"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

“ปัญหาขาดแคลนครู” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่และเรื้อรังของระบบการศึกษาไทย ยิ่งในกลุ่มของโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล  “ครู” เป็นคนสำคัญของเด็กอย่างมาก เพราะครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบ มีบทบาทหลายหน้าที่ เนื่องด้วยครูมีจำนวนจำกัด ไม่ครบชั้นเรียน

โครงการ “อยู่ดีมีครู”  โครงการที่เกิดจากการรวมตัวของ 7 ผู้ประกอบการ 8 บริษัท ได้แก่ มนต์สุข ฐิตะฐาน เจ้าของแบรนด์ K.Smith & Partners ,นฤทธิ์ รัตนอรุณ + ลลิตา รัชกิจประการ เจ้าของแบรนด์ Dental Buddy ,ศุภนุช แก้วโมราเจริญ เจ้าของแบรนด์ MORNING ,มัทนียา นวลแสง เจ้าของแบรนด์Dream Therapy / Seasons Change ,ภิรญา ขันแก้ว เจ้าของแบรนด์ สมใจการพิมพ์ และรสรี ซันจวน เจ้าของแบรนด์Go mamma / Prompt Care Academy โดยทั้งหมดเป็นคณะทำงานในการดำเนินการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กผู้ประกอบการ

  • "ขาดแคลนครู" ปัญหาใหญ่ระบบการศึกษาไทย

“มนต์สุข” เจ้าของแบรนด์ K.Smith & Partners หนึ่งในคณะทำงาน เล่าว่าจากการไปลงพื้นที่ศึกษาปัญหาด้านการศึกษา พบว่าปัญหาการศึกษามีหลายด้านมาก แต่ปัญหาที่เห็นชัดมากที่สุด คือ การขาดแคลนครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูไม่เพียงพอต่อเด็ก ครูไม่ครบชั้นเรียน

โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ขาดแคลนครู เป็นเรื่องของงบประมาณไม่เพียงพอ หลักเกณฑ์การจ้างที่มีการกำหนดให้ครู 1 คนต่อเด็ก 20 คน  รวมถึงการเดินทาง และครูเข้าสู่ระบบการผลิตครูในวิชาเอกต่างๆ น้อย ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขาดแคลนครู

"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

หลังจากทีมโครงการ “อยู่ดีมีครู” ได้เห็นปัญหาด้านการศึกษา จึงได้มาร่วมกันคิดร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา และมองหาวิธีว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งภาคเอกชน ผู้ประกอบการมีงบส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงการ กิจกรรมที่ช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งปัญหาขาดแคลนครูที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดังกล่าวและมีโครงการมีแนวทางในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

 

  • “อยู่ดีมีครู” ดึงชุมชนสร้างผลิตภัณฑ์ ช่วยจ้างครูให้เพียงพอต่อเด็ก
     

“หน้าที่ของพวกเราจึงเข้าไปช่วยเติมเต็มและแก้ปัญหาดังกล่าว โดยไม่ใช่เป็นการไปมอบเงินให้ชุมชน ให้โรงเรียนเพื่อจ้างครู แต่เราจะลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ทำงานร่วมกันชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพเสริมแก่พวกเขาผ่านการทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และนำเงินดังกล่าวที่ได้มาช่วยแบ่งเบาภาระเศรษฐกิจครอบครัว และช่วยกันจ้างครู” มนต์สุข กล่าว

การแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างยั่งยืนได้จะต้องทำให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ตระหนักถึงปัญหา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

มนต์สุข กล่าวต่อว่าภาครัฐมีงบในการดูแลจ้างครูในโรงเรียนอยู่แล้ว แต่จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากโรงเรียนมีงบในการจ้างครูเพื่อให้เพียงพอกับโรงเรียน เพื่อดูแลเด็กให้ทั่วถึง

"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

ทางโครงการ “อยู่ดีมีครู” จึงได้เกิดเป็นไอเดียขึ้นมาในการดึงชุมชนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษา เพราะครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา อบรมสั่งสอนเด็ก ถ้าในโรงเรียน ชั้นเรียนมีครูไม่พอ ดูแลเด็กไม่ทั่วถึงไม่มีความปลอดภัย และไม่ได้รับการส่งเสริมตามพัฒนาการของพวกเขา ก็จะส่งผลถึงคุณภาพของเด็ก และคุณภาพการศึกษาไทย

“แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เราจะเน้นการทำให้เกิดความยั่งยืน  คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้  การให้ความรู้ทั้งในการทำธุรกิจ และความรู้ด้านต่างๆ ในการจัดทำผลิตภัณฑ์สินค้าชุนชน  ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเอกลักษณ์จุดขายของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม มีเงินเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อีกส่วนหนึ่งก็จะไปนำไปจ้างครู จะเป็นโครงการที่ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่ม และชุมชนโรงเรียนมีครูเพิ่ม” เจ้าของแบรนด์K.Smith & Partners กล่าว

 

 

  • ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องประกอบธุรกิจควบคู่การทำงานเพื่อสังคม

โครงการ CSR ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงจัดผ้าป่าไปให้ครู ให้โรงเรียน ให้ชุมชนแล้วจบ เพราะนั่นไม่ใช่ความยั่งยืนและไม่สามารถทำให้ชุมชน ครู โรงเรียนพึ่งพอตนเอง แต่ต้องไปให้เครื่องมือ ให้อาวุธในการทำให้เขามีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจ้างครูมาสอนลูกหลานของพวกเขาได้

มนต์สุข กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทีมโครงการอยู่ดีมีครู จะทำให้เกิดขึ้น คือ คุณภาพชีวิต สวัสดิภาพที่ดีแก่เด็ก พ่อแม่สามารถไว้วางใจที่จะส่งบุตรหลานมาเรียน และชุมชนเองจะได้ประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น โดยต้องเติมให้โรงเรียนมีครูครบชั้น และให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสอย่างที่พวกเราในทีมโครงการ อยู่ดีมีครู ได้รับ

โครงการดังกล่าว เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งการที่ทุกคนจะโตเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่การงาน เป็นผู้ประกอบการSME ได้ รากฐานล้วนมาจากการศึกษา เพราะฉะนั้น ผู้บริหารทั้ง 8  บริษัท  มองว่าหากเด็กๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี ได้รับการอบรมทางด้านศีลธรรม ความรู้ พวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

 

  • มอบโอกาส เป็นผู้ให้ ไม่ต้องรอ ทุกคนสามารถทำได้ทันที

“การมอบโอกาสให้แก่ผู้อื่น พวกเราผู้บริหารทั้ง 8 บริษัท มองว่าการให้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอ การทำธุรกิจจำเป็นต้องเดินหน้าต้องมีกำไร แต่การคืนกำไรให้แก่สังคมก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน และการประกอบธุรกิจ สามารถตอบแทนคืนสังคมได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผลประกอบการเยอะๆ ยิ่งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพราะการศึกษาสามารถทำให้อนาคตของทุกคนดีขึ้นได้”มนต์สุข กล่าว

มนต์สุข กล่าวด้วยว่า อยากฝากโครงการอยู่ดี มีครู อยากให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการศึกษา พัฒนาครู และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนครู  หรือช่วยกันหาวิธี หาแนวทางให้ครูมีจำนวนที่เพียงพอกับนักเรียนแต่ละโรงเรียน เพื่ออนาคตของลูกหลานเราเอง

ภาครัฐได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจ้างครู โดยครู1 คนต้องรับผิดชอบเด็ก 20 คน แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ครู 1 คน กลับต้องดูแลเด็ก40-60 คน ต้องดูเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งที่ช่วงปฐมวัย ถือเป็นโอกาสทองของเด็กในด้านพัฒนาทุกด้าน รวมถึงความปลอดภัย เพราะการดูแลเด็กไม่ทั่วถึง ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ฝึกฝนพัฒนาการ

อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่สามารถปล่อยให้เด็กอยู่กับครูได้ เพราะความเป็นห่วง ดังนั้น พ่อแม่ส่วนหนึ่งจึงไม่ได้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากต้องมาดูแลลูกส่งผลให้เศรษฐกิจครอบครัวไม่สามารถเดินต่อไปได้ และครู 1 คนต้องสอนทุกชั้นปีอาจจะทำให้บางวิชาที่ครูไม่ถนัด เด็กไม่ได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ "อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

 

  •  นำร่องโรงเรียนแห่งแรกในโครงการ "อยู่ดีมีครู" พ.ย.นี้

"ปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นโจทย์ในการดำเนินโครงการอยู่ดีมีครู ที่จะรวมกลุ่มคนในชุมชน ให้ตระหนักถึงปัญหา โดยจะเข้าไปทำความเข้าใจ หารือกับผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน แลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกับคนในชุมชน นำองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจที่พวกเรามีอยู่แล้วไปช่วยออกแบบ สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อนำไปขายมีรายได้และนำรายได้นั้นมาจ้างครู โดยคาดว่าโรงเรียนนำร่องแห่งแรกจะได้เริ่มดำเนินการในเดือนพ.ย.นี้" ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั้ง 8 บริษัท ช่วยกันเล่า

โครงการ "อยู่ดีมีครู" จะนำร่องในส่วนของโรงเรียนภาคกลางก่อนจะขยายไปสู่โรงเรียนในภูมิภาค อื่นๆ ซึ่งเบื้องต้น จะนำร่อง 1 โรงเรียนในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้ได้โมเดลและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยจะดึงเอกลักษณ์ของชุมชนเข้ามา

ทีมผู้บริหาร 8 บริษัท มีมุมมองเดียวกันว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก และเป็นอนาคตของพวกเขา ซึ่งการขาดแคลนครูถือเป็นปัญหาหลักที่แก้ไม่ได้ และมีแนวโน้มพบปัญหามากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ มีคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"อยู่ดีมีครู"ไอเดียผู้ประกอบการ SME แก้ปัญหาขาดแคลนครูด้วยพลังชุมชน

  • เป้าหมาย 3 ด้าน สร้างความยั่งยืนให้แก่โรงเรียนและชุมชน

"จริงๆ โครงการเป้าหมายนี้ มี 3 ด้าน คือ 1.การที่โรงเรียนได้มีครูเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาการที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น มีความปลอดภัย 2.การที่ทีมโครงการอยู่ดีมีครูเข้าไปสนับสนุนผู้นำชุมชน คนในชุมชนเพื่อทำผลิตภัณฑ์ชุมชน  เพื่อให้ส่วนหนึ่งเลี้ยงตนเองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น และอีกส่วนหนึ่งนำเงินไปจ้างครูได้ และ3.เมื่อทำโครงการนี้เสร็จสิ้น จะทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะพวกเขามีรายได้เสริม และมีส่วนหนึ่งไปจ้างครู ครูก็จะให้การศึกษาที่ดีแก่เด็ก เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" ทีมผู้บริหาร 8 บริษัท กล่าว

เมื่อทีมผู้บริหาร 8 บริษัท ได้รับโอกาสการศึกษาที่ดีจนทำให้วันนี้มีพวกเขาทั้งหมดมีธุรกิจของตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาทำให้คนสามารถพัฒนาตนเองได้ ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเมื่อพวกเราได้รับโอกาสก็อยากยื่นโอกาสนั้นให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องครู ถือเป็นต้นทางของการศึกษาส่งต่อคุณภาพแก่เด็ก

โครงการอยู่ดีมีครู 1 ใน5 โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของโครงการพัฒน์ ซึ่งเดิมจะชื่อ โครงการ ครูของประชาชน  โดยริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งจะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และจัดหาครูอนุบาลในโรงเรียนของชุมชน เพื่อดูแลเด็กเล็กทั้งด้านความปลอดภัยและพัฒนาการ ผลักดันให้ชุมชนเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือให้มีครูในท้องที่ได้อย่างถาวร ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีโรงเรียนเข้าร่วม 20 โรง  นักเรียนและผู้ปกครองเข้าร่วมกว่า 1,000 คน มีผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 20 ชุมชน เกิดครูอัตราจ้างมากกว่า 20 โรง มียอดเงินบริจาคกว่า  1 ล้านบาท

ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็ก ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ระบุเอาไว้ว่า คือ สถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปี 2560 มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกว่า 100 โรง เนื่องจากไม่มีเด็กนักเรียน และในจำนวน 30,000 กว่าโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของ สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 15,000 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด และในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ประมาณ 1,000 โรงเรียน

ผู้สนใจรายละเอียดโครงการ "อยู่ดีมีครู" สามารถติดตามได้ที่ เพจ อยู่ดีมีครู