ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 1: คลอดลูกที่แคนาดา

ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 1: คลอดลูกที่แคนาดา

หลังจากคลอดลูกคนแรกที่เมืองไทย เธอก็ได้มีประสบการณ์ครั้งใหม่กับการคลอดลูกคนที่ 2 ในแคนาดา และกลับบ้านไปอย่างแม่ผู้มีความรู้ ทรหดขึ้นกว่าที่เคย

ฉันเป็นแม่บ้านคนไทยที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ เรามีลูกชายเล็กๆ 2 คน คนโตเกิดที่เมืองไทย แต่คนเล็กเกิดที่แคนาดา เลยมีประสบการณ์ตรงจากการที่ได้ไปคลอดลูกที่แคนาดามาเล่าให้ฟัง

ฉันและลูกชายคนโตได้ย้ายจากเมืองไทยมาอยู่ที่เมืองโตรอนโต ตามสามีซึ่งมาทำงานที่แคนาดา เมื่อปลายปี 2014 เป็นปีที่ฤดูหนาวหนาวมากถึงกับ -35 องศา พวกเราอยู่กัน 3 คนพ่อแม่ลูกในคอนโดเล็กๆ ใจกลางเมืองโตรอนโต ชีวิตที่นี่ สะอาด สวยงาม สะดวกสบาย เป็นระเบียบ และเร่งรีบ

คนแคนาดาส่วนใหญ่ เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส ขี้เกรงใจ และสุภาพมาก จนมีการเล่ากันขำๆ ว่า บางคนเดินชนต้นไม้ ก็จะเอ่ยขอโทษต้นไม้ที่เดินไปชน

เตรียมตัวก่อนคลอด

ฤดูใบไม้ผลิถัดมา พวกเราก็มีข่าวดี ฉันกับสามีกำลังจะมีลูกอีกคน เราดีใจมากที่จะสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่คอนโดเล็กๆ ที่อยู่นี้คับแคบไป พวกเราต้องขายคอนโด แล้วซื้อบ้านที่ใหญ่ขึ้นในชานเมือง เราขายบ้านได้ช้ามาก กว่าจะได้ย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ ฉันก็ตั้งท้องได้ 8 เดือนแล้ว คุณหมอแนะนำว่าให้คลอดที่โรงพยาบาลเดิมที่ดูแลครรภ์ในโตรอนโต อย่าย้ายโรงพยาบาลเลย จะปลอดภัยกว่า อีกทั้งเป็นการคลอดแบบวางแผนผ่าด้วย จึงไม่ต้องห่วง ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลล่วงหน้า เพื่อเตรียมผ่าอยู่แล้ว อีกทั้งยังนัดผ่าก่อนวันครบกำหนดคลอดถึง 1 สัปดาห์

1 เดือนก่อนครบกำหนดคลอด ทางโรงพยาบาลจะให้พ่อแม่มาเตรียมตัว โดยจัดทัวร์แผนกคลอดบุตร เหมือนงานปฐมนิเทศของการเป็นพ่อแม่ พาดูห้องคลอด บอกลำดับขั้นตอนว่ามาถึงแผนกคลอดต้องทำอะไรบ้าง รายการของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมมา จอดรถที่ไหน เข้าประตูไหน รายละเอียดเยอะมาก แต่มีเอกสารประกอบให้เอากลับไปอ่านและเตรียมตัวมา

สิ่งที่ต่างจากการคลอดในโรงพยาบาลเอกชนที่เมืองไทยคือ ต้องเตรียมของมาเองเยอะมาก เช่น ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด กระดาษเช็ดก้นเด็กแบบเปียก ผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่ ปลอกหมอนและหมอนของคนเฝ้า เสื้อผ้าเด็กอ่อน ขนมและเสบียงต่างๆ เหมือนกับจะย้ายบ้านกันเลยทีเดียว ตอนคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนในเมืองไทย ฉันเตรียมแค่ชุดกลับจากโรงพยาบาลและของใช้ส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น ส่วนของลูก ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้หมด

ลืมตาดูโลก

ก่อนวันนัดผ่าคลอด 2 วัน มีข่าวพยากรณ์อากาศว่าจะมีพายุหิมะขนาดใหญ่พัดเข้ามา ในวันที่นัดผ่าคลอด (ซึ่งพวกเราต้องเดินทางไปโรงพยาบาลไกลถึง 50 กิโลเมตร) พายุจะรุนแรงมากจนอาจทำให้การเดินทางบนท้องถนนถูกตัดขาดหรือไปได้ล่าช้าและอันตราย พวกเรา (พร้อมลูกชายวัยเกือบ 3 ขวบ) เลยตัดสินใจเดินทางไปพักที่โรงแรมใกล้โรงพยาบาลก่อนกำหนดผ่า 1 วัน พร้อมกับข้าวของที่ต้องเตรียมเพื่อไปคลอดลูก เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง

ด้วยความเครียดและกังวลหรืออะไรก็ไม่ทราบได้ เจ้าเด็กน้อยในครรภ์เกิดอยากออกมาดูโลกก่อนพายุหิมะจะเข้ามา เขาเตะปุ้ง! ถุงน้ำคร่ำแตก ตอนเที่ยงคืนก่อนวันนัดผ่าแค่วันเดียว

ฉันตกใจ แต่ก็ตั้งสติได้ รีบปลุกสามี และทำตามที่หมอสั่งไว้ทันที คือให้บึ่งมาที่โรงพยาบาลอย่างเดียว สามีตกใจตื่น ทำอะไรไม่ถูก ฉันก็บอกให้เก็บของและอุ้มลูกขึ้นรถ ในขณะเดียวกัน ฉันก็พยายามแต่งตัวและปีนขึ้นรถไป การเดินทางใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ฉันรู้สึกว่านานเป็นอสงไขย เพราะเวลามดลูกบีบตัวนี่ เจ็บมาก  ท้องแรกนัดผ่าคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องคลอด ท้องนี้เลยต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บเต็มๆ

พอมาถึง ร.พ. ฉันต้องเดินเข้ามาที่ล็อบบี้และขอรถเข็นด้วยตัวเอง สามีต้องเอารถไปจอดและอุ้มลูกคนโต เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลดูสงบ ไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ในขณะที่ฉันกับสามีหน้าตาตื่นมาก

ลืมบอกไปเลยว่า สำหรับประชาชนสัญชาติแคนาดาและผู้อาศัยถาวร (Permanent Resident) เข้าโรงพยาบาลหรือหาหมอตามคลินิก ซึ่งรวมทั้งการคลอดลูกไม่ต้องจ่ายเงิน

ทั้งคลอดธรรมชาติและผ่าตัด แต่ห้องพักฟื้นจะเป็นห้องรวม ถ้าจะอัพเกรดเป็นห้องคู่หรือห้องเดี่ยวต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง แต่ที่ทำงานของสามีทำประกันเพิ่มให้อยู่ห้องคู่โดยบริษัทประกันจ่าย เราไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ถ้าต้องการอยู่ห้องเดี่ยว ต้องรอให้มีห้องว่างพอดีที่คลอดเสร็จจึงจะได้นอนห้องเดี่ยว ทั้งแผนกที่โรงพยาบาลแห่งนี้ มีห้องเดี่ยวแค่ 3 ห้องเท่านั้น

หลังจากที่เช็คอินเสร็จ พยาบาลก็พวกเราไปที่ห้องรอคลอด (Triad room) ดูเหมือนแผนกฉุกเฉินในเมืองไทย คือ แบ่งเป็นล็อคๆ มีเตียง 3-4 เตียงกั้นด้วยผ้าม่าน แล้วก็มีคนที่รอคลอดอยู่ พยาบาลให้ฉันเข้าไปเปลี่ยนชุดในห้องน้ำ พอแต่งตัวเสร็จ ก็มานอนรอบนเตียง ติดเครื่องวัดสัญญาณชีพเด็กที่ท้อง ส่วนสามีและลูกชายคนโตก็อยู่ด้วยสักพัก พยาบาลก็ให้พวกเขาไปรอที่ห้องรอของญาติ ส่วนฉันก็นอนปวดท้อง รอหมอมาตรวจว่าเด็กเคลื่อนตัวถึงไหนแล้ว ช่องคลอดเปิดกี่เซนติเมตร และรอเข้าห้องผ่าตัดทันทีที่หมอวิสัญญีที่ทำงานอยู่อีกเคสหนึ่งมาถึง

กว่าจะได้เข้าผ่าตัด ก็เกือบตี 5 แล้ว สามีไม่ได้เข้าไปในห้องผ่าตัดด้วย เพราะต้องดูแลลูกชายคนโต หมอวิสัญญีเป็นผู้ชายตัวสูง แววตาใจดี และดูสนุกสนานกับงาน การบล็อคสันหลังเป็นแบบใหม่ เข็มเล็ก และไม่ต้องงอตัวเป็นกุ้งแบบที่เคยทำที่เมืองไทย แต่ได้ผลดี เพราะไม่รู้สึกเจ็บอีกแล้ว

พอผ่าคลอดเสร็จ เด็กจะอยู่กับแม่ตลอดเวลา ฉันได้เห็นทุกขั้นตอนตั้งแต่ลูกออกมาจากท้อง พยาบาลชั่งน้ำหนัก วัดความยาว เอาผ้าเช็ดตัวเด็ก และห่อตัวใส่หมวกให้เด็ก ในขณะที่หมอยังเย็บแผลฉันอยู่ ฉันก็ได้แต่จ้องดูลูกน้อยที่หยุดร้องไห้แล้วเป่าฟองออกมาทางปาก จึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่เพิ่งออกมาจากท้องใหม่ๆ จะเป่าฟองออกมาจากปากเพื่อเป็นการกำจัดน้ำคร่ำออกจากตัวด้วย พอทุกอย่างเสร็จ พยาบาลก็เอาเด็กมาวางที่อกฉัน

เด็กน้อยไม่ได้ใส่เสื้อผ้า มีแค่ผ้าอ้อมกับหมวก เขาให้อุ้มเอาไว้บนอกแม่ให้แม่กอดไว้แบบจิงโจ้ แล้วเอาผ้าห่มคลุม เพื่อให้ความอบอุ่นกับเด็กจากตัวแม่ พยาบาลแนะนำว่าให้อุ้มเด็กแบบสัมผัสผิวต่อผิวบ่อยๆ

ต่อจากนี้เด็กทารกจะอยู่กับพ่อแม่ตลอด 24 ชั่วโมงในห้องพักฟื้นของแม่ ซึ่งต่างจากตอนที่ฉันคลอดลูกชายคนแรกที่เมืองไทย ซึ่งพยาบาลพาลูกออกไปทันทีหลังจากให้ดูหน้าลูก กว่าเราจะได้เห็นหน้าลูกอีกครั้ง ก็ผ่านไปหลายชั่วโมง และเด็กก็นอนในห้องเด็กอ่อน พยาบาลเป็นผู้ดูแล

new born baby

โชคดีที่พอฉันผ่าคลอดเสร็จ ก็มีห้องเดี่ยวว่างพอดี เราขออัพเกรดเป็นห้องเดี่ยว ทุกคนจึงได้พักอย่างเต็มที่ ลูกชายคนโตได้เห็นน้องชายของเขาก่อนที่เขาจะผล็อยหลับลงเช่นเดียวกันกับน้องชาย หลังจากลืมตาตื่นมาทั้งคืนด้วยความตื่นเต้น แต่เขาก็ไม่ร้องไห้งอแงเลย ทุกคนดีใจที่เด็กเกิดมาแข็งแรง และปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ความใส่ใจแบบแคนาดา

เนื่องจากบ้านเรามีกันแค่พ่อแม่ลูก ไม่มีญาติมาช่วย เพื่อนของฉันที่เป็นพี่เลี้ยงชาวฟิลิปปินส์ของลูกชายคนโตจึงอาสามาช่วยดูแลฉันและลูกที่โรงพยาบาล ส่วนสามีให้ดูแลลูกคนโตไป เธอเป็นคนใจดีและมีนิสัยคล้ายแม่ของฉันหลายอย่าง ทำให้อบอุ่นใจขึ้นมาก

โชคดีที่วันที่ฉันคลอดนั้น เธอกลับมาจากไปเที่ยวเร็วกว่ากำหนดเพราะเป็นห่วง เธอรีบบึ่งมาหาทันทีที่ทราบข่าว พร้อมกับเสบียงอาหารบำรุงสุขภาพ ทำให้ฉันตื้นตันใจยิ่ง และคิดถึงแม่มาก หลังจากผ่าคลอดเพียง 3-4 ชั่วโมง พยาบาลเดินสอนอาบน้ำเด็ก และหลังจากนั้น 2 ชั่วโมงก็เข้ามาบอกให้ฉันเริ่มลุกขึ้นเดินได้แล้ว ถ้ารอนานเดี๋ยวจะเดินไม่ไหว ซึ่งฉันก็ลุกเดินนิดหน่อย ไม่เจ็บมากเพราะยังมียาแก้ปวดอย่างแรงในร่างกายอยู่ ทำให้ฉันอัศจรรย์ใจมาก เพราะตอนคลอดลูกคนแรก ฉันได้นอนพัก 1 วันเต็มๆ ก่อนลุกขึ้นเดิน แต่ก็เจ็บมากจนแทบเป็นลม

ตอนเย็นของวันที่ผ่าคลอดนั้น เพื่อนมาอยู่เฝ้าฉันออกไปทำธุระ 2-3 ชั่วโมง ส่วนสามีอยู่กับลูกคนโตที่โรงแรม ฉันจึงอยู่กับลูกที่เกิดใหม่ 2 คน ลูกร้องไห้เพราะอึ ฉันจึงกดออดขอความช่วยเหลือจากพยาบาล เพราะลุกเดินเองไม่ค่อยไหว พยาบาลตอบมาว่า ให้ทำเองไปก่อน เพราะคนไม่พอ ฉันเจ็บแผลมาก ไม่อยากลุกแต่ก็ต้องลุกขึ้น เพราะลูกร้องนานแล้ว ด้วยสัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่ ฉันก็เลยกัดฟันลุกขึ้นเปลี่ยนผ้าอ้อมและอุ้มลูกเดินกล่อมนอน จนหลับไป ในวันแรกที่เพิ่งผ่าคลอดนั่นเอง ตอนแรกก็ฉันรู้สึกไม่พอใจ เพราะตอนคลอดลูกคนแรกที่เมืองไทย มีพยาบาลมาช่วยตลอดเวลา และเลี้ยงลูกให้ด้วย แต่ตอนหลังรู้สึกดีใจที่ได้ทำตั้งแต่ตอนแรก เพราะผลจากการเริ่มเดินเร็ว แผลที่ผ่าไม่ยึดตัวติด ทำให้แผลไม่เจ็บมาก

คนที่เคยผ่าคลอด คงรู้ว่าน้ำนมจะมาหลังผ่า 1 - 3 วัน ถ้ากระตุ้นบ่อยๆ ที่แคนาดา หลังคลอดทันที ทางโรงพยาบาลจะให้เด็กดูดนมจากอกแม่ ถ้ายังไม่มี เขาก็จะมากระตุ้นให้โดยการให้เด็กเข้าเต้า หรือเอาปั๊มมาให้ เขาจะช่วยสอนอย่างละเอียด แต่ถ้าน้ำนมยังไม่มี และพ่อแม่ต้องการจะให้นมผสม เขาก็จะมีให้ฟรีแต่พ่อแม่ต้องเซ็นรับรองก่อนว่าจะให้ลูกกินนมผสม เหตุผลเพื่อป้องกันการเรียกร้องค่าเสียหายจากคนไข้ ในกรณีที่เด็กกินนมแล้วไม่สบายหรือแพ้นม

ในแคนาดาจะรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมาก แนะนำว่าควรให้เด็กทารกกินนมแม่จนถึง 2 ขวบเป็นอย่างต่ำ และสามารถเปิดเสื้อให้ลูกกินนมที่ไหนก็ได้ เพราะกฎหมายที่นี่การเปลือยอกในที่สาธารณะไม่ผิดกฎหมายทั้งชายและหญิง

การฟักฟื้นหลังผ่าคลอดในโรงพยาบาล จะให้กลับบ้านได้หลังจากพัก 2 คืน หากจะอยู่ต่อ ต้องเป็นวิจารณญาณของแพทย์ว่าสมควรอยู่พักฟื้นต่อหรือไม่ ถ้าลูกแข็งแรงดีและแม่ไม่มีข้อควรระวังอะไร เขาก็จะให้กลับบ้านภายใน 2 - 3 คืน เพราะบุคลากรและงบประมาณมีจำกัด (จากเงินบริจาคและภาษีของประชาชน) ส่วนแม่ที่คลอดธรรมชาติ วันรุ่งขึ้น ถ้าแข็งแรงดีทั้งแม่ลูกก็กลับบ้านได้เลย หรืออยู่ได้ไม่เกิน 2 คืน

carseat

ท่านั่งบนคาร์ซีทที่พยาบาลแนะนำ

เมื่อถึงเวลาจะกลับบ้าน หลังจากตรวจร่างกายลูก เซ็นเอกสารต่างๆ เสร็จแล้ว เราจะต้องเอาคาร์ซีทมาให้พยาบาลตรวจดู แล้วพยาบาลจะให้พ่อแม่จับลูกนอนในคาร์ซีทเอง คาร์ซีทต้องเป็นแบบตะกร้า และติดตั้งแบบหันหน้าเข้าเบาะหลังเท่านั้น พยาบาลจะมาตรวจดูความถูกต้องเรียบร้อยอีกครั้ง จึงปล่อยให้กลับบ้านได้

นอกจากค่ายาแก้ปวดในใบสั่งยาที่เราไปซื้อเองจากร้านขายยา  ตอนออกจากโรงพยาบาล เราไม่ได้จ่ายเงินสักเหรียญเดียว

ยกเว้นที่ปั๊มนมที่เราอยากได้เพิ่มเอง ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ อาหาร 3 มื้อ ฟรี ส่วนค่าอัพเกรดห้อง ทางโรงพยาบาลจะส่งจดหมายไปเรียกเก็บทีหลัง ซึ่งเราต้องจ่ายแค่ 90 เหรียญ (ประมาณ 2,500 บาท) เท่านั้นเพราะมีประกันสุขภาพเพิ่มเติมของบริษัทสามี

ระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล พวกเรารู้สึกพอใจมาก หมอและพยาบาลที่ดูแลพวกเรา หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส อ่อนหวาน กระฉับกระเฉงกันทุกคน สุภาพ พูดจาดี  มีความรู้และใส่ใจคนไข้มาก พยาบาลทุกคนจะสอบถามเรื่องให้นม ว่าเด็กดื่มนมไปเมื่อไหร่ อึไหม แล้วก็สอนเข้าเต้าให้ และให้เอกสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมาด้วย

ถึงจะเป็นสวัสดิการของรัฐ แต่พวกเราก็ได้รับการบริการที่ดีเทียบเท่ากับในโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงที่เมืองไทย ยกเว้นแต่เราต้องดูแลลูกเอง ไม่มีนางพยาบาลมาเลี้ยงลูกให้ ซึ่งตอนนั้น พอกลับบ้านถึงกับช็อค ปรับตัวไม่ได้ เลี้ยงลูกไม่เป็น และเจ็บแผลมากเพราะไม่ได้ขยับตัวตั้งแต่วันแรกที่ผ่า แต่คลอดที่แคนาดาครั้งนี้ กลับบ้านอย่างแม่ผู้มีความรู้ประสบการณ์มากกว่าเดิม และทรหดอดทนค่ะ

ที่เล่ามาให้ฟังนี่เป็นแค่ 2-3 วันแรก ของการเริ่มต้นชีวิตคุณแม่ลูกสอง มือใหม่ ในแคนาดา ซึ่งต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หนทางชีวิตจะมีอุปสรรคหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ (สวัสดิการ) อย่างไร โปรดติดตามตอนหน้าค่ะ ฉันจะเล่าให้ฟัง ว่าฉันจะจัดการอย่างไร เมื่อมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 2 รับมือกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด