“ดนตรีคลาสสิก” ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

“ดนตรีคลาสสิก” ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

ดนตรีคลาสสิกในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มาฟังทรรศนะของ 2 ศิลปินใหญ่แห่งวงการกัน

คอลัมน์             มิวสิค คอร์เนอร์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังการแสดงคอนเสิร์ต เทศกาล “พรอมส์” เทศกาลดนตรีช่วงฤดูร้อนที่โด่งดัง ในหอแสดงดนตรี รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยวง รอยัล ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา อำนวยเพลงโดย ชาร์ลส์ ดูทวา (Charles Dutoit) ได้มีพิธีมอบเหรียญทองเชิดชูเกียรติ จาก รอยัล ฟิลฮาร์โมนิค โซไชตี้ ให้กับดูทวา

            เขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกคนที่ 103 ที่ได้รับเหรียญทองนี้ ซึ่งเริ่มต้นการเชิดชูเกียรติศิลปินดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870

            ศิลปินดนตรีคลาสสิกที่เคยได้รับรางวัลนี้ อาทิ มาร์ธา อาร์เกริช, เจเน็ต เบเกอร์, ดาเนียล บาเรนบอยม์, อัลเฟร็ด เบร็นเดล, พลาซิโด โดมิงโก, เบอร์นาร์ด ไฮติ้ง, ไซมอน แร็ทเทิล ฯลฯ

“ดนตรีคลาสสิก” ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

            ดูทวา วาทยกรชาวสวิสวัย 80 ปี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการด้านศิลป์และผู้อำนวยเพลงหลักของวง รอยัล ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา เขารับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2009 ก่อนหน้านั้นเขาผ่านการทำงานดนตรีร่วมกับวงออร์เคสตราชั้นนำมาหลายวง มีผลงานการแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลก และสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีได้รับความชื่นชม ยกย่องมากมายหลายชุด

            ดูทวา เคยเดินทางมาแสดงในบ้านเราที่ ฮอร์สชู พอยท์ รีสอร์ท เมืองพัทยา และโรงละครแห่งชาติ ร่วมกับวง เวอร์เบียร์ เฟสติวัล ยูธ ออร์เคสตรา เมื่อหลายปีที่แล้ว อีกทั้งผลงานแผ่นซีดีสังกัดเด็คก้าหลายชุด โดยเฉพาะที่ทำงานร่วมกับวง มอนทรีออล ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (เขาลาออกจากวงเมื่อปี ค.ศ. 2002 หลังทำงานร่วมกันมายาวนาน ท่ามกลางความขัดแย้งบางประการกับสหพันธ์นักดนตรี) ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันดี ในหมู่คอเพลงคลาสสิกบ้านเรา ผ่านความสันทัดการบรรเลง ตีความบทเพลงคลาสสิก สำนักฝรั่งเศสและรัสเซีย

            บทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ อิวาน ฮีเวตท์ คอลัมนิสต์ดนตรี หนังสือพิมพ์ เดอะ เทเลกราฟ ประเทศอังกฤษ มีประเด็นน่าสนใจ ผู้เขียนเลือกตัดตอนมาบอกเล่าทัศนะ “นักดนตรีอาวุโส” สะท้อนประสบการณ์ดนตรียุคสมัยที่ผ่านมา กับความเห็นเกี่ยวกับนักดนตรีคลาสสิกรุ่นใหม่         

             ต่อคำถามที่ว่า เขาเป็นวาทยกรรุ่นเก่า สไตล์โบราณ มีชื่อเสียงด้านความ “โหด” เป็นเผด็จการในระหว่างการฝึกซ้อมดนตรี จริงหรือไม่? ดูทวา ให้คำตอบในประเด็นนี้ว่า

            “ผมยอมรับว่า ผมอาจเป็นวาทยกรที่ทำงานด้วยกันยากกับนักดนตรี ผมเป็นคนไม่ค่อยอดทน ผมคาดคิดว่าอาจมีบางคนเจ็บปวด หรือขมขื่นจากนิสัยของผม แต่ถ้าจะหาว่าผมเป็นทรราชทางดนตรี ผมต้องขอปฏิเสธ ยุคสมัยแห่งวาทยกรที่มีลักษณะเผด็จการเบ็ดเสร็จทางดนตรีได้กลายเป็นอดีตไปแล้วครับ”

            ขณะที่ ฮีเวตท์ แสดงทัศนะในบทความของเขาว่า  ดูทวาไม่ได้เป็นวาทยกรที่ขาดความอดทนระหว่างการฝึกซ้อม แต่เขาเป็นวาทยกรที่เรียกร้องความเป็นเลิศ ต้องการการทุ่มเทอย่างจริงจังของนักดนตรีในการเล่นดนตรี      

            ดูทวาพูดถึง แฮร์เบิร์ต ฟอน คารายาน ซึ่งเคยอำนวยเพลงในวงออร์เคสตรา ที่ดูทวาเป็นผู้เล่นวิโอล่า ช่วงทศวรรษ 50 ว่า

            “คารายานเป็นคนยอดเยี่ยมทางดนตรีจริงๆ ผมเรียนรู้มากมายจากคารายาน เขาแสดงให้ผมเห็นว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทางดนตรี ส่งผลให้เกิดความแตกต่าง ความละเอียดลึกซึ้งทางดนตรี อาทิ วิธีการเน้นตัวโน้ตในบทเพลงของไฮเดิน ย่อมแตกต่างจากการเน้นตัวโน้ตในบทเพลงของโมสาร์ท หรือบทเพลงของเบโธเฟน”

            ดูทวา แสดงทัศนะต่อนักดนตรีคลาสสิกหนุ่มสาวเจเนอเรชั่นใหม่ เปรียบเทียบกับชีวิตดนตรีของนักดนตรีในอดีตว่า

             “การค่อยๆ เรียนรู้เรื่องดนตรีอย่างช้าๆ ทำให้สามารถก้าวมาสู่การเป็นวาทยกรที่ดี เดี๋ยวนี้ นักดนตรีหนุ่มสาวยุคนี้ แสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างได้เพียงใต้ปลายนิ้วของเขา พวกเขาสามารถเรียนรู้บทเพลงใหม่ๆ ที่จะเล่นได้ โดยการฟังจากยูทูบ”

            “พวกเขาได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ทางดนตรีมากมาย แต่พวกเขาไร้ซึ่งวัฒนธรรม”

            “ยุคสมัยในอดีตของผม ทุกสิ่งทุกอย่าง (ในการเรียนรู้ทางดนตรี) ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่แน่นไปด้วยรากฐานที่มั่นคง คนในยุคนั้นศึกษาบทเพลงคลาสสิกอย่างไม่เร่งรีบ จากสกอร์เพลง”

             เรื่องราวในอดีต “ติดตลก” ของดูทวา กับ คารายาน เขาเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

             “ผมมีความมุ่งมั่นว่า ก่อนที่ผมจะอายุ 30 ปี ผมจะอำนวยเพลง เดอะ ไรต์ ออฟ สปริง ผลงานเพลงของสตราวินสกี้ ยุคนั้นการจะเล่นเพลงนี้ได้ ถือว่าเป็นความทะเยอทะยานที่สูงมาก เพราะหลายคนยังคิดว่า เป็นเพลงคลาสสิกสมัยใหม่ที่เล่นยาก”

            “เมื่อคารายานได้ยินข่าวว่าผมเคยอำนวยเพลงนี้ เขาอยากพบผม เพราะเขากำลังจะอำนวยเพลงนี้เป็นครั้งแรก เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นักเล่นวิโอล่าที่กำลังจะเป็นวาทยกรอย่างผม มีโอกาสให้คำแนะนำในการอำนวยเพลงนี้ กับวาทยกรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก”

            ดูทวาทิ้งท้าย ให้คำแนะนำนักดนตรีว่า “ เรื่องสำคัญยิ่งอีกประการของนักดนตรีคือ ต้องพยายามรับรู้ พยายามเข้าใจสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของดนตรีด้วย”              

---------------------------

            นอกเหนือจากความเป็นข่าว “ล่าสุด” ของนักดนตรีคลาสสิกแล้ว การที่ สตีเวน ฮัฟ (Stephen Hough) นักเปียโนชาวอังกฤษ วัย 55 ปี เคยมาแสดง ริไชทัล คอนเสิร์ต ในบ้านเราถึง 2 ครั้ง การเป็น “ตัวจริง” นักเปียโนมากความสามารถ ทั้งการแสดงสด และผลงานสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีสังกัดไฮเพอเรียน ค่ายเพลงอินดี้ ดนตรีคลาสสิก จากประเทศอังกฤษ หลายคนชื่นชอบ  ล้วนทำให้ผู้เขียนอยากบอกเล่า ความเคลื่อนไหว และทัศนะทางดนตรีของเขา

“ดนตรีคลาสสิก” ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

            โดยเฉพาะประเด็น “ดนตรีคลาสสิก ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” เพราะในระยะหลัง ฮัฟ แสดงความคิดเห็นบ่อยครั้งเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรีคลาสสิก?  

            ฮัฟ เป็นทั้งนักเปียโนและนักแต่งเพลงคลาสสิกที่มีความสามารถหลายอย่าง นอกจากอยู่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ เขายังสนใจ รอบรู้ในศาสตร์หลายศาสตร์ อาทิ เป็นจิตรกร, กวี, นักเขียน, และนักวิจารณ์ดนตรี ในเว็บไซต์ เดอะ เดลี เทเลกราฟ 

            ทัศนะของ ฮัฟ ที่แสดงออกมา ผ่านการสัมมนา การอภิปราย การสัมภาษณ์ เช่น จะแสดงดนตรีคลาสสิกอย่างไร?, จะนำเสนอดนตรีคลาสสิกอย่างไร?, จะทำการตลาดดนตรีคลาสสิกอย่างไร? นำไปสู่ตัวอย่างรูปธรรมในการแสดงและการบริหารจัดการดนตรีคลาสสิก

            เขาเชื่อว่า การแสดงคอนเสิร์ต นักดนตรีควรสร้างสรรค์รูปแบบ “การนำเสนอดนตรีคลาสสิก” ที่ก่อให้ผู้ชมผู้ฟัง เกิดประสบการณ์เสมือนการไปชมละคร อาทิ การพลิกเปลี่ยนหน้าโน้ตเพลง ควรเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงดนตรี เขาให้เหตุผลว่า

“ดนตรีเริ่มต้นจากความเงียบ การที่นักเปียโนหยุดเล่น และเงื้อมมือไปพลิกเปลี่ยนหน้าโน้ตเพลง คือความเงียบที่เกิดขึ้นระหว่างการบรรเลง”

            “การกระทำต่างๆ ทางกายภาพ ที่คุณเคลื่อนไหวอยู่บนเวทีแสดงดนตรี ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงดนตรี การเล่นดนตรีเสมือนเป็นการแสดงละครด้วย”  

            “ถ้าคุณจะเดี่ยวเปียโน ท่อนช้าของบทเพลงเปียโนโซนาต้า ในบันไดเสียงบีแฟลต ผลงานเพลงของชูเบิร์ต แต่คุณเคลื่อนไหวร่างกายก่อนการเล่นอย่างรวดเร็ว นั่นแสดงว่าคุณไม่ได้เตรียมพร้อมทางใจ หรือ เล่นในใจ ก่อนการแสดงจริงๆ บนคีย์เปียโน ช่วงเวลา 5 วินาทีก่อนเริ่มการแสดงจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก”

ทัศนะที่ ฮัฟ เคยพูดว่า ถ้าเขาได้ปกครองโลก ในวันที่มีการเรียนหนังสือ โรงเรียนทุกโรงเรียนควรจะเริ่มต้นชั้นเรียนด้วยการให้นักเรียนอยู่กับความเงียบเป็นเวลา 15 นาที เพื่อให้สวดมนต์ ทำสมาธิ หรือมุ่งสนใจกับการหายใจยาวๆ ลึกๆ

ฮัฟ ขยายความเรื่องนี้ว่า “ผมคิดว่า ความเงียบ เป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าเงียบสนิทเลยทีเดียว ผมคิดว่าความเงียบเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กๆ ผมรู้สึกเสียใจกับเด็กยุคนี้ ชีวิตของพวกเขาล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่รบกวนสมาธิ บังคับให้ต้องทำอะไรวุ่นวายมากเกินไป ไม่มีห้วงเวลาแห่งความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดีเลย เพราะถ้าคุณต้องการชื่นชมกับบางสิ่งบางอย่าง คุณต้องเงียบสงบเสียก่อน”

เกี่ยวกับการบริหารจัดการการแสดงดนตรีคลาสสิก ฮัฟ บอกว่า

“เราควรสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ มีองค์กรจัดแสดงดนตรีที่คิดแต่เพียงว่า ถ้าจัดคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก โดยเริ่มการแสดงเวลา 2 ทุ่ม คนจะมาฟังกัน ซึ่งเรารู้ว่าความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น”

“ผมเคยพูดเสมอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเวลาในการแสดงคอนเสิร์ตว่า ควรเริ่มการแสดงให้เร็วขึ้น หรือไม่ก็ให้ดึกไปเลย เช่น ขายบัตรการแสดงพร้อมกับการรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ทำโปรโมชั่นร่วมกัน ผู้ฟังมาฟังการแสดงดนตรีคลาสสิก เวลาหกโมงครึ่งตอนเย็น คอนเสิร์ตใช้เวลาแสดงหนึ่งชั่วโมง หลังจบการแสดงต่อด้วยการรับประทานอาหารเย็น มีส่วนลดพิเศษให้ด้วย ถ้าธุรกิจและศิลปะไปด้วยกันได้ ก็จะเกิดผลประโยชน์กับทุกคน”

 ถ้า “ชาร์ลส์ ดูทวา” และ “สตีเวน ฮัฟ” แวะเวียนมาแสดงดนตรีในบ้านเราอีก อาจมีโอกาสสัมผัส “โลกทัศน์ทางดนตรี” และอื่นๆ ที่น่าสนใจ จากนักดนตรีทั้งสองท่าน …อย่างใกล้ชิด