ลายพู่กันแห่งเซน ‘ติช นัท ฮันห์’

ลายพู่กันแห่งเซน  ‘ติช นัท ฮันห์’

การเขียนลายพู่กัน เป็นศิลปะการฝึกสติรูปแบบหนึ่งของพระอาจารย์เซน หมู่บ้านพลัม และนี่คือนิทรรศการครั้งที่สอง

 

 “คิดว่าหลวงปู่น่าจะเขียนลายพู่กันเป็นหมื่นๆ ภาพ เรานำมาแสดงนิดหน่อยเท่านั้นเอง เวลาท่านเขียนแต่ละลายพู่กัน เหมือนการเชื้อเชิญให้เราปฏิบัติภาวนา "พระธรรมจารย์Phap Nguyen หมู่บ้านพลัม ผู้ดูแลการจัดนิทรรศการศิลปะแห่งสติของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ กล่าว

นิทรรศการลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ไม่ได้จัดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เคยจัดที่ฮ่องกง แคนาดา ไต้หวัน ฝรั่งเศส อเมริกา และจัดในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกจัดเมื่อปีพ.ศ. 2556 และครั้งนั้นหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ได้เดินทางมาเปิดนิทรรศการด้วยตัวเอง รวมถึงนำภาวนากับการเขียนลายพู่กัน

 -1-

ปัจจุบันหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ อายุล่วงเลยกว่า 93 ปี ท่านยังคงเขียนลายพู่กัน ทำสวน เขียนบทกวี เดินและนั่งสมาธิเนื่องจากท่านอายุมากแล้ว จึงไม่ได้เดินทางมาในงานนิทรรศการครั้งนี้ โดยครั้งนี้นำภาพวาดลายพู่กันมาแสดง 73 ภาพ พร้อมหนังสือภาษาต่างๆ ของหลวงปู่ประมาณ 630 เล่มจำนวน 24 ภาษา ทั้งๆที่มีประมาณ 30 ภาษา แต่พื้นที่จำกัด

“แม้ท่านจะมีข้อจำกัดในเรื่องสุขภาพ แต่ท่านก็เบิกบานกับชีวิตในทุกๆ ลมหายใจ ท่านไม่ได้เป็นแค่พระธรรมจารย์ทางเซน ท่านยังเป็นคนสวน นักเขียน ท่านเป็นทุกอย่าง มีความเชี่ยวชาญหลายอย่าง ท่านเคยอยู่เมืองไทยเพื่อแบ่งปันการปฎิบัติที่สามารถนำมาประยุกต์กับคนรุ่นใหม่ เพราะในชีวิตคนเรามีความทุกข์มาก แต่ขณะเดียวกันก็น่าอัศจรรย์ ขึ้นอยู่ว่า เราจะมองแง่มุมไหน” พระธรรมจารย์ Phap Nguyen กล่าว

ว่ากันว่าพระอาจารย์ทางเซน ติช นัท ฮันห์เริ่มเขียนภาพลายพู่กัน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 เพื่อใช้เป็นชื่อหนังสือ ชื่อบทเพลง ชื่อบทความที่ลงในสิ่งพิมพ์ จากนั้นไม่นาน ท่านพัฒนารูปแบบของ”วลีลายพู่กัน”ขึ้น ที่ซึ่งปัญญาญาณหลักธรรมคำสอน และศิลปะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันบนแผ่นกระดาษ ภาพลายพู่กัน อาทิAre you Sure? (เธอแน่ใจแล้วหรือ ?),Breathe, you are alive(หายใจสิ เพื่อชีวิตอันมีชีวา) ฯลฯถูกนำมาใส่กรอบและแขวนบนผนังที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมในยุโรป อเมริกา และเอเชียในเวลาต่อมา

ภาพลายพู่กันของท่าน จึงเป็นทั้งงานศิลปะ คำสอน และยังเป็นเครื่องมือในการฝึกสติ เนื่องจากลายพู่กันเขียนด้วยความเรียบง่ายอย่างเซนด้วยความเบิกบาน ความเป็นอิสระและความรักอันยิ่งใหญ่ อันเป็นผลจากการปฏิบัติสมาธิภาวนามาทั้งตลอดชีวิต

ภาพลายพู่กันแต่ละชิ้น จึงสร้างสรรค์ขึ้นด้วยสติและการอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง

20190127132348698

-2-

ทุกขณะจิตที่เขียนภาพลายพู่กัน หลวงปู่จะอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยม เริ่มจากนั่งลง ดื่มชา หยิบพู่กัน ใช้ชาเพื่อทำน้ำหมึก จากนั้นค่อยๆ จรดปลายพู่กันลงบนกระดาษ

หลวงปู่บอกไว้ว่า ท่านไม่สามารถเขียนบทกวีได้ ถ้าท่านไม่ได้ทำสวนผักสลัด การเขียนภาพลายพู่กันก็เช่นกัน ภาพลายพู่กันแต่ละภาพจะประกอบขึ้นด้วยการเดิน นั่ง หายใจ และยิ้มอย่างมีสติ พร้อมทั้งความรักเมตตาระหว่างครูกับศิษย์

"ฉันใช้ชาผสมกับน้ำหมึก ดังนั้นภาพลายพู่กันของฉัน จึงมีรสชาติของชาอยู่ภายใน ฉันใช้พู่กันทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก ทุกชนิดและทุกขนาด เมื่อฉันวาดวงกลม ฉันก็ตามลมหายใจ หายใจเข้า ฉันวาดวงกลมครึ่งวง และหายใจออกฉันวาดอีกครึ่งวง

ในภาพวาดลายพู่กันของฉัน มีน้ำหมึก ชา ลมหายใจ สติ และสมาธิ นี่คือการภาวนา ไม่ใช่การทำงาน สมมติฉันเขียนคำว่า “หายใจ” ฉันก็กำลังหายใจในขณะเดียวกัน การมีชีวิตอยู่คือความมหัศจรรย์ และเมื่อเธอหายใจอย่างมีสติ เธอก็สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่”

หลังจากล้อมวงดื่มชา พระธรรมจารย์ Phap Nguyen เล่าถึงช่วงเวลาที่เราดื่มชาว่า เราดื่มเพื่อไม่ให้เรากระหายน้ำ แต่บางทีเราดื่มโดยไม่สนใจชา เพราะเราคิดอะไรมากมาย

“ดังนั้นเวลาเราอยู่กับน้ำชา จึงเป็นสิ่งที่จริงสำหรับเรา เราสามารถเบิกบานเวลาดื่มชา ชีวิตก็อยู่ตรงนั้น เวลาที่เราจับถ้วยชา เราได้รับรู้ถึงความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่ ดังนั้นขอให้ทุกคนรับรู้ความรู้สึกของการดื่มชา หลวงปู่สอนเราว่า เราจะอยู่แต่ละขณะให้สวยงามได้ยังไง วิถีที่เราดื่มชา วิถีที่เราอยู่ร่วมกัน ”

-3-

พระปรมาจารย์เซน ผู้เป็นที่รู้จักและเคารพทั่วโลก นอกจากเป็นทั้งนักประพันธ์และกวี ท่านยังเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

ผู้คนทั่วไปรู้จักท่านจากงานเขียนในเรื่องสมาธิภาวนา สติและสันติภาพ โดยหนังสือของหลวงปู่ได้รับการแปลแล้วมากกว่าสามสิบภาษา และในงานนี้นำหนังสือภาษาต่างๆ มาจัดแสดงกว่าหกร้อยเล่ม

“เราสามารถนำคำสอนทางพุทธเข้าไปอยู่ในศิลปะได้ โดยสอนผ่านศิลปะ การฝึกปฏิบัติไม่ใช่สำหรับความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นการฝึกปฏิบัติสำหรับการหยุดให้มองอย่างลึกซึ้งเวลาที่เราเขียนจดหมายหรือเขียนลายพู่กัน ถ้าจิตของเราอยู่กับหมึกกับพู่กันเป็นหนึ่งเดียว จิตก็จะไม่ถูกดึงไปอยู่ที่อื่น การฝึกปฏิบัติแบบนั้นก็คือฝึกหยุด เวลาที่เราหยุดได้เราก็ผ่อนคลาย อยู่ตรงนั้นเต็มที่ เท่ากับว่าจิตกับกายได้พักผ่อน แต่ถ้าเราวาดตอนที่ร่างกายของเราเครียดก็เท่ากับสร้างความตึงเครียดให้ตัวเรา ” พระธรรมจารย์Phap Nguyen กล่าว และเตือนว่า หากเขียนรูปด้วยความพยายามที่จะคิดมากเกินไป มันก็จะถูกดึงออกไปจากตรงนั้น ดังนั้นเวลาวาดต้องปล่อยให้จิตผ่อนคลายแล้วอยู่ตรงนั้น

“เหมือนอย่างที่หลวงปู่บอกไว้ ถ้าเราสร้างงานศิลปะในขณะที่เราสงบ ความสวยงามของศิลปะก็จะถูกสะท้อนออกมาในงานนั้น ถ้าเราใส่ใจ เราก็เบิกบานเวลาทำงานศิลปะ”พระธรรมจารย์ Phap Nguyen กล่าว

-4-

หลังจากดื่มชา ก็ถึงห้วงเวลาเดินชมนิทรรศการ ระหว่างการชม พระธรรมจารย์ Phap Nguyen บอกว่า เวลาที่เราดูลายพู่กัน เราก็ได้ฝึกปฏิบัติ เข้าใจความงามและถ้อยคำ เราสามารถหายใจเข้า-หายใจออกกับวลีหรือคำๆ นั้น

“ความงามของลายพู่กันเป็นประตูแห่งธรรมที่จะเปิดเข้าสู่การปฏิบัติ เท่ากับหลวงปู่พูดกับเราผ่านลายพู่กัน แล้วเชื้อเชิญให้เราเข้าไปสัมผัสปัญญาญาณอันเดียวกับท่าน เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีความสุข เพราะอนาคตคือพรุ่งนี้ เมื่อวานผ่านไปแล้ว

แต่ตอนนี้เรามีปัจจุบัน เราสามารถใช้ลมหายใจ ใช้รอยยิ้ม เพื่อสัมผัสกับปัจจุบันขณะกับสิ่งนั้น และลายพู่กันเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นบทกวี จิตวิญญาณ ปัญญาญาณของหลวงปู่ ท่านย้ำเสมอว่า อยากส่งสารไปยังคนรุ่นใหม่ เพื่อให้รู้ว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งในการใช้ชีวิต ไม่ใช่นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วติดอยู่กับความทุกข์ยังมีวิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ว่าการเขียนภาพลายพู่กัน ฟังเพลง เขียนบทกวี ก็เป็นวิธีการผ่อนคลาย"

ในหมู่บ้านพลัม บ้านคือสิ่งที่เรียบง่าย ไม่ว่ากายเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จิตเราก็ต้องอยู่ตรงนั้นด้วย นั่นแหละเราได้สัมผัสกับบ้านแล้ว

“เมื่อเราตระหนักรู้อารมณ์และจิตปรุงแต่งของเราได้ ก็สามารถปลดปล่อยตัวเอง เรารู้วิธีที่จะโอบกอดและดูแลตัวเองการฝึกปฏิบัติจะดำรงอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ที่บ้าน หรือที่ไหนก็ตาม เราแค่หายใจเข้าออกและอยู่ตรงนั้น เราก็ได้ปลดปล่อยความทุกข์ของเราแล้ว”พระธรรมจารย์ Phap Nguyen กล่าว

และเมื่อเดินมาถึงภาพลายพู่กันมุมดื่มน้ำชา ท่าน บอกว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะหยุดและการมองอย่างลึกซึ้ง เพื่อจะเข้าใจความเป็นจริง

“ถ้าเราเรียนรู้ที่จะหยุด เราสามารถที่จะนั่งนิ่งๆ เพื่อทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น”

และจุดสุดท้ายของนิทรรศการวงกลมแห่งเซน พระธรรมจารย์องค์เดิม เล่าว่า เปรียบเสมือนความว่างเปล่า แต่เรานำเสนอถึงความเป็นกันและกันและทุกอย่างเชื่อมโยงกัน

“ฉันไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ ถ้าไม่มีเธอ เพราะมีเธอจึงมีฉัน การจัดวางมุมนี้ยังแสดงออกถึงความว่างเปล่า หรือพื้นที่ว่างในทุกๆ อย่าง วงกลมแห่งเซนมีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่ที่การมอง”

 ส่วนภาพลายพู่กันวลีเกี่ยวกับความรัก ถูกอธิบายว่าการรักนั้นคือการปกป้อง การรักนั่นคือการโอบกอดกันและกัน

“ การรักนั่น ก็คือ การเคารพร่างกายและจิตใจคนอื่น และเคารพร่างกายตัวเราและจิตใจเรา เมื่อรู้วิธีการเคารพ เราก็วิธีที่จะปกป้อง ไม่ว่าจากวลีเกี่ยวกับความสงบสันติ คนเรียกร้องความสงบสันติภาพจากข้างนอก หลายครั้งเราลืมที่จะสร้างความสงบสันติจากภายใน

เมื่อเราสามารถสร้างความสงบภายในตัวเอง เราจะส่งสารความสงบสันติภายนอกได้ง่ายขึ้น”

................................

หมายเหตุ : เอื้อเฟื้อการแปลภาษาโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล

-นิทรรศการศิลปะแห่งสติของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้-17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

- ในนิทรรศการครั้งนี้ มีหนังสือภาพลายพู่กันจำหน่าย และภาพลายพู่กันจำนวน 73 ภาพ ซึ่งพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับผู้สนใจและมีแรงบันดาลใจที่จะนำกลับไปเพื่อฝึกปฏิบัติที่บ้านติดต่อได้ที่คุณอ้อน เบอร์ 088 672 0888

""""""""""""""""""

ศิลปะแห่งสติ

ว่ากันว่าภาพลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นดังการผจญภัยในเคลื่อนไหวของใจ และกายดุจดั่งการเต้นระบำที่มีการจัดท่าทาง อาจอธิบายความปิติเบิกบานที่เกิดจากการชมภาพลายพู่กันของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ได้ว่าเหมือนการชมนักเต้นรำแสนสวย แสดงท่าทางอันกลมกลืนด้วยการควบคุมที่สมบูรณ์แบบ

หนังสือและลายมือของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นดังของขวัญที่ดีที่สุดและมีค่าที่สุด ที่ท่านมอบให้กับพวกเรา 

ภาษากวีและลายพู่กันที่จัดวางอย่างดี เปรียบดั่งรูปปั้นของพระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ดอกบัว เป็นเครื่องเตือนให้เราระลึกถึงความสามารถในการนั่งอย่างมีสติ และมีศานติของพระพุทธเจ้า เครื่องเตือนสติที่ช่วยให้เราพบบ้านที่แท้จริง ณ ที่นี่ และในขณะนี้

ในนิทรรศการศิลปะแห่งสติที่จัดแสดงเวลานี้ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจหลายอย่าง...

-ประมาณการว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียนภาพลายพู่กันมาแล้วกว่าหนึ่งหมื่นภาพ

-ท่านใช้หมึกของจีนและญี่ปุ่นบนกระดาษสาที่ทำจากข้าว นำมาจากฮ่องกงและเวียดนาม

-ท่านใช้พู่กันหลากหลายมาก บางเล่มมาจากญี่ปุ่น บางเล่มมาจากร้านศิลปะในฝรั่งเศส บางเล่มมาจากร้านขายสีทั่วไปในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส

-ทุกภาพลายพู่กันมีน้ำชาอยู่ในนั้น ท่านจะจุ่มพู่กันลงไปในถ้วยชาของท่านก่อนที่จะผสมหมึกบนแท่นหมึก

-เวลาที่ท่านวาดวงกลมแห่งเซน ท่านจะหายใจเข้า เมื่อวาดครึ่งวงกลมแรก และหายใจออกเมื่อวาดครึ่งหลัง การตามลมหายใจเป็นส่วนสำคัญในการรังสรรค์ภาพลายพู่กันทุกภาพ

-ตามหลักแล้ว วงกลมแห่งเซนเป็นตัวแทนของความว่าง(สุญญตา) แต่วงกลมของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ แสดงถึงความเป็นดั่งกันและกัน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ท่านสร้างขึ้น เพื่อถ่ายทอดแก่นคำสอนสำคัญของท่าน

-ภาษาเวียดนามใช้อักขระโรมันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และวัดเวียดนามมีวัฒนธรรมการใช้อักขระโรมันในการเขียนลายพู่กันอยู่แล้ว แต่เป็นการเขียนตัวอักษรโรมันในรูปแบบของอักษรจีน พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ นำวัฒนธรรมลายพู่กันของแผ่นดินเกิดของท่าน มาปรับให้เป็นอักษรโรมันที่ปราศจากอิทธิพลของตัวอักษรจีน จนเป็นลายมือรูปแบบใหม่ ที่ทั้งเรียบง่ายและเป็นอิสระ และท่านยังนำเอาตัวหนังสือของยุโรปสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วย อาทิ ตัว r ที่ลื่นไหลเหมือนตัว r ในภาษาฝรั่งเศส

-ภาพลายพู่กันที่ได้รับความนิยมที่สุดของท่านได้แก่ “หายใจเพื่อชีวิต เธอมีชีวา” (Breathe,you are alive) ,”นี่แหละ ใช่แล้ว” (This is it) ,”อย่างที่เธอเป็น” (Be Beautiful,be yourself) และ”ฉันมาถึง ฉันมาถึงบ้านแล้ว” (I have arrived,I am home) วลีท้ายสุดนี้เป็นเสมือน สัญลักษณ์ประจำตัววของท่าน ซึ่งท่านกล่าวว่า เป็นธรรมบรรยายที่ดีที่สุดและสั้นที่สุด ที่ท่านเคยแสดงมา

..................

หมายเหตุ : รวบรวมข้อมูลโดยภิกษุณีเหี่ยนเงียม (นาตาชา)

"""""""""""""""""""

66

วลีจากภาพเขียน

 A Buddha is made of non Buddha elements (พระพุทธเจ้าประกอบด้วยสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า)

การปฏิบัติเพื่อก้าวข้ามความคิดที่แยกเป็นสองขั้วที่ว่าทุกสิ่งแยกออกจากกันหรือดำรงอยู่อย่างปัจเจก ใช่แล้ว! แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเป็นดั่งกันและกันกับสิ่งอื่นๆ “

....................

Reverence is the nature of my love (ความเคารพนับถือคือ ธรรมชาติแห่งความรัก)

ความเคารพนับถือ คือ การฝึกปฏิบัติที่แสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ และความเคารพ โดยทำให้เราได้ตระหนักและให้เกียรติต่อการมีอยู่ของสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์พืช และแร่ธาตุ”

....................

Are you Sure? (เธอแน่ใจแล้วหรือ ?)

“การรับรู้ที่ผิดทำให้เราเป็นทุกข์ ร้อยละ 99 ของการรับรู้ของเรามักจะผิดพลาด เป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าที่จะถามคำถามนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อบ่มเพาะความคิดที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด และทำให้คนอื่นเป็นทุกข์”

..................

Zen Circle (วงกลมแบบเซน)

“มีความหมายสำคัญหลายอย่าง ได้แก่ 1.ความว่าง 2. เปี่ยมด้วยจักรวาล 3. ที่ว่าง 4. ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องเป็นดั่งกันและกัน

.............................

Breathe, you are alive(หายใจสิ เพื่อชีวิตอันมีชีวา)

เพียงแค่หายใจและตระหนักรู้ว่า เรายังมีชีวิตอยู่ นำพาความสุขมาให้เราได้มากมาย เมื่อเราหายใจอย่างมีสติ เรานำกายและใจของเรากลับคืนมา เราสัมผัสกับชีวิตในปัจจุบันขณะ”

20190127132348149

(ภาพ ในวันเปิดนิทรรศการ พระธรรมจารย์Phap Nguyen พาหลวงแม่เจิงคอม ชมภาพเขียน