เส้นทางสู่ความ(ไม่)เสมอหน้า 'ผาสุก พงษ์ไพจิตร'

เส้นทางสู่ความ(ไม่)เสมอหน้า  'ผาสุก พงษ์ไพจิตร'

ภายใต้วิวาทะเรื่องอันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย มีใครกล้าปฏิเสธไหมว่าประเทศนี้ไม่มีช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ และกำลังนำไปสู่ปัญหาสังคมที่นับวันจะฝังรากลึก

การเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จากรายงานดัชนีความมั่งคั่งโลกปี 2561 ซึ่งจัดทำโดย เครดิต สวิส อาจเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับคนทั่วไป แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอกสั่นขวัญหายเมื่อเทียบกับผลลัพธ์จากอาการ ‘เรื้อรัง’ ของโรคเหลื่อมล้ำที่กัดกินสังคมไทยมานานหลายทศวรรษ

ในความเห็นของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามปัญหานี้มาตลอด นับตั้งแต่เริ่มศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งได้รับการยกย่องเป็นศาสตราภิชานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมธีวิจัยอาวุโสของสกว. ในความเหลื่อมล้ำแม้ว่าจะมีปัจจัยจากโชคและความสามารถของแต่ละบุคคลส่วนหนึ่ง แต่เงื่อนไขสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำคือนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองเป็นทั้งเหตุ และผล

“คนเราเกิดมามีโชคไม่เหมือนกัน บางคนโชคดีเกิดมาเป็นลูกคนฐานะดี บางคนโชคร้ายเกิดเป็นลูกของคนฐานะไม่ดี โอ.เค.โชคก็มีส่วนเยอะ อีกอันหนึ่งก็คือความสามารถของแต่ละบุคคลก็จะไม่เหมือนกัน บางคนทำงานได้ดีกว่าคนอื่นก็อาจจะมีรายได้ดีกว่า แต่สิ่งที่ทำให้แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมากในเรื่องความเท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ เราพบว่ามาจากนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์พยายามทำความเข้าใจบริบทที่เอื้อต่อความเหลื่อมล้ำในบ้านเรา?

คือความไม่เท่าเทียมในบ้านเรามันเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ดูข้างถนนก็จะเห็นคุณลุงคุณป้าตื่นแต่เช้ามาขายของ จำนวนมากขยันขันแข็งมากแต่เขาก็ไม่รวย เราโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีความสามารถมีทักษะจากการเรียนทำให้หางานได้ดีกว่า แต่เราก็พบว่าคนเหล่านั้นที่เขามีรายได้น้อยกว่า นอกจากเขาโชคไม่ดีแล้ว ระบบรัฐบาลของเราก็ไม่ได้เป็นระบบที่จัดการเรื่องภาษีและเรื่องการใช้จ่ายได้ดีเท่ากับประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นศักยภาพของคนในประเทศเราจึงไม่ได้รับการพัฒนา อันนี้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถที่จะมีคุณูปการในการที่จะเสริมสร้างสังคมด้วยกันทั้งนั้น

48421623_368738613886135_8324300846246395904_n

แล้วเราดูสิคะว่าค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเรามันเท่าไหร่ ในศตวรรษที่ 21 ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยมากที่สุดก็ประมาณ 333 บาท ซึ่งลองคิดดูว่า 333 บาทต่อวันเราจะให้ผู้ใช้แรงงานที่มีครอบครัวไปพัฒนาลูกของเขาได้อย่างไร พัฒนาตัวเขาเองได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้นึกถึงเรื่องของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วคนที่จุดประกายให้ดิฉันหันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น คือ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจารย์เป็นคนแรกที่ได้เขียนบทความหลังจากที่เรามีความขัดแย้งทางการเมือง ช่วงปี พ.ศ.2553 ในบทความท่านได้พูดถึงว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของผู้คนในประเทศอาจจะเป็นมูลเหตุอันหนึ่งของความขัดแย้งในทางการเมือง” เมื่อได้อ่านก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ใช่ บ้านเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก แล้วก็เลยอยากลงไปศึกษาให้ลึกซึ้งในมิติต่างๆ ของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ความโยงใยกับความขัดแย้งและปัญหาทางการเมือง

ผลงานชิ้นแรกที่ทำก็เขียนขึ้นมาเพื่อที่จะไปแสดงปาฐกถาประจำปีที่สถาบันพระปกเกล้า และต่อมารู้สึกว่าความรู้ยังน้อยก็เลยอยากจะทำงานวิจัย พอดีทางสกว.มาเชิญให้เขียนโครงการวิจัยเพื่อมารับทุนเมธีวิจัยอาวุโส ก็เลยตัดสินใจทำเรื่่อง ‘สู่สังคมไทยเสมอหน้า’ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นก็ต้องเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำมันมีสาเหตุมาจากอะไร ทั้งปัญหาโครงสร้าง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง แล้วก็ไปศึกษาประเทศอื่นๆ ที่เขาประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำว่าเป็นอย่างไร และจะเป็นบทเรียนให้ประเทศไทยได้หรือไม่

จากการศึกษาของอาจารย์ ปัจจัยอะไรที่ถือเป็นลักษณะเฉพาะหรือเป็นความเปราะบางของสังคมไทยที่ทำให้ปัญหานี้นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ความเปราะบางของสังคมไทย ท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับระบบการเมืองที่เอื้อต่อความเหลื่อมล้ำ ประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเราเป็นเรื่องของระบบการปกครองที่มีคนจำนวนน้อยที่มีอำนาจและมีความมั่งคั่ง คล้ายๆ กับยึดกุมระบบการปกครอง โดยมีการปิดกั้นไม่ให้คนส่วนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการเลือกสรรผู้ที่จะเป็นผู้ปกครองอย่างเต็มที่ ก็คือลักษณะการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่อำนาจการปกครองกระจุกตัวอยู่ในคนจำนวนน้อย แล้วก็มักเป็นคนที่มีความมั่งคั่ง อันนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเมืองไทย มันเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศเกิดใหม่ที่กำลังจะรุ่งขึ้นมาก็มีปัญหาเหล่านี้เช่นกัน

ล่าสุดกับการเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านทรััพย์สิน อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

เครดิตสวิสซึ่งเป็นคนทำข้อมูลนี้ขึ้นมา เป็นนักวิจัยที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.2000 เพราะฉะนั้นเขามีความเชี่ยวชาญ และสิ่งที่เขาทำก็คือการไปรวบรวมข้อมูลสถิติทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของประเทศต่างๆ แล้วเอามาจัดระบบเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เขาใช้เชื่อถือได้ แล้วก็เป็นข้อมูลล่าสุดมีการสะสมมาทุกๆ ปี โดยเขาเอามาเรียงกันดูว่าในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน ประเทศไหนสูงสุดในปีนี้ ซึ่งก็มีประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยรัสเซีย ตุรกี และอินเดีย

สำหรับดิฉันการเป็นอันดับ 1 หรือไม่ใช่อันดับ 1 ของโลก อันนั้นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือข้อมูลเหล่านี้เชื่อถือได้ว่า ประเทศไทยและอีก 3 ประเทศที่เขาพูดถึง เป็นประเทศที่ล้วนมีความเหลื่อมล้ำสูง สิ่งที่เราต้องสนใจก็คือว่า ภาวะความเหลื่อมล้ำสูงทางด้านทรัพย์สินนี้มันส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย แล้วเราควรจะคิดอย่างไรกับปัญหาที่มันเกิดขึ้น มากกว่าที่จะไปเถียงกันว่าเราเป็นที่ 1 หรือ 2

ถ้าอย่างนั้นในฐานะประเทศที่อยู่ลำดับต้นๆ เราควรกังวลเรื่องอะไรเป็นพิเศษคะ

ความเหลื่อมล้ำมันมีการตกทอดจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปสู่รุ่นลูก อันนี้จากการศึกษาของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 เขาพบว่าในยุโรป คือ OECD ส่วนใหญ่มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้ OECD ทั้งกลุ่มมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอัตราลดลงต่อไปอีก 25 ปี เพราะเขาได้พบว่าความเหลื่อมล้ำมันมีการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ก็คือถ้าพ่อแม่มีฐานะไม่ดีโอกาสที่ลูกจะมีรายได้ดีกว่าพ่อแม่ต่ำมาก

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการศึกษานั้นก็คือว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ทำความผิดพลาดด้านนโยบาย โดยการลดอัตราภาษี และลดการใช้จ่ายภาครัฐในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการต่างๆ แล้วก็ลดทอนบทบาทของสหภาพแรงงานที่เคยมีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง การลดการลงทุนทางด้านการศึกษาและสาธารณสุขของรัฐบาลเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีศักยภาพไม่สามารถเรียนหนังสือได้สูงๆ เพราะว่าพ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะส่งลูกเรียน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง รายได้ของผู้คนก็ลดลงด้วย

ทีนี้คนที่มีโอกาสก็คือกลุ่มที่พ่อแม่ฐานะดีแล้วก็ส่งลูกไปเรียนหนังสือสูงๆ ประกอบกับการที่ระบบเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนไปสู่ความต้องการผู้คนที่มีทักษะใหม่ๆ ทักษะสูง เมื่อเวลาผ่านไปจึงพบว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีการศึกษาสูงมีทักษะสูง กับคนที่การศึกษาไม่ดีจึงถ่างออกจากกันมากขึ้น พอรายได้มันห่างกันผู้คนก็มองเห็นและเกิดการเปรียบเทียบ ความเหลื่อมล้ำจึงนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียด ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม

นัยสำหรับประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำสูงมันสะสมมานาน สูงที่สุดจากข้อมูลที่มีอยู่คือใน พ.ศ.2535 แล้วมันก็มีการตกทอดสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังโชคดีกว่าประเทศแถบ OECD ในแง่ที่ว่าประเทศแถบนั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมันเริ่มชะลอตัว แล้วเขามีปัญหาในเรื่องของประชากรผู้สูงวัยมาก่อนเรา เพราะฉะนั้นการที่เขาจะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่ม GDP เขาทำได้ยากกว่า

แต่ในกรณีของประเทศเรา และประเทศในกลุ่มที่ปัญหาเอจจิ้งยังไม่เท่ายุโรปหรือญี่ปุ่น เรายังมีพลวัตรที่เศรษฐกิจจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าในยุโรป เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คือมีการเลื่อนชั้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสมควร แต่การที่เรามีรัฐบาลแบบอำนาจเบ็ดเสร็จมาค่อนข้างยาวนาน มันก็ส่งผลให้เราไม่มีนโยบายใหม่ๆ ที่จะลดทอดความเหลื่อมล้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรากลับมีนโยบายใหม่ๆ ที่ในทางจิตวิทยาอาจทำให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ละเลยคนจนนะ ก็ยังมีการจ่ายเงินในรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ว่ามันไม่มีประสิทธิภาพที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่าเงินมันเป็นจำนวนน้อยมาก ถ้าจะให้มันได้ผลจริงๆ ต้องหมื่นกว่าบาทขึ้นไป ซึ่งถ้าคิดในทางงบประมาณมันสามารถจะทำได้นะ ถ้าหากว่าเราไม่ซื้อเรือดำน้ำ ถ้าเราไม่ใช้จ่ายทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย เพราะว่าไม่ได้ทำสงครามกับใคร

48172385_219074932353812_3378092804524736512_n

เราอาจมีการปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะเรื่องของภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ออกกฎหมายที่ดินให้มีประสิทธิภาพที่จะเพิ่มรายได้รัฐได้ตามสมควร แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะชะลอความเหลื่อมล้ำ โดยเอาเงินเหล่านี้มาอุดหนุนคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น คนที่ลูกเล็กๆ ที่สามีทิ้ง หรือคนที่อยากจะเข้ามหาวิทยาลัย มีศักยภาพที่จะเรียนได้แต่ไม่มีเงินเรียน ให้ทุนไปเลยไม่ต้องมากู้ เพราะเรากำลังจะก้าวไปสู่ประเทศเศรษฐกิจ 4.0 เราต้องการคนจบวิศวะ จบวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท เพราะฉะนั้นเราต้องนึกถึงสิ่งเหล่านี้

แต่นโยบายภาษีที่เกิดขึ้นเป็นการลดอัตราภาษีระดับสูงเพื่อช่วยคนที่มีฐานะดีมากกว่าที่จะปฏิรูประบบภาษีที่ทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีจากที่ดิน หรือภาษีทรัพย์สินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเรื่องของการแบ่งปันกันในแง่ที่ว่า คุณมีมากคุณจ่ายมาก แต่มันส่งผลดีกับประเทศชาติในอนาคต เพราะเมื่อคนเหล่านี้มีโอกาสทำงานเขาก็จะสร้างรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีกลับมา แล้วต่อไปเราก็อาจจะลดอัตราภาษีลงไปก็ได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เรายังคิดกันแบบ...ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง คนที่มีอำนาจหรือมีฐานะต้องการอยู่แบบนี้ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างรวดเร็ว

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาเรื่องการปฏิรูประบบภาษี ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือนก็ยังทำไม่สำเร็จ?

ในอดีตที่ผ่านมาดิฉันคิดว่าประชาธิปไตยของเราไม่สามารถจะเป็นไปในแบบต่อเนื่องยาวนานเพียงพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ พอเริ่มๆ จะดี เราก็ถูกรัฐประหาร ตรงนี้แหละค่ะที่มันเป็นตัวปิดกั้น มันไม่ใช่ว่าคุณมีประชาธิปไตยแล้วคุณจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างภายในปีสองปี ประเทศที่มีประชาธิปไตยเขามีกันมาเป็น 50 ปี เป็น 100 ปี แล้วการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน กระทั่งอังกฤษ, ฝรั่งเศสก็ล้มลุกคลุกคลานมา แต่ในช่วงประชาธิปไตยของเขา ความต่อเนื่องมันยาวนาน แต่ของประเทศเรา ลองนึกดูสิ ในช่วงอายุเรารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่ได้ครบสองเทอมมีรัฐบาลเดียว แทบจะไม่มีใครอยู่ครบเทอมเลย แล้วก็ยังมีรัฐประหารอีก แล้วคุณคิดว่าเขาจะปฏิรูประบบภาษีได้อย่างไร

รัฐบาลนี้อยู่ได้ครบเทอมก็จริง แต่ปฏิรูประบบภาษีหรือเปล่า ไม่ได้ปฏิรูป สิ่งที่เขาทำนั้นคือลดอัตราภาษีสำหรับอัตราสูงๆ แล้วก็ยอมผ่านภาษีมรดก แต่กว่าจะผ่านก็เปลี่ยนแปลงเสียจนไร้ประสิทธิภาพ จนนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง อ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม บอกว่าจะไม่มีผลในการลดความเหลื่อมล้ำเลย แต่อาจจะมีผลในทางจิตวิทยา หมายความว่าคนทั่วไปก็จะรับรู้ว่ารัฐบาลนี้ได้ผ่านภาษีมรดกแล้ว แล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน ใช้เวลาปีครึ่งในการพิจารณา แล้วในท้ายที่สุดก็เป็นภาษีที่ในระยะปานกลางจะไม่มีผลลดความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สิ่งที่เรายังไม่รู้ก็คือบัตรนี้มีประสิทธิภาพสูงอย่างที่รัฐบาลพูดหรือไม่ เพราะยังไม่ได้มีการประเมินกันเลยว่าที่ทำไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ และคนที่ได้สวัสดิการล้วนเป็นผู้ที่ควรจะต้องได้รับเงินเหล่านี้ หรือว่ามีกลุ่มอื่นๆ แทรกเข้ามาด้วย อันนี้เราก็ยังไม่รู้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้คงจะมีความตั้งใจดีแต่ว่าใจป้ำไม่พอ ถ้าสวัสดิการแห่งรัฐเอาไปเลย 10,000 บาทต่อเดือน แล้วไม่ต้องซื้อเรือดำน้ำ เอาไหม

 อาจารย์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับความเหลื่อมล้ำ ในวาระที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง อยากฝากความคาดหวังอะไรไปถึงนักการเมือง-พรรคการเมืองที่อาจจะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคตอันใกล้

มีเรื่องที่ฝากให้คิดหลายเรื่อง การกระจายรายได้และการกระจายผลประโยชน์ออกจากเมืองใหญ่ ออกจากกรุงเทพฯไปสู่รอบนอก การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นขณะนี้มันชะงักงันไป ควรจะต้องพิจารณานำกลับมาใหม่มั้ย รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรกับเรื่องการกระจายอำนาจ บ้านเราการเกษตรลดความสำคัญลงในระบบเศรษฐกิจ แต่เกษตรก็ยังเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญ และถ้าหากเรานึกถึงวัตถุดิบที่เข้าไปในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เราส่งออกก็ยังมาจากภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นภาคเกษตรยังมีความสำคัญอยู่ แล้วคนยากจนจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตร

สำหรับคนในภาคเกษตร ปัญหาสำคัญอันหนึ่งเมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำในด้านของทรัพย์สินก็คือ ปัญหาเรื่องที่ดิน เกษตรกรรายเล็กจำนวนมากในประเทศไทยไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เราต้องมีนโยบายที่ดินที่เป็นธรรม แล้วก็ให้ความมั่นคงกับเกษตรกรรายเล็กรายน้อย เพราะที่ดินเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่จะช่วยให้เขาลืมตาอ้าปาก และเป็นแหล่งการลงทุนของเขาด้วย ก็อยากจะฝากรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายที่ดินอย่างไรที่สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรรายเล็กรายย่อย

อีกเรื่องคือการปฏิรูประบบภาษีเพื่อที่จะช่วยชะลอความเหลื่อมล้ำที่มันจะสูงขึ้น และเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพที่จะสร้างสวัสดิการสำหรับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองที่มีคุณูปการกับประเทศ

สรุปก็คือว่านโยบายที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีใครรู้ มันเป็นเรื่องที่หลายประเทศเขาก็ทำกัน แต่ที่มันไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะว่าเรามีระบบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แล้วก็มีแนวโน้มไปสู่จุดนั้น เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากให้นักการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ขอให้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วก็ได้รัฐบาลที่ได้รับความเชื่อถือ

ดิฉันเพียงแต่กริ่งเกรงว่าถ้าได้รัฐบาลที่ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ อาจจะไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นที่น่าเสียดาย