เยือนคุกจิ๋งเหม่ย ประวัติศาสตร์ที่(ไม่น่า)ถูกลืม

เยือนคุกจิ๋งเหม่ย ประวัติศาสตร์ที่(ไม่น่า)ถูกลืม

ครั้งหนึ่ง “ไต้หวัน” จุดหมายท่องเที่ยวดาวรุ่งที่ทุกคนต่างมุ่งไปหา เคยผ่านโศกนาฎกรรมการเมืองนานถึง 38 ปี 57 วัน ภายใต้กฎอัยการศึกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้

“กลับไปที่บ้าน บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน”

เฉิน ชิน เชิน ชายชราผมขาววัยกว่าเจ็ดสิบปี บอกเราด้วยภาษาอังกฤษชัดถ้อยชัดคำ ใบหน้าที่ฝังรอยยิ้มใจดีตลอดเวลาเกือบหลอกลวงสายตาผู้ที่พบเห็นได้ว่า เบื้องหลังชีวิตที่ผ่านพ้นของเขา อาจไม่เคยแปดเปื้อนด้วยเรื่องราวแห่งความทุกข์ชนิดไหนมาก่อน

เขายังมีรอยยิ้มตลอดเวลาเกือบชั่วโมงที่ถ่ายทอดเรื่องราวจาก “อดีต” ในฉากหลังเดียวกับที่เคยจองจำชีวิตเขาในฐานะ “นักโทษการเมือง” ในเรือนจำแห่งหนึ่งห่างจากใจกลางกรุงไทเปแห่งไต้หวัน ที่ปัจจุบันได้รับการปรับเป็น Jing-Mei White Terror Memorial Park อนุสรณ์สถานที่เป็นส่วนหนึ่งของ Human Rights Cultural Park หรือ “อุทยานวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน” ที่พร้อมเปิดประตูกรงขังให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสกับหน้าประวัติศาสตร์ซ่อนเร้นที่ไม่เคยล่วงสู่สายตาคนภายนอกมาก่อน และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด

OOOOOOO

ไม่ใช่เพียงแค่ความไกลทางระยะทางจากตัวเมืองที่เปี่ยมด้วยสีสันอย่างไทเปเท่านั้น ที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ห่างไกลจากความสนใจของผู้มาเยือนต่างแดน แต่เป็นด้วยความไกลของเรื่องเล่าที่ไม่เคยเฉียดใกล้การรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ว่า

ครั้งหนึ่ง “ไต้หวัน” จุดหมายท่องเที่ยวดาวรุ่งที่ทุกคนต่างมุ่งไปหา เคยผ่านโศกนาฎกรรมการเมืองที่ยืนระยะยาวถึง 38 ปี 57 วัน เมื่อต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ และได้รับขนานนามว่าเป็นยุคแห่ง White Terror

คุกจิ๋งเหม่ย จึงเป็นสถานที่เปลี่ยนโฉมหน้าความทรงจำต่อประเทศนี้ว่า ไม่ได้มีแค่ชานมไข่มุก, ซิเหมินติ้ง, หรือตลาดกลางคืนชื่อดังเท่านั้น แต่ยังมีรสชาติของประวัติศาสตร์รสขมเหมือนยาชั้นดีที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “ความเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์” กลับบ้านไปด้วย

ตัวหนังสือภาษาจีนที่ทางเข้าคุกจิ๋งเหม่ย มีความหมายว่ายุติธรรมและถูกต้อง
- ตัวหนังสือภาษาจีนที่ทางเข้าคุกจิ๋งเหม่ย มีความหมายว่า ยุติธรรมและถูกต้อง -

อุทยานวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนจิ๋งเหม่ย ตั้งอยู่ในเขตซินเตี้ยนของนิวไทเป บนที่ดินกว้างกว่า 22.5 ไร่ที่เคยเป็นที่กักกั้นอิสรภาพของนักโทษการเมือง ซึ่งเกือบกว่าสี่ทศวรรษดังนั้นมีการคุมขังนักโทษการเมืองกว่า 1.4 แสนคน และในจำนวนนั้นมีถึง 3,000-4,000 คนที่ถูกประหารชีวิตในข้อหามีอุดมการณ์หรือการแสดงออกขัดแย้งกับพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้น

ไต้หวัน ภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค ประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2492 จนถึง 15 กรกฎาคม 2530 ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้บัญชาการ และเจ้าหน้าที่ทหารถือครองอำนาจสูงสุดในการควบคุมประเทศ รวมถึงการห้ามชุมนุมสาธารณะ และมีสิทธิในการสลายการชุมนุม ควบคุมอำนาจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงการเซ็นเซอร์การสอนในโรงเรียน และกำกับสื่อมวลชน รวมทั้งขยายวงไปขีดห้ามถึงการประกอบกิจกรรมทางศาสนา แม้กระทั่งระดับปัจเจกชน ยังถือสิทธิในการตรวจสอบจดหมายส่วนตัว, โทรเลข และบุกเข้าตรวจเคหะสถานได้ตามอำเภอใจ

สถานการณ์ที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงเลย หากเหลียวมองบริบทรอบข้างของสังคมไต้หวันปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ บรรยากาศของประชาธิปไตยที่เบ่งบาน ผู้คนที่เป็นมิตร แต่เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้คนยังมีรอยยิ้ม เบื้องลึกภายในอาจมีความแตกร้าวเมื่อคิดถึงประวัติศาสตร์ชอกช้ำอันเกิดจากการบั่นทอนสิทธิความเป็นมนุษย์ ถูกควบคุมภายใต้อำนาจของเผด็จการ

ผู้ที่ถูกผิดกฎหมายความมั่นคงตลอดเกือบสี่สิบปีนั้นจะถูกจับกุม, สอบสวน, ตั้งข้อหา, ไต่สวน, จองจำ และสูงสุดคือโทษประหาร และมีหลายคดีที่ถูกตัดสินโดยศาลเตี้ยผ่านหน่วยสืบราชการลับ ที่ภายหลังพบว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาดมาแล้ว เช่นเดียวกับกรณีของ เฉิน ชิน เชิน ที่ถูกกวาดต้อนเพียงเพราะเป็นเกี่ยวข้องกับองค์กรที่มีแนวโน้มต่อต้านพรรคก๊กมินตั๋งเท่านั้น

ในห้องสำหรับนักโทษพบญาติที่วันนี้ยังคงจำลองบรรยากาศแบบเดิมให้เห็น กระจกกั้นหลังลูกกรงที่มีเพียงโทรศัพท์สีดำเป็นตัวแทนส่งเสียงถึงกัน เป็นความใกล้ชิดหนึ่งเดียวที่นักโทษจะหาได้จากญาติสนิทมิตรสหายในเวลาเยี่ยมที่แสนจำกัด และยังต้องระมัดระวังการสื่อสารที่อาจมีผลต่อรูปคดีเมื่อมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์ใกล้ชิด

“เฉิน ชิน เชิน” ในฐานะอาสาสมัครอดีตนักโทษการเมืองชาวมาเลเซีย สะท้อนความทรงจำจากช่วงชีวิตสิ้นอิสรภาพสองช่วงที่เคยเกิดกับเขา คือที่คุกจิ๋งเหม่ยเป็นเวลาราวปีครึ่ง ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังเกาะ “กรีน ไอส์แลนด์” ทางตะวันออกของไต้หวัน ที่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็น “Green Island White Terror Memorial Park” ภายใต้อุทยานวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

กระจกกั้นหลังลูกกรงที่มีเพียงโทรศัพท์สีดำเป็นตัวแทนส่งเสียงถึงกัน
เป็นความใกล้ชิดหนึ่งเดียวที่นักโทษจะหาได้
จากญาติสนิทมิตรสหายในเวลาเยี่ยมที่แสนจำกัด

เวลาเกือบสิบปีที่ครอบครัวของเขาพยายามต่อสู้คดีจากนอกคุก ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็ได้พบกับแม่ที่มาเยี่ยมเป็นครั้งแรก แต่ด้วยการเป็นคนต่างชาติที่ขาดไร้ญาติมานาน เมื่อเจ้าหน้าที่เรือนจำมาเรียกเขาไปที่ห้องพบญาติ เขาจึงเกิดความระแวงหวาดกลัวขึ้นมาว่า ผลลัพธ์อาจไม่ใช่อย่างคิด ตราบเท่าที่การประหารนักโทษยังมีขึ้นต่อเนื่อง

“ผมลังเลที่จะเข้าไป เพราะเจ้าหน้าที่บอกเพียงให้แต่งตัวไปพบกับคนที่มาเยี่ยมโดยไม่บอกกล่าว ภาพแรกที่ผมเห็นแม่ เธอยืนอยู่ตรงนั้นด้วยร่างกายที่หดลีบเล็กลง เป็นแม่ที่แตกต่างจากรูปลักษณ์อันสง่างามที่อยู่ในความทรงจำของผมมาตลอด เราต่างนิ่งไป เจ้าหน้าที่ต้องกระตุ้นให้เธอรีบนั่งลงพูดคุย เมื่อผมจะเอ่ยปาก ได้รับการเตือนว่าการพูดของผมจะมีผลต่อคดีที่ติดตัวอยู่ เมื่อจนด้วยถ้อยคำใดจะอธิบายหลังจากไม่พบกันมากว่าแปดปี สิ่งเดียวที่ผมบอกกับแม่ว่า ‘ได้โปรดรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยครับ’ และแม่ก็ตอบมาด้วยประโยคเดียวกัน”

บรรยากาศของห้องพบญาติที่เต็มไปด้วยความอึดอัด

- บรรยากาศของห้องพบญาติที่เต็มไปด้วยความอึดอัด -

 

ในห้องใกล้เคียงกับห้องพบญาติ เป็นห้องที่เตรียมพร้อมสำหรับนักโทษประหาร นาฬิกาบนผนังบอกเวลาสี่นาฬิกา เฉิน ชิน เชิน บอกกับเราว่า เลขสี่ในภาษาจีนนั้นออกเสียงคล้องกับคำว่า “ตาย” และถูกใช้เป็นเวลาแห่งการประหารนักโทษผู้ซึ่งไร้โอกาสอยู่รอรับแสงอาทิตย์วันใหม่

ในบรรดารายชื่อที่สลักบนหินที่มีตัวเลขคริสต์ศักราชสีแดงฉานบนอนุสรณ์สถานอันบ่งบอกถึงวันที่พวกเขาเสียชีวิตลงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ และถูกลงโทษประหารภายในปีเดียวเท่านั้น บ่งบอกถึงความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อการจัดการผู้ที่เห็นต่างทางอุดมการณ์แบบถอนราก แม้ว่าเมื่อสื่อสารกับนานาชาติ รัฐบาลจะปฏิเสธอย่างแข็งขันมาตลอดว่าไม่เคยมีการจับกุมคุมขับนักโทษทางการเมืองแต่อย่างใด

ทว่าสำหรับผู้ที่ยังถูกกุมขัง การมีชีวิตอยู่ย่อมไม่ต่างจากการถูกทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจวันแล้ววันเล่า ในสภาพห้องขังที่แออัดในช่วงที่มีการกวาดล้างจับกุมสูงสุดในปี 2493-2496 นักต่อสู้ทางการเมืองต้องแออัดกันนับหลายสิบชีวิตในห้องแคบ และนักโทษหญิงต้องผลัดเปลี่ยนกันเข้านอนบนลังกระดาษที่ไว้ซับความหนาว เนื่องจากพื้นที่ไม่พอเพียง

นาฬิกาที่ถูกหยุดไว้ที่เวลาตีสี่ คำพ้องเสียงกับภาษาจีนว่า “ตาย”_1

- นาฬิกาที่ถูกหยุดไว้ที่เวลาตีสี่ คำพ้องเสียงกับภาษาจีนว่า “ตาย” -

นักโทษชายจะได้ออกกำลังกายที่ลานเพียงวันละ 15 นาที ขณะที่นักโทษหญิงที่อยู่ชั้นสอง จะไม่ได้รับโอกาสให้มาปะปนกัน และทำได้เพียงการออกกำลังกายที่โถงทางเดินของตัวเองหน้าห้องขังเท่านั้น

แม้กายจะอยู่ในที่คุมขัง สายตาไม่อาจสอดส่องสู่โลกภายนอก แต่ “เสียง” ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรง ในการส่งสารหลอกลอน และขับกล่อมนักโทษไปพร้อมๆ กัน ที่คุกจิ๋งเหม่ยมีพิกัดที่ตั้งแต่ใกล้กับโรงเรียน ทุกวันนักโทษจึงได้ยินเสียงแห่งชีวิตภายนอกที่มีเสรีภาพมากกว่าคอยทดสอบจิตใจ

เช่นเดียวกับคุกบนเกาะกรีนไอส์แลนด์ที่ เฉิน ชิน เชิน บอกว่า ตลอดหลายปีที่ต้องใช้ชีวิตที่นั่น เขาไม่เคยเห็นทะเลแม้แต่ครั้งเดียว ได้ยินเพียงแค่เสียงคลื่นสาดซัด จนกระทั่งวันที่เขาได้รับอิสระกลับคืนมา แล้วได้ไปเยือนเกาะแห่งนั้นอีกครั้ง จึงเพิ่งได้มองทะเลที่นั่นและค้นพบว่ามันสวยงามอย่างไร

เฉกเช่นเส้นทางชีวิตของ เฉิน ชิน เชิน เองที่ในที่สุดเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เหลือในไต้หวันต่อ แม้จะได้รับอิสรภาพมาแล้ว เพราะเขามองเห็นการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในประเทศ และเห็นแง่ความงามที่ผลิบานหลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึก

เฉิน ชิน เชิน ชี้ไปยังรายชื่อของตัวเองในฐานะที่เคยเป็นนักโทษ

- เฉิน ชิน เชิน ชี้ไปยังรายชื่อของตัวเองในฐานะที่เคยเป็นนักโทษ -

หลังจากดิ้นรนในการขอสัญชาติมาสามปีเต็ม เขาเริ่มต้นชีวิตด้วยการหางานใหม่ และใช้ประสบการณ์ภาษาอังกฤษที่ดีกว่าคนในท้องถิ่นไต่เต้าขึ้นสู่ระดับผู้จัดการฝ่ายขายอย่างรวดเร็ว รวมถึงทักษะภาษาจีนที่เขาเพิ่งได้รับจากการใช้ชีวิตในคุก

“ถึงตัวจะถูกขัง แต่ผมยังมีเวลาและอิสระเหลือเฟือทางความคิด นั่นอาจเป็นการมองในแง่ดีเท่าที่ผมทำได้ ผมได้อ่านหนังสือมากว่า 6,000 เล่มในนั้น แน่นอนว่ามีการเซ็นเซอร์หนังสือบางอย่าง แต่การอ่านสิ่งที่มี ก็พยุงจิตใจของผมไม่ให้พังครืนลงมาได้ คุณต้องหาอะไรทำสักอย่างเพื่อสภาพจิตตัวเอง ผมโชคดีที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี และส่ิงที่เกิดขึ้นหลังจากผมออกจากคุก ก็เป็นชีวิตที่ดีเหลือเชื่อจนเหมือนเป็นการชดเชยบางอย่างที่สูญเสียไป”

ทว่ากว่าจะก้มหน้ารับชะตากรรมวันนี้ เฉิน ชิน เชิน ยอมรับว่าช่วงแรกที่ถูกจับกุม และทรมานจากทหาร เขาคิดถึงการฆ่าตัวตายถึงสามครั้ง และจินตนาการหมุนวนในสมองถึงรูปแบบการตายที่เขาจะมอบให้ตัวเองเพื่อจบสิ้นความทรมานจากเหตุที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ในวันนี้ เขายอมรับสภาพ แม้กระทั่งความเจ็บปวดจากความสงสัยว่า เพื่อนสนิทของเขาอาจเป็นคนแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมตัวเขา เพราะทางการขณะนั้นตั้งค่าหัวไว้สูงลิบ แสดงความกระหายอย่างยิ่งยวดของรัฐบาลที่จะกวาดล้างผู้ที่คิดเห็นต่างในยุคแห่งความน่าสะพรึงดังกล่าว โดยคนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำทางความคิดต่างมีอาชีพการงานมั่นคง

ในวันนี้ เขายอมรับสภาพ
แม้กระทั่งความเจ็บปวดจากความสงสัยว่า
เพื่อนสนิทของเขาอาจเป็นคนแจ้งเบาะแส
ให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมตัวเขา

bmaseWqd

ในห้องหนึ่งในคุกจิ๋งเหม่ยที่จำลองห้องประจำของแพทย์ ยังคงเก็บรักษาสภาพของเครื่องมือต่างๆ ที่นายแพทย์ประจำเรือนจำใช้ ซึ่งนายแพทย์คนนั้นก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมเข้ามา แต่ได้รับการปฏิบัติต่างจากผู้อื่นเนื่องจากมีภารกิจของแพทย์เป็นเครื่องประกัน ในห้องนี้ยังมีแผ่นกระดาษใบหนึ่งติดไว้บนกระจก บ่งบอกถึงรายชื่อนักโทษในยุคหนึ่ง รวมถึงรายละเอียดอาชีพ, วันที่ถูกจับกุม, มาตราที่ถูกตั้งข้อหา, และข้อกล่าวหา รวมถึงจำนวนปีที่ถูกจองจำ

สิ่งที่บ่งบอกถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ขาดวิ่นได้เป็นอย่างดี คือคำอธิบายข้อกล่าวหาที่ไล่เรียงมาตั้งแต่การร่วมกระบวนการปลดแอก, วิจารณ์พรรคก๊กมินตั๋ง, การตีพิมพ์หนังสือฝ่ายซ้าย, การชี้เบาะแสจากเพื่อน และแม้กระทั่งการเปิดรับฟังการถ่ายทอดวิทยุจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เพียงพอต่อการสิ้นอิสรภาพถึง 7 ปี

รายชื่อแผ่นดังกล่าว เป็นตัวแทนแห่งสัญญาณของอิสรภาพ เพราะในยุคที่รัฐบาลปฏิเสธการมีอยู่ของเรือนจำแห่งนี้ต่อคนภายนอก เกิดกระบวนการลักลอบรวบรวมรายชื่อของนักโทษทั้งหมดเพื่อส่งออกมายังโลกภายนอก และสิ่งที่ดีที่สุดคือ รายชื่อจากบัญชีคนไข้ที่แพทย์ทำการรักษา และต่อมาเมื่อโลกภายนอกรับรู้ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนเริ่มเข้ามาสอดส่องและสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลในทศวรรษ 1960 ซึ่งรายชื่อดังกล่าวฟังดูคล้ายกับ Schindler's List ที่ช่วยเหลือชาวยิวจากค่ายกักกันของนาซีเยอรมนีอยู่ไม่มากก็น้อย

ปัจจุบัน เฉิน ชิน เชิน และอดีตเพื่อนร่วมเรือนจำ เข้ามาทำหน้าที่อาสาสมัครคอยบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือน และยืนยันการมีตัวตนในช่วงเวลาอันแสนเศร้าที่รัฐบาลในยุคนั้นพยายามเสแสร้งกลบเกลื่อนไม่ให้สายตานานาชาติสอดส่อง

ในหลายครั้งที่เขาพูดถึงบทบาทของตัวเอง แม้จะต้องถ่ายทอดความเจ็บปวดทอดซ้ำไปมานับพันครั้งในรอบเกินกว่าสิบปีที่มาเป็นอาสาสมัคร แต่เพียงคำขอเดียวคือ ขอให้ผู้ที่มาเยือนรับรู้และตระหนักถึงสิทธิที่มนุษย์พึงมีและเคารพต่อกันได้ วันเวลาของเขา ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันย่อมไม่เคยเสียเปล่าแน่นอน

เดินทางไปไต้หวันครั้งต่อไป ลองเลือกเส้นทางนอกเหนือจากรอยเดิม และรู้จักไต้หวันในมุมใหม่ๆ ที่แม้จะไม่สวยงาม แต่ทำให้เรียนรู้เส้นทางว่า ใครๆ ก็อาจก้าวข้ามวังวนแห่งชะตากรรมโศกสลดได้

..หากไม่จำนนต่อการถูกกดขี่ความเป็นมนุษย์โดยอำนาจที่ขีดกั้นเราไว้ในอาณาจักรแห่งความกลัว