มนตราแห่ง'พาโร'

มนตราแห่ง'พาโร'

เส้นทางแห่งศรัทธาในดินแดนมังกรสายฟ้าภูฏาน

“Decide how you want to feel, and go wherever it takes to feel that way.” – Andy Hayes

จงถามตัวเองว่าอยากมีความรู้สึกเช่นไร และไปเหยียบยืนในที่ที่ทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้นได้

....

ปลายเดือนสิงหาคม 2017 ในโอบล้อมของขุนเขาสูงเสียดฟ้า ฉันยืนอยู่ต่อหน้าศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์บนโตรกผาสูงกว่า 900 เมตร มองย้อนเส้นทางเดินเท้าผ่านป่าเขาและบันไดสูงชันด้วยความรู้สึกปิติ

“มันไม่ใช่การเดินทางเพื่อพิชิตเป้าหมาย แต่เป็นการใช้แต่ละย่างก้าวเพื่อค้นหาความหมายในใจของตัวเอง”

 -1-

ภูฏาน คือดินแดนที่ใฝ่ฝันมานานหลายปี ไม่ใช่เพราะเจ้าชายรูปงามหรือเพราะคำเปรียบเปรยว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย” แต่เพราะชื่อเสียงของดินแดนแห่งความสุขที่อบอวลด้วยกลิ่นไอแห่งศรัทธานั่นต่างหาก ที่ทำให้ฉันอยากเดินทางมาเหยียบยืนที่นี่สักครั้งในชีวิต

และครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการต้นกล้าตากล้อง ได้พาคณะวิทยากรเดินทางมาสอนเด็กๆ ชาวภูฏานผู้บกพร่องทางการได้ยิน ถ่ายภาพ ณ เมืองพาโรและทิมพู เพื่อสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ภูฎาน ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูฎาน ตามแนวคิด "Two Kingdoms One Destination" 

เราออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยสายการบิน Bhutan Airline ถึงสนามบินนานาชาติพาโร (Paro Internationnal Airport) เกือบสิบนาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งกว่าที่ล้อจะแตะรันเวย์ ทุกคนก็ต้องลุ้นระทึกกับจังหวะการลดระดับผ่านช่องเขาก่อนจะเลี้ยวลงจอดอย่างปลอดภัย ณ สนามบินที่ได้ชื่อว่ายากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก นาทีนั้นเสียงปรบมือดังก้องไปทั้งลำด้วยความขอบคุณกัปตันที่ทำให้การเดินทางมาเยือนภูฏานไม่ตื่นเต้นมากจนเกินไปนัก

IMG_9359

หลังจากผ่านนาทีระทึก ก็ถึงนาทีแห่งความประทับใจ เมื่อสนามบินแห่งนี้ต้อนรับชาวไทยด้วยอาคารที่พักผู้โดยสารสีสันสดใส อาคารหลังนี้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอันมีเอกลักษณ์คือการเข้าสลักไม้เชื่อมต่อกันโดยไม่ใช้ตะปู ตกแต่งสีสันด้วยภาพจิตรกรรมและการแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง ส่วนหลังคายิ่งน่าทึ่งเพราะเขาใช้การซ้อนแผ่นไม้แล้วทับไว้ด้วยก้อนหินขนาดใหญ่เพื่อป้องกันความเสียหายจากแรงลมและหิมะตก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่เราจะได้เห็นอีกหลายวันหลังจากนี้ เช่นเดียวกับรอยยิ้มและมิตรไมตรีที่สัมผัสได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่ผ่านเข้าสู่ดินแดนมังกรสายฟ้า

 -2-

เนื่องจากชื่อของราชอาณาจักรภูฏานในภาษาท้องถิ่นคือ Druk Yul (ดรุก ยุล) มีความหมายว่า "ดินแดนของมังกรสายฟ้า (Land of the Thunder Dragon) ที่นี่จึงมี ‘มังกร’ เป็นหนึ่งในสัตว์มงคลทั้ง 4 ที่มี เสือ สิงโตหิมะ และครุฑ ส่วนคำว่า ‘ภูฏาน’ นั้นน่าจะมาจากคำสมาสในภาษาสันสกฤต ภู-อุฏฺฏาน แปลว่า “แผ่นดินบนที่สูง” ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าประเทศนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 970 ฟุต พื้นที่สูงสุดอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 17,553 ฟุตเลยทีเดียว

เช่นนั้น การใช้ชีวิตที่นี่สำหรับคนต่างถิ่นจึงมีแนวทางปฏิบัติง่ายๆ คือเคลื่อนไหวให้ช้าลง ไม่ใช่เพื่อให้กลมกลืนกับวิถีคนภูฏาน แต่เพื่อดูแลตัวเองในภาวะอากาศที่ค่อนข้างเบาบาง ซึ่งจะทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

เมืองแรกที่ถือเป็น “first impression” แน่นอนว่าคือ พาโร(Paro) เมืองเก่าแก่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากเมืองหลวงทิมพู ประมาณ 53 กิโลเมตร ออกจากสนามบินปุ๊บรถบัสก็พาเราเลียบแม่น้ำสีฟ้าใส ก่อนจะไต่ระดับขึ้นเขาไปอีกเล็กน้อยเพื่อไปทำความรู้จักกับดินแดนแห่งนี้ทันที

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน (National Museum of Bhutan) ตั้งอยู่ในป้อมตาซอง เมืองพาโร ในยุคโบราณที่นี่เป็นหอสังเกตการณ์ของพาโรซอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 ก่อนจะบูรณะในสมัยพระเจ้าจิกมี ดอร์จิ วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 3 ภายในพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมงานศิลปะ หัตถกรรม ปฏิมากรรม เครื่องแต่งกาย อาวุธ ชุดเกราะ หน้ากาก คัมภีร์โบราณ ภาพทังกาหรือพระบฏ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมภูฏานไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่สำคัญๆ อาทิ สัตว์ประจำชาติ ดอกไม้ประจำชาติ อาหารประจำชาติ เป็นต้น

4 (2)

น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว บางส่วนจึงอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและไม่เปิดให้เข้าชม แต่ถึงอย่างนั้นการได้มาฟังเรื่องราวของชาวภูฏานอย่างย่นย่อก็ทำให้เราได้รับรู้ว่า คนที่นี่มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับศาสนา ซึ่งภูฏาน เป็นประเทศเดียวในโลกที่ยอมรับศาสนาพุทธตันตระ-วัชรยาน เป็นศาสนาประจำชาติ พวกเขาเชื่อเรื่องเวรกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมคนภูฏานถึงให้ความสำคัญกับธรรมชาติและการภาวนา 

2a (2)

ฉันหยุดยืนมองภาพพาโนรามาของเมืองพาโรจากมุมหนึ่งของป้อมตาซอง ไกลออกไปคือภูเขาสูงเรียงรายลดหลั่น ทุ่งนาสีเขียวกินพื้นที่กว้าง แต่ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นหลังคาสีแดง-ทองของสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า พาโรซอง (Paro Dzong) หรือในความหมายว่า “ป้อมอัญมณี”

ที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า เป็น ‘ซอง’ หรือป้อมปราการที่มีรูปทรงสวยที่สุดแห่งหนึ่งของภูฏาน มีอีกชื่อหนึ่งว่า รินปุง ซอง(Rinpung Dzong) สร้างโดยท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ในปี ค.ศ.1646 ภายหลังได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ก่อนจะสร้างขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิมทุกอย่าง นอกจากความสวยงาม พาโรซองยังมีความแข็งแรงและป้องกันข้าศึกมาได้หลายครั้ง ด้านในประดับด้วยภาพเขียนเก่าแก่ ส่วนด้านนอกเป็นลานอเนกประสงค์ใช้ในการประลองยิงธนู และเป็นสถานที่แสดงระบำหน้ากากเซชูซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่น่าสนใจคือ ทางด้านตะวันออกของซองมีสะพานข้ามแม่น้ำพาโร ชื่อว่า 'สะพานยามิซัม' ได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมภูฏาน และเคยถูกใช้ในฉากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง Little Buddha ด้วย 

ฉันมองดูธงมนตราที่โบกสะพัดอยู่เหนือสะพาน คิดถึงคำอธิบายที่ว่า การติดธงไว้กับยอดไม้ เนินเขาต่างๆ ที่มีลมพัดผ่าน ก็เพื่อให้สายลมพัดพาความเป็นสิริมงคลไปพร้อมกับมนตราที่จารึกไว้ในนั้น ...ถึงตรงนี้ไม่แปลกใจเลยที่ใครต่อใครพากันต้องมนต์ดินแดนแห่งนี้

 -3-

แสงแรก ณ ดินแดนแห่งความสุข ปลุกหัวใจคนไกลบ้านให้เบิกบาน ฉันนั่งจิบชามาซาล่าไจ ชาใส่เครื่องเทศแบบที่นิยมกันในอินเดีย ชมภาพเขียนฝีแปรงธรรมชาติที่ค่อยๆ เปลี่ยนสีไปตามท้องฟ้า

หลังอาหารเช้าแบบกึ่งไทยกึ่งฝรั่งกึ่งภูฏาน เราเตรียมพร้อมทั้งร่ายกายและเครื่องแต่งกายที่ต้องทะมัดทะแมงและสุภาพ สำหรับการขึ้นไปชมที่สุดแห่งศาสนสถานที่คนภูฏานต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต วัดทักซัง(Taktshang Goemba) อารามสุดตระการตาที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง พร้อมตัวเลขวัดใจ 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล กับระยะทางที่ต้องเดินเท้าไป-กลับกว่า 7 กิโลเมตร

รถมาส่งเราไว้ที่เชิงเขา พร้อมกับข่าวดีเล็กๆ ว่า ทริปนี้มีตัวช่วย เราจะได้ขี่ม้าขึ้นเขาร่นระยะทางไปประมาณ 1 กิโลครึ่ง ว่าแล้ว...ทุกคนก็ถูกเรียกให้ไปขึ้นนั่งบนหลังม้าแบบไม่ต้องมีการซักซ้อม คุณลุงใจดีชาวภูฏานเป็นคนดูแลตั้งแต่ดันก้นขึ้นไปนั่ง ออกคำสั่งม้า ไปจนถึงควบคุมความซุกซนของพวกมัน ซึ่งนอกจากพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ชอบเดินขอบเหวมากกว่าติดเขา ยังขี้หงุดหงิด บางครั้งก็เบียดแซงกันแบบไม่เกรงใจคนนั่ง บางคราวแอบกัดคอเพื่อนม้าข้างๆ ก็มี เล่นเอาคนบนหลังม้าส่งเสียงกันเป็นระยะๆ

7a (2)

ทว่า ในที่สุดทุกคนก็ผ่านท่ายากต่างๆ มาจนถึง Taktsang Cafeteria ที่นี่เป็นทั้งจุดชมวิว จุดแวะพักรับประทานอาหาร และกำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่วัดทักซังที่มองเห็นอยู่ไกลๆ

ตามตำนานเล่าว่า ท่านคุรุ รินโปเช ได้ขี่นางเสือที่เป็นศักติของท่านเหาะมายังที่แห่งนี้ และบำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำรังเสือนาน 3 เดือน เทศนาสั่งสอนผู้คนและสำแดงกายสะกดภูติผีปีศาจร้าย วัดนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำเสือ” (Tiger’s Nest)

เราเดินขึ้นเขาไปพร้อมๆ กับคุณลุงคุณป้าชาวเกาหลี ไต่ระดับความสูงท่ามกลางอากาศที่บางเบา ระหว่างทางเจอนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ รวมทั้งคนภูฏานเอง ทุกคนดูมีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงปลายทาง ไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งศรัทธาหรือความงาม 

5 (2)

เส้นทางนั้นแม้จะค่อนข้างหนักเหนื่อย แต่สองข้างทางก็มีทิวทัศน์สวยๆ ให้พักสายตา ดอกไม้เล็กๆ คือของขวัญในช่วงฤดูร้อนอย่างนี้ ขณะที่ธงมนต์ และการเรียงก้อนหินมีให้เห็นเป็นระยะ แต่ที่แปลกตาคือเจดีย์เล็กๆ ที่ถูกนำไปวางไว้ตามซอกหลืบหน้าผาเพื่อเป็นการบูชาให้กับผู้ล่วงลับ

12 (2)

ฉันค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ เก็บทุกความทรงจำ จนถึงช่วงสำคัญบนเส้นทางนี้ นั่นคือบันไดเกือบ 700 ขั้น ที่ขนานแนวผาไปสู่ตัววัด เสียงลมหายใจแทรกตัวอยู่ในเสียงลมที่พัดผ่านช่องเขา ไม่นานภาพอารามสีขาวตัดด้วยสีแดงและทองก็ปรากฎอยู่ต่อหน้า ณ เพิงผาฝั่งตรงข้าม

1 (2)

อันที่จริงอยากจะอ้อยอิ่งชมภาพอารามที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีฟ้าจัดให้สมกับที่อุตส่าห์ดั้นด้นมา แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา เราจึงต้องเดินต่อไปยังตัววัดซึ่งมีอาคารอยู่รวมกันทั้งหมด 13 หลัง และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะเคยถูกไฟไหม้มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1951 และ 1998 แต่ก็ได้รับการบูรณะจนกลับมาสวยงามดังเดิม

เมื่อเข้าเขตวัดทักซัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือนำสัมภาระโดยเฉพาะกล้องทุกประเภทไปฝากไว้ เนื่องจากที่นี่มีกฎเหล็ก"ห้ามถ่ายภาพโดยเด็ดขาด"

ความสำคัญของวัดแห่งนี้นอกจากตำนานเกี่ยวกับคุรุรินโปเชที่ชาวภูฏานนับถืออย่างมาก ยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของลามะอีกหลายรูป ภายในวัดประกอบไปด้วยห้องต่างๆ ที่เต็มไปด้วยรูปสลักขององค์เทพที่ชาวภูฏานให้ความนับถือ รวมถึงงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลายชิ้น

สำหรับพุทธศาสนิกชน การได้สักการะรูปเคารพของท่านคุรุรินโปเช และพระพุทธรูปเคลือบด้วยทองคำ “Buddha Long Live” นับเป็นมงคลอันสูงสุดแล้ว

ใช้เวลาที่นี่พักใหญ่ ก่อนจะเดินย้อนกลับออกไปตามเส้นทางเดิม ส่งยิ้มและกำลังใจให้กับนักเดินเท้าท่ี่สวนทางขึ้นไป 

หากมีคำถามว่า...อะไรคือความสุขในการเดินทางครั้งนี้ 

ฉันว่า...มันคือการได้ร่วมเดินในเส้นทางแห่งศรัทธา ตระหนักถึงคุณค่าของลมหายใจ ภายใต้ความงดงามของวิถีแห่งภูฏาน

     ------------------------------------------

การเดินทาง

การเดินทางจากกรุงเทพฯสู่สนามบินพาโร มี 2 สายการบิน คือ ภูฏานแอร์ไลน์ และสายการบินดรุ๊กแอร์ แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศภูฏานได้ด้วยตนเอง ต้องติดต่อกับบริษัททัวร์เพื่อดำเนินการขอวีซ่าเท่านั้น โดยหน่วยงานที่พิจารณาการอนุมัติวีซ่าเข้าภูฏานมีหน่วยงานเดียวคือ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ (975-2) 323 251, 323 252 แฟกซ์ (975-2) 323-695 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ www.tourism.gov.bt

3

ภาษาประจำชาติ : ซองก้า ซึ่งแต่เดิมเป็นภาษาท้องถิ่นแถบตะวันตกของภูฏาน

เครื่องแต่งกายประจำชาติ : ผู้ชายเรียกว่า โค (kho) ส่วนของผู้หญิงเรียกว่า คีร่า (kira)

สัตว์ประจำชาติ : ตัวทาคิน เป็นสัตว์ที่หาได้ยาก เพราะมีอยู่ที่ภูฏานเพียงแห่งเดียว และอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์มักจะอาศัยอยู่กับฝูงในป่าโปร่ง บนความสูงกว่า 4,000 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเลขึ้นไป

ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกป็อปปี้สีฟ้า เป็นดอกไม้ป่าที่พบตามเขตภูเขาในภูฏาน

สกุลเงิน : เงินนูตรัม (Ngultrum) อัตราแลกเปลี่ยนจะเท่ากับเงินรูปีของอินเดีย ประมาณ 1 USD – 64 นูตรัม

ข้อห้าม : ภูฏานห้ามไม่ให้ซื้อ ขายและสูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด