ลองนอนในโลง งานศพซ้อมตายนิ้วกลม

ลองนอนในโลง งานศพซ้อมตายนิ้วกลม

มาทำความเข้าใจเรื่องความตาย ผ่านกิจกรรมงานศพซ้อมตายกิจกรรมทีี่่ทำทุกอย่างเหมือนจริง แต่ไม่มีอาหารในงานศพ

 

คนทั่วไปอาจมองว่า เป็นไอเดียที่แปลกสำหรับกิจกรรม ตาย ก่อน ตาย Live Exhibition นิทรรศการที่ชวนให้คนมาเรียนรู้เรื่อง การเตรียมตัวตายจาก านศพซ้อมตายของเอ๋-นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) ที่วัดธาตุทอง โดยงานนี้ไม่มีข้าวต้ม หรือกระเพาะปลา

งานศพซ้อมตายของเอ๋ นิ้วกลม มีการออกแบบให้ต่างจากกิจกรรมทั่วไป ผู้เข้าร่วมไม่ได้เป็นแค่ผู้ดูหรือผู้ชม แต่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการความตาย พูดได้ กลุ่ม Peaceful Death โดยมีอาสาสมัครทั้งหมดที่ผ่านการอบรมเรื่องการเผชิญหน้ากับความตาย มรณานุสติ และมีความเข้าใจเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างลึกซึ้ง คอยดูแลความเรียบร้อย

นิ้วกลม ออกแบบงานศพซ้อมตายของเขาด้วยตัวเอง เขาอยากให้โลงศพของเขาดูเรียบง่าย ไม่ต้องตกแต่งด้วยดอกไม้ ให้ทำแบบรักษ์โลก ,อยากให้คนมางานศพของเขา มาเจริญมรณานุสติ ไม่ใช่มาคุยกัน โดยจัดที่นั่งคนมาร่วมงานห่างๆ กัน ,อยากให้ผู้ร่วมกิจกรรมซ้อมตายลองนอนในโลง เพื่อจะได้จินตนาการถึงช่วงเวลาที่ตัวเองกำลังจะตาย, ภายในศาลาสวดอภิธรรมศพ ตกแต่งมืดทึบ 

ผู้ร่วมงานต้องปิดเครื่องมือสื่อสาร ปิดวาจา มีสมาธิอยู่กับตัวเอง , ส่วนการสวดอภิธรรม พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องสวดยาวๆ  อยากให้คนที่มีชีวิตอยู่ฟัง ไม่ใช่คนตาย ,บทสวดที่เป็นภาษาบาลีจะมีคำแปลภาษาไทย หลังพิธีสวดจะเชิญผู้ที่สนใจด้านจิตวิญญาณมาพูดเรื่องทัศนะความตาย โดยไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเขา หรือพูดสรรเสริญเขา และกิจกรรมแต่ละช่วงมีการจัดไฟสปอตไลท์เหมือนงานคอนเสิร์ต ฯลฯ

IMG_5484

-1- 

ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม หนึ่งในทีมงาน ถามว่า “จะนอนในโลงด้วยไหม” เนื่องจากมีโลงสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน 

วินาทีนั้นตอบทันควันว่า “ไม่คะ” 

แต่เมื่ออยู่ในงาน มีความเงียบเป็นเพื่อน ก็เลยพาตัวเองลงไปนอนในโลงสีขาว พร้อมความคิดที่โลดแล่น แต่ถูกนำทางโดยผู้นำกิจกรรมที่ชี้ชวนให้พิจารณาความตาย

“การจัดงานแบบนี้ อยากให้เห็นว่า การตายดีเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องศาสนาหรือเรื่องผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น ทุกคนตายดีได้ ถ้าเตรียมตัว ” วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death กล่าว

เธอเป็นคนหนึ่งที่ทำงานเรื่องนี้มาหลายสิบปี เคยเป็นทั้งอาสาสมัครข้างเตียง ทำงานสร้างความตระหนักรู้เรื่องความตาย และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อเตรียมพร้อมการจากไปอย่างสงบ

เมื่อคุยเรื่อง“การตายดี” แต่ละคนจะมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน เธอบอกว่า คนเราต้องมีจิตใจยอมรับการตายที่จะมาถึงก่อน

“การตายดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีหลายมิติมาก ที่เราทำกิจกรรมแบบนี้ เราไม่ได้บอกว่า ทุกคนจะต้องตายดีแบบนี้ แต่เราสามารถออกแบบความตายของตัวเองได้ อยู่ที่ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตของคนๆ นั้น”

หากถามว่า ทำไมกลุ่มนี้หันมาทำกิจกรรมในมุมจิตวิญญาณ ตั้งแต่เรื่อง Happy death day เมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดกับกิจกรรมนี้

"ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า เราไม่ควรสื่อสารเฉพาะคนที่สนใจการเตรียมตัวตายเท่านั้น เพราะวันหนึ่งคนวัย 30-55 ที่กำลังประสบความสำเร็จ และไม่ค่อยมีเวลา พ่อแม่ก็ต้องเจ็บป่วยอยู่ในวาระสุดท้าย คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ต้องตัดสินใจเรื่องนี้ ไม่ใช่คนที่ป่วยหรือคนที่กำลังจะตาย

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้ป่วย เพราะถึงจุดหนึ่งเขาทำใจยอมรับได้ แต่คนที่รับไม่ได้คือลูกหลาน และนำไปสู่กระบวนการยื้อชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ไม่อยากยื้อชีวิต ไม่อยากไปโรงพยาบาล เรื่องแบบนี้พวกเขาไม่ค่อยมีเวลาศึกษา

แม้ชีวิตจะเป็นสิ่งสวยงาม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไปต่อไม่ได้ ก็ควรให้เขาจากไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้เห็นด้วยกับกระบวนการยื้อชีวิตที่ด้านหนึ่งเป็นความทุกข์ทรมานสำหรับผู้ป่วย รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล” วรรณา เล่า 

IMG_5480 -2-

คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การพูดเรื่องความตายเป็นสิ่งอัปมงคล ทั้งๆ ที่ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องเจอ ไม่ช้าก็เร็ว และนี่คือ อีกมุมมองในเรื่องความตาย

ในงานศพซ้อมตายของนิ้วกลม เขาส่งสารถึงผู้ร่วมกิจกรรมว่า ในชีวิตของเรา มีผู้คนรอบข้างเกี่ยวข้องกับความตายของเราด้วยเสมอ การวางแผนแบบนี้ไม่ใช่การวางแผนส่วนตัว แต่เป็นการวางแผนให้ตายดี โดยไม่กังวลว่า คนข้างหลังจะเป็นทุกข์กับเราหรือเปล่า

“ก่อนที่เราจะจากไป จิตใจต้องสงบ ทำให้เราจากไปด้วยดี ท่านอาจารย์พุทธทาส เคยสอนว่า ตายก่อนตาย ในความหมายนี้ ก็คือ ให้เราสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัวเรา ทั้งเรื่องกิเลส ตัณหา ความเห็นแก่ตัว ถ้าเราสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้ตายไปเรื่อยๆ ก่อนที่เราจะตายจริงๆ ก็น่าจะเป็นการมีชีวิตที่มีคุณภาพ ในวันที่เราจะต้องตายจากไปจริงๆ เราก็น่าจะมีความพร้อมมากกว่าการที่ไม่ได้ฝึกฝนเตรียมตัวตายเลย”

ก่อนจะจากลาโลกนี้ไป บางคนทิ้งเรื่องดีๆ บางคนทิ้งความยุ่งยาก บางคนทิ้งภาระหนี้สินให้ครอบครัว ถ้าอย่างนั้่นคนเราควรวางแผนสะสางปัญหาต่างๆ ก่อนตายไหม... 

“คนเราควรมีสิทธิที่จะตายตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่รักษา แม้จะไม่ยื้อชีวิต แต่ไม่ใช่รักษาแบบตามมีตามเกิด ต้องรักษาอย่างดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็มีการดูแลแบบประคับประคอง กระบวนแบบนี้ จะไม่เร่ง ไม่ยื้อ แต่ดูแลให้เขาสุขสบายและมีคุณภาพดีที่สุดในวาระสุดท้าย 

ด้านหนึ่งทำให้ได้เตรียมความพร้อม จังหวะที่เรานอนลง แล้วรู้ว่าชีวิตกำลังจะจากไป ทำให้เราตระหนักรู้ว่า อะไรเป็นความสำคัญของชีวิต อะไรที่เรากังวลและรู้สึกว่ายังตายไม่ได้ ยังไม่พร้อม นี่คือโจทย์ที่เป็นการบ้านของชีวิต ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน” วรรณา เล่า

ว่ากันว่า คนโบราณ พูดเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติในชีวิต ตั้งแต่ยังไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่ปัจจุบันมีความเชื่อว่า ไม่ควรพูดเรื่องความตาย

วรรณา แสดงทัศนะว่า จริงๆ แล้วการพูดเรื่องความตายเป็นมงคลของชีวิต ทำให้เรารู้ว่า อะไรที่เราผัดผ่อนเอาไว้ ก็จะได้ทำ หรือสิ่งที่ติดค้างเราก็อโหสิกรรม ทำให้ชีวิตเราเบา เมื่อเบาก็จากไปดี

“หลายคนบอกว่าเวลาเรานอนในโลง จะมีใบหน้าบางคนผุดขึ้นมา อาจนึกถึงคนที่เราไม่ชอบ คนที่เราติดค้างและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า สิ่งที่ติดค้างในใจทำให้เราไม่อยากจากไป บางคนน้ำตาไหลเลย ถ้าเราอยากขอโทษใคร ทำเลยคะ"  

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากนี้ เธอไม่ได้อยากให้คนมาซ้อมตายเฉยๆ และการซ้อมตายที่ดีคือ 1. ต้องตระหนักว่าคุณตายแน่ และ2. เรื่องอะไรที่ควรทำ ให้ทำเลย เรื่องอะไรที่ติดค้างยังไม่ได้ทำ...อย่ารอ

“ตอนนี้มีสมุดเบาใจ (หนังสือแสดงความต้องการล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วงท้ายและการตายดี )ให้เขียนพินัยกรรมชีวิตเอาไว้ โดยจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพรบ.สุขภา่พแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 12 เพื่อให้คนข้างหลังจัดการตามความต้องการ  อีกอย่างอยากให้คนไทยเข้าใจเรื่องมรณานุสติ ประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนตายเท่านั้น ”

      “ตายดีกับอยู่ดีก็เป็นเรื่องเดียวกัน อยากชี้ชวนให้ใช้ชีวิตให้เป็น ที่เราสื่อสารวงกว้างมากขึ้นเพราะเราเชื่อว่าเราจะปล่อยให้สังคมเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ นับวันจะมีคนแก่มากขึ้น ไม่มีโรงพยาบาลเพียงพอให้ทุกคนมายื้อชีวิต เราต้องมาทำความเข้าใจว่า ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าคนไม่ตาย โลกจะเป็นยังไง”

-3-

“มีคนตั้งคำถามมากมายว่า กลุ่มนี้มันบ้าหรือเปล่าที่มาซ้อมตาย” วรรณา เล่า 

คำถามนี่แหละที่นำไปสู่ความอยากรู้ อยากเห็น จนมีกิจกรรมงานศพซ้อมตายของนิ้วกลม

“ที่เราเลือกนิ้วกลม เพราะเขามีความสนใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวตาย และเคยเข้าร่วมการเจริญมรณานุสติกับพระไพศาล วิสาโล กิจกรรมนั้นทำให้เขามองชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้เขารู้ว่าควรใช้เวลาที่เหลือกับใครอย่างไร ไม่อย่างนั้นชีวิตคนเราจะไปเรื่อยๆ เพราะงานดึงเวลาไปหมด เขาเคยเล่าว่า ทุกเช้าที่นั่งดื่มกาแฟกับพ่อ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็รีบๆ กินให้เสร็จ จะได้ไปทำงาน แต่พอมาเรียนรู้เรื่องการซ้อมตาย เขาก็หันมาใช้เวลาร่วมกับคนที่รักอย่างมีคุณภาพ แม้พรุ่งนี้จะไม่มีแล้ว เขาก็ไม่เสียดาย”

นิ้วกลมเขียนความต้องการไว้ในสมุดเบาใจ นิทรรศการด้านหน้าว่า ต้องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ต้องการเร่งหรือยืดการตายออกไป โดยไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แก่ตัวเขา ,ต้องการฟังเพลง ฟังเสียงอ่านหนังสือ โดยระบุว่า อยากให้เปิดยูทูปของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และอ่านคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตให้ฟัง ฯลฯ

“แม้เราจะจินตนาการความตายของเรามากเพียงใด ก็เป็นเพียงจินตนาการ เมื่อเราทอดร่างกายลงในโลง ก็คือความเงียบ แต่เมื่อเราตายไป เราจะไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ผมจึงคิดว่า มรณานุสติที่ทรงอำนาจที่สุดสำหรับผม ก็คือ เมื่อคนที่เรารักจากไป ” คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  หรือ เชฟหมี อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคนที่มาพูดเรื่องความตายในงาน กล่าว ความตายในความคิดของเขา เป็นทั้งมิตรและศัตรู ในปีที่ผ่านมาเขาสูญเสียคุณแม่ที่รักมากที่สุดด้วยมะเร็งระยะสุดท้าย

“สองอาทิตย์ก่อนแม่จากไป ช่วงนั้นผมอยู่กับแม่ตลอดเวลา วินาทีที่ผมรู้ว่า แม่ตายแน่นอน ความหวังทั้งหมดในชีวิตพังพินาศ เราอยากทำทุกอย่างที่เราทำได้ แต่เราก็รู้ว่า เราทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะความตายอยู่ใกล้แค่คืบ เหมือนยมทูตยืนอยู่ข้างๆ

วินาทีที่ตระหนักว่า ความตายเป็นของจริง ตัวเราสั่นสะท้านด้วยความกลัว มีผลกระทบต่อชีวิตเรามาก ในภาวะที่สติเลือนลางเราก็มีเรื่องต้องจัดการ ตอนนั้นผมพาแม่กลับบ้าน แม่เสียชีวิตในอ้อมกอดของเราทุกคนและเสียงสวดมนต์ ตอนนั้นผมตอบตัวเองได้คลุมเคลือมากๆ ผมไม่รู้หรอกว่าแม่รู้สึกยังไง แม่ไม่ใช่คนแรกในครอบครัวที่เสียชีวิต แต่ผมใกล้ชิดกับแม่มากที่สุด"

ช่วงที่เขารู้สึกว่า ขาดที่พึ่ง เขานึกถึงคำสอนพระทิเบตที่บอกว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าเราตระหนักถึงความเป็นอนิจจังหรือพระธรรม มีแต่พระธรรมเท่านั้นที่ช่วยเราได้ 

“ผมคิดว่า นั่นไม่ใช่คำพูดที่สวยหรู หรือสูตรสำเร็จอะไรทั้งสิ้น ผมรู้สึกว่าชีวิตเป็นเรื่องลึกลับที่ผมตอบไม่ได้ว่าจะเป็นยังไงต่อ วันที่ผมจมอยู่กับโศกเศร้า มีคำถามหนึ่งที่อยู่ในใจตลอดเวลา หากการเกิดและการตายเป็นสุญญตา(ความว่างเปล่า) ก็ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ผมพยายามที่จะเข้าใจ สรุปแล้วแม่ผมตายจริงๆ หรือเปล่า ผมเพียรพยายามที่จะทำความเข้าใจ แต่สุดท้ายผมไม่ได้คำตอบอะไรทั้งสิ้น”

หลังจากความตายของคนที่เขารักผ่านไป เขาพยายามแปรเปลี่ยนความเศร้าเป็นความกรุณา

     “ วินาทีที่แม่กำลังจะเสียชีวิต ผมตระหนักอย่างหนึ่ง ผมไม่ใช่นักปฏิบัติที่ดีนัก รู้สึกทุกข์ใจ แต่ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีความทุกข์เช่นนี้ ทุกคนต้องเผชิญกับการจากไปของพ่อแม่ ไม่มีใครหนีความทุกข์นี้ได้ ความตายเป็นของจริงยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เรามีเพื่อนที่เผชิญทุกข์เช่นเดียวกับเรา เราก็จะค่อยๆ แปรเปลี่ยนความทุกข์เป็นความกรุณาที่มีต่อคนและสรรพสัตว์ นี่คือประโยชน์ของมรณานุสติในแบบที่เราเผชิญกับความทุกข์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจินตนาการกับความตาย”

ถ้าความตายมาเยือนในชีวิตของเขา คมกฤช บอกว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีความรู้สึกเช่นไร

“ผมไม่รู้ว่า ผมได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมหรือยัง ถ้าถามตอนนี้ผมยังไม่พร้อมที่จะตาย ผมยังมีอะไรที่อยากทำอีกเยอะ ถ้าเรามีโอกาสมีชีวิตที่มีความหมายและมีความกรุณาต่อผู้อื่น ผมคิดว่าความตายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนรู้”