THRE ปั้น BVG "เพิ่มมูลค่า" ลุยนำ AI ต่อยอดประกันรถยนต์ - สุขภาพ

THRE ปั้น BVG "เพิ่มมูลค่า" ลุยนำ AI ต่อยอดประกันรถยนต์ - สุขภาพ

"ไทยรับประกันภัยต่อ" ปั่น "บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป" สร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ! ลุยนำ "เอไอ" ต่อยอดประกันรถยนต์ - สุขภาพ จ่อระดมทุนขายหุ้นไอพีโอจำนวน 157.50 ล้านหุ้น คาดเทรดวันแรกในเดือนก.พ.2566

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพรวมของ “อุตสาหกรรมประกันภัย” อาจจะไม่ค่อยสดใสนัก ! ดังนั้น บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ผู้ให้บริการด้านการรับประกันภัยต่อ (Professional Reinsurer) จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการยกเครื่องปรับโครงสร้างองค์กร และบริษัทย่อย 4 แห่ง โดย THRE ถือหุ้น 100%

หนึ่งในนั้นคือ การ “Spin-Off” บริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อเป็นการ “เพิ่มมูลค่า” ครั้งใหม่ ! ด้วยการผลักดัน บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG (เดิม บริษัท อีเอ็มซีเอส จำกัด EMCS) ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจประกันภัย เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI)

พร้อมกับโยกอีก 3 บริษัทไปอยู่ภายใต้การถือหุ้น 100% ของ BVG แทน THRE คือ บริษัท ทีป้า จำกัด (TPA) บริการด้านแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และสินไหมทดแทนในธุรกิจประกันสุขภาพ , บริษัท ไทยรี แอคชัวเรียล จำกัด ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และบริษัท ไทยรี อินโนเวชั่น จำกัด ให้บริการนวัตกรรมสารสนเทศ

“บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป” (BVG) กำลังจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE จำนวนไม่เกิน 67.50 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 157.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมไม่เกิน 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยคาดจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ช่วงเดือนก.พ. 2566

THRE ปั้น BVG "เพิ่มมูลค่า" ลุยนำ AI ต่อยอดประกันรถยนต์ - สุขภาพ ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจ “4 ธุรกิจหลัก” คือ 1.ธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ (EMCS) 2.ธุรกิจให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และสินไหมทดแทน รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (TPA) 3.ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และ 4.ธุรกิจการให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

จุดเด่นสำคัญ ! ของหุ้น BVG ด้าน “เทคโนโลยี” และ “ฐานข้อมูล” (DATA) จากจำนวนลูกค้าที่บริษัททำเคลมปีละไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านเคลม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้านเครือข่ายที่มีอู่ให้บริการกว่า 4,000 แห่ง มีโรงพยาบาลเครือข่ายกว่า 400 แห่ง และมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ดังนั้น ทำให้การขยายธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง จากการได้รับความไว้วางใจใช้บริการ “ระบบ EMCS” จากบริษัทประกันภัย ที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ 34 บริษัท จากบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ทั้งหมดจำนวน 39 บริษัท  

โดยปี 2564 บริษัทประกันภัยที่ใช้ระบบ EMCS มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจำนวน 10.7 ล้านกรมธรรม์ จากทั้งหมด 11 ล้านกรมธรรม์ หรือคิดเป็น 97% ของจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยครองส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 97% ขณะที่ ส่วนของลูกค้ามีมากกว่า 3,700 ราย ประกอบด้วย บริษัทประกันภัย , ศูนย์บริการมาตรฐาน , อู่ซ่อม , ร้านเปลี่ยนกระจกรถยนต์ , ร้านอะไหล่ , บริษัทสำรวจภัย บริษัทรถยก บริษัทประมูลซากรถ เป็นต้น  

สะท้อนผ่าน บริษัทมีบริการที่สำคัญคือ e-Claim : AI Review & AI Estimate เป็นระบบจัดการสินไหมทดแทนที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยประเมินการซ่อมเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถซ่อมแซมรถได้อย่างรวดเร็วและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอนาคตจะมี AI เพิ่มเข้ามาอีกหลายบริการ 

Carmate, E Hawk , M-Survey เป็น App ที่ช่วยให้ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งเคลมรถยนต์ได้ อย่างรวดเร็ว และบริษัทประกันภัยสามารถบริหารจัดการ การสำรวจภัยอุบัติเหตุรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ M-Inspection เป็นระบบที่ช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว e-Towing เป็นระบบจัดการงานยกรถหรือลากรถระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทรถยก และ e-Auction เป็นระบบประมูลซากรถยนต์

** “ซีอีโอ” มุ่งรักษาความเป็น “ผู้นำธุรกิจ”

“นวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับเป้าหมายสำคัญในการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ! เพื่อรักษาความเป็นหนึ่งใน “ผู้นำ” การประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และธุรกิจประกันสุขภาพ

สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปใช้พัฒนา “ระบบ AI” และ “ระบบสารสนเทศ” ประมาณ 98–190 ล้านบาท เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ รวมทั้งรองรับแผนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ประมาณ 10-50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

สำหรับแผนธุรกิจหลังระดมทุนจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “นวัตกรรมใหม่ๆ” เพื่อยกระดับประสบการณ์ใน “การใช้บริการ” และ “ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค” ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับให้เข้ากับรูปแบบการบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันภัยรถยนต์ (EMCS) 

รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้วิเคราะห์ “ข้อมูลและประมวลผล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจประกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนการจัดการค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกค้า 

สำหรับ “ปัจจัยเสี่ยง” หลักๆ ด้านการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมของกลุ่ม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการพึ่งพิงผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และความปลอดภัยจากไซเบอร์ (Cyber Security Risk)

ท้ายสุด “นวรัตน์” บอกไว้ว่า เราเป็นผู้นำ และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า 20 ปี เราได้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ อันดับ1 ของประเทศไทย และเราจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยให้เติบโตและยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์