ชวนท รัตตกุล นำทัพออริจิ้นฟู้ดต่อยอดร้านอาหารคุณภาพแต่ทุนน้อย

ชวนท รัตตกุล นำทัพออริจิ้นฟู้ดต่อยอดร้านอาหารคุณภาพแต่ทุนน้อย

จากนักชิมและนักเรียนรู้ 'วัฒนธรรมอาหารทั่วโลก' ก้าวสู่ซีอีโอบริษัทที่ขอเติบโตไปพร้อมกับร้านอาหารคุณภาพแต่ขาดโอกาสขยายสาขา

จากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่มีใจรักและชอบศึกษาเรื่องอาหารการกิน ชวนท รัตตกุล หรือคุณ ‘ปุ๊ปปั๊บ’ วันนี้ในวัย 37 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารบริษัท ออริจิ้น ฟู้ด จำกัด การทำงานที่เขาสามารถผสมผสานวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาและไลฟ์สไตล์ที่ตนเองหลงใหลเข้าไว้ด้วยกัน และจะทำให้นักชิมอย่างเราๆ มีโอกาสชิมอาหารอร่อยจากแบรนด์คุณภาพแต่มีเงินทุนจำกัดที่จะขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงนักชิมวงกว้าง ขณะเดียวกันร้านอาหารที่มีเงินทุนจำกัดดังกล่าวก็มีโอกาสเติบโตด้วยการเพิ่มสาขาได้มากขึ้น

คุณชวนทสำเร็จปริญญาตรีจาก University of Southern California สาขา Entrepreneur and Corporate Finance ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขาเล่าว่า ระหว่างศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา การกินอาหารนอกบ้านทุกวันมีราคาแพง จึงตัดสินใจทำอาหารกินเองและสนุกกับการทำอาหาร 

ความจริงคุณชวนทเริ่มสนใจอาหารตั้งแต่เด็ก ชอบดูทั้งรายการทำอาหารและดู ‘คุณยาย’ ทำอาหาร ชอบใช้เวลาอยู่ในครัวกับคุณยาย ชอบแม้กระทั่งตามคุณยายไปจ่ายตลาด คุณยายของคุณปั๊บมีฝีมือทำอาหาร เพราะร่ำเรียนวิชาทำอาหารจากสถาบันสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ประเทศฝรั่งเศส จึงทำได้ทั้งอาหารไทยและอาหารตะวันตก 

พออายุ 19 ปี เข้ามหาวิทยาลัย เริ่มทำธุรกิจมีรายได้ ก็อยากลองเดินทาง เริ่มจากภายในแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย โดยขับรถไปกินอาหารอร่อยต่างเมือง เช่นยอมใช้เวลาขับรถ 5-6 ชั่วโมงจากลอสแอนเจลิสไปซานฟรานซิสโก เพื่อกินอาหารหนึ่งมื้อแล้วขับกลับ

ปัจจุบัน ทริปชิมอาหารของเขาทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรืื่อยๆ เช่น อิสราเอล ที่เพิ่งกลับมา วันหนึ่งใช้เวลาชิมอาหาร 8-10 ชั่วโมง เหมือนวิ่งมาราธอน กินตั้งแต่เช้าเสร็จตีหนึ่ง ทำไมเขาจึงชอบแบนนั้น

F2

F3

F4

อิสราเอล : ประเทศที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความเชื่อ ทิวทัศน์อันสวยงาม อาหารที่น่าดึงดูดใจ ประเทศนี้ถูกบดบังโดยสื่อต่างชาติมานาน ซึ่งความจริงแล้วเป็นประเทศที่ต้องมาเยือนเพื่อลิ้มรสอาหารและไวน์ มีเรื่องให้น่าสำรวจมากมายในอิสราเอล และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผมว่าอาหารดีที่สุด

“ผมว่าทุกครั้งที่ผมเดินทาง ได้ไปชิมอะไรใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมด้วย สิ่งหนึ่งที่ง่ายต่อการเรียนรู้เรื่องอีกประเทศ คือการเรียนรู้ผ่านอาหาร เพราะวัฒนธรรมหลายอย่างสื่อเข้ามากับอาหาร” คุณชวนทกล่าว

ดังนั้น ในการเสาะแสวงหาอาหารอร่อยเพื่อการชิม คุณชวนทไม่เพียงแต่ชิมเฉยๆ แต่เขาหาทางคุยกับเชฟ คนทำอาหาร ค้นคว้าข้อมูลแวดล้อมจากหนังสือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนนักชิมอาหารด้วยกัน ขอเข้าไปดูการทำงานในครัว ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ การชิมอาหารของเขาจึงใช้เวลายาวนานถึง 8-10 ชั่วโมงต่อวัน

การทำเช่นนี้ นอกจากได้เรียนรู้วัฒนธรรมอาหาร ยังได้ ‘เข้าถึง’ แก่นแท้ของอาหาร และทำให้เกิด ความซาบซึ้งในอรรถรสของอาหาร (food appreciation) คือนอกจากจะบอกว่า “อร่อย” ซึ่งเป็นความซาบซึ้งขั้นแรก 

หากเข้าใจ “คอนเซปต์ของอาหารจานนั้นๆ” ก็จะซาบซึ้งขึ้นไปอีกขั้นว่าทำไมอาหารจานนั้นจึงอร่อย เช่น ทำไมเชฟจึงเสิร์ฟ ฮอน มากุโระ (บลูฟินทูน่า) เป็นซาชิมิ ก็เพื่อให้รสชาติทูน่าที่ดีอยู่แล้ว ไม่ถูกทำลายจากความร้อน คุณชวนทยกตัวอย่าง

สุดท้าย หากคุณเข้าใจ “ความคิดของเชฟ” ว่าพยายามสื่ออะไร คิดอย่างไร เรื่องราวคืออะไร คุณก็ยิ่งเข้าใจและซาบซึ้งความอร่อยของอาหารจานนั้น

“คุณกินซูชิมื้อหนึ่งหกพันบาท แพงมาก ถ้าคุณแอพพริชิเอทได้หนึ่งพันบาท คุณเสียดุลห้าพัน(บาท)นะ เพราะฉะนั้นไหนๆ คุณจะจ่าย คุณแอพพริชิเอทให้มันคุ้ม มันก็จะคุ้มกับการเสียเงินที่จะกิน” คุณชวนท กล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างการทำความเข้าใจ ปลาทูน่า หนึ่งในวัตถุดิบชั้นเลิศของอาหารญี่ปุ่นให้ฟังว่า

“ปลาทูน่ากว่าเขาจะจับได้ ญี่ปุ่นใช้วิธีตกเบ็ด ไม่ใช่อวนจับแบบปลาซาร์ดีน ทูน่าน้ำหนักตัวหนึ่ง 150 กิโลกรัม หรือ 200 กิโลกรัม การตกเบ็ดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีออกเรือไปหลายวันอาจไม่ได้ปลาสักตัว ธุรกิจการตกปลาทูน่าทำในครอบครัว จะไม่มีหน้าใหม่ ครอบครัวทำตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อรุ่นลูก ช่วงเวลาจับปลาทูน่าที่ดีที่สุดคือธันวาคมถึงมกราคม ทุกครั้งเป็นเรือเล็กๆ ตกปลาได้แล้วต้องทำวิธีอิเคจิเมะ คือฆ่าปลาเพื่อไม่ให้เลือดอยู่ในตัวปลา เพื่อรักษาความสด จากนั้นแพ็คอย่างดีด้วยน้ำแข็ง สมัยก่อนส่งไปที่ซึกิจิ(ตลาดปลา) ตอนนี้เปลี่ยนเป็นตลาดใหม่ พ่อค้าคนกลางตื่นเช้ามาประมูลปลา ปกติเชฟจะไม่เข้าไปประมูลปลาเอง เขาจะมีความไว้วางใจกับพ่อค้าคนกลางที่ประมูลปลา เชฟจะซื้อปลากับพ่อค้าคนกลาง ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เขาเก็บของดีให้กับคนที่สนิท เชฟนำปลามาบ่ม กว่าจะแล่ กว่าจะหุงข้าว วิธีหุงข้าวก็มีอีกร้อยแปดพันอย่าง กว่าจะทำโชยุ กว่าจะปั้นข้าว ปลาชิ้นนั้นผ่านกี่คนกว่าจะมาถึงเรา กี่ปีที่เชฟทำซูชิ”

เช่นเดียวกับ วิธีกินซูชิ ชาวญี่ปุ่นมีรูปแบบเฉพาะโดยนำ ด้านที่มีเนื้อปลาลงแตะลิ้นก่อน เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งในรสชาติอย่างเต็มที่

“ควรเอาปลาลงปากก่อนเสมอ เพราะสัมผัสรสของเรา ลิ้นคือสัมผัสที่หนึ่ง ลิ้นแตะปั๊บรสอะไร สอง...รสชาติขณะเคี้ยว เคี้ยวเข้ากันรสชาติเป็นอย่างไร สามคืออาฟเตอร์เทสต์ (after taste) ซูชิทุกคำมีข้าว ถ้าเอาข้าวแตะลิ้นเข้าปากก่อน ลิ้นสัมผัสก็จะเป็นข้าวทุกคำ รสชาติปลาจะหายไป คุณจะแอพพริชิเอทได้ 66 เปอร์เซนต์ ปากคนเรา กรามข้างบนไม่ขยับ ขยับแค่กรามข้างล่าง การเอาลิ้นโดนปลาก่อนแล้วกัดผ่านชั้นปลาขึ้นไปโดนข้าว ลิ้นสัมผัสแรกจะไม่เหมือนกัดผ่านข้าวแล้วโดนปลา ทุกคำเนื้อปลาจะเปลี่ยนชนิดไปเรื่อยๆ ก็จะมีความหลากหลาย แต่ถ้าลิ้นเราโดนข้าวก่อน ก็จะเป็นรสชาติข้าวทุกคำ”

F11

F10

F12

Japan IMG_2083

ญี่ปุ่น : ซูชิแห่งร้าน Saito และ Sugita ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นซูชิอันดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่น ระดับปรมาจารย์แห่งการทำซูชิ ประทับใจไปกับอาหารและเป็นความรู้สึกสุดพิเศษทุกครั้งที่มีโอกาสไปรับประทานอาหารยังร้านอาหารทั้งสองแห่งนี้

ความสมดุลของการทำ ‘ซูชิ’ โดยเชฟญี่ปุ่นมืออาชีพ หรือเชฟที่เข้าใจวิถีแห่งการทำซูชิอย่างแท้จริง ยังหมายรวมถึง ปริมาณข้าว และ ขนาดเนื้อปลา แม้กระทั่ง วาซาบิ และ โชยุ ซึ่งล้วนมีความสมดุลกัน

“บางคนขอวาซาบิเยอะหน่อย บางคนไม่เอาวาซาบิ เมื่อก่อนบ้านเรามีเทรนด์ปลาชิ้นใหญ่ข้าวน้อย ซูชิหนึ่งคำคืองานศิลปะที่กินได้ บางคนชอบกินเค็ม ก็เอาข้าวปั้นจิ้มโชยุ ข้าวที่อยู่ข้างล่างพอโดนโชยุ ก็จะร่วง จริงๆ เชฟใส่อากาศกับปริมาณข้าวมาดีอยู่แล้ว มีความสมดุล ซูชิ..ถ้าเชฟทาโชยุมาแล้ว ถ้าคีบตะเกียบไม่เป็น แล้วทำให้ข้าวแตก ดีที่สุดคือใช้มือหยิบกินเข้าปากให้หมดในคำเดียว” คุณชวนท กล่าวและว่า หากมีโอกาสชิมซูชิที่ปั้นโดยเชฟที่มีชื่อเสียงด้านนี้ แล้วเห็นข้าวปั้นคำโต ไม่ควรใช้ตะเกียบแยกข้าวให้เล็กลง แต่ควรกินให้หมดในคำเดียวเช่นกัน เพราะเป็นส่วนผสมของรสชาติที่พอดีกันในหนึ่งคำ

“คนญี่ปุ่นมีความทุ่มเทและความจริงใจให้กับทุกขั้นตอน ถ้าคุณทราบซึ้งตรงนี้ได้ จะทำให้ความอร่อยทวีคูณไม่รู้กี่เท่า” เป็นความเห็นของคุณชวนท

F14

F13

F15

เดนมาร์ก : เราจะลืมเดนมาร์กไปไม่ได้เลย เป็นอีกประเทศที่โฉมหน้าอาหารได้รับการพัฒนาเป็นอันมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องน่าตื่นเต้นมากมายเกิดขึ้นในเดนมาร์ก ร้านอาหาร Noma คือหนึ่งในผู้บุกเบิกของการเกิดอาหารตำรับนอร์ดิกยุคใหม่ ความตื่นเต้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่เยือนเดนมาร์ก

คุณชวนทออกเดินทางชิมอาหารทั่วโลกมาแล้วกว่า 70 ประเทศ พบเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการอาหารของโลก โดยยกตัวอย่าง เดนมาร์ก ประเทศที่ฤดูหนาวยาวนาน ฤดูร้อนแสนสั้น แสงแดดน้อย ทำให้วัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารไม่หลากหลายและออกจะขาดแคลน 

แต่แล้วก็เกิดการพลิกโฉมหน้าของวงการอาหารเดนมาร์กครั้งใหญ่ หลังจาก มร.เรเน่ เรดเซปปี (Rene Redzepi) เชฟชาวเดนมาร์กเดินทางไปหาความรู้และฝึกทำอาหารที่ประเทศสเปนแล้วกลับมาเปิดร้านอาหารชื่อ Noma ในกรุงโคเปนเฮเกน นำเทคนิคที่เรียนรู้มาประยุกต์กับวัตถุดิบเท่าที่มี เช่น สาหร่ายตามชายหาด หญ้า เบอร์รี เกิดเป็นอาหารสไตล์ใหม่ New Nordic Cuisine และทำให้ร้าน Noma คว้ารางวัลเบสต์ เรสเตอรองต์ ออฟ เดอะ เวิลด์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับเชฟอีกหลายคนในประเทศ ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นประเทศที่นักชิมจำนวนมากเดินทางเพื่อไปกินอาหาร และกำลังขยับมาเป็นเปรูและเม็กซิโก

ขณะนี้คุณชวนทนำความรู้และประสบการณ์ความเป็นนักชิมในสไตล์ของเขา สร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ด้านอาหารการกินภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น ฟู้ด จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ 

“บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีบริษัทลูกชื่อ ออริจิ้น วัน ร่วมทุนกัน เปิดกองทุนใหม่ชื่อ ออริจิ้น ฟู้ด เราได้คุยกันว่า ออริจิ้นต้องการเปลี่ยนธุรกิจส่วนหนึ่งมาทำธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ (Recurring Income) ด้วยการเริ่มโฟกัสทำโรงแรม ออฟฟิศ เป็น มิกซ์ยูส บิลดิ้ง ซึ่งมีพื้นที่ค้าปลีก(retail space) ที่สำคัญคือเขามีพื้นที่อยู่แล้ว อยากมาโฟกัสเรื่องอาหาร ต้องการร้านอาหารเข้ามาในพื้นที่ ส่วนตัวผมอยู่ในวงการอาหารมาค่อนข้างนาน คุยกัน จับมือกัน ครีเอทบริษัทใหม่ชื่อออริจิ้นฟู้ด ซึ่งผมก็มาบริหารตรงนี้ โดยลงทุนกันคนละครึ่ง” คุณชวนท กล่าว

แนวทางการทำงานของ ‘บริษัท ออริจิ้น ฟู้ด จำกัด’ ที่วางไว้คือ จะลงทุนใน ‘ร้านอาหาร’ ที่มีคุณภาพ มีความเฉพาะเจาะจง (niche) ทำให้ร้านนั้นโตมากขึ้น และพัฒนาเรื่องอาหารการกินในประเทศให้มากขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของ บมจ.ออริจิ้นฯ ที่จะมีตึกเพิ่ม 

ที่สำคัญ ‘ร้านอาหาร’ ที่จะเข้าไปเปิดในตึกของ บมจ.ออริจิ้นฯ หรือนอกตึกก็ได้ ต้องมี ความเป็นเอกลักษณ์ (unique) มากขึ้น ไม่ใช่ตามเทรนด์

“เช่นช่วงนี้ทุกคนกินชีสเค้ก เราไม่ตามอย่างนั้น เราพยายามจะดูอาหารที่มีเรื่องราว มีการเอาใจใส่ของการสรรหาวัตถุดิบ การเตรียมอาหาร จนออกมาเป็นโปรดักต์ที่เราคิดว่ามีศักยภาพที่จะขยาย เราจะไปคุยกับเขาว่าต้องการขยายไหม ต้องการลงทุนเพิ่มหรือเปล่า เราก็จะเป็นเหมือนกองทุน เข้าไปลงทุนกับเขา ให้คำแนะนำ เราอาจจะมีสาม-สี่แบรนด์ ออกแบบวิธีทำงานร่วมกัน(synergy)ให้กับแต่ละแบรนด์ ร้านนี้เราไปลงทุนในร้านกาแฟ ร้านนี้เราอาจไปลงทุนในขนมปัง ร้านกาแฟไม่มีขนมปัง เราก็เอาขนมปังไปขายในร้านกาแฟ"

เป้าหมายต่อไปคือหวังว่า ภายในสอง-สามปี จะสามารถนำกองทุนนี้เข้า ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ 

“เพราะถ้าคุณเป็นร้านอาหารเดี่ยวๆ จะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจใช้เวลาเจ็ดถึงสิบปี เพราะมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องถึงมาตรฐาน ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เราดึงโปรดักต์ที่ดีๆ เหมือนคุณทำพอร์ตหุ้น คุณเลือกร้านที่มีศักยภาพ และเราก็ให้เงินอุดหนุน(subsidize) ลงทุนให้เขา ให้เขาโตมากขึ้น มาทำเป็นพอร์ต อาจมีเจ็ด-แปดแบรนด์ในพอร์ตนี้ คนที่ลงทุนกับเรา เราอาจไม่ต้องลงทุนซื้อร้อยเปอร์เซนต์ก็ได้ เมื่อเขาเข้าตลาดฯ ก็จะได้เงินจ่ายคืน(pay back)หลายเท่า ซึ่งเงินตรงนี้่ก็เอาไปต่อยอดธุรกิจเขาได้ นี่คือคอนเซปต์ของออริจิ้นฟู้ด”

F6

F7

F5

สเปน :  หนึ่งในชนชาติของโลกที่มีวิธีการทำอาหารอันเยี่ยมยอด จากเชฟผู้ริเริ่มอย่าง Ferran Andria สู่เชฟซึ่งมีชื่อเสียงหลายคน อาทิ เชฟ Roca แห่งภัตตาคาร Celler De Can Roca สู่เชฟ Victor แห่งภัตตาคาร Asador Etxebarri ที่มีชื่อเสียง เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เต็มไปด้วยความน่าหลงใหลในเรื่องอาหารการกิน

คุณชวนทกล่าวด้วยว่า เซ็คเมนต์อาหาร มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท คิดว่ามีโปรดักต์หลายแบรนด์มีศักยภาพ โปรดักต์ดีมาก แต่ขาดคนซับซิไดซ์ บางแบรนด์มีสาม-สี่สาขา อาจเพิ่มได้ถึง 20 สาขา ร้านกาแฟบางร้านดีกว่าบิ๊กแบรนด์ เปิดอีกสิบสาขาก็ยังขายได้ แต่ทำไมเขาทำไม่ได้ อาจจะขาดเงินทุน ขาดช่องทาง ค่าพื้นที่แพง นั่นคือสิ่งที่ออริจิ้นฟู้ดฯ อยากมาช่วย

“เราอยากช่วยคนที่มีความตั้งใจทำโปรดักต์ ช่วยให้เขาโตมากขึ้น ผมพยายามไม่เลือกโปรดักต์ที่เน้นปริมาณ(mass)เกินไป หรืออยู่ในกระแส ผมคิดว่าโปรดักต์ต้องมีคุณภาพ ไม่ใ่ช่แค่ตัวอาหารอย่างเดียว แต่ไปถึงวิธีสรรหาวัตถุดิบมาทำอาหาร องค์ประกอบการเตรียมอาหาร ต้องยั่งยืน ไม่ใช่แค่เทรนด์ ตองทำได้เรื่อยๆ มีศักยภาพที่จะโต นอกจากผมลงทุนในอาหาร ผมยังลงทุนในคน คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ สำคัญมาก คุณจะลงทุนในกองทุนฯ คุณต้องมีผู้บริหารที่ดี ผมว่าธุรกิจไม่ควรเน้นเอากำไรอย่างเดียว คุณต้องมีใจรัก ความซื่อสัตย์กับผู้บริโภค ถึงจะทำให้โปรดักต์ออกมาดี”

ขณะนี้ ออริจิ้น ฟู้ดฯ กำลังเจรจาติดต่อ อาหารไทย คาเฟ่ อาหารญี่ปุ่น อาหารจีน อเมริกันสไตล์ ทุกร้านมีความพิเศษในตัวเอง และจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

“ผมบอกได้ว่าเราจะไม่ลงอะไรที่พรีเมียม แพง หรือมิชลินสามดาว เพราะเราต้องการโปรดักต์ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า แต่มีคุณภาพ มีความแตกต่าง ก่อนเลือกเข้ามา เราต้องมองแล้วว่าเขาสามารถสร้างมูลค่าให้กับตลาดได้ เป็นความร่วมมือที่เราต้องช่วยกัน ถ้าเขาตายเราก็ลำบาก ลงเรือลำเดียวกัน เราไม่ทำแบบห้างฯ ซึ่งไม่มีความมุ่งมั่นแบบเรา ของเราต้องเป็นร้านที่ใช่ (the right fit) สำหรับออริจิ้นฟู้ด”

โดยพื้นที่ของ บมจ.ออริจิ้น ที่ร้านอาหารดังกล่าวจะเข้าไปเปิดบริการ เช่นทำเลย่านทองหล่อ, อารีน่าเทน, ซอยสุขุมวิท 24, ซอยอารีย์ เป็นอันดับแรกๆ แต่อาจจะไปลงพื้นที่อื่นก็ได้ เช่น ในห้างสรรพสินค้า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโปรดักต์กับพื้นที่

“ผมคิดว่า ‘การกิน’ คือการแชร์ความสุขให้กับคนอื่นๆ เวลาเรามีความสุข เราต้องแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่น ผมถึงบอก ว่าโมเดลในออริจิ้นฟู้ดของผม ไม่ใช่โมเดลที่คุณต้องทำเงินอย่างดียว เราพยายามสร้างความสุขให้ผูบริโภค คนที่เข้ามาอยู่ในเครือเราต้องมีกระบวนการทางความคิด(mindset)ที่ตรงกับปรัชญาออริจิ้นฟู้ด ไม่ใช่ต้องการรวยเป็นสิ่งแรก ถ้าคุณทำได้ดี เงินจะมาเอง”  คุณชวนท กล่าวและว่า

“แต่คุณต้องมีความคิด ว่าคุณต้องเป็นผู้ประกอบที่สุจริต ซื่อตรงกับผู้บริโภค พยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้บริโภคก่อน”

F1

ชวนท รัตตกุล

--------------

หมายเหตุ : ‘บรรยายรูป’ ถอดความจากคำบรรยายภาษาอังกฤษของ ชวนท รัตตกุล