ฝุ่นใต้พรม PM 2.5

ฝุ่นใต้พรม PM 2.5

ภายใต้การรับรู้ คือ ความไม่รู้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยู่เบื้องหลังบรรยากาศฝุ่นตลบ

ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นละอองที่น่าเป็นห่วง ระหว่างที่คนกำลังตื่นตระหนกกับตัวเลขในแอพพลิเคชันวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ หรือกำลังเสิร์ชหาแหล่งขายหน้ากาก N95 มารับมือกับฝุ่น PM 2.5 หลายคนรู้แล้วว่ามลพิษที่ตนกำลังเผชิญทำให้แสบตา แสบจมูก แสบคอ และบางคนรู้แล้วว่าอันตรายของฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนี้ร้ายแรงเหลือเกิน

แต่เชื่อเถิดว่ากลางดงข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ความตื่นตระหนก ทว่ายังมีความไม่รู้อีกหลายประการ ที่จะพาคุณไปรู้

 

  • พืชพรรณในม่านฝุ่น

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ได้มีผลกระทบกับแค่คน แต่กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ลดน้อยลง จึงมีผลต่อพืชที่ต้องสังเคราะห์แสง

“การที่ความเข้มแสงอาทิตย์ลดลงเรายังไม่รู้ว่ามีผลกระทบถึงขนาดไหน แต่มีแน่นอน เพราะพืชผลสังเคราะห์แสงได้น้อยลง นั่นหมายความว่าพืชกินอาหารได้น้อยลง”

ศ.ดร.เสริม อธิบายเพิ่มเติมว่า พืชผลการเกษตรบางชนิดไวต่อแสงมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ที่ต้องปลูกที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อแสงอาทิตย์ลดความเข้มลงต่อไปทุ่งกุลาร้องไห้อาจไม่มีข้าวหอมมะลิดีๆ ก็เป็นได้ ถึงเรื่องนี้อาจารย์บอกว่ายังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ชัดเจน แต่มั่นใจได้ว่ามีผลกระทบแน่นอน

“ผมวัดมา 20 กว่าปี พบแนวโน้มว่าความเข้มแสงอาทิตย์ลดลง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อคำนวณย้อนกลับพบว่าเป็นผลจากฝุ่นละออง หากมีมากๆ จะไปบดบังแสงไม่ให้ลงมา หากลดลงเพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ อาจส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง

ทั่วไปแล้ว พืชต้องสังเคราะห์แสง ถ้าแสงเปลี่ยนไป มันกระทบกระเทือนต่อพืช แต่กระทบแค่ไหนต้องวิจัยกันต่อไป ซึ่งผมเป็นคนทำงานด้านฟิสิกส์จึงดูระดับแสง พอระดับแสงลดลงก็รู้สึกกังวลใจ ถ้าจะให้ลึกต้องทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยด้านเกษตร แต่ผลกระทบก็คงไม่ถึงขั้นพืชชนิดนั้นกลายพันธุ์หรือสูญพันธุ์ แต่ปริมาณจะลดลงแน่นอน”

นอกจากนี้เขายังบอกว่าพฤติกรรมของคนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมเผาป่าและเศษวัสดุการเกษตร ทำให้เกิดฝุ่นละออง (aerosol) ที่ดูดกลืนแสงอาทิตย์

แม้ประเด็นนี้จะไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงต่อคนในบริบทสุขภาพ เช่น มีอาการผิดปกติทางร่างกาย แต่ในแง่ความมั่นคงทางอาหารเรากำลังถูกฝุ่นละอองคุกคาม ยังไม่นับเรื่องการเพาะปลูกเพื่อการค้าที่จะได้ผลผลิตน้อยลง รายได้น้อยลง

ยิ่งไปกว่านั้นภาคการส่งออกอาจสั่นคลอน จากความเข้มของแสงที่ลดลงก็เป็นได้

50328003_2116810398377761_5149829576481832960_o

  • ฝุ่นร้าย ตายแน่นอน

อีกหนึ่งงานวิจัยที่ไม่ได้ตั้งใจให้ตื่นตระหนก แต่เตือนว่า ‘อย่าวางใจฝุ่นจิ๋ว’ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัด วิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ามลพิษในอากาศจาก PM 2.5 อันตรายร้ายกาจ เพราะส่งผลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งวันตาย และไม่ใช่แค่อาการเจ็บป่วยธรรมดา อย่างแสบตา แสบจมูก แสบคอ แต่ถึงตายได้เลยทีเดียว!

ฝุ่นละอองทั่วไปจะมีอนุภาคขนาดเล็ก คือเล็กกว่า 10 ไมครอน สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ แต่ฝุ่นที่กำลังปกคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่อีกหลายเมือง มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที ทั้งสองชนิดส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละออง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต (ที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ อาชญากรรม และการฆ่าตัวตาย ) 0.6 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นการตายจากโรคระบบทางหายใจ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือ 1.3 เปอร์เซ็นต์ และในระยะยาวอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นพ.ชายชาญ ยังเปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อ 2 ปีก่อนที่เขาใช้เป็นพื้นที่ศึกษาว่า ระหว่างที่มีปัญหาหมอกควันช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2559 และ 2560 โรงพยาบาลเชียงดาว มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน 950 ราย สาเหตุจากโรคถุงลมโป่งพอง 360 ครั้ง ปอดอักเสบ 319 ครั้ง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 30 ครั้ง โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 221 ครั้ง เสียชีวิตในโรงพยาบาล 68 ราย นอกจากนี้ยังมีเสียชีวิตในชุมชนถึง 477 ราย ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่าระดับมลพิษที่เข้มข้นขึ้นนั้นสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพในระดับรุนแรง

“ทางสถิติพบว่า การเสียชีวิตรายวันในโรงพยาบาล สัมพันธ์กับระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุกๆ 10 ไมโครกรัม อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 0.15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM 10 และ PM 2.5 สัมพันธ์กับการนอนโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ในปี 2549-2552 ผมได้ศึกษาในตัวเมืองเชียงใหม่ ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่ๆ พบว่าคนไข้ที่เป็นหอบหืดกับถุงลมโป่งพองกำเริบมากขึ้นในช่วงนี้”

ในต่างประเทศก็มีงานวิจัยคล้ายกัน และผลวิจัยก็น่าตกใจคือ ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ PM 2.5 เพิ่มขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด 8-14 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคปอดเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์

และจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ถ้าค่าเฉลี่ยทั้งปีมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตรายแล้ว ขณะที่ของประเทศไทยมองต่างออกไป โดยกำหนดไว้ว่า ถ้าค่าเฉลี่ยทั้งปีมีฝุ่น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงจะเป็นอันตรายต่อชีวิตคน

นอกจากนี้ ศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า “เครื่องวัดฝุ่นละอองของผมมันบอกว่าสถานการณ์กำลังแย่ ขนาดที่นครปฐมยังแย่ แล้วกรุงเทพฯจะแค่ไหนลองคิดดู ฝุ่นเหล่านี้มาจากการเผาไหม้ของชีวมวลต่างๆ แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือเครื่องวัดซึ่ง NASA มาตั้งไว้ที่ผม มันบอกว่า ปกติชั้นฝุ่นละอองมัน 2 กิโลเมตร แต่ที่นครปฐมที่ผมวัดได้มันลดลงเหลือ 1 กิโลเมตร แสดงว่าเรากำลังจมอยู่ในฝุ่นละออง ฝุ่นละอองมันบีบอัดมาที่พื้น และลมมันนิ่งมากเลย”

50650244_2116810345044433_7661083236327489536_o

  • โรงไฟฟ้าอภิมหาฝุ่น

เห็นความร้ายกาจของฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วบางคนก็นึกหวั่น แต่คงอดสงสัยไม่ได้ว่าฆาตกรขนาดจิ๋วนี้มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากไหน ทำไมอยู่ดีๆ ก็มาแผลงฤทธิ์กันช่วงนี้

อันที่จริงมีข้อมูลจากทั้งภาครัฐและสื่อต่างๆ บ้างแล้วว่า PM 2.5 เกิดจาก 1.การเผาไหม้เครื่องจักร เครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า สังเกตได้ว่าฝุ่นจะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลัง 1 ทุ่มที่คนเริ่มขับรถกลับบ้านไปจนถึงช่วง 11 โมงเช้า 2. ฤดูหนาวหรืออากาศที่เย็นและแห้งส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง สังเกตได้ว่าตอนเช้า หรืออากาศเย็นๆ ฝุ่นจะเยอะกว่าปกติ โดยฝุ่นจะเยอะในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. นอกจากนี้ถ้าอากาศตายหรือลมไม่พัด ฝุ่นก็จะลอยตัวไม่ไปไหน

ทว่าอีกเรื่องที่ภาครัฐเลี่ยงจะพูดถึงทั้งที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นละออง คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะนอกจากฝุ่นละอองแขวนลอยรวม (Total Suspended Particulate Matters-TSP) ไม่มีที่ใดในรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ยกตัวอย่างที่กระบี่และเทพา) ที่อธิบายเรื่องการควบคุม PM 2.5 และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM 2.5 แม้แต่น้อย

ในรายงานที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ greenpeace.org ระบุว่าประเทศอินเดีย การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ชัดเจนว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นผลมาจากการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือในสหรัฐอเมริกาก็มีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจาก PM 2.5 ในแง่ของมลพิษที่กระจายในระยะทางไกล หรือการศึกษาการก่อตัวของ PM 2.5 ขั้นทุติยภูมิอันเป็นสาเหตุของหมอกควันพิษในปักกิ่งของจีน ก็ชี้ว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินคือต้นเหตุหลัก เป็นต้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศทั่วไปขึ้น เพื่อยกระดับการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

จากรายงานพลังงานของประเทศไทย 2549 โดยกระทรวงพลังงาน, รายงานโครงการติดตามและประเมินสถานการณ์การเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย 2548 โดยกรมควบคุมมลพิษ และ ระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงในประเทศไทย 2537 โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 รองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งนำไปสู่เกิด PM 2.5 จากกระบวนการทางเคมีในบรรยากาศที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น

ในประเทศมาเลเซียมีการศึกษาเรื่อง PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung ที่ใช้เทคโนโลยี ultra super critical และผลกระทบด้านสุขภาพ พวกเขาพบฝุ่นละอองที่ร่างกายรับเข้าไปจากการหายใจอย่าง PM 2.5 ที่ปล่อยออกมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดโดย USEPA จากการวัดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2554 เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 แม้ว่าอุตสาหกรรมถ่านหินจะทุ่มเงินโฆษณาถ่านหินสะอาดและเทคโนโลยีการดักจับเพื่อลบล้างผลกระทบดังกล่าวและตัดตอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเถ้าถ่านหิน แต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงมีและไม่มีวันที่จะทำให้มลพิษเป็นศูนย์ได้

จากสิ่งไม่รู้หรือแค่ถูกทำให้มองข้าม ถึงเวลาแล้วที่จะตาสว่าง รู้แล้วช่วยกันแก้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องฝุ่นเข้าตา แต่เป็นปัญหาที่หนักหนาถึงตาย