ถนนสายวิ่งที่ไม่มีทางลัด จากหนุ่มอ้วนร้อยโลสู่ Six Star Finisher

ถนนสายวิ่งที่ไม่มีทางลัด จากหนุ่มอ้วนร้อยโลสู่ Six Star Finisher

ไม่ใช่ง่ายที่จะเป็นผู้พิชิตเหรียญ Six Star Finisher เหรียญสำหรับนักวิ่งที่วิ่งจบ 6 สนาม Major Marathon ระดับโลก แต่ชายหนุ่มที่เคยน้ำหนักร้อยโลสามารถคว้ามา บนถนนที่ไม่มีทางลัด เขาคือแรงบันดาลใจของคนธรรมดาที่สามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนคนหนึ่งหันมาออกกกำลังกายดูแลสุขภาพคืออะไร บางคนแค่เพื่อนชวนก็ทำตามได้ง่ายๆ แต่สำหรับบางคน ต้องมีชีวิตเป็นเดิมพันถึงจะลงมือทำ

หลายคนในวงการวิ่งคงรู้จัก พี่นะ - นฤพนธ์ ประธานทิพย์ คนไทยคนที่ 2 ที่สามารถพิชิตเหรียญ Six Star Finisher เหรียญสำหรับนักวิ่งที่วิ่งจบ 6 สนามมาราธอนเมเจอร์ของโลก ซึ่งไม่ใช่ง่าย นอกต้องใช้ดวงในการจับสลากผู้สมัครแล้ว ยังมีสนามที่ใช้เวลาในการวิ่งจบมาราธอนมาเป็นมาตรฐานในการสมัครด้วย อย่างที่บอสตัน มาราธอน ซึ่งต้องการเวลาจบมาราธอน 3 ชั่วโมง 25 นาที

ในอดีต พี่นะเป็นคนใช้ชีวิตเต็มที่ คือทำงาน กิน เที่ยวเต็มที่ ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือระวังเรื่องการกินแต่อย่างใด แม้จะมีความดันสูง และค่าน้ำตาลสูงจนมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน “หมอบอกว่าถ้าคุณไม่ทำอะไรต้องเสียชีวิตเร็วแน่” แต่เพราะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็ยังไม่ใส่ใจ จนน้ำหนักไต่ขึ้นไปถึง 100 กิโลกรัม

842210

ช่วงอายุ 40 ปี น้ำหนักพีคไปถึง 100 กิโลกรัม

แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง ย้อนไปราว  7 ปีที่แล้ว พี่นะวูบล้มในห้องน้ำ “ภรรยาบอกว่าล้มเหมือนขอนไม้เลย” หน้ากระแทกกับชักโครก ภาวะหมดสติทำให้เขาเคลิ้ม คิดว่าไม่เป็นอะไร พอจับหน้าตัวเองดูก็พบว่าเลือดอาบไปหมด คืนนั้นพี่นะได้นอนโรงพยาบาลเป็นคืนแรก ตลอดเวลาที่อยู่บนเตียงเขาคิดแค่ว่า “เงินในบัญชีทั้งหมดไม่อยากได้แล้ว อยากได้ชีวิตตัวเองกลับมา สุขภาพสำคัญกว่าการหาเงินทอง ถ้าออกไปได้จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต”

ก้าวแล้วไม่หยุด

หลังจากออกจากโรงพยาบาล พี่นะก็เลือกการวิ่ง เพราะไม่มีพื้นฐานกีฬาใดๆ “ตอนเด็กๆ เกลียดกีฬามาก เพราะสมัยเด็กเล่นฟุตบอลกับเพื่อน เพื่อนก็ชวนไปคัดตัวเข้าทีมฟุตบอล แต่ครูชี้ให้เราออกตั้งแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย พี่เลยฝังใจว่าเกลียดกีฬา ไม่เอาเลย”

การวิ่งทำได้ง่ายที่สุด แต่การวิ่งครั้งแรกที่สวนรถไฟก็ทำให้เขารู้ตัวว่าร่างกายอ่อนแอแค่ไหน “วิ่งไป 300 – 400 เมตร ก็ไม่ไหว หายใจไม่ทัน เพราะไม่เคยวิ่งมาก่อน หัวใจไม่เคยใช้งาน” วันนั้นพี่นะเห็นทั้งเด็กและผู้สูงอายุวิ่งกันอย่างแข็งแรง เขาก็น้ำตาซึมกลับไป แต่ไม่ยอมแพ้ “ตั้งใจวิ่งทุกวัน พอสัก 2 อาทิตย์ก็ดีขึ้น หายใจดีขึ้น จากที่เคยหอบหนักๆ ก็เป็นกำลังใจที่ไปได้ต่อ ครอบครัวก็ให้กำลังใจ บอกตัวเองว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องทำทุกวัน จนกระทั่งวิ่งได้รอบสวนรถไฟ 2.5 กม. มันยิ่งใหญ่มากนะในชีวิตของคนที่อ้วนร้อยโล ผมดีใจ ร้องไห้เลย”

บรรยากาศที่ทำให้รักการวิ่ง

พี่นะวิ่งทุกวัน เพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนชวนไปวิ่งงานมินิมาราธอนครั้งแรก เขาจบที่เกือบ 2 ชั่วโมง (ปัจจุบัน 10 กม. พี่นะใช้เวลาราว 43 นาที) ซึ่งเขาภูมิใจมาก จากงานแรกก็มีงานที่ 2 และเพิ่มระยะไปเรื่อยๆ จนถึงฟูลมาราธอน กับมาราธอนแรกระยะทาง 42.195 พี่นะใช้เวลา 4 ชม. 45 นาที

ด้วยงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ก็ได้เห็นบรรยากาศงานวิ่งมาราธอนที่ต่างประเทศซึ่งยิ่งใหญ่กว่าในเมืองไทยมาก เขาจึงเริ่มไปวิ่งต่างประเทศที่สิงคโปร์ มาราธอนเป็นงานแรก นั่นคือเรื่องราว 5 -6 ปีที่แล้ว พี่นะเริ่มรู้จักเมเจอร์มาราธอนแล้ว แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะไปวิ่ง แต่ด้วยสถิติที่ทำได้ในโอซากา มาราธอน ทำให้เขาหมายตาสนามเมเจอร์

ลอนดอน มาราธอน 2

ในลอนดอน มาราธอน 2018

“โอซากา มาราธอนสนุกมาก ยิ่งใหญ่ กองเชียร์เยอะมากอย่างที่เมืองไทยไม่มี อาหารน้ำถึง อากาศเย็น ทำให้เราวิ่งสนุก วิ่งจบ 3 ชั่วโมงครึ่ง ตกใจเลย ทำได้ไง ระหว่างเดินไปก็นักวิ่งญี่ปุ่นที่มาวิ่งด้วยกัน เขาถามผมว่าอายุเท่าไหร่ ตอนนั้นผม 45 เขาก็ตกใจ อายุขนาดนี้วิ่ง 3 ชั่วโมงครึ่ง เขาบอกว่าอีก 5 นาที คุณได้ไปบอสตันเลยนะ”

สนามเมเจอร์มาราธอน 6 สนามคือ ที่โตเกียว ลอนดอน เบอร์ลิน บอสตัน นิวยอร์ก และชิคาโก ในปี 2017 พี่นะสมัครโตเกียว เบอร์ลิน และนิวยอร์ก แล้วได้ลอตโตวิ่งทั้ง 3 สนาม โดยเขาตั้งใจว่าจะใช้เวลาวิ่งในโตเกียว มาราธอน เพื่อไปสมัครวิ่งที่บอสตัน จึงเพิ่มการซ้อมวิ่งยาวขึ้น โดยวิ่งวันละ 30 กม. ไม่เน้นความเร็ว เน้นระยะเพื่อฝึกความอดทนของร่างกาย

“ไปวิ่งที่โตเกียว มาราธอน วิ่งสนุกมาก ยิ่งใหญ่กว่าโอซากาอีก ผมวิ่งเร็วมาก ตอนนั้นคิดในใจว่า หายใจทัน ขาไม่ล้า ไปต่อ ไม่ตาย ไปต่อ สร้างกำลังใจไปเรื่อย ระหว่างทางก็จะเห็นคนนั่งวีลแชร์มาเชียร์ เขาไม่มีโอกาสวิ่ง เรามีโอกาสเราต้องทำ ยิ่งมีแรงวิ่ง และคิดถึงความลำบากตอนเด็ก คือจะทำเวลาต้องเค้นตัวเองมาก บอกตัวเองว่าไม่กี่ชั่วโมงก็เข้าเส้นชัย ตอนเด็กๆ ลำบากเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เลยใส่ไม่ยั้ง พอเข้าเส้นชัยจบ 3 ชั่วโมง 20 นาที รู้ว่าได้ไปบอสตันแน่นอน ร้องไห้เลย”

รูปเปรียบเทียบน้ำหนัก และสถิติในโตเกียว มาราธอน_1

รูปเปรียบเทียบอดีตกับสถิติวิ่งจบโตเกียว มาราธอนด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 20 นาที 43 วินาที พร้อม Go Boston

จากคนที่ร่างกายและสุขภาพติดลบ พี่นะตะโกนบอกตัวเองที่เส้นชัย “ไอ้อ้วน มึงทำได้แล้ว ไอ้ตือโป๊ยก่าย มึงทำได้ แล้ว” คำที่คนเคยสบประมาทเขากลับมาสร้างกำลังใจให้ในช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่

ต่อมาที่เบอร์ลิน มาราธอน เขาก็วิ่งจบที่เวลาดียิ่งกว่า “วิ่งสนุกมาก เพราะคาดว่าจะได้บอสตันแล้ว ก็ไม่ตึงเครียด ปรากฏว่าจบ 3 ชั่วโมง 15 นาที เพซเฉลี่ย 4.37 เพราะบรรยากาศและการซ้อมต่อเนื่องด้วย”

เบอร์ลิน มาราธอน 3

วิ่งที่เบอร์ลิน มาราธอน

ส่วนที่นิวยอร์ก มาราธอน เขาจบที่เวลา 3 ชั่วโมง 37 นาที เพราะยังบาดเจ็บจากการวิ่ง 100 กม. งานก่อนหน้านั้น แต่ที่ยังคงทำเวลาได้ดีอยู่ เพราะนำเวลาจบที่เบอร์ลินไปยื่นตอนคัดกลุ่มปล่อยตัว พี่นะได้อยู่บล็อก A อยู่ใกล้นักวิ่งอีลีตระดับโลก แถมบรรยากาศการปล่อยตัวก็ยิ่งใหญ่ เขาถึงกับกระชากผ้าพันขาออก “ตายเป็นตาย” แม้จะจบแต่ก็เจ็บ จากนั้นก็พักยาว

จากนั้นพี่นะก็เก็บเหรียญจากบอสตัน มาราธอน 2018 ที่อากาศเลวร้ายที่สุดในรอบ 122 ปี ได้ในเวลา 3 ชั่วโมง 44 นาที

ส่วนที่ลอนดอน มาราธอน ซึ่งพี่นะสมัครลอตโตไม่ได้ แต่ได้เพราะมีเพื่อนแนะนำให้เขียนจดหมายแนะนำตัวเข้าไป เล่าถึงโพรโฟล์การวิ่งเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน ก็ทำให้พี่นะได้วิ่งสนามลอนดอน ซึ่งเขาบอกว่าเป็นมาราธอนที่เขาชอบมากที่สุด

ลอนดอน มาราธอน 4

ในงานวิ่ง ลอนดอน มาราธอน

“ถ้าใครเป็นนักวิ่ง ควรมาวิ่งที่นี่สักครั้งนะครับ” พี่นะวิ่งจบที่ 3 ชั่วโมง 26 นาที ไม่เร่ง เพราะต้องการซึมซับบรรยากาศเต็มที่

และที่ชิคาโก มาราธอน เป็นสนามที่ 6 ซึ่งโชคดีว่าในปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่นอกจากลอตโตแล้ว ยังเปิดให้นำเวลาไปสมัครด้วย พี่นะจึงได้เหรียญ Six Star Finisher ที่สนามนี้เอง เขาไปรับเหรียญทั้งน้ำตา และคลิปที่เขาให้สัมภาษณ์พร้อมประโยค “Marathon change my life” ก็ได้เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของทาง The Abbott World Marathon Majors ด้วย

คลิปรับเหรียญ Six Star Finisher ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของผู้จัด

ฟังเสียงร่างกายตัวเอง

นักวิ่งขาแรงอย่างพี่นะฉีกตำราหลักสูตรการวิ่งทุกอย่าง เขาอาศัยวิ่งทุกวันและเรียนรู้ร่างกายของตัวเองไป วันไหนอยากวิ่งเร็วก็เร็ว วันไหนอยากช้าก็ช้า หรือเมื่อมีงานแข่งที่ต้องการทำเวลา ก็เพิ่มระยะการวิ่งเข้าไป นักวิ่งควรมีวันหยุดพัก สำหรับพี่นะวันพักก็คือการวิ่งช้า วิ่งสลับเดิน ความเร็วที่พี่นะทำได้มาจากร่างกายที่เรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาลองผิดลองถูก “อย่าวิ่งๆ หยุดๆ ถ้าหยุดเมื่อไหร่ ก็เหมือนเริ่มใหม่” แต่ถ้าบาดเจ็บก็ต้องหยุดพักจริงจัง

กำลังใจจากครอบครัว

เคล็ดลับสำคัญของพี่นะก็คือความขยัน มีวินัย และอดทน แต่วินัยเป็นเรื่องที่หลายคนอาจทำได้ยาก พี่นะเล่าให้ฟังว่า “ผมลำบากแต่เด็ก พ่อแม่ขายอาหารตลาดนัดตอนกลางคืน เราต้องไปช่วยตลอด เราอยู่ในวงจรชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เล็ก เราอยากออกจากวงจรนี้ จึงตั้งใจเรียนหนังสืออย่างหนัก เราไม่เก่งเท่าเพื่อน ก็อาศัยขยัน อ่านหนังสือ 4 – 5 รอบจนทำได้” แรงขับเคลื่อนนี้อยู่ในตัวพี่นะเสมอมา และเขาบอกว่าสามารถปรับใช้กับทุกอย่างได้ ทั้งการวิ่ง การงาน และการใช้ชีวิต

เหรียญต่อไป

งานวิ่งต่างๆ รอให้พี่นะตามพิชิตเท่าที่ความฝันจะพาไป อย่างการวิ่งอัลตร้า เทรล หรือการวิ่งเทรลในเส้นทางธรรมชาติ พี่นะก็เพิ่งไปจบ 100 กม.ที่ฮ่องกงมา ได้ลำดับที่ 215 จากนักวิ่ง 3,700 คน ส่วนสนามที่สุดแห่งสายเทรลอย่าง UTMB พี่นะก็สมัครระยะ 100 กม. ได้แล้ว เตรียมไปวิ่งในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากว่าโดยระยะและงานแล้ว พี่นะก็คงสามารถวิ่งไปได้เรื่อยๆ

แต่สำหรับเส้นทางต่อไปที่พี่นะจะทำให้มากขึ้น ก็คือเส้นทางสายแบ่งปันเรื่องราวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐหรือเอกชนที่เชิญไปพูด พี่นะยินดีไปทุกงาน การวิ่งเปลี่ยนชีวิตเขาอย่างเห็นได้ชัด จากน้ำหนัก 100 เหลือ 55 กิโลกรัม จากคนสุขภาพแย่กลับมาแข็งแรง ความต่อเนื่องของการฝึกซ้อมพาเขาไปได้ไกล ทั้งการวิ่ง การงาน และเรื่องดีๆ ที่เข้ามา ทั้งหมดคือของจริง

พี่นะนำเหรียญ Six Star Finisher ไปด้วยทุกงาน ให้ทุกคนที่มีความฝันได้สัมผัส เพื่อกระตุ้นให้ลงมือทำ หลายเรื่องต้องใช้เวลา แต่ที่สุดแล้วจะออกดอกออกผลแน่นอน

บอสตัน มาราธอน_1

บอสตันมาราธอน

ความดีใจหน้าเส้นชัยกับเหรียญ Six Star Finisher

ความดีใจหน้าเส้นชัยชิคาโก มาราธอน พร้อมรับเหรียญ Six Star Finisher

กับเหรียญ Six Star Finisher 2 กับเหรียญ Six Star Finisher