ส่องผลเสีย "นอนดึกเพื่อล้างแค้น" เหนื่อยแต่ไม่อยากนอน ควรแก้อย่างไร?

ส่องผลเสีย "นอนดึกเพื่อล้างแค้น" เหนื่อยแต่ไม่อยากนอน ควรแก้อย่างไร?

เคยไหม? โหมงานมาเหนื่อยทั้งวัน กลับบ้านมาก็ง่วงแต่ยังไม่อยากนอน ขอไถมือถือ ส่องโซเชียล ดูซีรีส์จนดึกดื่น เพื่อชดเชยการใช้ชีวิตที่หายไปในช่วงกลางวัน นี่อาจเป็นสัญญาณ Revenge Bedtime Procrastination หรือ นอนดึกเพื่อล้างแค้น ซึ่งส่งผลเสียมากต่อสุขภาพระยะยาว

ในปัจจุบัน คนวัยทำงานจำนวนมากกำลังประสบปัญหาการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจด้วยปัญหาความเครียด วิตกกังวล หรืออื่น ๆ แต่ก็มีบางส่วน ซึ่งถึงแม้มีเวลาพักผ่อนหลังเลิกงานเหลือเฟือและง่วงมาก แต่ก็ยังนอนหลับไม่เพียงพอ เพราะมีพฤติกรรม "นอนดึกเพื่อล้างแค้น" หรือ "Revenge Bedtime Procrastination"

ข้อมูลจาก มูลนิธิการนอนหลับ (Sleep Foundation) ระบุว่า Revenge Bedtime Procrastination หรือ การนอนดึกเพื่อล้างแค้น เป็นการตัดสินใจที่จะสละเวลานอน เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาว่างไปทำสิ่งต่าง ๆ เป็นผลมาจากความยุ่งจากการทำงานจนไม่มีเวลาในระหว่างวัน ความเครียดหรือความคิดที่ว่า "ยังไม่ได้มีเวลาเป็นของตัวเองเลย"

นอกจากนี้ พฤติกรรมนอนดึกเพื่อล้างแค้น คือ สิ่งที่ผู้คนทำหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบ "ที่ควบคุมไม่ได้" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเรียน ครอบครัว หรือเรื่องอะไรก็ตาม ได้เบียดบังช่วงเวลาส่วนตัวของตนให้ล่วงเลยไปจนถึงค่ำหรือทั้งวัน

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้หลายคนใช้ชีวิตในช่วงเวลาก่อนนอน แม้ว่าจะง่วง เหนื่อย เพลียมากเพียงใด แลกกับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสิ่งที่ตัวเอง "ควบคุมได้" ในช่วงเวลาที่ควรนอนหลับพักผ่อน ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไถมือถือ ส่องโซเชียลมีเดีย ดูซีรีส์/ภาพยนตร์ ดูคลิปน้องหมา/น้องแมว หรืออะไรก็ตามที่ตนไม่ได้ทำช่วงระหว่างวัน เพื่อคืนความสุขให้กับตัวเองก่อนนอน ถึงแม้ทำให้ต้องนอนดึกแค่ไหนก็ตาม

ผลเสียของการนอนดึกเพื่อล้างแค้น

การนอนดึกเพื่อล้างแค้น ไม่ใช่การนอนไม่หลับเพราะเครียด หรือมีเรื่องวุ่นวายให้คิดอยู่ในหัว แต่เป็นการฝืนร่างกายให้ตัวเองได้มีความสุขเล็ก ๆ แม้จะเป็นเวลาที่ควรต้องพักผ่อนก็ตาม

ในท้ายที่สุด ผลลัพธ์ของการนอนดึกเพื่อล้างแค้นนี้ ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในหลายด้าน ดังนี้

  • การอดนอนหรือนอนไม่พอ ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ
  • ลดความสามารถในการคิดและการจดจำ
  • ลดความสามารถในการตัดสินใจที่ดี
  • มีแนวโน้มหงุดหงิดง่ายขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง
  • ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง รู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวัน หรืออารมณ์แปรปรวน
  • มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดง่ายขึ้น
  • มีความเสี่ยงเกิดภาวะ "เมทาบอลิก ซินโดรม" (Metabolic Syndrome) ที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติ
  • แสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอมือถือ/แท็บเล็ต มีส่วนในการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่น ส่งผลต่อการนอนในระยะยาว

หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากการนอนดึกเพื่อล้างแค้น ควรหมั่นดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรักษาเวลาการเข้านอนและเวลาตื่นให้สม่ำเสมอ

ปรับพฤติกรรมก่อนสุขภาพทรุด

ความคับแค้นที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในช่วงระหว่างวัน อาจทำลายทุกอย่างแม้กระทั่งสุขภาพตัวเอง และหากไม่อยากให้สุขภาพทรุดโทรมก่อนวัยอันควร ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดความแค้น สร้างสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง ดังนี้

  • ถ้าง่วงให้รีบนอน และรักษาเวลาเข้านอน-เวลาตื่นให้สม่ำเสมอ รวมถึงในวันที่ไม่ได้ทำงาน
  • เลี่ยงการดื่ม แอลกอฮอล์ หรือ คาเฟอีน "ในช่วงบ่ายหรือเย็น"
  • หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน "อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง"
  • เลือกทำกิจกรรมอื่นแทนการจับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ หรือ ฟังเพลง ซึ่งช่วยลดความเครียดที่กระตุ้นให้เกิดการนอนดึกเพื่อแก้แค้น
  • สร้างสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ความสะอาด แสง สี เสียง เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนหลับอย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขพฤติกรรมนอนดึกเพื่อแก้แค้นนี้ อาจเหมาะสมกับตัวบุคคลแตกต่างกันไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการปรับพฤติกรรมดังกล่าวของแต่ละคนด้วยเช่นกัน

ทางออกที่ดีที่สุด คือ หากพบว่าตัวเองกำลังมีปัญหาการนอนหลับหรือรู้สึกง่วงมากเกินไปในช่วงกลางวัน ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ให้วิเคราะห์พฤติกรรมการนอน และประเมินว่าอาการดังกล่าวเป็นผลกระทบจาก โรคการนอนผิดปกติ (Sleep Disorder) หรือไม่ เพื่อวางแผนรับมือให้สามารถนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

-------

อ้างอิง: มูลนิธิการนอนหลับ (Sleep Foundation)