กนง.เพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ แตะ 25.5 ล้านคน หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ

กนง.เพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ แตะ 25.5 ล้านคน หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ

กนง.มติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% ไม่ห่วงเงินบาทแข็ง เหตุสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อานิสงส์ท่องเที่ยวขยายตัวดีกว่าคาด ยันดอกเบี้ยขึ้นต่ออีกระยะ ด้านนักเศรษฐศาสตร์เชื่อขยับขึ้นแตะระดับ 2% จับตาเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง

       การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งแรกของปี 2566 ถือว่า เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดย กนง.มีมติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยของ กนง.มาอยู่ที่ 1.50% จากระดับ 1.25%

       นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.50% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง จากการกลับมาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงตัวอยู่ระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย กนง.จึงเห็นควร ในการทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
 

      สำหรับภาพเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนจากท่องเที่ยวจีน ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวมากกว่าคาด ส่งผลให้ ธปท.มีการปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 25.5 ล้านคน และปีหน้าที่ 34 ล้านคน ที่จะส่งผลบวกไปถึงการจ้างงาน ภาคบริการ ที่จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศ ยังสามารถไปต่อได้ในปีนี้

      ส่วนเงินเฟ้อ ทั่วไป มีแนวโน้มลดลง เป็นไปตามประมาณการ และคาดจะค่อยโน้มเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่อาจเห็นการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป จากการอั้นปรับราคาของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อาจเห็นการส่งผ่านต้นทุนเพิ่มเติมได้ในระยะถัดไป

ชี้ดอกเบี้ยไทยมีสัญญาณขึ้นต่อเนื่อง

      อย่างไรก็ตาม มองว่า วันนี้การดำเนินนโยบายการเงิน การทยอยขึ้นดอกเบี้ย เป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับภาพเศรษฐกิจที่มองเห็นในวันนี้ ซึ่งวันนี้เศรษฐกิจไทยมีการเทคออฟแล้ว
      สอดคล้องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ดังนั้นคงเห็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนจะไปหยุดที่จุดไหน เชื่อว่าเป็นโจทย์ที่ กนง.จะต้องมีการพิจารณามากขึ้นในระยะถัดไป

      ทั้งนี้ ในระยะถัดไป ประเด็นที่ กนง.จะติดตามใกล้ชิดคือ แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่กลางปี จนถึงปัจจุบัน บวกกับต้นทุนของเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ที่สูงขึ้น จากมาตรการที่สิ้นสุดลง นำมาสู่ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ที่อาจมีผลต่อครัวเรือน และธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง

     “สำหรับภาพท่องเที่ยวที่ออกมาดีกว่าคาด เพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคน อาจมีอัปไซต์ต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่ภาพส่งออกที่ออกมาไม่ค่อยดี ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดไว้มาก และคาดจะไม่ฟื้นตัวในไตรมาสแรกปีนี้ และต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะฟื้น ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่อาจลดถอนจีดีพีลดลงได้ แต่การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่าคาดจะช่วยชดเชยได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องติดตาม”

     ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท แข็งค่าขึ้น 4-5%หากเทียบกับดอลลาร์ และแข็งค่า 2% หากเทียบกับประเทศ อื่นๆ หลักๆ สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ที่ทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และเป็นประเทศที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีน บวกกับการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ ที่เริ่มมีท่าทีว่าดอกเบี้ยเริ่มถึงจุดสูงสุด ส่งผลให้ดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าขึ้น
      ดังนั้นการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถือว่าสมเหตุสมผล ยังไม่พบปัจจัยที่ผิดปกติ ดังนั้น ยังไม่มีประเด็นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.จากการแข็งค่าของเงินบาท

     ทั้งนี้ จากทุนสำรองทางการของ ธปท.ที่ปรับเพิ่มขึ้น ในช่วงต้นปี ส่วนหนึ่งมาจาก การเข้าไปดูแลเงินบาทเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เงินบาทผันผวนในช่วงต้นปี ทำให้สินทรัพย์ในรูปดอลลาร์ในทุนสำรองปรับตัวเพิ่มขึ้น

      “เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สะท้อนตลาดไพรส์อิน ศักยภาพประเทศไทยไปแล้ว ทำให้เป็นเหตุผลที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศไทย เพราะน่าลงทุนมากขึ้น แต่เราก็เฝ้าติดตามอยู่ แต่ไม่ได้มีประเด็นที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ”

      สำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศ ธปท. สิ้นสุด 13 ม.ค.2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 224,320 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7,688 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.5% หากเทียบกับสิ้นปี 2565 ที่ทุนสำรองโดยรวมอยู่ที่ 216,632 ล้านดอลลาร์

ปรับท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนหนุนเศรษฐกิจฟื้นต่อ

     นายสมประวิณ มันประเสริฐ ดำรงตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. ถือว่าเป็นไปตามคาด จากพัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนจากท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ส่งออกชะลอตัวกว่าที่คาด ดังนั้นเหล่านี้เป็นมุมมองบวก หนุนต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นต่อได้

    และคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้อีก 2 ครั้ง จนถึงกลางปี 2566 ทำให้ดอกเบี้ยสูงสุดของไทยอยู่ที่ระดับ2%

      ทั้งนี้ จากการเปิดประเทศของจีน หนุนท่องเที่ยวจีนมาไทยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ EIC ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 30 ล้านคน จาก 28.3ล้านคน ซึ่งมุมมองบวกเหล่านี้ จะหนุนการท่องเที่ยว ภาคบริการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ EIC ยังคงจีดีพีไว้ที่ 3.4% จากส่งออกที่ชะลอตัวกว่าคาด

      ส่วนประเด็นค่าเงินบาท เชื่อว่าอาจไม่มีผล ทำให้ กนง.เปลี่ยนท่าทีในการปรับดอกเบี้ย หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจาก การแข็งค่าของเงินบาท ยังไม่ได้กระทบต่อภาพเศรษฐกิจ

      นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายInvestment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย.กล่าวว่า ผลประชุมกนง. ถือว่าออกมา มีลักษณะ Hawkish กว่าที่ตลาดการเงินคาด เพราะตลาดคาดหวังว่า เงินบาทที่แข็งค่า อาจมีส่วน กดดันต่อการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
      โดยตลาดคาดหวังว่า ธปท.อาจมีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยช้าลง หรือลดลง 

       แต่ผลประชุมที่ออกมาเอกฉันท์ สะท้อนว่า กนง.ไม่ได้โอนอ่อนตามแรงกดดันภายนอก หรือจากปัจจัยเงินบาท โดยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลังจาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พบอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ปรับเพิ่มขึ้น 0.10% ขณะที่ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.03%

      “ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลาดคาดหวัง และกดดันให้ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่ กนง.ไม่ได้เป็นไปตามแรงกดดันตลาด ชี้ให้เห็นว่า กนง.สม่ำเสมอในการสื่อสาร และข้อมูลที่มีอยู่ ไม่โอนอ่อนต่อแรงกดดันนอกกรอบนโยบายการเงิน”

      อย่างไรก็ตาม หากดูทิศทางดอกเบี้ยไทยระยะข้างหน้า คาดว่ามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 1-2ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ 1.75-2.0% ในช่วงกลางปีนี้ ทั้งนี้มองว่า การประชุมกนง. ในเดือนมี.ค. อาจเห็นเสียงกนง.แตกมากขึ้น เพราะกนง.บางท่านอาจมองว่า ไม่มีความจำเป็นขึ้นต่อ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงมาก อีกทั้ง ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศจะชัดเจนมากขึ้น

จับตาเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง 

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ผลประชุมกนง.ถือเป็นไปตามคาด จากมุมมองเศรษฐกิจที่มีมุมมองบวกมากขึ้น และดีกว่าคาดในด้านการท่องเที่ยว และการกระจายตัวของรายได้

      แต่โจทย์ที่ต้องติดตาม คือเงินเฟ้อพื้นฐาน จากดีมานด์พลูอินเฟชั่น จากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นอาจทำให้ กนง.ไม่สามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนมี.ค. ดังนั้นจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อไปที่ระดับ 1.75% และจะขึ้นต่อไปที่ระดับ 2%ในไตรมาส 2 ปีนี้

     “เรามองว่าดอกเบี้ยไทย จุดสูงสุดที่จะอยู่ที่ 2%เป็นอย่างน้อย เพราะมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะลงช้า แต่อีกภาพ ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ก็สะท้อนความเปราะบางของ เอสเอ็มอี และกลุ่มรายได้น้อย ดังนั้นต้องติดตามว่าความเสี่ยง จากดอกเบี้ย จะส่งผ่านไปสู่ต้นทุนทางการเงินอย่างไร”

 
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์