ความไม่ประมาณตนของนักเล่าเรื่อง "เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์" ผู้กำกับซีรีส์ The Collector

ความไม่ประมาณตนของนักเล่าเรื่อง "เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์" ผู้กำกับซีรีส์ The Collector

นักเขียนการ์ตูนสยองที่ข้ามสายไปทำงานหลายแพลตฟอร์ม จนเรียกตัวเองว่า "นักเล่าเรื่อง" จะเหมาะกว่า และความไม่ประมาณตนของนักเล่าเรื่องคนนี้ ก็เปิดโอกาสต่างๆ ให้มากมาย

สำหรับคอการ์ตูนผี น่าจะคุ้นชื่อ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักเขียนการ์ตูนที่สร้างชื่อจากการตูนชุด “My Mania – รวมเรื่องสั้นจิตหลุด” สำหรับผู้ชื่นชอบหนังเขย่าขวัญ ก็อาจจดจำเขาได้จากภาพยนตร์เรื่อง “13 เกมสยอง” และ “บอดี้ศพ #19”

มาถึงตอนนี้เอกสิทธิ์ กำลังมีผลงานเขียนบทและกำกับซีรีส์เรื่อง The Collector – คนประกอบผี ทาง LINE TV นี่คืองานอดิเรกที่แสนจริงจัง นอกเหนือจากงานประจำทำโฆษณาครบวงจรที่บริษัท Springboard Plus ซึ่งเขา “ทำทุกอย่างตั้งแต่คิดงาน เขียนสตอรี่บอร์ด ขายงาน ไปจนถึงถ่ายหนังเลยครับ เพราะยุคนี้ต้องเร็ว คิดแล้วทำเลยก่อนที่จะเอาท์”

ซีรีส์บนมือถือต้องดึงดูดคนทุกวินาที

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ การ์ตูน ภาพยนตร์ โฆษณา และมาถึงซีรีส์ การทำงานของเอกสิทธิ์ว่าด้วยการเล่าเรื่อง จนต้องเรียกตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง มากกว่าจำกัดอยู่ที่บทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง “ยุคนี้คือยุคแห่งการเล่าเรื่อง” เขาว่า

“แต่ละการเล่าเรื่องก็มีความเหมือนแต่ก็ต่างกัน เปรียบเทียบกับเทนนิสและปิงปอง ตีข้ามเน็ทเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน อย่างโฆษณา มีเวลาเล่าไม่กี่วินาที ต้องเข้าประเด็นให้เร็วที่สุด ต้องกระชับ ประเด็นคมๆ เร็ว โฉ่งฉ่าง ให้คนจำง่ายที่สุด ในขณะที่หนังใหญ่ 2 ชั่วโมงในจอในโรงหนังมืดๆ อะไรที่โฉ่งฉ่างอย่างในโฆษณาจะบาดตาบาดหูทันที หนังใหญ่มันขืนความรู้สึกไม่ได้ ต้องค่อยๆ เล่า อะไรที่ปลอม ต่อให้เล็กคนก็รู้สึก อย่างการหลอกผีก็ไม่ต้องใหญ่ กระซิบๆ ก็ทำให้เย็นยะเยือกได้

"แต่พอเป็นหนังผีซีรีส์ ซึ่งอยู่บนจอมือถือเล็กๆ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ ตอนอยู่ในโรงหนัง คนดูอยู่ในกำมือเรา แต่พอเป็นจอมือถือ ทุกวินาที ต้องดึงเขาไว้ เพราะเขาจะปิดเมื่อไหร่ก็ได้ การเปลี่ยนขนาดจอ มีผลมาก ฉะนั้น ในการทำซีรีส์ ต้องน่าสนใจทุกวิ ทำให้คนอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ สิ่งที่ผลักดันให้เขาดูต่อในซีรีส์คือความอยากรู้ อยากรู้มากๆ”

แปลกมากที่ทุกคนคิดว่าเราทำได้ แล้วเราก็คิดว่าเราทำได้ด้วยนะ ก็เลยเกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมา

The Collector ได้ผลตอบรับดีเกินผู้กำกับคาด สัปดาห์แรกยอดวิวไปถึง 3.7 ล้านวิว (ตอนนี้ไปมากกว่า 4.4 ล้านวิวแล้วสำหรับ EP.1) แถมด้วยเสียงบ่นว่าแต่ละตอนสั้นไป ไม่พอ แล้วต้องรอไปอีก  1 สัปดาห์กว่าจะได้ดูตอนใหม่ ผู้กำกับก็น้อมรับคำบ่น แต่ถ้าให้เขาเลือก "เลือกเล่าแบบไม่พอ ดีกว่ายาวเกินไป”

IMG_6854

เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์

การทำซีรีส์เพื่อให้คนดูผ่านแพลตฟอร์มมือถือ โดยเฉพาะการนำเสนอตอนแรก ต้องดึงคนดูให้ติดตามต่อนั้นมีหลักการ แต่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการของผู้กำกับมากกว่า

“การตั้งคำถามและต้องการคำตอบเป็นตัวจุดติด เราคงไม่อยากดูอะไรที่เรารู้อยู่แล้ว เราต้องไม่รู้ ไม่แน่ใจ สิ่งที่คิดอาจไม่ใช่ นั่นคือตัวตั้ง

"การทำงานของผม ทั้งการ์ตูนหรือซีรี่ส์ ผมจะใช้คำพูดน้อยมาก ตัวละครแทบไม่พูด ฉะนั้น ตัวละครของผมอยู่คนเดียวในห้องก็ได้ การใช้ภาพมาสื่อน่าสนใจมากกว่ามีคนมาบอกเล่า ผมว่าอารมณ์ผี มันคืออารมณ์ไม่แน่ใจ คือไรวะ เกิดคำถามเต็มไปหมด EP. 1 เรื่องนี้ มีการตั้งคำถามตั้งแต่ฉากแรกเลย เราเอาพระเอกไปแขวนอยู่อย่างนั้น คนก็จะอยากรู้ว่าพระเอกเป็นคนยังไง ไปเจออะไรมา แล้วสิ่งที่เขาเจอต่อไปก็ยิ่งน่าสนใจด้วย”

IMG_7524

ฉากแรกของซีรีส์  The Collector เปิดฉากให้ชวนสงสัย

จังหวะผี จังหวะเซอร์ไพรส์

ในความเงียบนั้นมีตัวหนังสือเล่าเรื่องอยู่ทุกรายละเอียด ลักษณะห้อง บุคลิกตัวละคร ภาพที่เห็นคือการทำงานร่วมกันของทีมงาน ซึ่งมีความเข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์

“แล้วทุกคนช่วยกันคิดให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก ต่างจากเขียนการ์ตูนที่เราเขียนอยู่คนเดียว”

การเล่าเรื่องโดยใช้ภาพมากกว่าบทสนทนาก็เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งดึงคนดูให้สนใจทุกรายละเอียดในภาพ

IMG_7526

ไอซ์ซึ - ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ รับบท ปาย ใน The Collector

“เมื่อคนดูจดจ้องก็เหมือนกับเขาอยู่ในกำมือเราเหมือนกัน พอเราปล่อยอะไรไป ชึ่ง ! เขาก็ตกใจ เหมือนอย่างซีนใน EP. 1 พระเอกเก็บงานในรถ บังเอิญเห็นรูปแฟน อารมณ์กำลังฟรุ้งฟริ้ง แต่พอหันมากลับเจอคนบ้าอยู่ข้างรถ อย่างนี้เรียกว่าจังหวะผี คือจังหวะมันใช่ ต่อให้ใส่โปเกมอนเข้ามาก็ตกใจได้ ฉะนั้น จังหวะสำคัญกว่าผีอีก ถ้าเราใส่ผีมากเกินไป คนก็จะตั้งกำแพง แต่ถ้าเขาเผลอๆ ลอยๆ เหมือนการ์ดตก แล้วเราปล่อยจังหวะผีน็อคเอาท์เข้าไป ก็ตกใจ”

ดูเหมือนว่าเอกสิทธิ์จะทำงานอยู่กับเรื่องผี เรื่องสยองขวัญจนกลายเป็นภาพจำ แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนชอบเรื่องเซอร์ไพรส์มากกว่า “ชอบการเล่าเรื่องแบบหักมุม เพี้ยนๆ แปลกประหลาด แต่ว่าเส้นทางหรือชองในเมืองไทยมันมีไม่กี่ชอง (Genre) เขาก็จะจัดประเภทไปเลยอันนี้คือผี มันไม่มีหนังประหลาด หนังเพี้ยน จริงๆ เราชอบทางนั้นมากกว่า”

ถามถึงตอนที่เขาชอบ เอกสิทธิ์บอกว่า EP.3 คือตอนที่เขารักเลย เพราะจะเห็นตัวตนของเรื่องชัด มีความวิกลจริตหน่อยๆ ต่างจากหนังผีทั่วไป จริงๆ เขาก็บอกว่านี่คือเดิมพันที่สูงอยู่ เพราะแนวที่เขาเลือกเล่าค่อนข้างมีความเฉพาะทาง เมื่อยอดวิวไปหลักหลายล้าน แตะความเป็นแมส เขาก็สงสัยว่าตัวตนที่ไม่ประนีประนอมต่อซีรีส์เรื่องนี้ จะถูกใจคนดูหรือไม่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คนดู

นักเล่าเรื่องแบบเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์

ความไม่จำกัดตัวเองอยู่กับการเล่าเรื่องผ่านแพลตฟอร์มไหน เอกสิทธิ์จึงเป็นได้ตั้งแต่นักเขียนการ์ตูนไปจนถึงผู้กำกับ ซึ่งแต่ละผลงานเขาก็มีลายเซ็นต์เป็นที่น่าจดจำ เขาเองก็ยังงงๆ อยู่ว่ามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร

“อยู่ๆ ก็ไปหล่นปุ๊อยู่กลางวงของ GDH มองไปรอบๆ ก็เห็นแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น ผมลองทบทวนตัวเองก็พบว่า มันมีแพชชั่นลึกๆ บางอย่างในตัวเรา ที่เรามีความอยากทำ โดยเราไม่คิดมาก่อนว่าเราจะทำไม่ได้ด้วยนะ มีความห้าวเป้งโดยไม่รู้ตัว เราเพิ่งรู้ว่าเราเขียนบทเป็น ตอนที่มะเดี่ยวชวนเขียนบทเรื่อง 13 เกมสยอง โดยไม่รู้ว่าเขียนบทเป็นหรือไม่เป็น แล้วเข้าใจว่าตัวเองทำได้ ไปหัวทิ่มหัวต่ำกับหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา แปลกมากที่ทุกคนคิดว่าเราทำได้ แล้วเราก็คิดว่าเราทำได้ด้วยนะ ก็เลยเกิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมา

IMG_7594

“มันมีความไม่ประมาณตนอยู่ในตัว ในความไม่ประมาณตนก็มีความฟลุคอยู่ว่า มันมีสกิลอะไรบางอย่างเหมือนกันที่ผมไม่รู้ตัว ถามว่าคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ได้ แต่จับสัญญาณตัวเองได้ว่า ในช่วงความเป็นความตายที่มันบีบคั้น ไอเดียจะออกมา”

การสะสมทักษะของเขาคือการเลือกแนวทางความชอบของตนเองให้ชัด แล้วเสพงานแนวนั้นให้เยอะ ในแต่ละผลงานมีตำราซ่อนอยู่ “เหมือนซื้อเก้าอี้มาตัวหนึ่ง มันมีวิธีประกอบเก้าอี้อยู่ในเก้าอี้อยู่แล้ว ถ้าเรารู้วิธีรื้อมัน เราก็จะรู้วิธีการทำมัน”

ย้อนกลับไปที่ต้นตอความชอบการเล่าเรื่องแบบหักมุม “แบบที่เราจ้องตาคนเล่า แต่คนเล่ารู้ใจเรา” เมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่เขาเริ่มทำงาน ทางเลือกในการถ่ายทอดมีให้ไม่มาก แนวทางการ์ตูน หรือหนังแบบหักมุมก็มีน้อย แต่เขาก็เลือกที่จะทำออกมา เผื่อว่าจะเจอคนอ่านที่เป็นทางเดียวกัน แล้วการ์ตูนชุด My Mania - รวมเรื่องสั้นจิตหลุด ก็สร้างชื่อให้เขาเป็นที่จดจำในกลุ่มคนแม้จะไม่แมส แต่ก็เหนียวแน่นอยู่

เรื่อง 13 เกมสยอง ก็ไปโดนใจทีมหนัง งานของเขาจึงก้าวไปสู่วงการหนัง ตามมาด้วยเรื่อง บอดี้ศพ #19 แม้ทั้ง 2 เรื่องจะไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ แต่ก็ได้รับคำชื่นชมและกลายเป็นภาพจำของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ “ถ้าผมไปทำหนังรัก ก็คงไม่มีใครเชื่อ”

IMG_7532_1

เพลง - ชนม์ธิดา อัศวเหม รับบท วิรินทร์ หญิงสาวผู้เป็นแกนกลางของปริศนา ใน The Collector

แต่ตัวจริงของเอกสิทธิ์ไม่ได้ดาร์คเหมือนในหนัง มุมมองต่อโลกและชีวิตของเขาออกจะเฉยๆ “ไม่ชื่นชม ไม่ชิงชัง” ความดาร์คในหนังของมาจากการสอนแต่ไม่สั่ง ด้วยวิธีการแรงๆ

“ของบางอย่างต้องพูดให้แรงจึงจะเข็ด เหมือนคุณป้าทุกรถพูดปาวๆ ไม่เคยมีใครฟัง เอาขวานออกมาสับทีเดียวจบ อย่าง 13 เกมสยอง ก็เหมือนเอาขวานออกมาสับให้คนสตั๊นท์ว่า ทุนนิยมนี่มัน... ผมเป็นคนที่เลือกเล่าในมุมดาร์ค คือให้สตั๊นท์ ลึกๆ เราอยากเปลี่ยนสังคมบ้าง ทุกคนก็อยากเปลี่ยนนะ ในวิธีของตัวเอง อย่างผมก็แรงๆ ประชดๆ โหดให้ดู ให้คนคิดต่อ”

บัญญัติไตรยางศ์แห่งผี

เรื่องผีของเอกสิทธ์มีความสยองเฉพาะตัว เพราะเขามีหลักการบางอย่างอยู่

“ผีมันคือบัญญัติไตรยางศ์ ถ้าผีมาตรงๆ มันน่ากลัวแป๊บเดียว แต่ความคิดที่เราเชื่อมโยงเอง 'ถ้าอย่างนั้นมันก็อย่างนี้น่ะซิ' เชื่อมโยงเสร็จ ขนลุกซู่เลย สิ่งที่ผมทำคือ ทำวงกลมนั้นให้มันไม่จบ ให้คนดูเชื่อมต่อเอง

"อธิบายง่ายๆ สมัยก่อน ถ้าผีมาเท่ากับหมาหอน หมาหอนแปลว่าหมาเห็นผี มันมีการเชื่อมโยงอยู่แล้ว ไม่ต้องมีผีออกมา สมมติเรานั่งอยู่ในบ้าน มีเสียงมาหอนอยู่ไกลๆ ค่อยๆ ใกล้เข้ามาตามเส้นทางเปลี่ยว เปิดหน้าต่างออกมาเห็นหมาเงยหน้ามองวิ่งวนอยู่รอบๆ อะไรที่มองไม่เห็น แล้วก็มาหยุดอยู่หน้าบ้าน ที่เหลือคนดูเขาคิดสติแตกไปเอง โดยที่ไม่ต้องเอาผีมายืนอยู่หน้าบ้าน มันคือการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เป็นสูตรอยู่เหมือนกันที่ผมใช้ประจำ”

การเล่าเรื่องในผลงานเรื่องล่าสุดของเขาก็มีบัญญัติไตรยางศ์ที่ซ้อนชั้นปั่นหัวคนดูอยู่ประมาณหนึ่ง การคาดเดาของเราอาจถูกเขาดักทางและตลบหลัง แต่เอกสิทธิ์ยืนยันว่าเขาเป็นนักปรุงที่ให้เกียรติคนดู

รสชาติแปลกๆ ที่เขานำเสนอใน The Collector อาจทำให้คนดูรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาเสนอว่า “ความรู้สึกไม่ปลอดภัยนั่นคือความใหม่” ที่อยากชวนให้ลองเปิดใจชม