วันหนึ่ง ‘หมอ’ เดินเข้าป่า 

วันหนึ่ง ‘หมอ’ เดินเข้าป่า 

ประสบการณ์เดินดอยของคุณหมอนางงาม ที่ทำให้ได้รู้ซึ้งว่า เรียนหมอมาเพื่ออะไร

เห็นสวยๆ แถมพกดีกรีนางงามมาด้วยแบบนี้ ใครจะคิดว่า ‘หมอเพื่อน’ แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี จะเป็นขาลุย บุกป่าฝ่าดง โดยที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ “เดินดอย” เข้าไปรักษาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลในฐานะแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) มาแล้วสามครั้ง

เธอเล่าให้กับ ‘จุดประกาย’ ฟังว่า จากการออกทริปเดินดอยที่ผ่านๆ มา ได้ทำให้นึกถึงคำสอนของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่กล่าวว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษเปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง” ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้ว โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณหมอเจ้าของตำแหน่งรองนางสาวไทย ประจำปี 2552 ได้มีข่าวดีสองข่าวซ้อนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

หนึ่งคือ ความภาคภูมิใจจากการเข้ารับรางวัล “อาสาสมัครดีเด่น ปี 2561” จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และถัดมาไม่กี่วัน ก็ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายและถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในอาชีพการงานของเธอ นั่นคือบทบาทใหม่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 ที่เปิดตัวหลังจากนั้นไม่กี่วัน

S__24076365

ในวันเปิดตัวศูนย์ดังกล่าว คุณหมอเพื่อนได้คุยกับจุดประกายเกี่ยวกับประสบการณ์ในฐานะ “หมอกระเป๋าเขียว” โดยเล่าว่า ในตอนที่เธอร่วมประกวดนางสาวไทยนั้น ได้รู้จักกับพี่คนหนึ่งซึ่งร่วมเดินป่ากับ พอ.สว. อยู่แล้ว พอได้ฟังเรื่องราว คุณหมอสาวไฟแรงจึงสนใจ อยากจะไปบ้าง และนั่นคือครั้งแรกของการเข้าร่วมโครงการแพทย์เดินเท้า และปฏิบัติงานครั้งแรกที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ถ้าเราอยู่ที่กรุงเทพฯ คำว่า หมอคือเทวดา
หมอคือพระเจ้า มันสัมผัสยากมาก
แต่พอไปอยู่ที่นั่น มันทำให้เราได้รู้ว่า
ความเป็นหมอมันยิ่งใหญ่มาก

  S__24076362

“ปกติเป็นคนชอบลุยๆ อยู่แล้ว แล้วยิ่งพอฟังหมอรุ่นพี่เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับก็ยิ่งสนใจ เพราะคนที่อยู่ข้างบนเนี่ย เขาคือคนไข้จริงๆ คือ ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ทำคลอดก็ผ่ากันตรงนั้นเลย ผ่าด้วยมีดที่ไม่มีด้ามนะคะ เราต้องทำทุกอย่างด้วยอุปกรณ์ที่มีอย่างจำกัดเพื่อรักษาเขา” เธอเล่า

เพราะการออกทริปหนึ่งครั้ง กินเวลาร่วมสองสัปดาห์ ทีมแพทย์ต้องดูแลรักษาชาวบ้านได้รวมๆ เกือบสองพันคนหรือเฉลี่ยวันละร้อยกว่าคน แถมต้องเดินทางย้ายหมูบ้านไปเรื่อยๆ เหนื่อยแสนเหนื่อย เส้นทางก็ทุรกันดาร พร้อมจะเสียเลือดให้ทั้งเส้นทางที่ลื่นชัน และทากที่มีอยู่ตลอดทาง เนื่องจากเป็นหน้าฝน

“ที่เราต้องเดินทางหน้าฝน ก็เพราะนี่คือช่วงที่ชาวดอยเขาไม่ลงมาข้างล่างเพราะเส้นทางมันลำบากมาก ถ้าเจ็บป่วยกว่าจะลงมา อาจเสียชีวิตก่อนจะถึงก็ได้ เราจึงต้องขึ้นไปหาเขา มีเป้ไปใบเดียว เดินข้ามเขา 3 ลูกเพื่อเจอหนึ่งหมู่บ้าน ใช้เวลาครึ่งวันในการเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ได้ใช้ทุกอย่างที่เรียนมาจากความเป็นแพทย์ทั้งหมด” 

เธอบอกว่า ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินดอยนั้น เรียกได้ว่า หาไม่ได้จากการนั่งสวยๆ ตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลในเมืองหลวงอย่างแน่นอน

“เราทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ก็จะเห็นแต่การตรวจที่เพียบพร้อม คนไข้ก็คนละแบบกันต่างจากคนไข้ที่โน่นมาก นั่นคือคนไข้จริงๆ ที่ทำให้เรารู้ว่า เราเป็นหมอเพื่ออะไร เพื่อช่วยคนให้เขาพ้นทุกข์จริงๆ

ถ้าเราอยู่ที่กรุงเทพฯ คำว่า หมอคือเทวดา หมอคือพระเจ้า มันสัมผัสยากมาก แต่พอไปอยู่ที่นั่น มันทำให้เราได้รู้ว่า ความเป็นหมอมันยิ่งใหญ่มาก หมอเป็นผู้ช่วยชีวิตเขาได้จริงๆ เพราะถ้าเราไม่ได้ไปพบเขา ก็ถึงเสียชีวิตเลยนะคะ บางคนเป็นหนองที่ก้นสองลิตร ถ้าเราไม่เอาออก นั่นคือติดเชื้อแล้วก็ตายได้เลย บางเคสเป็นหอบหืด เดินทางมาหาหมอไม่ได้ เราต้องไปหาเขา แล้วชาวบ้านก็จะหอบหิ้วเอาผลไม้อะไรต่ออะไรมาให้ น่ารักมาก”

S__24076363

นอกจากผลไม้ที่ได้รับจากชาวบ้านซึ่งสร้างความชุ่มชื่นหัวใจจากการได้เป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนแล้ว เธอบอกว่า วิวพันล้านของอมก๋อย คือ รางวัลที่ได้รับจากความเหนื่อยยาก เพราะเส้นทางถือว่าลำบากมาก ขนาดผู้ร่วมทางตกเขาจนบาดเจ็บไปก็มี

“อมก๋อยนี่คือสวยมาก สวยที่สุดในชีวิต แต่ภาพที่ดีที่สุดหลังจากเดินขึ้นไป ซึ่งตอนนั้นคือเหนื่อยมาก แต่พอได้เห็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดไว้ที่ข้างฝา นั่นแปลว่า ท่านเคยมาที่นี่แล้ว คือ สุดยอดมาก เพราะเรามาลำบากขนาดนี้ แต่ท่านเคยไปเหยียบมาหมดแล้ว เป็นความรู้สึกที่เราพร้อมไปต่อ ไม่กลัวอะไรอีกแล้ว” หมอเพื่อนกล่าว

และยืนยันว่า จะยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไป โดยที่แพลนแล้วแน่ๆ คือ ฝนนี้เธอจะกลับไปที่อมก๋อยอีกครั้งอย่างแน่นอน

ส่วนอีกหน้าที่ในฐานะผอ.ศูนย์ชะลอวัย ที่รพ.พญาไท 2 นั้น ถือเป็นหมวกอีกใบที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ที่มองว่า เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นเรื่องสวยๆ งามๆ แต่ที่จริงแล้ว เธอบอกว่า มันคือการดูแลร่างกายเพื่อให้มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพต่างหาก

“เวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การดูแลร่างกายให้อายุยืนอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ทำให้หน้าเด็กนะคะ แต่เซลล์ข้างในต้องเด็กด้วย เราต้องดูที่รายละเอียดชีวิต ไปจนถึงระดับเลือดระดับเซลล์กันเลย”

ภาวะต่อมหมวกไตล้า หรือ โรคเสพติดความเครียดเรื้อรัง 
เป็นอีกหนึ่งโรคฮิตของวัยทำงาน
ซึ่งหากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลจนเป็นโรคซึมเศร้าได้

ว่าแล้ว คุณหมอเพื่อนก็ได้ฝากคำแนะนำที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือน วัยทำงานทั้งหลาย ในการดูแลร่างกายเบื้องต้นเพื่อให้มีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ โดยหลายๆ อย่างเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนเข้าใจผิด เช่น การดื่มน้ำที่บอกต่อๆ กันมาให้ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้วนั้น หมอเพื่อนบอกว่า แค่นั้นไม่พอ เพราะจะให้ดี เราควรดื่มน้ำที่มีความเป็นด่าง

Anti Aging Center-1-16

“น้ำ PH ที่ดีสำหรับร่างกาย คือ ความเป็นด่าง ทุกครั้งที่ร่างกายเกิดการเผาผลาญ ทุกครั้งที่เรากินอาหาร ร่างกายจะเกิดความเป็นกรด แล้วร่างกายก็จะทำงานหนักมากขึ้น เราจึงต้องกินน้ำที่เป็นด่าง เพื่อช่วยลดความเป็นกรดลง ร่างกายก็จะสบายตัวขึ้น การทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆ ของร่างกายจะทำงานดีขึ้น แล้วน้ำด่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือน้ำแร่นี่แหละค่ะ บางคนอาจกลัวว่า ดื่มน้ำแร่มากๆ ทำให้เกิดแคลเซียมสะสมหรือเป็นโรคไต แต่ที่จริงแล้วยังไม่มีเอกสารวิชาการไหนยืนยันแบบนั้นเลย” เธออธิบาย

และคุ้นๆ กันบ้างไหมกับ อาการไม่สดชื่น ตื่นมาตอนเช้าไม่อยากไปทำงาน พอมาถึงก็ง่วงเหงาหาวนอน ต้องดื่มกาแฟตลอดเวลา แต่ตกกลางคืน ตาสว่าง ไม่อยากนอน 

..มันไม่ใช่โรคขี้เกียจอย่างที่หลายคนเข้าใจ สำหรับใครที่มีอาการอย่างที่ว่ามา ขอให้รู้ไว้ว่า คุณอาจมีภาวะ “ต่อมหมวกไตล้า” ก็เป็นได้ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการต่อมหมวกไตล้าก็คือ “ความเครียด”

คุณหมอเพื่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า 

“ร่างกายเรามีฮอร์โมนทั้งเครียดกับไม่เครียด เครียด คือ คอร์ติซอล เราต้องมีความเครียด ไม่งั้นถ้าไฟไหม้เราก็นั่งให้ไฟเผา ร่างกายจึงต้องตื่นตัว ต้องไป ต้องหนี ต้องยกโอ่ง ฯลฯ แต่อีกขาหนึ่งที่คานไว้ คือ DHEA ซึ่งจะช่วยคุมเรื่องความสมดุลของฮอร์โมน เป็นตัวตั้งต้นของฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย เป็นตัวช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ป่วยบ่อย มีความสดชื่น ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ดี โดยการสร้างบาลานซ์ของฮอร์โมนสองตัวนี้จำเป็นมากในวัยทำงาน และถ้า DHEA ต่ำเมื่อไหร่ก็มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้ หรืออาจส่งผลให้เป็นผื่นภูมิแพ้ อักเสบ เป็นหวัดบ่อย เป็นต้น” 

นั่นคือสาเหตุของภาวะต่อมหมวกไตล้า หรือที่เรียกว่า โรคเสพติดความเครียดเรื้อรัง ซึ่งมีอาการดังที่ว่ามาข้างต้น และเป็นอีกหนึ่งโรคฮิตของวัยทำงานเพียงแต่หลายคนอาจไม่ทราบว่ากำลังเป็น ซึ่งหากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลจนเป็นโรคซึมเศร้าได้

ทั้งนี้ เราสามารถช่วยสร้างความสมดุล เพิ่มฮอร์โมน DHEA ได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ เช่น การเล่นโยคะ ไทชิ หรือจะดียิ่งกว่าถ้าทำสมาธิ หรือการทำ Meditation 

“ใช้เวลาไม่ต้องมากก็ได้ค่ะ แค่ 10-15 นาทีต่อวัน ทำในสิ่งที่ชอบ ที่เป็นกิจกรรมที่เราสามารถจดจ่อได้ เช่น วาดรูป ถักโครเชต์ ปลูกต้นไม้ ก็สามารถช่วยดึงให้ DHEA เพิ่มขึ้น ช่วยปรับให้ต่อมหมวกไตไม่ล้า เราจะมีความสุขมากขึ้น” หมอเพื่อนแนะนำ

พร้อมกันนี้ก็ต้องอย่าลืม “อาหารดี ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และพักผ่อนมีคุณภาพ” ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลสุขภาพของเราให้ดีได้