Dark Sky คืนฟ้ามืดให้ดวงดาว คืนสมดุลให้ธรรมชาติ

Dark Sky คืนฟ้ามืดให้ดวงดาว คืนสมดุลให้ธรรมชาติ

รู้จักการรณรงค์ลดมลภาวะทางแสง คืนท้องฟ้ามืดมิดให้แก่ธรรมชาติ บนยอดดอยอินทนนท์ ณ แปลงปลูกดอกไม้ ซึ่งกลางวันถูกยืดออกไปให้ยาวนานขึ้น

ครั้งสุดท้ายที่คุณได้เห็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวคือเมื่อไหร่?

คนเมืองใหญ่แหงนมองท้องฟ้ายามค่ำคืนก็เห็นแต่แสงไฟฟ้าสว่างเรืองอยู่ทั่วไป และเคยชินที่จะเห็นดาวอยู่ไม่กี่ดวง นั่นไม่ได้ทำให้เราคิดอะไรไปมากกว่านั้น เพราะเราอาจไม่เคยได้ยินคำว่า “มลภาวะทางแสง (Light Pollution)” มาก่อน

มลภาวะทางแสงคือ?

แสงที่คนเปิดไฟในเวลากลางคืนเกินความจำเป็น จนเกิดสภาวะสว่างจ้าเกินการใช้งาน เป็นผลจากการออกแบบติดตั้งหลอดไฟ หรือใช้โคมไฟไม่เหมาะสม จนเกิดผลกระทบต่อคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และต่อการศึกษาของนักดาราศาสตร์ซึ่งต้องทำงานกับท้องฟ้าเป็นหลัก

ลักษณะของมลภาวะทางแสง โดย darksky.org

ลักษณะของมลภาวะทางแสง โดย darksky.org

มลภาวะทางแสงมี 3 ประเภท คือ

แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow) คือแสงจากหลอดไฟฟ้าที่ส่องขึ้นท้องฟ้าเวลากลางคืน ส่งผลเสียต่อความสวยงามและการศึกษาดาราศาสตร์ (Astronamical Observaion)

แสงบาดตา (Glare) คือแสงที่ส่องจ้าเข้าดวงตาโดยตรง กระทบต่อการมองเห็นทั้งระยะสั้นระยะยาว โดยเฉพาะคนที่เดินทางและขับรถกลางคืน อาจสังเกตเส้นทางได้แย่ลง

และการรุกล้ำของแสง (Light Trespass) คือแสงที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณของผู้อื่นอย่างไม่เต็มใจ เช่น แสงไฟที่ส่องรุกล้ำเข้าไปในห้องนอนของเพื่อนบ้าน ทำให้เขาหลับไม่สนิท ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการออกแบบโครงสร้างของหลอดไฟ หรือไม่มีโคมที่ควบคุมทิศทางของแสงที่ดี

นอกจากผลเสียต่อสุขภาพ และทัศนียภาพบนท้องฟ้าแล้ว มลภาวะทางแสงยังทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน และรบกวนระบบนิเวศ เช่น กระทบความเป็นอยู่ของพืช แมลง และสัตว์ป่าที่อาศัยความมืด เรดาร์ หรือแสงจันทร์แสงดาวนำทางยามค่ำคืน

อย่างในกรณีของลูกเต่าทะเลที่เมื่อฟักไข่ที่ชายหาดแล้ว จะอาศัยแสงจันทร์ที่กระทบผิวน้ำ กำหนดทิศในการเดินลงไปที่ทะเลได้ แต่เมื่อเมืองใกล้เคียงมีแสงสว่างมากเกินไป ก็ทำให้ลูกเต่าหลงทาง เดินขึ้นไปตายบนบกนับล้านตัว

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกา วงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตกลางคืนต้องบิดเบี้ยวไปโดยที่เราไม่รู้ตัว

โครงการ Dark Sky บนดอยอินทนนท์

เมื่อปี 2558 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นปีสากลแห่งแสงและเทคโนโลยีแสง โดยเน้นความสำคัญของแสงและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT (National Astronomical Research Institute of Thailand) จึงได้ริเริ่มโครงการลดมลภาวะทางแสงในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ รณรงค์ลดแสงสะท้อนส่วนเกินจากแหล่งกำเนิดแสง และปรับปรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด โดยเริ่มทำวิจัยมาตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จนมาเป็นโครงการ Dark Sky การรณรงค์ลดแสงสะท้อนขึ้นสู่ฟากฟ้ายามค่ำคืนที่ได้ดำเนินการมานานแล้วในระดับนานาชาติ และนี่เป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมา

พื้นที่กว่า 3 แสนไร่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นั้นเป็น “บ้าน” ของชาวเขาเผ่าม้งและปกาเกอะญอ ซึ่งอยู่กันมาเป็นร้อยปีแล้ว จากคำบอกเล่าของพ่อหลวงไตรวิทย์ แซ่ยะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านขุนกลาง เชื้อสายปกาเกอะญอ แต่ก่อนพื้นที่บนดอยไม่ได้เป็นป่าไม้สูงใหญ่ เป็นแต่ผืนหญ้าคาระบัดใบทั่วเขา มองไกลๆ เห็นวัวกี่ตัวก็นับได้หมด เพราะชาวเขาสมัยนั้นไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรควบคู่การอนุรักษ์ จึงเผาป่าทำไร่เลื่อนลอยไปเรื่อย โดยเฉพาะไร่ฝิ่น

จนกระทั่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาถึงดอยอินทนนท์ราวปี 2513 พระองค์เสด็จฯ มาถึง 16 ครั้งด้วยกัน ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์พื้นที่นี้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะที่นี่คือป่าต้นน้ำอันดับ 1 ที่สำคัญอันจะเก็บกักน้ำไปหล่อเลี้ยงมวลชนบนพื้นราบได้ตลอดปี หัวหน้ารุ่ง หิรัญวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เสริม

ในการอนุรักษ์ป่า ก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องของคนพื้นที่ด้วย โครงการหลวงจึงเกิดขึ้นเพื่อวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นอาชีพแก่คนบนดอย

P9060319

การปลูกดอกแบญจมาศในโดมพลาสติก

และดอกเบญจมาศก็เป็นหนึ่งในนั้น ดอกไม้ที่ปลูกได้ตลอดปี จะขายได้ราคาดีหากมีดอกใหญ่และก้านยาว จากการวิจัยพบกว่าดอกเบญจมาศเป็นพืช “วันสั้น” คือจะบานเร็วและดอกเล็กเมื่อปล่อยให้เป็นไปตามวงจรของวันตามปกติ แต่หากต่อ “วัน” ให้ยาวขึ้นจะช่วยให้ดอกชูก้านยาว บานช้า แต่มีขนาดดอกใหญ่สวย ด้วยการเปิดไฟหลังจากอาทิตย์ตกดิน 4 ชั่วโมงในแปลงดอกเบญจมาศ

เป็นทัศนียภาพที่ราวกับหุบไฟแห่งแสงยามค่ำคืน ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่างดงามดี แต่...นั่นแหละคือมลภาวะทางแสง

การเปิดไฟให้แปลงดอกเบญจมาศ

การเปิดไฟให้แปลงดอกเบญจมาศ โดยไม่ใช่โคมควบคุมแสง

เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบสถานีเกษตรอินทนนท์ ปลูกดอกเบญจมาศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหมู่ 7 บ้านขุนกลาง พื้นที่ราว 5 ตารางกิโลเมตร กับประชากรกว่า 300 ครัวเรือน 80 เปอร์เซ็นต์ปลูกดอกเบญจมาศเป็นอาชีพ มีการใช้หลอดตะเกียบ (คอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ หรือ CFL) เพื่อให้แสงในแปลงปลูกใต้โดมพลาสติกมากกว่า 110,000 หลอด (โดยเป็นหลอดเปลือยไร้โคม)

ภาพถ่ายท้องฟ้าที่เห็นแสงจากแปลงปลูกส่องสว่างขึ้นฟ้าชัดเจน

ภาพถ่ายท้องฟ้าที่เห็นแสงจากแปลงปลูกส่องสว่างขึ้นฟ้าชัดเจน

ยามค่ำคืนเขตบ้านขุนกลางจึงเป็นพื้นที่ที่แสงส่องขึ้นฟ้าเข้มข้นสูงที่สุด ภาพที่ถ่ายได้เห็นแสงเรืองขึ้นท้องฟ้าอย่างชัดเจน และบดบังทัศนียภาพยามค่ำคืนไปโดยเข้าใจว่าคือความงาม

วัดผลเพื่อเปลี่ยนแปลง

โครงการ Dark Sky ของสดร.จึงเริ่มต้นขึ้นที่นี่ เจษฎา กีรติภารัตน์ และวทัญญู แพทย์วงษ์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศ ดาราศาสตร์ คือกำลังสำคัญในการทำวิจัยภายใต้การนำของ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. พวกเขาเล่าถึงการวิจัย ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบลักษณะการให้แสงระหว่างหลอดตะเกียบและหลอด LED ทั้งการกระจายแสง การสิ้นเปลืองพลังงาน ความทนทาน และการให้แสงที่เพียงพอต่อการเปิดไฟให้ดอกไม้ ทั้งการทดลองในแลบ และกับแปลงสาธิตกลางแจ้ง พบว่าหลอด LED สามารถให้แสงที่มีประสิทธิภาพในการเติบโตของดอกไม้พอๆ กัน แต่มีการกระจายแสงลงด้านล่าง ไม่ฟุ้งกระจายเป็นวงขึ้นด้านบนอย่างหลอดตะเกียบ อีกทั้งยังทนทานกว่า และประหยัดพลังงาน

P9060377

แปลงสาธิต โครงการ Dark Sky แบบใช้หลอด LED และโคมกันแสงพุ่งขึ้นด้านบน แต่ยังส่องแสงแก่ต้นเบญจมาศได้

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการเปลี่ยนหลอดไฟ คือการใช้โคมเพื่อควบคุมแสงที่จะฟุ้งขึ้นด้านบน ซึ่งต้องออกแบบโคมที่เหมาะสมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพราะโคมในท้องตลาดยังจำกัดแสงบางส่วนทำให้ดอกเบญจมาศโตไม่เท่ากัน ซึ่งการวิจัยเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการควบคุมมลภาวะทางแสง และยินดีที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทำให้พวกเขาเห็นผลเชิงประจักษ์ จึงพร้อมที่จะเปลี่ยน ซึ่งในวันนั้น คณะของเราก็ได้เห็นจริงว่า เมื่อใส่โคมเข้าไปแล้ว สามารถลดแสงเรืองขึ้นด้านบนได้อย่างเห็นได้ชัด แต่ไฟก็ยังส่องสว่างให้ดอกเบญจมาศได้ดี

เปรียบเทียบ แปลงซ้ายไฟ LED + โคม และแปลงขวา หลอดตะเกียบ แปลงซ้ายจะไม่มีแสงพุ่งขึ้นด้านบน

ภาพเปรียบเทียบ แปลงซ้ายใช้หลอดไฟ LED + โคม และแปลงขวา หลอดตะเกียบ จะเห็นได้ว่าแปลงซ้ายไม่มีแสงพุ่งขึ้นด้านบน

ทีมวิจัยยังได้ให้ตัวเลขออกมาว่า การใช้หลอด CFL จะทำให้มีแสงกระเจิงขึ้นฟ้าราว 80 Lux (หน่วยวัดแสงที่กระเจิงขึ้นฟ้า) แต่หากเปลี่ยนเป็นหลอด LED แสงกระเจิงจะลดเหลือ  40 – 50 Lux และหากหลอด LED ติดตั้งโคมกันแสงด้วย ก็จะลดแสงกระเจิงลงได้อีก จนเกือบไม่มีเลย ถ้าเป็นโคมที่ออกแบบมาเหมาะสม ทั้งยังสามารถลดค่าไฟได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้จึงมีเกษตรกรราว 200 ราย ลงชื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว

Dark Sky จึงไม่เท่ากับการปิดไฟ เพราะหลายพื้นที่แสงสว่างคือความปลอดภัย แต่การลดมลภาวะทางแสง คือการออกแบบโครงสร้างของแสงหรือควบคุมทิศทางการส่องสว่างเท่าที่จำเป็น มีประสิทธิภาพ ไม่รบกวนสายตาและสุขภาพ ไม่เกิดแสงกระเจิงขึ้นฟ้า ทำลายทัศนียภาพ และยังเป็นการสูญเปลืองพลังงานอีกต่างหาก

แม้พื้นที่นำร่องของโครงการ Dark Sky ณ บ้านขุนกลางที่มีขนาดเพียง 5 ตารางกิโลเมตร แต่การจะควบคุมแสงทั้งพื้นที่นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ทางสดร. จึงนำโครงการไปเสนอกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณ หลอดไฟ LED ที่จะเปลี่ยนกว่าแสนหลอด และองค์ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้าแล้ว ยังดึงอีก 3 ภาคี คือ โครงการหลวง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันเป็นเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันศึกษาและทดลองการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในภาคเกษตร เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงในพื้นที่ดอยอินทนนท์ โดยมุ่งหวังว่าจะที่นี่จะเป็นต้นแบบให้สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้

Dark Sky ปูทางสู่แหล่งท่องเที่ยว

ไม่ว่าจะดูดาวเป็นหรือไม่ หรือไม่รู้จักดาราศาสตร์อย่างแท้จริง แต่ทุกครั้งที่แหงนหน้ามองท้องฟ้า หากเป็นค่ำคืนในสถานที่ที่ไม่มีแสงสังเคราะห์มารบกวนมากนัก ดาวระยิบระยับนับล้านจะทำให้มนุษย์รู้สึกถึงความอัศจรรย์ของโลกใบนี้ โมงยามที่ฟ้ามืดมิดเป็นพิเศษนั้นกลายเป็นมูลค่าเชิงการท่องเที่ยวได้

การรณรงค์ลดมลภาวะทางแสง สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนดอยอินทนนท์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้การรับรอง Dark Sky Certification จาก IDA หรือ International Dark-Sky Association องค์กรระหว่างประเทศที่สร้างมาตรฐานท้องฟ้ามืดมิดจนเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติที่แท้ขึ้นมา และหากได้การรับรองนี้ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวยิ่งขึ้นไปอีก

ค่ำคืนบนยอดดอยอินทนนท์ที่ไกลจากแสงรบกวนบนพื้นราบสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า แต่ ณ จุดสูงสุดบนยอดดอยจะปิดเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ดื่มด่ำกับป่าและฟ้าที่มืดสนิท หากแม้ตีนดอยจะมืดมิด และทำให้เราเห็นทางช้างเผือกและดาวระยับได้ไม่ต่างกัน นี่ก็จะกลายเป็นจุดขายอันล้ำค่าที่มาพร้อมกับระบบนิเวศที่สมดุลขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เป็นสำคัญ และอาศัยเวลาเป็นข้อพิสูจน์ว่าท้องฟ้าที่มืดลงจะให้อะไรแก่พวกเขาบ้าง