ชีวิตช้าๆ ปลายนา'เลอเวือะ'

ชีวิตช้าๆ ปลายนา'เลอเวือะ'

ข้างหลังภาพนาขั้นบันไดในหุบเขา คือเรื่องราวอันงดงามของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่น้อยคนนักจะรู้จัก

นาขั้นบันไดลดหลั่นไปตามลาดเขา ต้นข้าวไหวเอนล้อสายลมอ่อนของเดือนพฤศจิกา ฉันเดินลัดเลาะไปตามคันนาที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้ากว้าง เสียงพูดคุยเบาๆ ดังแทรกในความเงียบ...

หลังรวงข้าวสีเหลืองทอง สองมือของชายหญิงในชุดแปลกตา ค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ เกี่ยว นี่คือผืนนาแปลงสุดท้ายของฤดูกาลนี้ ทว่าวิถีชีวิตยังดำเนินต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมา

  DSC08907

ละเลียดเวลา บ้านป่าแป๋

คงเป็นอีกเช้าที่หมอกบางๆ แวะมาทักทายหมู่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาของกลุ่มชาติพันธุ์เลอเวือะ ที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า ‘ลัวะ’ มากกว่า แต่ถ้าถอดเสียงจากเจ้าของภาษา ‘เลอเวือะ’ ดูจะใกล้เคียงที่สุด

นาขั้นบันได ไร่หมุนเวียน คือเสน่ห์อันเรียบง่ายของวิถีที่หาอยู่หากินตามครรลองของธรรมชาติ ลงนาเมื่อฝน เก็บเกี่ยวเมื่อเข้าหน้าหนาว ชาวบ้านที่นี่ยังรักษาประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษ ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง พิธีเลี้ยงผีให้ช่วยดูแลข้าว ทำขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยว เลี้ยงผีประจำหมู่บ้านก่อนกินข้าวใหม่ร่วมกัน

DSC09240

ทุกความเชื่อล้วนสืบทอดต่อกันมาเพื่อรักษาวิถีการผลิตแบบพอเพียง พึ่งพาดินน้ำป่าอันเป็นทรัพยากรต้นน้ำ เชื่อมโยงวัฒนธรรม ภาษาและอาหารพื้นถิ่น กลายเป็นหมุดหมายที่หลายคนอยากมาเรียนรู้อยู่ร่วม และกลายเป็นที่มาของ ‘โครงการวิจัยการจัดการท่องเที่ยววิถีชาวนา ในบริบทของชุมชนชาวละเวือะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน’ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อีกสองหมู่บ้าน คือ บ้านดงและบ้านละอูบ ในอำเภอแม่ลาน้อย 

"ถึงเราจะทำในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่สุดท้ายเราไม่ได้มองเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเป้าหมาย เรื่องของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ว่าสุดท้ายมันจะไปได้แค่ไหน แต่ในช่วงของกระบวนการเรามองเห็นว่าน่าจะสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพราะว่าเป้าหมายของหมู่บ้าน นอกจากคนจะมาถ่ายรูปนาขั้นบันได ถ่ายคนแต่งตัวชุดเลอเวือะ อยากให้เขาได้รับรู้ว่าวิถีชีวิตของชาวเลอเวือะเป็นอย่างไร ต่างจากลาหู่หรือปกาเกอะญออย่างไร การท่องเที่ยวน่าจะเป็นอันหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสสื่อสารกับคนภายนอกให้เข้าใจ ให้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ มากขึ้น” ธนันชัย มุ่งจิต หัวหน้าโครงการวิจัยฯ บอกถึงที่มาของการเดินทางมาเยือนชุมชนแห่งนี้

DSC09590

ชาวเลอเวือะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน แม้จะมีประชากรไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นแต่พวกเขาก็เชื่อว่าตนเองเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่ตั้งเป็นรัฐก่อนการเกิดของอาณาจักรล้านนา มีภาษา วัฒนธรรม และการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์

เย็นย่ำวันนั้นผู้เฒ่าผู้แก่และหนุ่มสาวชาวเลอเวือะ ต้อนรับเราด้วยอาหารจานเด็ด ‘สะเบื๊อก’ เมนูที่ปรุงเนื้อสัตว์สับแล้วคั่วให้สุก คลุกเคล้ากับส่วนผสมอย่างพริกสด ตะไคร้ หอม กระเทียม รากผักชีสับละเอียด รสชาติก้ำกึ่งระหว่างลาบกับยำ กินเข้ากันกับ ‘เฮงาะเลอทิญ’ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านปลูกและสีกันเอง

อิ่มหนำแล้วเรายังสำราญต่อกันกับการขับลำนำบทกวีที่เรียกว่า ‘เลอซอมแล’ ที่มักใช้ในงานแต่งงาน การเกี้ยวพาราสี รวมไปถึงการสร้างบ้านเรือนและการทำไร่ แม้จะฟังไม่รู้ความ แต่ด้วยสำเนียงและท่วงทำนองก็ฟังเพลินไม่น้อย ผู้เฒ่าบอกว่าทุกวันนี้หาคนร้องได้ยากแล้ว แต่ก็พยายามจะรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ขับขานบอกกล่าวเรื่องราวชาวเลอเวือะต่อไป

ค่ำคืนที่ไร้ดาว เราเข้านอนในบ้านอันแสนอบอุ่นของพี่สาวใจดีที่เป็นหนึ่งในสมาชิกโฮมเสตย์บ้านป่าแป๋ ...ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม พร้อมสำหรับผู้มาเยือน แอร์ธรรมชาติเย็นกำลังดี ไม่นานทุกเสียงก็เงียบไป ก่อนจะถึงเช้าวันใหม่ที่เต็มไปด้วยความสดชื่น

  DSC09056

ชีวิตหลากสีที่บ้านละอูบ

สร้อยลูกปัดสีสดใสกับเครื่องเงินชุดใหญ่ทั้งสร้อย กำไล ต่างหู ของหญิงสาวชาวเลอเวือะ คืออัตลักษณ์ที่โดดเด่นและดูเหมือนจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยตามรอยภาพถ่ายในโลกโซเชียลมาจนถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งห่างจากบ้านป่าแป๋ไปตามเส้นทางหลักประมาณ 2 ชั่วโมง

DSC08654

บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีคุณภาพ ณรงค์ พิมพ์ใจประภา หรือ ‘ช่างยา’ เล่าว่าเครื่องประดับเป็นของคู่กับชาวเลอเวือะมาตั้งแต่อดีต ผู้หญิงจะใส่สร้อยเต็มคอเพื่อปกปิดผิวส่วนที่ไม่มีเสื้อผ้าบดบัง รวมทั้งบ่งบอกสถานภาพทางสังคมด้วยเครื่องเงินที่สืบทอดกันมา

“จากที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ามาให้ฟัง หมู่บ้านนี้ย้อนไปได้ประมาณ 130 ปี มีหลักฐานว่าเลอเวือะใส่เครื่องเงินมาตลอด จึงจำเป็นต้องมีช่างประจำหมู่บ้าน เรามีเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น กำไลเกลียว ที่เรียกว่า เบล-ซเวียต มีต่างหูที่มีแป้นขนาดใหญ่ แล้วก็สร้อยที่ทำจากเม็ดพดด้วง ส่วนผู้ชายก็มีมีดที่เป็นหลัก”

เขาบอกอีกว่าเครื่องเงินสมัยก่อนจะใช้ เงินจากพม่าและอินเดีย โดยเฉพาะรูปีจากอินเดียเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ นำมาหลอมใช้ได้เลย แต่ปัจจุบันจะซื้อเงินมาจากเชียงใหม่ ต้องเติมส่วนผสมอีกนิดหน่อย ส่วนรูปแบบก็มีการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและการใช้งาน

ทุกวันนี้ที่บ้านละอูบเรายังเห็นหญิงสาวในชุดประจำเผ่า ซึ่งโดยทั่วไปจะสวมเสื้อสีขาวแขนสั้นกุ๊นด้วยด้ายสี (ยกเว้นในวันสำคัญเจ้าสาวจะใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีดำตามธรรมเนียม) นุ่งผ้าถุงพื้นสีดำมีลายคั่นเป็นแถบสีแดงหรือสีชมพู 

ที่สะดุดตาคือ ‘ปเสะ’ (ผ้าพันแขน) และ ‘ปซวง’ (ผ้าพันแข้ง) สีฟ้า ที่ใส่ปกปิดผิวเนื้อและเพื่อความอบอุ่นไปในตัว ส่วนบนของปเสะจะมี ‘ชเลียง’ หรือกำไลแขนรัดไว้ ส่วนที่คอจะสวมสร้อยลูกปัดถักติดคอ ปล่อยชายด้ายสีสันสดใสเป็นเส้นยาวไว้ด้านหลัง พร้อมกับสร้อยลูกปัดยาวร้อยเป็นแพไว้ด้านหน้าอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนมากเป็นสีแดง-ส้ม-เหลือง โดยมีเส้นที่ยาวที่สุดล้อมรอบสร้อยลูกปัดเป็นสร้อยเงินแบบดั้งเดิม

DSC08715

เห็นชุดจัดเต็มสีสันจัดจ้านอย่างนี้แล้วหากนักท่องเที่ยวอยากลองสวมใส่ดูบ้าง ที่บ้านละอูบเขามีขายแบบครบเซ็ตสมเป็นหมู่บ้านโอทอป ช้อปกันได้ตามอัธยาศัย แต่ถ้าใครอยากทดลองร้อยลูกปัด ที่บ้านป่าแป๋มีเวิร์คชอปให้ได้สัมผัสความยากกว่าจะเป็นสร้อยแต่เส้น กว่าจะรวมแต่ละเส้นเป็นหนึ่งชิ้น กว่าจะรวมทุกองค์ประกอบเป็นความงามตามแบบฉบับสาวเลอเวือะ รับรองว่าต่อราคากันไม่ลงทีเดียว

 

วิถีถักทอแห่งบ้านดง

ห่างจากบ้านละอูบไปไม่เท่าไหร่ ภาพนาขั้นบันไดยังคงเป็นฉากหลังอันงดงาม หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนในพื้นที่ของโครงการหลวง ทว่าวันนี้ บ้านดง กำลังแนะนำตัวเองอีกครั้งในบริบทของการท่องเที่ยววิถีชาวนา ที่เชื่อมร้อยไปด้วยข้าว พืชผัก และผ้าทอ

DSC08959

สำรับอาหารถูกยกมาต้อนรับคนต่างถิ่น ‘สะเบื๊อก’ ยังเป็นนางเอกคู่กับข้าวพันธุ์พื้นถิ่น แต่ที่ไม่น้อยหน้าคือน้ำพริกผักสดๆ และไข่เจียวดอย ที่ต้องรับประทานกันบนพื้นที่สูงถึงจะออกรส ชาวบ้านดงบอกว่าพืชผักที่นี่ปลอดสารเพราะปลูกส่งโครงการหลวง ส่วนข้าวก็ยังรักษาพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ ใครไปใครมาถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวจะไปลองเกี่ยวข้าวกับชาวบ้านก็ยังได้

แต่ถ้าเดินทางมาในช่วงอื่น ที่นี่มีฝีมือด้านการทอผ้าที่อยากจะถ่ายทอด พี่พิม ประธานกลุ่มแม่บ้านบอกว่า ผู้หญิงเลอเวือทุกคนต้องทอผ้าได้ เพราะต้องใช้ในวันแต่งงาน โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างหลังการทำนาทำไร่มาปั่นด้ายทอผ้าด้วยกี่เอว 

“เมื่อก่อนเราก็ทอผ้าฝ้ายกัน อย่างผ้าถุงก็จะมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นลายนกยูง หรือลายอื่นๆ ที่เลียนแบบมาจากสิ่งที่เห็นในธรรมชาติ”

เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนว่า เมื่อครั้งที่ทราบว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จมาพื้นที่แถบนี้ เธอได้ไปขอเรียนการทอผ้าขนแกะจากบ้านห้วยห้อม ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนจึงได้ผ้าพันคอมาหนึ่งผืน

“พอพระองค์ท่านเสด็จฯที่บ้านตูน ก็นำไปถวาย แล้วก็เล่าว่าที่บ้านไม่มีแกะ อยากจะขอแกะจากพระองค์ท่าน เพื่อนำไปเป็นอาชีพเสริม หลังจากนั้นปศุสัตว์ก็ส่งแกะมาให้ 20 ตัว เลี้ยงมาได้ 4 ปี มีตัวอะไรไม่รู้มากัดแกะค่อยๆ ตายไปจนหมด ตอนนี้ก็เลยต้องซื้อขนแกะจากข้างนอก”

แม้จะไม่มีแกะเหลืออยู่ แต่การทอผ้าขนแกะก็ได้กลายเป็นงานฝีมือของคนบ้านดงที่มีเอกลักษณ์คือใช้ฝ้ายเป็นเส้นยืน ทำให้ได้ผ้าฝ้ายที่หนานุ่มด้วยขนแกะ ยิ่งซักก็ยิ่งฟู ห่มให้ความอบอุ่นได้ดีกว่าผ้าฝ้ายทั่วไป

“ถ้านับตั้่งแต่การตัดขนไปซัก ไปต้ม ไปยี ไปปั่นเส้นด้าย แล้วก็ทอ เราใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ได้ผ้าคลุมไหล่ 1 ผืน” พิม อธิบายถึงขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา และว่าการทอผ้านี้ไม่เพียงนำรายได้มาให้กับชุมชน ยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าทอของคนเลอเวือะด้วย

DSC08825

เรานั่งดูสาวน้อยสาวใหญ่ล้อมวงทอผ้า หยอกล้อกันท่ามกลางโอบล้อมของขุนเขา ที่เห็นอยู่ไกลๆ คือนาขั้นบันไดหลังเก็บเกี่ยว แม้ฝนหลงฤดูจะเปลี่ยนท้องฟ้าให้หม่นมัวไปบ้าง แต่กลิ่นหอมๆ ของกาแฟห้วยห้อมก็ปลุกความมีชีวิตชีวาได้อย่างดี

ธนันชัยบอกว่า จากบ้านดงนักท่องเที่ยวที่ชอบเทรคกิ้งสามารถเดินเท้าไปยังบ้านป่าแป๋ได้โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีนาขั้นบันไดและธรรมชาติที่สวยงาม หรือจะขับรถไปตามเส้นทางสายรองก็ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ทางนี้ปัจจุบันยังเป็นลูกรัง คาดว่าในปีหน้า 2562 จะมีการพัฒนาเป็นถนนคอนกรีต ทำให้การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวบ้านละอูบ-บ้านดง-บ้านป่าแป๋ สะดวกสบายขึ้น

DSC09921

“สิ่งที่เราอยากได้จากการท่องเที่ยวไม่ใช่รายได้ แต่เป็นเรื่องของการรักษาพันธุ์ข้าว รักษาความภาคภูมิใจในวิถีของชาวเลอเวือะ” หนุ่มนักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย

ซึ่งคงไม่ต่างจากนักเดินทางอย่างเรา ที่บางครั้งก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า...

การฟังในสิ่งที่ไม่เคยรู้ สัมผัสรสชาติที่แตกต่าง ทดลองในสิ่งที่ไม่เคยทำ ...ดื่มด่ำกับวิถีที่เคลื่อนไปช้าๆ ทว่างดงาม