ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก แท้จริงมาจากความรุนแรงแอบแฝงที่แนบเนียนในมายาคติ

ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก แท้จริงมาจากความรุนแรงแอบแฝงที่แนบเนียนในมายาคติ

ช่วงเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี สากล ปัญหาที่มีมายาวนานนี้ ไม่เพียงแต่ความรุนแรงทางกายที่เห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ความรุนแรงแอบแฝงที่อยู่ในโครงสร้างคือปัญหาที่แก้ยากยิ่งกว่า ทำให้เราต้องพูดเรื่องนี้กันไม่มีจบ

วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” แต่เราคงไม่พูดเรื่องความรุนแรงต่อสตรีเฉพาะในวันนั้นเท่านั้น เพราะประเด็นนี้เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน แม้ผ่านการรณรงค์มามากมาย แต่ก็ยังคงอยู่แทรกซึมในสังคมไทยและสังคมโลกเสมอ

โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ความรุนแรงในสตรีและเด็ก : มองผ่านสื่อ ความสัมพันธ์ และบริบทการพัฒนา” ขึ้น มีประเด็นและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เริ่มต้นที่มายาคติที่แอบแฝงอยู่ในระบบคิดของเราโดยไม่รู้ตัว

ความรุนแรงแอบแฝง

เมื่อพูดถึงประเด็นความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก เรามักจะนึกถึงความรุนแรงทางกาย เช่น การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน อย่างที่สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอ แต่ลืมนึกถึง ‘ความรุนแรงแอบแฝง’ ที่อยู่ในมายาคติ เช่น ความคิดที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของลิ้นกับฟันกระทบกัน หรือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง หรือเนื้อหาในรายการทีวี ที่ยังคงมีการล้อเลียนเรื่องเพศ เรื่องเด็ก ให้เห็นเป็นปกติ จริงๆ แล้วนั่นคือความไม่ปกติภายใต้โครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยว ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดประเด็น

โครงสร้างสังคมอันบิดเบี้ยวประกอบขึ้นจากหลายปัจจัย อย่างสังคมที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ สังคมที่สร้างอุดมการณ์ความรักและครอบครัว สังคมที่รุนแรงโดยวัฒนธรรมความเชื่อที่ปลูกฝังมานาน แม้จะเป็นสื่อที่ควรมีการศึกษาก็ยังมองไม่ออกถึงเนื้อหาอันรุนแรงที่แฝงอยู่ เช่น ละครที่มีฉากข่มขืนแล้วก็ในที่สุดก็รักกัน เมื่อมีความรักแล้วการข่มขืนก็ไม่รุนแรงอีกต่อไป หรือรักที่เต็มไปด้วยความเศร้า ยินยอม นี่ก็คือความรุนแรงแบบหนึ่งที่แฝงมาในรูปอุดมการณ์ของความรัก

ผศ.ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการที่ของอุดมการณ์เรื่องครอบครัวและความรัก ทำงานให้ผู้หญิงยินยอมอยู่ใต้ความรุนแรง

“เคยเก็บข้อมูลผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย ส่วนใหญ่ในวันแรกครั้งแรกที่ผู้หญิงถูกทำร้ายจะบอกว่า “ไม่เอามันแล้ว” “จะไม่ทนแล้ว” “จะเลิกกับมันแล้ว” แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ให้อภัยด้วยเหตุผลว่า “เขาเป็นพ่อของลูก” “เขาทำลงไปเพราะหึง เพราะรักเรา” แล้วก็กลับไปสู่วงจรเดิม ทำให้คนช่วยก็ไม่อยากช่วยแล้ว”

ผู้หญิงมักพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อปลอบตัวเองให้ทนอยู่ต่อไปได้ พฤติกรรมหลังความรุนแรงมักมี 3 ระยะคือ ระยะแรกผู้หญิงจะโกรธ ไม่ยอม ถึงขั้นมีการแจ้งความฐานทำร้ายร่างกาย ระยะที่ 2 ผู้ชายจะเข้ามาขอโทษ ผู้หญิงก็ยอมให้อภัย ระยะที่ 3 เมื่อผู้ชายได้รับการอภัยแล้ว ก็จะมีการมอบรางวัลแก่ผู้หญิงด้วยความหวานชื่น พยายามควบคุมตัวให้ดีอยู่ระยะหนึ่ง และผู้หญิงก็จะพึงพอใจ เมื่อพ้นหลังจากระยะที่ 3 ไปแล้ว หากมีความเครียดมากระทบ ก็จะวนกลับไปสู่วงจรการทำร้ายตบตีอีก อุดมการณ์ครอบครัวที่ไม่อยากทำให้แตกแยกนี่แหละทำให้ผู้หญิงเลือกไม่ออกจากความรุนแรง

ครอบครัว พื้นที่แห่งความรุนแรง

คำว่า ครอบครัว คนมักนึกถึงความอบอุ่นตามมา ที่จริงแล้วครอบครัวคือพื้นที่ที่สร้างความรุนแรงได้มากที่สุด เพราะเราจะไม่ก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น แต่หากเป็นคนในครอบครัว เราจะรู้สึกว่ามีสิทธิในการก้าวก่ายชีวิตพวกเขาทันที การล้ำเส้นกันก็ทำให้เกิดความรุนแรงในหลายระดับ แม้ไม่ถึงกับลงมือทำร้ายร่างกาย แต่ความสัมพันธ์เชิงคู่รักและครอบครัว มักมีฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์และฝ่ายยอมเสมอ เช่น ผู้ชายอยากไปดูหนัง แต่ผู้หญิงอยากชอปปิง น้อยคู่นักที่จะยอมแยกกันไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่จะต้องพยายามทำทุกอย่างด้วยกันตลอด ด้วยอุดมการณ์แห่งความรัก นี่ก็คือมายาคติอย่างหนึ่งของความรัก

ครอบครัวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งเชิงบวกและเชิงลบ มีแม่จำนวนมากที่พร้อมจะต่อสู้หากมีลูก เลือกที่จะออกจากความรุนแรงเพื่อลูก แต่ในทางกลับกันก็มีแม่ที่ไม่อาจออกจากความรุนแรงเพราะมีลูกเช่นกัน ถ้าแม่ผู้นั้นต้องพึ่งพิงสามีด้วยเหตุทางเศรษฐกิจ

ครอบครัวจึงเป็นฐานรากที่สำคัญที่ต้องได้รับการดูแล แม้แต่การบำบัดต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงก็สำคัญ ไม่เพียงแต่บำบัดผู้ที่ผลกระทบจากความรุนแรงเท่านั้น ในครอบครัวถ้ามีพ่อหรือแม่ที่ใช้ความรุนแรง พวกเขาก็ต้องได้รับการบำบัด เพราะนั่นคือการแก้ปัญหาที่ต้นทาง

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

เหตุผลที่ผู้หญิงและเด็กไม่ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวมาจากความอับอาย ไม่อยากให้ครอบครัวมีปัญหา ไม่อยากให้เพื่อนบ้านมายุ่ง แต่จริงๆ แล้วความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสังคม ครอบครัวที่รุนแรงจะส่งผลต่อคุณภาพของประชากร และกระทบคนรอบข้าง สังคมจึงไม่ควรเพิกเฉย

ผศ.กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าจากประสบการณ์การทำงานลงพื้นที่ เช่น กรณีที่พ่อเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว จะไม่แจ้งความเพราะกลัวพ่อผู้หาเลี้ยงครอบครัวติดคุก แม้จะทำเรื่องรุนแรงอย่างการข่มขืนลูกสาวก็ตาม มิติทางสังคมและความเชื่อเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีทั้งการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา บางครั้งการใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง นำเด็กออกมาจากครอบครัวเลย เคยมีกรณีที่แม่พาลูกหนี เพราะกลัวลูกให้การจนพ่อต้องติดคุกก็มี นี่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน วิธีรับมือจึงต้องประเมินเป็นกรณีไป การช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจึงยังมีความยากอยู่

ส่วนในกรณีที่ผู้หญิงได้รับความรุนแรงแล้วขอความช่วยเหลือ ส่วนมากจะขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเดิมหรือเพื่อนก่อน ก่อนอื่นควรให้ความช่วยเหลือ โดยให้ที่พักออกมาก่อน เช่น ในกรณีที่สามีตบตีทำร้ายร่างกาย ไม่ควรตอบโต้ เพราะอาจพลั้งมือถึงแก่ชีวิต ไม่ฝั่งภรรยาก็สามีที่ ภรรยาป้องกันตัวจนพลั้งมือฆ่าสามี ฉะนั้น แหล่งพึ่งพิงอย่างไม่เป็นทางการจึงสำคัญ

w and hands

อ.วิลาสินี บอกว่าเมื่อเกิดเหตุคนมักปรึกษาคนเพื่อนและคนในครอบครัว นี่คือแหล่งสนับสนุนทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งสำคัญมาก เพราะวิธีแก้ปัญหาจะไปทางไหน ก็อยู่ที่คำตอบของผู้ที่ให้คำปรึกษา

ขั้นต่อไปก็จะปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ไม่ค่อยปรึกษาองค์กรที่เกี่ยวกับผู้หญิง หรือที่ทำงานด้านนี้โดยตรง เพราะส่วนมากไม่รู้จัก ไม่รู้จะติดต่ออย่างไร แต่การขอความช่วยเหลือจากตำรวจก็มีจุดอ่อนตรงที่ตำรวจอาจไม่ได้ผ่านการอบรมการรับเคสที่อ่อนไหว อาจมีการพูดจารุนแรงซ้ำเติมหรือให้ความช่วยเหลือไม่ตรงกับความต้องการของผู้หญิง (ซึ่งต้องเข้าใจตำรวจ เพราะมีมากที่ได้พบเห็นกรณีที่ภรรยาแจ้งความสามีเอง และมาถอนฟ้องภายหลัง)

การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กออกจากความรุนแรงในปัจจุบันค่อนข้างยาก ด้วยทัศนคติเรื่องอุดมการณ์ของครอบครัว ความอับอาย และวิธีคิดของแต่ละครอบครัว แต่ละสังคมก็ต่างกัน ทางที่ดีก็คือให้ทางเลือกแก่เขา เช่น เบอร์บ้านพักฉุกเฉิน การติดต่อองค์กรผู้หญิง องค์กรที่ทำงานด้านนี้ ให้ทางเลือก เพื่อให้เขาได้คิดและตัดสินใจเอง

ที่สำคัญสังคมต้องเปลี่ยนความคิดว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้มีมิติเดียวเพียงสามีภรรยาทะเลาะตบตีกัน หรือพ่อแม่ใช้ความรุนแรงกับลูกเท่านั้น แต่นี่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างของสังคมเรา ที่ไม่ไหวตัวรับรู้ว่าได้มีส่วนปลูกฝังความรุนแรงแอบแฝง จนก่อให้เกิดผลกระทบเป็นความรุนแรงแบบชัดเจน ตราบใดที่ยังมีสิ่งนี้เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าสังคมชินชา เพิกเฉย และอนุญาตให้เกิดความรุนแรงแบบนั้นขึ้น

ชุมชนคือความหวังในการพัฒนา

เมื่อแหล่งสนับสนุนทางสังคมแบบไม่เป็นทางการสำคัญพอๆ กับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ แนวทางหนึ่งที่อ.กมลทิพย์เสนอก็คือปลุกพลังชุมชน และหลอมรวมความเป็นแหล่งพึ่งพิงกึ่งทางการขึ้นมา

“ศิราณีชุมชน” หรือที่ปรึกษาในชุมชน เท่าที่อาจารย์สังเกตจากการลงพื้นที่พบว่าหลายชุมชนจะยังคงมีผู้ใหญ่ที่คนให้ความนับถือกันอยู่ เป็นที่พึ่งให้เด็กและผู้หญิงได้ เพราะบางครั้งคนในครอบครัวก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนนี่แหละที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษา คอยรับฟัง คอยยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง นี่เป็นอีกทางเลือกที่ไม่รอพึ่งแต่กลไกราชการเท่านั้น แต่ใช้กลไกในชุมชนให้มาดูแลกันเอง ทั้งนี้ ผู้ที่เป็น “ศิราณีชุมชน” ต้องผ่านการอบรม เช่น การพูด หลักจิตวิทยา การรักษาความลับ ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย

อาจารย์ติณณภพ สินสมบูรณ์ทอง จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่านี่เป็นการพัฒนากระบวนการโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือมากขึ้น ที่ผ่านมาเรามักมองว่าชุมชนคือกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ ก็จัดการอบรมที่เปลี่ยน “ผู้รับ” ให้กลายเป็น “ผู้ให้” ผลักดันให้ชุมชนเป็นตัวหลักในการพัฒนาเอง โดยแต่ละแห่งไม่ต้องเหมือนกัน ไม่ต้องสากล หรือยึดตามตะวันตก อาจมีสิทธิมนุษยชนในแบบผู้หญิงมุสลิมก็เป็นได้ ต้อง Empowerment ให้ตรงจุด ให้เหมาะกับแต่ละชุมชนจริงๆ

การปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์

เด็กไทยได้เรียนหนังสือ ได้ติวเพื่อสอบเข้า แต่ไม่ได้รับการสอนถึงความรุนแรงแอบแฝง หรือการสอนให้เคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่น เช่น สิทธิในร่างกายตัวเอง คนไทยเวลาเห็นเด็กน้อยน่ารักก็มักไปขอกอด ขอหอม อันที่จริงเด็กควรถูกสอนให้รู้ตั้งแต่เล็กๆ ว่าเขามีสิทธิปฏิเสธได้ หากรู้สึกอึดอัด ก็ต้องไม่ยินยอม สอนให้ตระหนักเรื่อง Sexual Consent ที่มีแทรกซึมอยู่ในสังคมไทยเต็มไปหมด คำพูดที่คุ้นเคยกัน เช่น “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” “อยู่ๆ กันไปก็รักกันเอง” ฯลฯ ที่จริงคำพูดเหล่านี้ คือการฝังหัวเรื่องความรุนแรงทางเพศว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ปกติ

กลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงและเด็กเข้มแข็งได้ก็คือการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องคุณค่าของผู้หญิง ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องสวยพิมพ์นิยม แต่ต้องมีความสามารถ สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่เช่นนั้น ผู้หญิงก็ต้องจำทนอยู่กับภาวะพึ่งพิงผู้ชาย และต้องทำให้รู้ว่าเมื่อถูกกระทำความรุนแรง ต้องร้องขอความช่วยเหลือ สามารถเปล่งเสียงให้ดังไปถึงเพื่อนบ้าน ท้องถิ่น และรัฐ

พลังประชาชนกำกับสื่อ

สำหรับสื่อกับการนำเสนอเรื่องความรุนแรงแบบแอบแฝง ที่ผ่านมาสื่อก็กำกับดูแลกันเอง แต่เห็นว่าไม่ได้ผล จึงมีการกำกับโดยองค์กร แต่เมื่อใดที่องค์กรออกมาเตือนก็เป็นเรื่องยากที่สื่อจะทำตาม แต่ยุคนี้เป็นยุค Disruptive Technology ซึ่งมีแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนเป็นพลังได้ และสื่อจะต้องปรับตัวตาม เพราะไม่อาจทานกระแสต้านจากประชาชนได้ เช่น การรณรงค์ผ่าน Change.org กรณีการต่อต้านฉากข่มขืนในละคร

หรือกรณีที่รายการทีวีหนึ่งสัมภาษณ์เด็กหญิงออทิสติกที่ถูกอาจารย์ข่มขืน แม้จะปิดหน้าเด็กหญิง เพื่อปกป้องสิทธิ แต่พิธีกรที่ไม่มีความเข้าใจ ไม่ผ่านการอบรมจรรยาบรรณ ไม่มีความรู้เรื่องประเด็นอ่อนไหว ก็ตั้งคำถามในลักษณะเปิดแผลเด็ก เพื่อขับเน้นอารมณ์ ซึ่งเมื่อดูจากภาษากายของเด็กที่ค้อมตัวลงเรื่อยๆ เหมือนถูกตอกย้ำให้นึกถึงประสบการณ์ที่แย่ รู้สึกถูกลดทอนคุณค่า เรื่องนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างหนัก นำไปสู่การรวมตัว ยื่นข้อเสนอต่อกสทช. จนมีบทลงโทษสั่งปิดรายการชั่วคราว ให้บทเรียนแก่สื่อในการนำเสนอประเด็นนี้อย่างมีความรู้และรอบคอบ พลังลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ปัญหาเรื่องความรุนแรงในผู้หญิงและเด็กมีความซับซ้อนหลายระดับ ต้องตั้งต้นที่พลเมืองผู้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ หลุดออกจากมายาคติที่เป็นความรุนแรงแฝง ก็จะสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่มีความเข้าใจที่ถูกตรงได้