เตรียมตัวรับมือพายุหมุนเขตร้อน

เตรียมตัวรับมือพายุหมุนเขตร้อน

พายุ "ปาบึก" ที่กำลังเคลื่อนตัวลงอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลให้บริเวณโดยรอบเกิดฝนตกหนัก และเสี่ยงเกิดน้ำท่วม ควรพร้อมเตรียมการรับมือ

นอกจากความประหวั่นพรั่นพรึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากพายุ ปาบึก จากคำเตือนของหลายๆ ฝ่ายแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญสำหรับใครที่อยู่ในแนวคาดว่าพายุจะพัดผ่าน หรือภายใต้รัศมีของพายุ ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคำแนะนำจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถทำได้โดยปฏิบัติดังนี้

เตรียมตัวรับมือพายุหมุนเขตร้อน

  • ติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนภัย ให้เตรียมพร้อม รับมือและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเพิ่มที่ค้ำยันหรือใช้ไม้ตีตะปูปิดตรึงประตู และหน้าต่างที่ไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันแรงลมพัดบ้านเรือนเสียหาย
  • จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหาย และได้รับอันตรายจากสิ่งของปลิวกระแทก
  • สำรวจสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการล้มทับ
  • ปิดประตูกับหน้าต่างทุกบานให้สนิท และพยายามอยู่ห่างหน้าต่างเอาไว้
  • หากต้องเดินทางออกนอกบ้านให้สังเกตสภาพฟ้าอากาศอย่างต่อเนื่อง เช่น ฝนตก ฟ้ามืด หรือลมแรงผิดปกติ เพราะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพายุฝนกำลังจะเคลื่อนเข้ามา
  • กรณีมีฟ้าผ่าลงมาบริเวณใกล้เคียง ให้นั่งยอง ๆ เท้าชิด ก้มหน้าซุกระหว่างเข่า มือปิดหูหรือจับเข่าไว้ แม้ท่านี้จะช่วยป้องกันจากอุบัติเหตุไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในเมื่อโดนฟ้าผ่าได้
  • หากไม่สามารถหลบออกไปจากสถานที่เกิดเหตุให้อยู่ในที่พักจนกว่าเหตุการณ์ลมพายุจะสงบ และได้รับแจ้งว่าเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เพราะเมื่อพายุหมุนเขตร้อนผ่านเข้ามาลักษณะอากาศจะเลวร้าย มีพายุ ฝนฟ้าคะนอง แต่หากตาพายุหมุนเขตร้อนผ่านมา ท้องฟ้าจะแจ่มใส อากาศดี จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และเมื่อด้านหลังของพายุมาถึงสภาพอากาศก็จะเลวร้ายลงไปอีกและมีความรุนแรงมากกว่าเดิม

5 สิ่งจำเป็นรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • อุปกรณ์ส่องสว่าง อาทิ ไฟฉาย ไฟแช็ค เทียน เป็นต้น
  • น้ำดื่ม / อาหารแห้ง
  • ยารักษาโรคที่จำเป็น
  • อุปกรณ์สื่อสาร / เบอร์ฉุกเฉินสำหรับแจ้งเหตุในพื้นที่
  • สติ ในการติดตามข้อมูลข่าวสาร คัดกรองข่าวลือ จากข้อเท็จจริง

การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับครัวเรือน

- เครื่องมือประเภทเลื่อยยนต์ ขวาน และเชือก เพื่อตัดต้นไม้ที่ล้มขวางถนน

- เตรียมเรื่องไฟฟ้า-แสงสว่าง อาทิ ไฟฉาย เทียนไข ไม้ฟืน เครื่องปั่นไฟ กรณีไฟดับ

- เตรียมพลังงาน อาทิ แก๊ส ไม้ฟืน ถ่าน เพื่อหุงหาอาหาร

- เตรียมอาหารแห้งสำหรับ 5-7 วัน กรณีมีเด็ก ให้เตรียม นม ผ้าอ้อม กรณีมีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ให้เตรียมยา และวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย และผู้สูงะอายุ

- เตรียมความพร้อมระบบสื่อสาร ชาร์ตแบตวิทยุสื่อสาร และวิทยุทรานซิสเตอร์

- ช่วงพายุเข้า กรณีผู้อาศัยในบ้านชั้นสอง ให้ย้ายลงมาอยู่ชั้นล่าง ถ้าอยู่บ้านชั้นเดียวให้ระวังกระเบื้องมุงหลังคา

- ถ้าบ้านเรือนไม่มั่นคงให้ไปอาศัยบ้านญาติ หรือศูนย์พักพิงที่ชุมชน หรือราชการจัดเตรียมไว้

- สัตว์เลี้ยง พาหนะ ตลอดจนเครื่องมือการเกษตรให้เคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย

- กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บให้แจ้งผู้นำชุมชน และอาสาสมัครในพื้นที่

- ติดตามข่าวเฝ้าระวัง อย่างตระหนัก แต่ไม่ตระหนก

ที่มา : ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจ.นครศรีธรรมราช