ไม่แก่ก็เป็น "อัลไซเมอร์" ได้! เช็ก 5 สัญญาณคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่?

ไม่แก่ก็เป็น "อัลไซเมอร์" ได้! เช็ก 5 สัญญาณคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่?

ยังไม่แก่ก็เป็น "อัลไซเมอร์" ได้! เนื่องใน "วันอัลไซเมอร์โลก"ที่ตรงกับ 21 กันยายนของทุกปี ชวนเช็ก 5 สัญญาณเสี่ยงป่วย "โรคอัลไซเมอร์" เมื่อรายงานทางการแพทย์ชี้ว่า "วัยทำงาน" อายุ 30 ปีขึ้นไปก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

วันนี้ (21 ก.ย. 65) มีอีกหนึ่งวันสำคัญที่ “วัยทำงาน” ควรตระหนักถึง นั่นคือ “วันอัลไซเมอร์โลก” เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีความเสี่ยงต่ออาการสมองเสื่อม สำหรับต้นกำเนิดของ โรคอัลไซเมอร์ นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1901 โดย อาลอยซ์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อตั้งโรคตามชื่อของเขาเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่จิตแพทย์คนดังกล่าว

“โรคอัลไซเมอร์” หรือ “โรคสมองเสื่อม” เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเสื่อมโทรม เสียหาย หรือตายไปของเซลล์สมองในบริเวณที่มีหน้าที่เพื่อใช้ในเรียนรู้และจดจำ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำระยะสั้น และบางรายอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

หลังจากโรคนี้ถูกค้นพบ ต่อมาก็มีการก่อตั้งองค์กร Alzheimer's Disease International (ADI) ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1984 เพื่อสนับสนุนและให้การรักษาผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคอัลไซเมอร์ พร้อมกับเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชนทั่วไป

หลังจากนั้นในปี 1994 องค์กร ADI ก็ได้จัดตั้ง “วันอัลไซเมอร์โลก” ขึ้นมา โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อฉลองการครบรอบ 10 ปีการดำเนินงานของ Alzheimer's Disease International โดยในทุกๆ ปี ก็จะมีการเฉลิมฉลองและจัดประชุมความร่วมมือทางการแพทย์ด้านการรักษาและป้องกันอัลไซเมอร์กับหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ไม่แก่ก็เป็น \"อัลไซเมอร์\" ได้! เช็ก 5 สัญญาณคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่?

แม้ว่าโรคนี้เคยถูกเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในวัย 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผลวิจัยและรายงานทางการแพทย์หลายชิ้นศึกษาพบว่า ทุกวันนี้ผู้ที่มีอายุน้อยก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน ชี้ชัดจากรายงานชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าในสหรัฐ มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 200,000 คนที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี

สำหรับในประเทศไทยเองก็พบอุบัติการณ์ในทำนองเดียวกัน ล่าสุด.. มีข้อมูลจากบทความวิชาการของโรงพยาบาลพญาไท (16 ก.ย. 65) รายงานว่า ปัจจุบัน พบผู้ป่วย “โรคสมองเสื่อม” ในผู้ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ คือพบได้มากขึ้นในผู้มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือยังอยู่ใน “วัยทำงาน” โดยพบมากถึง 7% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

โดยสาเหตุเกิดจากผลกระทบจากการป่วยโรคอื่นมาก่อนหรือเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย ปกติแล้วเมื่อคนเราเข้าสู่วัย 40 ปี เป็นต้นไป อวัยวะและระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมถึงหัวใจและสมอง ก็ย่อมค่อยๆ เสื่อมลง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เซลล์สมองเริ่มเสื่อมลง

แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำคัญ มาจากการมีโรคประจำตัว เช่น มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดต่างๆ โรคตับ และโรคไตเรื้อรัง รวมถึงหากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่ออกกำลังกาย นั่งทำงานไม่ค่อยขยับตัว มีความเครียด นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ เหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะยังแยกไม่ออกว่าอาการหลงลืมแบบไหนคือการลืมที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป และแบบไหนคืออาการของ “โรคอัลไซเมอร์” กันแน่? เรื่องนี้มีคำตอบจาก รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ แพทย์ประจำศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ได้อธิบายเอาไว้ ดังนี้

ไม่แก่ก็เป็น \"อัลไซเมอร์\" ได้! เช็ก 5 สัญญาณคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่?

อาการหลงลืมแบบธรรมดา

  • จำไม่ได้ว่าเอาปากกา กุญแจ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปวางไว้ที่ไหน
  • มีปัญหาเรื่องความจำเรื่องทั่วๆ ไป อาทิ ลืมชื่อคนที่นานๆ เจอกัน และลืมรายละเอียด
  • มีปัญหาเรื่องความจำ แต่ความสามารถอื่นๆ ของสมองปกติ

อาการหลงลืมที่บ่งบอกถึง “โรคสมองเสื่อม”

  • จำไม่ได้ว่าเคยหยิบปากกาด้านนั้นมาก่อน ไม่ทันคิดว่าตนเองลืม
  •  เรื่องที่ไม่น่าลืมในชีวิตประจำวัน แต่ก็ลืม เช่น กินข้าวมาแล้ว อาบน้ำแล้ว ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปงานแต่งงานลูกหลาน หรือจำไม่ได้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เป็นต้น
  • ความเสื่อมของสมอง ทำให้ความรอบรู้ความสามารถเรื่องอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย
  • ไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ มรพฤติกรรมถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ
  • หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชา และเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ สับสน วิตกกังวล หวาดกลัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ โดย นพ.เจษฎา เขียวขจี นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา ได้ให้คำแนะนำถึงการการป้องกัน “อัลไซเมอร์” ไว้ว่า คนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุควรฝึกฝนตนเองได้ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้หลากหลาย เช่น สวดมนต์เพื่อฝึกสมาธิ ทำอาหาร การซักผ้า การพับผ้า ฯลฯ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว อยากให้ทำตามปกติ

หากมีภาวะความจำไม่ค่อยดี แนะนำการจดบันทึกประจำวัน ทบทวนตัวเองว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว เสริมด้วยการเล่นเกมจับคู่, เล่นเกมจับผิดภาพ, เล่นเกมเขาวงกตต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกรู้ทิศทาง รวมถึงควรฝึกคิดเลข บวกลบเลข และฝึกระบายสีต่างๆ รวมถึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่/ดื่มสุรา เป็นต้น 

---------------------------------------

อ้างอิง : nationaltodayphyathaichulabhornhospital