"โควิด-19" หลัง 1 ต.ค.นี้ สวมหน้ากากอนามัย-วัคซีน-การรักษา-เฝ้าระวังระบาด

"โควิด-19" หลัง 1 ต.ค.นี้ สวมหน้ากากอนามัย-วัคซีน-การรักษา-เฝ้าระวังระบาด

เกือบ 3 ปีที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดใหญ่โรคโควิด-19 แต่1 ต.ค.2565เป็นต้นไป โรคนี้ในไทยจะกลายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ที่จะมีการบริหารจัดการต่างจากเดิมที่เป็นโรคติดต่ออันตราย การสวมหน้ากากอนามัยยังต้องทำหรือไม่ การฉีดวัคซีนและเมื่อป่วยจะต้องทำอย่างไร 

      กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้รายงานสถานการณ์โควิด-19ในไทย การใช้เตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงจากเดือนก.ค.ที่อยู่ที่ 10.9% ซึ่งภาพรวมปัจจุบันผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดทั้งหมด และคาดการณ์สถานการณ์หลังจากนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2565-2566 อาจมีการระบาดเป็นคลื่นระลอกเล็กๆได้ขึ้นๆลงๆ เสียชีวิตต่ำกว่า 10 คน

การสวมหน้ากากอนามัย 

      เมื่อเป็นโรคติดต่อต่องเฝ้าระวังแล้ว  จะยังต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไปอีกระยะ โดยแต่ละบุคคลาสามารถพิจารณาใส่ หรือ ถอด ตามบริบทของพื้นที่เสี่ยงที่ตนเองเผชิญ ซึ่งหลักการสำคัญของการใส่หน้ากากอนามัยที่จะต้องเข้าใจ คือ “คนป่วยควรต้องใส่” เพราะตามข้อมูลวิชาการหากคนป่วยใส่แต่คนไม่ป่วยไม่ใส่ ยังสามารถป้องกันเชื้อได้ถึง 70 % แต่กลับกันหากคนไม่ป่วยใส่ แต่คนป่วยไม่ใส่ จะป้องกันเชื้อได้น้อยมาก

      ฉะนั้นแล้ว หากคนในสังคมเข้าใจตรงกันและมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน  ตระหนักว่า “เมื่อเราป่วยเราต้องใส่หน้ากาก” เมื่อนั้น “คนไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องใส่”

     อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนขอให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น สวมหน้ากากในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น หรือเป็นพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเท ล้างมือ และตรวจ ATKเมื่อมีอาการ,สถานประกอบการให้คัดกรองพนักงานเป็นประจำ หากจำเป็นต้องตรวจATK ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจก็ให้ดำเนินการ  และCOVID-Free Setting ขึ้นกับการพิจารณาของผู้บริหารดำเนินการตามความเหมาะสม

การฉีดวัคซีนโควิด-19

          แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เดือนต.ค.2565 

   ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องการรับเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็มกระตุ้น 5 ล้านโดส

    ผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ต้องการรับเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็มกระตุ้น 0.5 ล้านโดส

    เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ต้องการรับเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็มกระตุ้น 1 ล้านโดส

     เด็กอายุ 6 เดือน-4ปี  ที่ต้องการรับเข็ม 1 จำนวน 0.5 ล้านโดส 

       ผู้ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและต้องการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) 4 หมื่นโดส 

     ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับบริการฉีดได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่เบื้องต้นวางแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้งแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เน้นฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุ 60 ปีขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ อสม. โดยปัจจุบันมีวัคซีนสำรองถึงปี  2566 จำนวนประมาณ 42 ล้านโดส 

          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากข้อมูลหากเป็นผู้สูงอายุควรได้เข็ม 4 แต่หากวัยหนุ่มสาว ไม่มีโรคประจำตัวควรได้เข็ม 3 เพราะหลักการการฉีดวัคซีน คือ ยังสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงหรือไม่ หากไม่ก็ต้องกระตุ้น และมีความเสี่ยงหรือไม่ หากระบาดหนักๆ ภูมิคุ้มกันลดลงก็ต้องรีบฉีด แต่วันนี้ค่อนข้างปลอดภัย ความเสี่ยงก็ลด แต่การฉีด 2 เข็มไม่เพียงพอ

       ส่วนการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ก็เหมือนวัคซีน ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งคนที่ได้รับเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ซึ่ง

ประเทศไทยเหมือนหลายประเทศ มีการขึ้นทะเบียนแบบป้องกัน เพียงแต่ตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มเห็นผลการใช้มากขึ้น อย่างญี่ปุ่น ขึ้นทะเบียนวันที่ 30 สิงหาคม 2565  และยุโรปได้อนุมัติให้ใช้รักษาวันที่ 20 กันยายน 2565  ใช้ในการรักษาผู้โควิด 19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ส่วนประเทศไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรกตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19

     คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT คือ เว้นระยะห่าง  ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และตรวจให้ไวอย่างเคร่งครัด 5 วัน  

       นายอนุทิน กล่าวว่า กรณีUCEP หรือ UCEP  Plus ยังคงอยู่ เพราะยังถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียาที่มาจดทะเบียนใช้ในภาวะปกติ แต่ยังเป็นการจดทะเบียนนำมาใช้ในการดูแลรักษาโควิด-19ยังอยู่ภายใต้แบบฉุกเฉิน รวมถึงวัคซีนด้วย จึงยังมีความเหมาะสมที่ยังคงต้องให้การรักษาดูแลประชาชนโดยภาครัฐอยู่ ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วต้องการไปพบแพทย์หรือแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ต้องนอนรักษาในรพ. แต่ผู้ติดเชื่้อยังประสงค์นอนรพ.ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 

       ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง เช่น หายใจล้มเหลว หรือความดันตก  ยังคงมีสิทธิของUCEP Plus คือเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาล และให้รับรักษาจนหาย ซึ่งจะต่างจากUCEP ทั่วไปที่จะรักษาจนพ้นภาวะวิกฤติและส่งกลับสถานพยาบาลตามสิทธิใน 72 ชั่วโมง 

             นอกจากนี้  ช่วงโควิด 19 เรามีการอนุญาตเปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อแบ่งเบาภาระการครองเตียงใน รพ. ซึ่งมีทั้งระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation)/ที่ชุมชน (Community Isolation) ฮอสปิเทล และ Hotel Isolation ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการปิดสถานพยาบาลชั่วคราว แต่ทาง รพ.เอกชนขอเปิดต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ดูเหมือนเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระเตียง รพ. แต่หลังจากปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มองว่าสถานพยาบาลชั่วคราวก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการต่อ เนื่องจากคนไข้ก็น้อยลง พบว่า คนไข้ใหม่วันหนึ่งเป็นหลักร้อยถึงหลักพันและกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ใบอนุญาตสถานพยาบาลชั่วคราวสำหรับโควิดก็จะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นี้

      การเฝ้าระวัง

      แยกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
1.การเฝ้าระวังผู้ป่วยเฉพาะราย ในสถานพยาบาล และนอกสถานพยาบาล

2.การเฝ้าระวังแบบกลุ่มก้อน

3.การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ดำเนินการใน 8 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ กทม. ปทุมธานี ตาก เชียงราย สระแก้ว อุดรธานี ภูเก็ต และสงขลา  โดยกลุ่มเสี่ยงในชุมชน อาทิ โรงเรียน/สถานศึกษา บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ผู้พิการ ทุพพลภาพ สถานบริการผับบาร์คาราโอเกะ สนามมวย สนามชนไก่ บ่อน แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดขนาดใหญ่ 

4.การเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ สุ่มตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาความชุก และผู้ป่วยอาการรุนแรง/เสียชีวิต และติดเชื้อซ้ำ