่นอน หมอน พรม ก็หมั่นทำความสะอาด ดูดฝุ่นสม่ำเสมอ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนควรทำความสะอาดบ่อยๆ ถ้าซักด้วยเครื่องควรปรับอุณหภูมิให้ร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และซักทุกสัปดาห์ จะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนกันไรฝุ่น ก็จะช่วยลดไรฝุ่นในที่นอน ที่ก่อให้เกิดอาการได้พอสมควร  ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้จากการสัมผัส เช่น ผื่นคันบริเวณที่ถูกเครื่องประดับ เครื่องสำอางค์ ก็งดการใช้ผื่นก็จะไม่เกิด

ขณะที่ การให้ยาเฉพาะโรค มักเป็นการควบคุมอาการไม่ให้เกิดขึ้น ในปัจจุบันเมื่อเข้าใจพยาธิสภาพของโรคต่างๆ ดีขึ้น ก็สามารถใช้ยาควบคุมอาการ ลดการอักเสบ นอกเหนือจากการใช้ยาระงับอาการ ทำให้ควบคุมโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนภูมิแพ้  

โรคภูมิแพ้ระบบหายใจ เช่น โรคแพ้อากาศ โรคหืด ที่มีสาเหตุจากาการแพ้สารก่อภูมิแพ้บางอย่างซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เกสรพืช เชื้อรา หรือ ไรฝุ่น และถ้าผู้ป่วยมีอาการมากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องเสริมภูมิด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ วิธีการก็คือฉีดสารสกัดที่ผู้ป่วยแพ้เข้าร่างกายครั้งละน้อยๆ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนถึงระดับที่ควบคุมอาการได้แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน ระยะแรกๆ อาจต้องฉีดทุกสัปดาห์นานประมาณ 6 เดือน ต่อไปอาจจะทุก 2 สัปดาห์ ทุก 3 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ ตามลำดับ การรักษาแบบนี้ กินเวลานานอาจใช้เวลา 3-6 ปี ซึ่งทำให้อาการต่างๆ ลดน้อยลง

  • ดูแลตัวเอง ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้

การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น พ่อแม่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กทารก โดย

  • ให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุอย่างน้อย 4-6 เดือน
  • ให้นมสูตรพิเศษ กรณีที่นมแม่ไม่พอหรือจำเป็นต้องให้นมอื่นเสริม อาจมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบในทารกกลุ่มเสี่ยง
  • อาหารเสริมตามวัยสามารถให้ได้เมื่อทารกอายุ 4-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมของทารก โดยเริ่มจากอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้น้อยก่อน เช่น ข้าว ผักใบเขียว ไก่ หมู เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องนอนทารกควรเป็นห้องโปร่ง สะอาด มีของเท่าที่จำเป็น ที่นอน หมอน ควรใช้ชนิดใยสังเคราะห์  หลีกเลี่ยงนุ่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนควรซักบ่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ควรซักในน้ำร้อน ไม่ควรมีตุ๊กตาที่มีขน พรม  หรือหนังสือในห้องนอน เช็ด ถู ทำความสะอาดห้องเป็นประจำ ควรเปิดให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดเข้าได้ ไม่ควรมีผู้สูบบุหรี่ในบ้าน ให้หลีกเลี่ยงควัน สิ่งระคายทางระบบหายใจให้มากที่สุด นอกจากนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อระบบการหายใจ เพราะเชื้อไวรัสบางอย่างมีผลทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการมากขึ้น

อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลพญาไท