รู้จักภาวะ “Birthday Blues” ความซึมเศร้าที่มาเยือนเมื่อถึงวันเกิด

รู้จักภาวะ “Birthday Blues” ความซึมเศร้าที่มาเยือนเมื่อถึงวันเกิด

เมื่อพูดถึง “วันเกิด” สำหรับหลายคน มักหมายถึงภาพแห่งความสุข การเป่าเค้ก และได้อยู่พร้อมหน้ากับคนที่รัก แต่บางคนกลับไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น และมีอาการตรงข้าม ทั้งเศร้า เบื่อหน่าย และไม่อยากให้วันเกิดมาถึง เป็นเพราะพวกเขากำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “Birthday Blues”

ใกล้จะถึงวันเกิดแล้วแต่กลับรู้สึกไม่มีความสุข มีความกังวล อารมณ์ขุ่นมัว แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่มักจะนึกถึงแต่เรื่องความสุข การเฉลิมฉลอง การอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวและเพื่อนๆ

ใครกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ รู้ไว้ว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะ “Birthday Blues” หรือ “Birthday Depression” ซึ่งหมายถึงอาการ “ซึมเศร้าเมื่อถึงวันเกิด” โดยสามารถเกิดได้กับคนหลายช่วงวัย บางคนมีอาการเศร้าจนถึงขั้นอยากหลีกเลี่ยงวันเกิดของตัวเองไปเลย

โดยเฉพาะการอวยพรวันเกิดในยุคนี้ เจ้าของวันเกิดมักจะได้รับคำอวยพรจากเพื่อน คนรัก และครอบครัว ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลมีเดียจนคล้ายกับเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเกิดใครเราก็จะต้องลงภาพอวยพรพร้อมแท็กหาเจ้าของวันเกิด หรือมีการจัดปาร์ตี้สังสรรค์กันในหมู่คนใกล้ชิด

ทำให้หลายคนมักจะตั้งตารอให้ถึงวันเกิดของตัวเอง เพื่อจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสุข แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้ความรู้สึกที่มีต่อวันเกิดเปลี่ยนจากความสุขกลับกลายเป็นความเศร้า การรอคอย และนำไปสู่การพยายามหลีกเลี่ยงเพราะมีอาการ “ซึมเศร้าเมื่อถึงวันเกิด”

Birthday Blues คืออะไร ? ทำไมเราถึงเศร้าใจในวันเกิด

ความรู้สึกเศร้า เสียใจ รู้สึกไม่ยินดีในวันเกิดของตัวเอง ไม่อยากให้ถึงวันเกิดของตัวเอง คือ ส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าเมื่อถึงวันเกิด แต่จากข้อมูลของคู่มือวินิจฉัยสำหรับความผิดปกติทางจิตหรือ DSM-5 ระบุไว้ว่า อาการดังกล่าวก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นอาการที่ผิดปกติทางจิตเวช แต่จะมีอาการโดยรวมคล้ายกับโรคซึมเศร้าคือ เริ่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อใกล้ถึงวันเกิด รู้สึกอยากแยกตัวออกจากสังคมไปสักพักในช่วงวันเกิด และมีแนวโน้มจะปฏิเสธงานฉลองวันเกิดของตัวเองกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Birthday Blues มาจากอะไร ?

อายุที่เพิ่มขึ้น : หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ก็คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น บางคนเข้าสู่วัยที่เลขอายุตัวหน้าเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น จาก 29 เป็น 30 อาจจะรู้สึกว่าตัวเองแก่ลงเยอะอย่างน่าตกใจ ทำให้มีความรู้สึกไม่ดีกับอายุของตัวเองมากนัก เรียกว่าไม่อยากแก่ลงอย่างเป็นทางการนั่นเอง

มีความคาดหวังสูง : แน่นอนว่าในวันเกิดเรามักจะได้รับคำอวยพรจากคนรอบข้างทั้งที่สนิท และไม่สนิท หรือได้รับของขวัญชิ้นพิเศษ ได้รับเซอร์ไพรส์ และได้เป่าเค้กจากใครสักคน แต่หากเรื่องราวดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้นในวันเกิด จึงส่งผลให้เกิดความผิดหวังที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการตั้งความหวังเอาไว้สูงรวมถึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ มักได้รับในวันเกิด

รู้สึกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ : สำหรับหลายคนวันเกิดถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันที่ได้คิดย้อนทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในแต่ละปี แต่เมื่อย้อนกลับไปดูแล้วอาจพบว่ามีเป้าหมายบางอย่างที่ทำไม่สำเร็จ หรือมองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควรทั้งที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น

แรงกดดันจากคนรอบตัว : วันเกิดสำหรับบางคนนั้น ในบางครั้งก็มาพร้อมความกดดัน อย่างเช่น เจ้าของวันเกิดเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมที่นิยมจัดงานวันเกิดแบบหรูหรายิ่งใหญ่ แต่พอวันเกิดในบางปีเจ้าตัวอาจจะไม่ได้จัดงานแบบนั้น ทำให้เกิดคำถามจากคนรอบข้างได้ว่าทำไมปีนี้ถึงไม่จัดงานวันเกิด เมื่อต้องเผชิญกับคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ จึงทำให้รู้สึกกดดัน และเกิดความเบื่อหน่ายในวันเกิดของตัวเอง

หรือแรงกดดันอื่นๆ เช่น คำถามเรื่องหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว ความสำเร็จต่างๆ ที่ทำให้เจ้าตัวรู้สึกอึดอัด เช่น อายุ 30 แล้ว ทำไมยังไม่แต่งงาน, อายุก็เยอะแล้วมีบ้านเป็นของตัวเองหรือยัง หรือ อายุขนาดนี้แล้ววางแผนการเงินในอนาคตไว้หรือยัง

มองว่าอายุมากขึ้นแล้วได้รับความรักน้อยลง : เกิดขึ้นในบางคนที่เมื่ออายุยิ่งเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่าได้รับความรัก ความใส่ใจ หรือความสนใจในวันเกิดจากคนรอบข้างน้อยลง

การจัดการกับภาวะ Birthday Blues เบื้องต้น

1. ทดลองวางแผนวันเกิดให้ตัวเอง เช่น ให้รางวัลตัวเองเล็กน้อย ซื้อของที่อยากได้มานาน หรือไปทานอาหารมื้ออร่อยเบาๆ 

2. ใช้เวลาอยู่กับคนพิเศษ อาจจะไม่ต้องมีงานเลี้ยงหรืองานฉลอง แต่เพียงแค่ใช้เวลาในวันเกิดอยู่กับคนที่รักเรา และเรารัก เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก ก็สามารถสร้างความสบายใจขึ้นได้ 

3. มองถึงประโยชน์ และข้อดีของการที่ตนเองได้เติบโตขึ้น เช่น ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ชอบมากขึ้น หรือความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะได้รับในอนาคต ซึ่งอาจจะมาจากหน้าที่การงานที่เติบโตขึ้นไปตามอายุ

4. ทดลองเป็นอาสาสมัคร ในวันเกิด นอกจากการทำบุญทั่วไปตามแต่ละศาสนาแล้ว การได้พาตัวเองออกไปลองเป็นอาสาสมัครในสายงานต่างๆ ที่ตนเองสนใจก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะได้รับความสุขจากการให้และได้ทำในสิ่งที่ถนัด เช่น อ่านหนังสือในผู้พิการทางสายตา หรือไปเป็นพี่เลี้ยงอาสาให้กับมูลนิธิที่เกี่ยวกับเด็ก

5. ทดลองตั้งความหวังเล็กๆ ด้วยการวางแผนเอาไว้คร่าวๆ ว่า ปีนี้จะทำอะไรเป็นพิเศษบ้าง โดยไม่ต้องตั้งเป้าให้สูงจนเกินไปจะได้ไม่ต้องผิดหวัง เช่น ออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือ อ่านหนังสือเล่มโปรดให้จบ

6. อยู่กับธรรมชาติ ถ้าหากต้องอยู่ในสภาวะเดิมๆ ย่อมเลี่ยงไม่ได้หากเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ลองพาตัวเองไปพักผ่อนริมทะเลหรือน้ำตกใกล้ๆ เพื่อสร้างความสบายใจก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน

7. พยายามหลีกเลี่ยง FOMO หรือ Fear Of Missing Out คือ ความกลัวที่จะพลาดข่าวสารหรือเรื่องราวต่างๆ ประจำวัน เพื่อให้ตนเองได้รู้สึกว่าได้พักผ่อนให้สมองโล่งสักหนึ่งวัน

ดังนั้นสรุปได้คร่าวๆ ว่า ภาวะ “Birthday Blues” นั้น เกิดได้จากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายในซึ่งเกิดจากอารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง และปัจจัยภายนอกซึ่งเกิดจากคนรอบข้างที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ควบคุม และจัดการได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ยังสามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่าอาการ “ซึมเศร้าเมื่อถึงวันเกิด” ยังไม่ใช่อาการทางจิตเวช แต่ก็อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้กับใครหลายคนที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเองในวันเกิด แต่ถ้าหากมีการวางแผน และเตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้าอาการที่หนักก็สามารถเบาลงได้

อ้างอิงข้อมูล : Healthline และ innnews

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์