เมื่อรายได้ปีละ 1 แสนดอลลาร์นับว่าขาดแคลน | ไสว บุญมา

เมื่อรายได้ปีละ 1 แสนดอลลาร์นับว่าขาดแคลน | ไสว บุญมา

ข่าวใหญ่ในวงการอุดมศึกษาสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันแถลงว่า เริ่มจากปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป นักศึกษาที่มาจากครอบครัวซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1 แสนดอลลาร์จะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยมองว่านักศึกษานั้นมาจากครอบครัวที่ขาดแคลน  

สหรัฐเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีอภิมหาเศรษฐีนับพัน  แต่พร้อมกันนั้นยังมีชาวอเมริกันจำนวนมากที่ยากจน  ตัวเลขบ่งว่าชาวอเมริกันกว่า 14% หรือ ราว 48 ล้านคนยากจนตามนิยามของเขา กล่าวคือ ผู้ที่อยู่คนเดียวมีรายได้ไม่เกินปีละ 13,590 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยได้เดือนละประมาณ 4 หมื่นบาท)

ในกรณีที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัว 3 คน มีรายได้รวมกันไม่เกิน 23,030 ดอลลาร์  ในปัจจุบัน ครอบครัวอเมริกันโดยเฉลี่ยมีสมาชิก 3.3 คน  

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า แม้จะมีรายได้พอเลี้ยงตัวได้ในระดับพื้นฐาน แต่การจะส่งลูกหลานไปเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำจำพวกพรินซ์ตันนั้นไกลสุดกู่  

เพราะอะไร?  เพราะพรินซ์ตันคำนวณว่า นักศึกษาแต่ละคนมีค่าจ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 68,000 ดอลลาร์  ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำอื่น ๆ ก็เช่นกัน  ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำทุกแห่งจึงพยายามช่วยนักศึกษาอย่างเต็มกำลังด้วยการระดมทุนกันอย่างต่อเนื่อง  

ข้อมูลบ่งว่า ในปัจจุบัน พรินซ์ตันมีกองทุนอยู่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งไม่สูงถึงของฮาร์วาร์ด (5.3 หมื่นล้านดอลลาร์) แต่สูงสุดเมื่อเฉลี่ยตามจำนวนนักศึกษาเนื่องจากพรินซ์ตันรับนักศึกษาน้อยกว่าฮาร์วาร์ด

ข้อมูลดังกล่าวอาจนำไปสู่คำถามว่า ถ้าพรินซ์ตันช่วยนักศึกษาถึงขนาดนั้น เยาวชนอเมริกันจะมิแห่กันไปสมัครเรียนที่นั่นหรือ?  คำตอบคือ พวกเขาพยายาม  แต่การจะเข้าเรียนในพรินซ์ตันนั้นยากปานเข็นครกขึ้นภูเขา

ทั้งนี้เพราะข้อมูลบ่งว่า ในจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนในปีการศึกษาปัจจุบันทั้งหมดเกือบ 3.8 หมื่นคน พรินซ์ตันรับไว้เพียง 1,498 คน หรือ 6% เท่านั้น  

ด้วยเหตุนี้ เยาวชนอเมริกันที่เกิดในครอบครัวรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีผิวขาวซึ่งมักเสียเปรียบในด้านการเรียนในชั้นมัธยมอยู่แล้ว จะต้องมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการเรียนและด้านการทำกิจกรรม จึงจะมีโอกาสได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ  

และการเสียเปรียบนั้นก็จะยืดเยื้อต่อไปเนื่องจากผู้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมักมีโอกาสในด้านการประกอบอาชีพสูงกว่า 

โดยทั่วไป มหาวิทยาลัยชั้นนำจะพยายามช่วยนักศึกษาอย่างเต็มที่ จึงมีการระดมทุนกันอยู่เสมอ  ทุนก้อนใหญ่ ๆ มักได้มาจากศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจสูงและจากผู้ที่มีความผูกพันกับสถาบันมาหลายชั่วคน  

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน พรินซ์ตันได้รับทรัพย์สินจากศิษย์เก่าคนหนึ่งสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยรับมามักถูกนำไปหารายได้ต่อนอกจากจะมีข้อตกลงกับผู้บริจาคว่าจะใช้เพื่อทำอะไรโดยเฉพาะ  เมื่อได้รับเงินปันผลมา มหาวิทยาลัยจึงจะนำไปใช้เป็นทุนการศึกษา


เป็นที่น่าสังเกตว่า มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มสถาบันเพื่อการวิจัยไม่ว่าจะเป็นพรินซ์ตัน ฮาร์วาร์ด เยล หรือ สแตนฟอร์ด เนื่องจากนั่นเป็นภารกิจหลักที่เขาเสนอไว้ในเป้าหมายของการก่อตั้ง 


 อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยเหล่านี้มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยสังคมในด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งยืดเยื้อมานานในสังคมอเมริกัน  

การสนับสนุนให้เยาวชนจากครอบครัวยากจน ที่ตัวชี้วัดบ่งว่าถ้าได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และได้รับการศึกษาชั้นดีมีโอกาสจะประสบความสำเร็จสูง เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ไม่เฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเท่านั้นที่สถาบันเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทสำคัญ หากเป็นการแก้ปัญหาด้านอื่นในสังคมด้วย

การที่สถาบันซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการวิจัยในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมองเห็นความจำเป็นของการช่วยแก้ปัญหาสังคมรอบด้าน โดยตรงส่งคำถามต่อไปถึงมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งมีรายได้น้อยกว่าแต่มักมีปัญหามากกว่าว่า...

พวกท่านน่าจะมีบทบาทอย่างไร ท่านได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาสังคมรอบด้านของท่านอย่างจริงจังหรือไม่ หรือท่านได้แต่มุ่งเน้นด้านการผลิตบัณฑิตที่เมื่อจบออกไปมีโอกาสเป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อสูง ?