เล็กจนมองข้ามอันตราย จิ๋วแต่ข้นคลั่กในอากาศ ศิลปะจากฝุ่นพิษ PM2.5

เล็กจนมองข้ามอันตราย จิ๋วแต่ข้นคลั่กในอากาศ ศิลปะจากฝุ่นพิษ PM2.5

มาถึงจุดที่เราต้องทวงคืนสิทธิ์ในการมีอากาศดีไว้หายใจกันแล้ว เมื่อค่าฝุ่นพิษละเอียดจิ๋วเกินระดับมาตรฐาน แต่ยังไร้มาตรการควบคุม ศิลปะก็เป็นสื่อหนึ่งในการส่งเสียงกระตุ้นให้ทุกคนรับรู้

20180116123013710

จากฝุ่นที่ตามเก็บจากพื้นที่ที่มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ เมื่อผ่านมือของ โจ้ - เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินผู้ทำงานคาบเกี่ยวกับประเด็นสังคม ก็กลายเป็นงานศิลปะซึ่งเป็นพยานของมลพิษทางอากาศ หากคนมองไม่เห็น เขาก็จับมาตั้งไว้ตรงหน้า กระตุกเตือนให้ไม่เพิกเฉยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ นั่นคือสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดสำหรับหายใจให้เต็มปอด

ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ จึงทะลุผ่านการดักจับเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เกิดได้ทั้งจากฝุ่นตามธรรมชาติ และการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการปะปนของก๊าซ สารเคมีต่างๆ

20180116123335483

ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดที่มีปัจจัยดังกล่าวสูงนั้น มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ และยังไม่มีมาตรการควบคุมให้ค่าเหล่านั้นลดลง ประชากรในหลายจังหวัด รวมถึงในกรุงเทพฯ กำลังถูกลิดรอนสิทธิ์การมีอากาศดีๆ ไว้หายใจ บางคนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่ไม่อาจต่อสู้กับปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศ

พวกเราเอง อาจเป็นคนหนึ่งที่เพิกเฉยต่อปัญหา

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือหน่วยงานหนึ่งที่รณรงค์เรื่องนี้มาตลอด เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเรียกร้องให้มีการยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ครั้งนี้กรีนพีซเสนอศิลปะเป็นเครื่องสื่อสาร

20180116123013508

ในนิทรรศการ Right to Clean Air ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนั้น นอกจากนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง PM 2.5 แล้ว ยังมีงานศิลปะของเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล แสดงอยู่

_MG_1482

เป็นผลงานที่ผ่านกระบวนการ “เก็บฝุ่น” โดยลงพื้นที่จริง ที่มีรายงานค่าฝุ่นละอองในระดับอันตราย ทั้งในกรุงเทพ ที่ย่านแฟลตดินแดงและสยามสแควร์ ที่สระบุรีซึ่งมีทั้งโรงโม่หิน โรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งส่งผลให้มีฝุ่นปกคลุมเป็นวงกว้าง ที่มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ที่แม่เมาะ จ.ลำปาง กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และที่จ. เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ได้ฝุ่นกลับมาจากทุกที่ ด้วยปัจจัยด้านอากาศ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ บางที่อากาศดูสะอาดใส แต่กลับมีค่ามลพิษทางอากาศสูง อย่างที่มาบตาพุด ตรงข้ามกับสระบุรี แค่ไปชั่วขณะเวลาหนึ่งเท่านั้น เรืองศักดิ์ก็บอกกับตัวเองว่าไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ที่ “เมืองแห่งฝุ่น” นี้

เพราะตัวเขาเองคือคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์กับฝุ่นพิษมาแล้ว บ้านของเขาอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง ตอนเด็กๆ เขาเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนัก ตอนนั้นเขาไม่ได้ตระหนักรู้เลยว่าการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ที่ปล่อยฝุ่นจนน้ำหูน้ำตาไหล คือสาเหตุของโรคภูมิแพ้ ก็เพิ่งมาระลึกได้เมื่อทำโครงการนี้

20180116123012435

เรื่องศักดิ์นำฝุ่นที่ได้มาสร้างเป็นงาน 2 ชุดด้วยกัน คือชุด Monolith Souvenir ที่เห็นแล้วนึกถึงตัวอย่างในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

“เราเอาหลักฐานคือใบไม้ที่ไปเก็บจากพื้นที่จริง นำมาหล่อเรซินเพื่อแช่แข็ง ให้เห็นรายละเอียดของฝุ่นที่เกาะอยู่ เพราะฝุ่นอาจมองไม่เห็นง่ายขนาดนั้น ที่สระบุรีอาจเห็นชัดหน่อย แต่ที่แม่เมาะ หรือที่มาบตาพุด มองเห็นยาก แต่เรารู้ได้จากรายงาน ใบไม้เหล่านั้นถือเป็นตัวแทนของคนที่นั่น ที่เขาต้องอยู่กับฝุ่นที่นั่น หายใจที่นั่น เหมือนให้คุณได้เห็นซากของคนที่ตายแล้ว แต่อยู่ข้างนอกการรับรู้ของคุณ”

_MG_1114

ส่วนงานชุดที่ 2 Memory ความทรงจำ “ผมตั้งใจพูด 2 เรื่อง คืออดีต และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ชิ้นงานมี 3 ชิ้น เป็นตัวแทนของ 4 คนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องมลภาวะ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นให้ลอยอยู่ในอากาศ อยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ไร้กาลเวลา เหมือนตัวมันเองไม่มีน้ำหนัก เป็นรูปแบบหนึ่งของสังคมที่จับต้องไม่ได้ ถูกปล่อยค้างไว้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เรารู้ว่ามีอยู่จริง แต่จะตระหนักรู้ได้ขนาดไหน”

หุ่นเคลือบฝุ่นสีดำเหล่านั้นอยู่ในอิริยาบถของชีวิตประจำวัน ยิ่งปล่อยผ่านฝุ่นก็ยิ่งเกาะหนาดำขึ้นเรื่อยๆ ผลงานนี้กระตุกให้คนไทยคิดถึงเรื่องความเพิกเฉยต่อปัญหาซึ่งไม่ได้มีกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เมื่อกระตุ้นแล้วก็ต้องมีความหวัง หุ่น 2 ใน 3 ชิ้นกลับหัว แทนค่าการจมอยู่ในปัญหายากจะแก้ แต่หุ่นแม่ลูกนั้นลอยอยู่ในระนาบขนาน สื่อถึงความหวังถึงอนาคตที่จะดีขึ้นได้

20180116123014106

แม้รัฐบาลจะกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 ไว้สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ด้วยเหตุผลว่าประเทศเรากำลังพัฒนา ก็ต้องให้เป็นไปอย่างนั้น แต่อันที่จริงต้องคิดคู่ขนานไปด้วยว่าการพัฒนาสู่ความก้าวหน้า จะกลายเป็นการมองอนาคตที่ถอยหลัง ด้วยการทำให้สุขภาพประชากรย่ำแย่หรือเปล่า? คนที่มีความสามารถมากมาย อาจป่วยและตายไปโดยไม่ได้ใช้ความสามารถของเขาให้เต็มที่ด้วยซ้ำ

เรืองศักดิ์ขอยกคำพูดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า “Facility Capacity คือพื้นที่ต่างๆ สามารถรับผลกระทบได้แค่ระดับหนึ่ง จะให้มันรับมากกว่านั้นไม่ได้ จะเกิดปัญหา จะพัฒนาอะไรที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ก็ต้องมีนักวิจัยที่สามารถจำกัดขอบเขตให้ได้ ไม่งั้นมันรับไม่ไหว โครงสร้างพัง คนพัง สังคมพัง ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของคนไม่กี่คน เขาต้องรู้”

“เราอยู่ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างเล็กลงและสะดวกขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยีก็ทำให้เกิดมลภาวะที่ละเอียดมากขึ้นเช่นกัน อุตสาหกรรมต้องตามให้ทัน ต้องมีมาตรการป้องกันเช่นกัน ถ้ารู้เท่าทันแล้ว เราจะส่งต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็ฝากไว้เป็นการบ้านให้กับทุกคน”

ศิลปะคือภาษาหนึ่งที่จะส่งเสียงต่อสังคม ที่ผ่านมามีงานหลายชิ้นสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำคัญก็คือเมื่อเสียงถูกส่งออกไปแล้ว ต้องเชื่อมจุดของคนที่ตระหนักรู้เข้าด้วยกันให้กลายเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่ การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายไม่อาจต่อสู้เพียงลำพัง ต้องสร้างคลื่นลูกใหญ่แบบที่เพิกเฉยไม่ได้ขึ้นมาให้ได้ แม้เราจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากปัญหา แต่อย่าลืมว่าบ้านทุกหลัง อาคารทุกแห่งก็ล้วนสร้างมาจากอุตสาหกรรมเหล่านั้น เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในวงจรนั้นเช่นกัน

ชมนิทรรศการ นิทรรศการ Right to Clean Air ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2561

ข้อมูลเพิ่มเติม

[1] สถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ใน 14 เมืองของประเทศไทย ปี พ.ศ.2560 www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/City-ranking/2017

[2] ผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการตรวจสอบและคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) ได้ที่ www.greenpeace.or.th/right-to-clean-air