ช็อกวงการอาหารเสริม! วิจัยชี้ "วิตามินดี" ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ช็อกวงการอาหารเสริม! วิจัยชี้ "วิตามินดี" ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

หักล้างข้อมูลเดิม! เมื่อทีมนักวิจัยสหรัฐพบว่า การกินอาหารเสริม “วิตามินดี” ไม่มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อกระดูกเปราะหักใดๆ ทั้งในประชากรทั่วไป คนแก่ หรือแม้แต่คนที่ขาดวิตามินดีเองก็ตาม

ช็อกวงการวิตามินและอาหารเสริม! เมื่อมีการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ “The New England Journal of Medicine” เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยผลวิจัยระบุว่า การบริโภคอาหารเสริม “วิตามินดี” แบบเม็ด ไม่ว่าจะมีส่วนผสมของแคลเซียมหรือไม่มีแคลเซียมก็ตาม ล้วนไม่มีส่วนช่วยป้องกันกระดูกเปราะ, กระดูกพรุน ไม่มีผลต่อการลดอัตราการแตกหักของกระดูกใดๆ แก่ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ที่ตรวจพบว่าขาดวิตามินดีในร่างกาย

อีกทั้งนักวิจัยได้สรุปผลและให้ความเห็นว่า พวกเขาไม่สนับสนุนรายการอาหารเสริมวิตามินดีหลายยี่ห้อที่อ้างว่ามีประโยชน์มากมายต่อผู้บริโภค เช่น ช่วยลดการเกิดกระดูกหักในผู้สูงวัย ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง-โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือช่วยให้มีอายุยืนยาว เป็นต้น

Dr.Steven R. Cummings นักวิทยาศาสตร์จาก California Pacific Medical Center Research Institute และ Dr.Clifford Rosen นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก MaineHealth Institute for Research และเป็นบรรณาธิการของวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine กล่าวสรุปและให้คำแนะนำว่า

“ตัวแทนขายอาหารเสริมต่างๆ ควรหยุดการแสดงระดับค่าวิตามินดีในกระแสเลือด (25-hydroxy-vitamin D) และหยุดแนะนำประชาชนให้บริโภคอาหารเสริมวิตามินดีได้แล้ว ส่วนประชาชนเองก็ควรหยุดบริโภควิตามินดีด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยป้องกันโรคร้ายแรงหรือยืดอายุขัยเสียที”  

ช็อกวงการอาหารเสริม! วิจัยชี้ \"วิตามินดี\" ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผลของวิตามินดีต่อสุขภาพแบบครอบคลุมที่เรียกว่า VITAL (VITamin D และ OmegA-3 TriaL) เป็นงานศึกษาวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับทุนการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมทดลอง 25,871 คน เป็นชายอายุ 50 ปีขึ้นไปและหญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับวิตามินดีในปริมาณมาตรฐานสากล 2,000 หน่วยต่อวัน และกลุ่มทดลองที่ได้รับยาหลอก

จุดเริ่มต้นของการวิจัยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมร่วมกันของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ เภสัชกร และนักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นสมาชิกใน National Academy of Medicine ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยพวกเขามีข้อสงสัยตรงกันว่าการบริโภคอาหารเสริม “วิตามินดี” ส่งผลให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้นจริงหรือไม่?

แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อมูลในทำนองว่าการรับประทาน "วิตามินดี" ในปริมาณมาก มีแนวโน้มที่จะป้องกันกระดูกเปราะหักได้ แต่กลับแทบไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้ขึ้น โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการทดลอง VITAL ดังกล่าว เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินดีต่อสุขภาพของประชาชน

แล้วเรื่องไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อผลการวิจัยพบว่า “วิตามินดี” ไม่มีผลในการป้องกันมะเร็งหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลอง และไม่ได้ป้องกันกระดูกเปราะหัก อีกทั้งไม่ได้ผลในการป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ, ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ, ไม่ลดความถี่ของไมเกรน, ไม่ช่วยบรรเทาโรคหลอดเลือดสมอง, ไม่ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม หรือลดอาการปวดเข่า

ช็อกวงการอาหารเสริม! วิจัยชี้ \"วิตามินดี\" ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาขนาดใหญ่อีกชิ้นหนึ่งในออสเตรเลีย พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารเสริมวิตามินดีเป็นประจำ ไม่ได้ส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โดย Dr.JoAnn Manson หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์ป้องกันจาก Brigham and Women's Hospital ใน Harvard Medical School และเป็นผู้นำหลักของการทดลอง VITAL กล่าวว่า

การศึกษาครั้งนี้มีขนาดใหญ่มาก ผู้เข้าร่วมทดลองบางส่วนเป็นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน บางส่วนเป็นผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ ซึ่งพวกเขาให้ผลลัพธ์อย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากอาหารเสริมวิตามินดีในแง่ของการช่วยลดความเสี่ยงกระดูกเปราะหักเลย

“ผลวิจัยครั้งนี้ทำให้หลายคนประหลาดใจ” ดร.แมนสันกล่าว และเสริมด้วยว่า “แต่ดูเหมือนว่าคนเราต้องการวิตามินเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางเพื่อส่งเสริมสุขภาพกระดูก การกินวิตามินปริมาณที่มากขึ้นไม่ได้ให้ประโยชน์มากกว่า”

ผลวิจัยดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์ วงการโภชนาการ และเวชศาสตร์สุขภาพอย่างกว้างขวาง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกหลายคนมีความเห็นต่างออกไป โดยมองว่าจะยังคงแนะนำผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน หรือผู้ที่มีมวลกระดูกต่ำให้ทานวิตามินดีและแคลเซียมต่อไป

--------------------------------------------

อ้างอิง : The New York Timesnejm.orgclinicaltrials.gov